August 30, 2019
Motortrivia Team (10069 articles)

All New Suzuki Carry บรรทุกเล็ก สเปคเพื่อการพาณิชย์

เรื่อง – ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ

●   เว้นช่วงหลังการเปิดตัวแค่ไม่นาน บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็จัดให้สื่อมวลชนได้ทดลองขับ แครี่ กระบะเล็กเพื่อการพาณิชย์รุ่นเปลี่ยนโฉมโมเดลเชนจ์ เส้นทางกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา ช่วงเช้าฟังการสรุปจุดเด่นของแครี่ใหม่ ที่เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นเดิมแล้ว มีมิติตัวรถที่ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย ความกว้างล้อหน้าและหลังเพิ่มขึ้น 30 และ 25 มิลลิเมตร ตามลำดับ ตัวรถกว้างขึ้น 85 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 160 มิลลิเมตร ความสูงตัวรถ 1,910 มิลลิเมตร เตี้ยลง 5 มิลลิเมตร ความยาว 4,195 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้น 40 มิลลิเมตร และฐานล้อ 2,250 มิลลิเมตร สั้นลง 420 มิลลิเมตร

คุณวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด

●   โดยปกติรถรุ่นใหม่มักมีฐานล้อยาวกว่าเดิม แต่สำหรับแครี่ใหม่ ออกแบบให้ฐานล้อสั้นลงด้วยการร่นล้อหน้าเข้ามา ด้วย 2 เหตุผล คือ เพื่อให้ซุ้มล้อหน้าอยู่ใต้เบาะนั่ง ทำให้มีที่วางขาเพิ่มขึ้น ไม่ติดซุ้มล้อเหมือนรุ่นก่อน และ ทำให้รัศมีวงเลี้ยวแคบเพียง 4.4 เมตร ใช้งานในเมืองได้คล่องตัว กระบะท้ายแบบพื้นเรียบ เปิดได้ 3 ด้าน ขนาดใหญ่ขึ้น 15 เปอร์เซ็นต์ โดยมีความกว้าง 1,660 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้น 75 มิลลิเมตร ลึก 2,565 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้น 365 มิลลิเมตร และความสูงจากพื้นกระบะถึงแนวหลังคา 1,160 มิลลิเมตร ขอบกระบะสูงจากพื้น 750 มิลลิเมตร เตี้ยลง 55 มิลลิเมตร ทำให้เคลื่อนย้ายสัมภาระได้ง่ายขึ้น สามารถรองรับน้ำหนักได้ 945 กิโลกรัม

●   ห้องโดยสารเปลี่ยนใหม่ แต่ยังคงเน้นฟังก์ชั่นการใช้งานเป็นหลัก ย้ายคอนโซลเกียร์ขึ้นไปรวมไว้กับแผงคอนโซล เพิ่มพื้นที่ใช้สอย และซุ้มล้อหน้าที่เลื่อนถอยหลังมาไว้ใต้เบาะ ทำให้ห้องโดยสารกว้างขึ้น เบาะผู้ขับปรับเลื่อนได้ 105 มิลลิเมตร พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า มีเครื่องเสียงที่รองรับ USB และ AUX มาให้ ลำโพงติดตั้งด้านบนของแผงคอนโซล ใต้เบาะมีตะขอล็อกแบบ 2 ชั้น สำหรับเปิดเบาะขึ้นเพื่อบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ขอบเบาะด้านล่างมีซีลยางป้องกันความร้อนจากเครื่องยนต์ ชุดมาตรวัดมีแค่มาตรวัดความเร็ว ไม่มีวัดรอบ และมีมาตรวัดระยะทางแยก A-B และระยะทางรวม มีมาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงพร้อมไฟเตือน ส่วนมาตรวัดอุณหภูมิเป็นแบบไฟเตือนเมื่อเครื่องยนต์เย็นและร้อนจัด

●   เครื่องยนต์บล็อกใหม่ K15B เบนซิน 4 สูบ 1,462 ซีซี กระบอกสูบ 74.0 มิลลิเมตร ช่วงชัก 85.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนการอัด 9.5:1 10.0:1 กำลังสูงสุด 97 แรงม้า ที่ 5,600 รอบต่อนาที แรงบิด 13.75 กก.-ม. ที่ 4,400 รอบต่อนาที ขับเคลื่อนล้อหลัง เกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ (รุ่นเดิมใช้เครื่องยนต์รหัส C16A ความจุ 1,590 ซีซี กระบอกสูบ 75.0 มิลลิเมตร ช่วงชัก 90.0 มิลลิเมตร อัตราส่วนการอัด 9.5:1 กำลังสูงสุด 92 แรงม้า ที่ 5,750 รอบต่อนาที แรงบิด 12.94 กก.-ม. ที่ 4,500 รอบต่อนาที รองรับแก๊สโซฮอล์ E20

●   พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าออกแบบให้ควบคุมง่ายแม้บรรทุกหนัก ระบบกันสะเทือนหน้าอิสระแม็กเฟอร์สันสตรัต พร้อมคอยล์สปริง ด้านหลังคานแข็งแหนบซ้อน 5 ชั้น วางแหนบบนเพลา เพิ่มความสูงและการรองรับน้ำหนัก ระบบเบรกหน้าดิสก์พร้อมครีบระบายความร้อน ด้านหลังดรัมเบรก มี ABS ป้องกันล้อล็อก และ Engine Drag Control ลดอาการล้อล็อกเมื่อเปลี่ยนเกียร์ลงต่ำบนถนนลื่น

●   ทดลองขับกันแบบสบายๆ ขาไปนั่ง ซูซูกิ เซียส ไปแวะที่จุดพักรถมอเตอร์เวย์ จากนั้นกลับรถแล้วใช้ถนนเส้น 314 มุ่งหน้าตัวเมืองฉะเชิงเทรา เติมพลังมื้อกลางวันที่ร้าน The River Barn ติดแม่น้ำบางปะกง อิ่มแล้วจึงได้ลองขับแครี่ใหม่ ห้องโดยสารเน้นการใช้งานและการควบคุมต้นทุน จึงไม่เน้นความหรูหราสวยงาม ใช้วัสดุที่ดูแลรักษาง่ายและทนทาน ความกว้างถือว่าเหลือเฟือสำหรับความสูง 169 เซนติเมตร ดีตรงเบาะผู้ขับปรับเลื่อนใกล้-ไกลได้ แต่หมอนรองศีรษะไม่ได้เลื่อนตามมาด้วย เพราะเป็นแบบยึดตายตัวกับผนังห้องโดยสารด้านหลัง กระจกมองข้างปรับมือจากภายนอก กระจกประตูแบบมือหมุน องศาพวงมาลัยจะคล้ายรถตู้ คือค่อนข้างเอนราบ ไม่ตั้งเกือบฉากแบบรถยนต์นั่ง ปรับเบาะปรับกระจกเสร็จแล้วก็พร้อมเดินทางสู่จุดเปลี่ยนตัวผู้ขับ ที่จุดพักรถมอเตอร์เวย์ขาเข้ากรุงเทพฯ (ไม่ใช่โอเอซิส เป็นจุดพักรถหลังจากผ่านด่านลาดกระบังขาเข้ามาแล้ว) ระยะทางกำลังสวย 50 กิโลเมตร

●   เบาะนั่งที่ดูว่าค่อนข้างตั้งชัน ไม่เป็นปัญหาสำหรับคนที่ขับรถด้วยท่าขับที่ถูกต้อง คือ หลังเกือบตั้งตรง ไม่ได้ปรับเบาะเอนมากๆ แบบวัยรุ่นหลงยุค จะรู้สึกแปลกก็เพราะพวงมาลัยที่เอนราบ กับตำแหน่งของผู้ขับที่นั่งอยู่บนล้อหน้า เวลาเลี้ยวจะรู้สึกว่าแตกต่างจากการขับรถยนต์ ที่นั่งอยู่ด้านหลังของล้อหน้า แต่ไม่ใช่จุดที่ต้องกังวล เพราะขับไปไม่นานก็จะปรับตัวได้เอง สตาร์ตเครื่องยนต์ เหยียบคลัตช์แล้วต้องก้มไปดูว่ากำลังเหยียบอะไรอยู่ เพราะคลัตช์เบามาก แทบไม่มีน้ำหนักหรือแรงต้านเลย ยังดีที่มีระยะฟรีค่อนข้างน้อย ผ่อนแป้นคลัตช์ออกมานิดหน่อยคลัตช์ก็เริ่มจับตัว ถ้าคลัตช์เบามากขนาดนี้แล้วมีระยะฟรีมากๆ น่าจะขับยาก

●   เลี้ยวซ้ายผ่านตลาดและเขตชุมชน เพื่อให้ได้อารมณ์ของรถเพื่อการพาณิชย์ พวงมาลัยที่เบาทำให้ซอกแซกเลี้ยวมุมแคบได้คล่อง มุดง่ายเพราะรถหน้าสั้น ไม่ต้องเผื่อระยะมากนัก ทัศนวิสัยรอบคันโปร่งโล่ง เพราะยังไม่ได้ต่อเติมด้านหลัง แค่บรรทุกของไว้เบาๆ ประมาณ 100 กิโลกรัม เครื่องยนต์มีแรงบิดในรอบต่ำที่ดี ช่วยให้ขับในเมืองได้ง่าย แค่เลือกตำแหน่งเกียร์ให้เหมาะสมกับความเร็ว และเว้นระยะห่างจากคันหน้าให้พอเหมาะ ก็สามารถขับไหลๆ ไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องเบรกหรือเหยียบคลัตช์เพื่อเปลี่ยนเกียร์บ่อยๆ

●   เกียร์ธรรมดาเดินหน้า 5 จังหวะ เฟืองท้าย 4.875 กับอัตราทดเกียร์ 1 ที่ 3.580 เผื่อไว้สำหรับการออกตัวเมื่อบรรทุกหนักเต็มพิพัด ส่วนเกียร์ 2-5 จะเริ่มชิดกันมากขึ้น เกียร์ 4 เป็นเกียร์ตรง อัตราทด 1.000 และโอเวอร์ไดรฟ์ที่เกียร์ 5 0.855 อัตราทดต่ำกว่า 1 เมื่อออกตัวด้วยน้ำหนักบรรทุกไม่มากนัก จึงรู้สึกว่าเกียร์ 1 สั้นไปนิด การเข้าเกียร์ทำได้ง่ายเบาแรง และการโยกคันเกียร์แม้จะไม่ถึงกับตรงเป็นร่อง แต่ก็แม่นยำพอสมควร แม้จะห่างเหินกับเกียร์ธรรมดาไปนาน ก็ไม่เข้าเกียร์ข้ามจังหวะ ช่วงขับผ่านเขตชุมชนมีรถติดบนสะพาน ก็จะรออยู่ตีนสะพาน ให้คันหน้าพ้นเนินทางขึ้นไปก่อนค่อยขขยับรวดเดียว เพื่อเลี่ยงการออกตัวบนเนินชัน

●   ออกจากเขตชุมชนวนเข้ามอเตอร์เวย์ ได้ลองประสิทธิภาพของเครื่องยนต์และช่วงล่างกันอย่างเต็มอิ่ม เครื่องยนต์สเปคไม่หวือหวา แต่ได้เกียร์ธรรมดามาช่วยสร้างสีสัน ไม่มีวัดรอบก็ไม่เป็นไร อาศัยฟังเสียงเครื่องยนต์ว่าลากรอบไปประมาณไหนกับดูอาการของรถ เมื่อเริ่มตื้อก็เหยียบคลัตช์ยัดเกียร์กันสนุกในช่วงทางโล่ง น้ำหนักตัวรถ 1,065 กิโลกรัม กับยางเดิมติดรถ 165/80 R13 ความเร็วที่สบายใจอยู่ที่ 80-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกินจากนี้จะเริ่มต้องใช้สมาธิมากขึ้น ความเร็วเดินทาง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ฟังจากเสียงเครื่องยนต์แล้ว รอบน่าจะอยู่แถวๆ 3,000-3,500 รอบต่อนาที อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยจากโรงงาน ระบุ 13.3 กิโลเมตรต่อลิตร ดีกว่ารุ่นเดิมที่ระบุ 12.2 กิโลเมตรต่อลิตร

●   ที่ความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เสียงรบกวนจากภายนอกยังพอรับได้ ส่วนใหญ่เป็นเสียงลมปะทะ ยังพอคุยกับคนข้างๆ รู้เรื่องโดยไม่ต้องตะโกน ฟังเพลงก็ยังพอฟังได้ เสียบสายชาร์จเข้า USB ที่เครื่องเสียงแล้วอ่านเพลงในมือถือได้ทันที พร้อมชาร์จแบตฯ ไปในตัว และมีช่องจ่ายไฟฟ้า 12 โวลต์ สามารถใช้อะแดปเตอร์ USB สำหรับชาร์จได้อีก แม้รถยังไม่ได้ติดฟิล์ม แต่แอร์ก็ทำความเย็นได้อย่างทั่วถึง ลองลากรอบสูงหลายครั้งเพื่อจะดูว่าความร้อนจากเครื่องยนต์ที่อยู่ใต้เบาะ จะแผ่ขึ้นมาถึงข้างบนหรือไม่ เท่าที่ทั้งขับและนั่งตลอดระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร มีทั้งทางโล่งและรถติด ก็ไม่ได้รู้สึกว่าร้อนก้นหรือต้นขาแต่อย่างใด

●   ในช่วงพรีเซ็นต์ระบุว่าเบรกมือเป็นแบบนิรภัย ถ้าจะปลดเบรกมือลง ต้องกดปุ่มที่ปลายก้านค้างไว้ แล้วยกคันเบรกมือขึ้นเล็กน้อย จึงจะปลดเบรกมือลงได้ เพื่อป้องกันสิ่งของไปโดนปุ่มปลดเบรกมือโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วเวลาจะปลดเบรกมือก็จะยกคันเบรกมือขึ้นเล็กน้อยอยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่าทำให้ปลดเบรกมือได้ง่ายขึ้น

●   ถึงจุดสลับผู้ขับ ย้ายมาฝั่งผู้โดยสาร มีเข็มขัดนิรภัยให้ 2 ตำแหน่งที่นั่ง แม้เบาะผู้โดยสารจะเป็นแบบยาวและพอจะนั่งได้ 3 คน แต่จะนั่งไม่ได้เพราะไม่มีเข็มขัดนิรภัยตำแหน่งตรงกลาง ที่วางบนเบาะที่เหลือใช้เป็นที่วางของน่าจะเหมาะกว่า เบาะฝั่งผู้โดยสารปรับอะไรไม่ได้เลย แต่นั่งแล้วก็ไม่ถึงกับเมื่อย เพราะวางมุมพนักพิงไม่ตั้งชันเกินไป

●   โดยสรุป ซูซูกิ แครี่ เป็นรถกระบะเล็กสำหรับงานพาณิชย์ขนาดเบา ไม่ใช่การขนของหนักหลายๆ ตัน ทำเป็น Food Truck ร้านอาหารเคลื่อนที่ น้ำหนักร้านรวมเครื่องใช้ไม่น่าเกิน 1 ตัน ตามสเปครถรุ่นนี้ก็รองรับได้ เด่นที่ราคาประหยัด คล่องตัว และเอนกประสงค์ เน้นการใช้งานจริงจังมากกว่าใช้แทนรถยนต์ส่วนตัว ราคา 385,000 บาท ไม่หนักหนาเกินไปสำหรับการลงทุนเพื่อเริ่มธุรกิจขนาดเล็ก  ●


Test Drive : 2019 Suzuki Carry