September 28, 2019
Motortrivia Team (10190 articles)

Mazda 3 Sedan 2.0 SP ครบเครื่องทั้งสมรรถนะและอุปกรณ์

เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ • ภาพ : มาสด้า ประเทศไทย

●   มาสด้าสร้างสีสันให้ตลาดรถยนต์นั่งในกลุ่ม C-Segment ด้วยการจัดให้สื่อมวลชน ทดลองขับ มาสด้า 3 แบบ Sneak Preview ก่อน งานเปิดตัวเป็นทางการ จากนั้นจึงจัดทดสอบแบบกลุ่ม ขับกันยาวๆ บนเส้นทางภาคใต้ที่มีความหลากหลายทั้งสภาพอากาศและสภาพถนน ระยะทางรวมประมาณ 240 กิโลเมตร ทีมงาน มอเตอร์ทริเวีย ได้ลองขับรุ่นท๊อปซีดาน 2.0 SP

●   เนื่องจากรถยนต์ในกลุ่ม C-Segment เป็นรถที่คนส่วนใหญ่จับต้องได้ จึงนับว่าเป็น ‘เซคเมนต์ยุทธศาสตร์’ ถ้าต้องการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ควรจะทำผ่านรถในเซคเมนท์นี้ ซึ่งมาสด้าก็ใช้มาสด้าเป็นรถรุ่นนำเสนอ ด้วย 5 องค์ประกอบที่นำไปสู่แนวคิดหลักของมาสด้าคือ Feel the drive

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

●   Artful Design : การออกแบบภายนอกที่แตกต่างกันในรุ่นซีดานและฟาสแบ็ค มาสด้า 3 รุ่นก่อนหน้าจะต่างกันเฉพาะส่วนท้าย แต่สำหรับรุ่นใหม่มีความแตกต่างกันทั้งคัน แม้ดูเผินๆ แล้วเหมือนกันก็ตาม แต่ถ้านำรถมาจอดคู่กันแล้วเปรียบเทียบจะเห็นว่าชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้าทั้งหมดรวมทั้งประตูบานหน้าเป็นคนละทรง

●   รุ่นฟาสแบ็ค Emotional Personal Style เน้นความลื่นไหล ไร้เส้นสาย เน้นการสะท้อนแสงบนผิวตัวรถ ทำให้เกิดมิติ เสาหลัง C-Pillar ขนาดใหญ่ทำให้รถดูทรงพลัง ส่วนรุ่นซีดาน Classy Sedan ดีไซน์แบบ 3 กล่องตามแบบคลาสสิค แบ่งส่วนชัดเจนทั้งด้านหน้า ห้องโดยสาร และห้องเก็บสัมภาระด้านท้าย ตัวรถได้รับการออกแบบให้มีเส้นสายที่ต่อเนื่องหน้าจรดหลัง จัดวางองค์ประกอบให้กลมกลืนในแนวนอน เน้นฐานที่กว้างต่ำ

●   Japanese Mastery : ออกแบบภายในด้วยแนวคิด Less is More เน้นความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรถ การใช้งานที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ขับ องค์ประกอบที่เรียบง่ายที่สุด และใช้อุปกรณ์ต่างๆ ได้ง่าย

●   Human Centricity : การออกแบบให้ท่านั่งเน้นไปที่ความสามารถในการรักษาสมดุลของมนุษย์ตามธรรมชาติ หรือท่าขับที่เป็นธรรมชาติ ทำให้ผ่อนคลาย ใช้กล้ามเนื้อน้อย ลดความเหนื่อยล้าขณะขับ และให้ทัศนวิสัยที่ดีด้วยการออกแบบเสาหน้าให้ลดมุมอับสายตา เพื่อให้ผู้ขับมองเห็นสภาพแวดล้อมนอกรถด้วยท่านั่งที่เป็นธรรมชาติ รวมทั้งการออกแบบแนวเส้นในห้องโดยสารเพื่อให้ผู้ขับรับรู้ถึงความเร็วได้ดียิ่งขึ้น

●   มาตรวัด HMi หรือ Human Machine Interface มาตรวัดดิจิตอลขนาด 7 นิ้ว แบบ TFT LCD แสดงข้อมูลการขับได้อย่างชัดเจน พร้อมการแสดงข้อมูลการขับบนกระจกหน้าหรือ Windshield Active Driving Display ผู้ขับไม่ต้องละสายตาจากถนน มาพร้อม Center Display หน้าจอสี 8.8 นิ้วที่คอนโซลกลาง มีเมนูพร้อมคำอธิบายด้านข้าง ควบคุมด้วยปุ่มที่คอนโซลเกียร์ เพิ่มคุณภาพในห้องโดยสารด้วยการลด NVH ลดเสียงรบกวนและความสั่นสะเทือน ขับกล่อมด้วยเครื่องเสียง BOSE ลำโพง 12 ตำแหน่ง (เฉพาะรุ่น SP)

●   Effortless Joyful Driving : เทคโนโลยีในกลุ่ม Skyactiv ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง ทั้งเบาะนั่ง ตัวรถ ช่วงล่าง รวมทั้งยาง มาสด้า 3 ใหม่ ใช้แพลตฟอร์มใหม่ และช่วงล่างใหม่ ให้ตอบสนองรวดเร็วยิ่งขึ้น เกาะถนน ควบคุมรถได้อย่างเป็นธรรมชาติ ช่วงล่างหลังแบบทอร์ชั่นบีม ลดน้ำหนักลงได้ 15 กิโลกรัม เซตอัพแล้วให้ผลอย่างที่ทีมวิศวกรของมาสด้าต้องการ และช่วงล่างแบบมัลติลิงค์ให้ไม่ได้ มาสด้า 3 ซีดานและฟาสแบ็ค มีการเซตอัพช่วงล่างที่แตกต่างกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เดียวกัน

●   ระบบช่วยเหลือที่พัฒนาการทำงานให้ดียิ่งขึ้น G-Vectoring Control Plus ใช้เบรกเพื่อเพิ่มการควบคุมการหันเหของตัวรถ (Yaw Moment) เพิ่มเสถียรภาพในการควบคุมรถ โดยระบบจะเพิ่มแรงเบรกเพียงเล็กน้อยไปที่ล้อด้านนอกโค้ง ทำให้เกิดเสถียรภาพ ทำให้รถกลับมาวิ่งตรงได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเพิ่มเสถียรภาพเมื่อรถหลบหลีกสิ่งกีดขวางกะทันหัน ระบบเบรกออกแบบใหม่เพื่อลดการเมารถและลดความเหนื่อยล้าของผู้โดยสาร

●   ระบบความปลอดภัยเชิงป้องกัน เช่น ถุงลม 7 ตำแหน่ง คู่หน้า ด้านข้าง ม่านนิรภัย และถุงลมหัวเข่าผู้ขับ เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในทุกรุ่นย่อย คานในกันชน โครงสร้างตัวถังที่แข็งแกร่ง ใช้โลหะที่มีความแข็งแรงสูงระดับ 1,310 เมกะปาสคาล ในส่วนของเสาหน้าตั้งแต่พื้นรถ ต่อเนื่องถึงกรอบหลังคา และพื้นรถบางส่วน

●   Ingenious Solution : เครื่องยนต์บล็อกหลักเดิม ปรับเปลี่ยนรูปทรงของลูกสูบ ขยับตำแหน่งแหวนลูกสูบ พัฒนาระบบหล่อเย็นโดยเฉพาะบริเวณที่เป็น Cold Load เปลี่ยนหัวฉีดใหม่ เน้นไปที่การเผาไหม้ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อลดมลพิษ และประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น กำลังสูงสุดเท่าเดิม 165 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 213 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 15.9 กิโลเมตรต่อลิตร คาร์บอนไดออกไซด์ในไอเสีย 149 กรัมต่อกิโลเมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ

ภายในสวยคุณภาพดี

●   เริ่มต้นด้วยตำแหน่งผู้โดยสารด้านหน้า มีเวลาได้สังเกตภายในห้องโดยสารที่ใช้สีโทนโดนใจคือ ดำล้วน แซมด้วยสีเงินในจุดต่างๆ ใช้วัสดุที่ดูดีมีคุณภาพ คอนโซลหน้าบุนุ่มแทบทุกจุด เบาะผู้โดยสารปรับมือ และสามารถปรับสูง-ต่ำได้ ลองเล่นจอที่คอนโซลกลาง ควบคุมด้วยปุ่ม Center Commander ใช้งานสะดวกดี การตอบสนองของจอก็รวดเร็ว แสดงภาพคมชัด โดยเฉพาะกล้อง 360 องศา การสั่งงานปุ่มต่างๆ ให้ความรู้สึกที่แน่นหนาดี

●   ถึงจุดพักสลับมาเป็นผู้ขับบ้าง ยังรู้สึกเหมือนตอนขับ Sneak Preview คือ วงเส้นผ่าศูนย์กลางของพวงมาลัยใหญ่ไปหน่อย แม้จะออกแบบมาได้ดูสปอร์ตดีแล้วก็ตาม ปรับได้ 4 ทิศทาง เบาะผู้ขับปรับไฟฟ้า 10 ทิศทาง กับ 2 หน่วยความจำ ปรับในแบบที่ถนัดคือ ปรับเบาะลงต่ำ เลื่อนถอยหลังให้เหยียบเบรกแล้วเข่างอพอดีๆ ดึงพวงมาลัยให้ยืดตามมา จับพวงมาลัยแล้วข้อศอกงอเกือบ 90 องศา เตรียมรับมือกับเส้นทางข้างหน้าที่เป็นทางคดโค้งขึ้น-ลงเขา

ช่วงล่างหนึบสปอร์ต เบรกยังคาใจ

●   ปรับเบาะลงต่ำแล้วยังขับได้อย่างมั่นใจไม่ต้องชะเง้อ รู้สึกว่าปรับตัวเข้ากับรถได้ง่ายและรวดเร็ว กะระยะรอบคันได้อย่างมั่นใจ เป็นรถที่ขับง่ายควบคุมง่าย มาตรวัดทรงกลม ตรงกลางเป็นดิจิตอล เปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลได้ด้วยปุ่มบนพวงมาลัย ระบบความปลอดภัยที่ให้มาหลายหลาย บางอย่างสามารถปรับตั้งรูปแบบการทำงานได้ละเอียด ยกตัวอย่างระบบ LDWS เตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน นอกจากปิด-เปิดการเตือนแล้ว ยังตั้งค่าการเตือนได้ว่าให้เตือนด้วยเสียง หรือเตือนด้วยการสั่นที่พวงมาลัย แล้วจะให้ดึงพวงมาลัยกลับเข้าเลนด้วยหรือไม่ โดยระบบจะเตือนเมื่อขับออกนอกเลนโดยไม่เปิดไฟเลี้ยว การขับบนทางคดเคี้ยว บางครั้งต้องตัดเลนบ้าง จึงต้องปิดระบบนี้ชั่วคราว

●   ช่วงล่างหลังทอร์ชั่นบีม ไม่ได้รู้สึกว่าส่งผลต่อประสิทธิภาพการยึดเกาะถนน แต่น่าจะมีผลกระทบทางใจอยู่บ้าง ระบบกันสะเทือนเซตมาแนวสปอร์ตนิดๆ มีช่วงยืดยุบ แต่ค่อนข้างกระชับ หนืดหน่วงดี ไม่ยวบย้วย พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าไม่ถึงกับเบาหวิว แต่โดยส่วนตัวแล้วอยากให้หนืดกว่านี้อีกนิด การทำงานของพวงมาลัยราบรื่นต่อเนื่อง หมุนซ้ายหมุนขวาได้เนียนไม่มีสะดุด เพิ่มความสนุกในการขับบนทางโค้ง ยางขนาด 215/45/18 กับช่วงล่างหน้าอิสระแม็กเฟอร์สันสตรัต และเหล็กกันโคลง จิกโค้งได้ดี และไม่รู้สึกเลยว่าระบบ GVC Plus เข้ามาทำงานตอนไหน รู้สึกแค่ว่าเลี้ยวได้ง่ายและขับให้เนียนได้ง่ายขึ้น

●   ระบบเบรกยังเป็นข้อสงสัย เพราะจำได้ว่าตอนขับ Sneak Preview รู้สึกประทับใจกับระบบเบรกที่ควบคุมง่าย แต่ในการขับครั้งนี้รู้สึกว่าเมื่อเริ่มแตะเบรก ตัวรถจะไม่ค่อยถูกดึงชลอความเร็ว ต้องเพิ่มแรงเหยียบมากขึ้น เหยียบแล้วรู้สึกแข็งๆ ด้านๆ เหมือนไม่ค่อยมีแรงดูด ต้องใช้เวลาปรับตัวพักใหญ่ถึงจะเริ่มชิน

เครื่องยนต์อยากได้อีกนิด

●   ตลอดการขับ มีทั้งฝนตก การก่อสร้างถนน ขับขึ้นทางชันบนถนน 2 เลนสวน ซึ่งต้องมีการแซงเป็นระยะ เกียร์ของมาสด้า 3 ยังเป็นแบบฟันเฟือง ไม่ใช่ซีวีที และมีการเปลี่ยนเกียร์ขึ้น-ลง ที่เร็วกว่าเกียร์อัตโนมัติในรถทั่วไปอยู่เล็กน้อยแบบพอสัมผัสได้ ทำให้การเร่งแซงทำได้ทันใจ แต่ไหนๆ ก็มีโหมด M กับ Paddle Shift มาให้แล้ว เลยได้ใช้เกือบตลอดทาง ทั้งการเลือกจังหวะเกียร์เลี้ยงรอบเพื่อรอจังหวะกดคันเร่งแซง ทำให้แซงได้ปลอดภัยยิ่งขึ้น บางจังหวะเผื่อระยะให้เพื่อนที่ขับตามมาด้วย และใช้หน่วงความเร็วเมื่อขับลงเนิน (ไม่ใช่การลดเกียร์ลงต่ำเพื่อลดความเร็ว) ลดภาระของเบรก

●   เครื่องยนต์เบนซิน 2,000 ซีซี 165 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 213 นิวตัน-เมตร ที่ 4,000 รอบต่อนาที ก็ถือว่าจัดจ้านพอสมควรสำหรับพิกัดนี้ แต่เป็นเครื่องยนต์แบบมีรอบ ต้องลากรอบไปป้วนเปี้ยนแถว 4,000 รอบฯ ขึ้นไป ถึงจะเริ่มกระฉับกระเฉง การแซงฉุกเฉินมีลุ้น ควรเผื่อระยะไว้มากหน่อยเพื่อความปลอดภัย ส่วนขับเรื่อยๆ ใช้งานที่ความเร็วต่ำ-ปานกลาง ตอบสนองดี ในส่วนของเครื่องยนต์คงต้องรอลุ้นในรุ่นปรับโฉมว่าจะเอา Skyactiv-X เข้ามาหรือไม่

●   อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย ตัวเลขโรงงาน 15.9 กิโลเมตรต่อลิตร เซต 0 ก่อนเริ่มขับ ใช้โหมด M เกือบตลอดทาง เร่งแซง ลากรอบสูงแตะ 6,000 รอบฯ หลายครั้ง ถึงจุดเปลี่ยนตัวผู้ขับคนที่ 3 ระยะทางที่ขับประมาณ 80 กิโลเมตร ได้อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 13.5 กิโลเมตรต่อลิตร ประหยัดเกินคาดเมื่อเทียบกับลักษณะการขับ หรือว่ามาสด้าจะเซตเครื่องยนต์มาเน้นประหยัด เลยรู้สึกว่าต้องลากรอบสูงจัดถ้าต้องการเค้นแรงเพื่อเร่งแซง

เบาะหลังนั่งสบายกว่ารุ่นเดิม

●   ปิดท้ายทริปทดสอบด้วยตำแหน่งเบาะหลังฝั่งผู้โดยสาร เห็นว่าเบาะหลังฝั่งผู้ขับมีที่ว่างเหลือเยอะ เลยสอบถามความสูงผู้ขับประมาณ 170 เซนติเมตร ที่วางขาเหลือเพียบ ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะก็ยังสบายๆ สำหรับความสูง 169 เซนติเมตร พนักพิงปรับมุมมากำลังสบายไม่ตั้งชันและไม่เอนเกินไป มีที่เท้าแขนตรงกลางมาให้ มีช่องแอร์พร้อมช่องจ่ายไฟ USB สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง กระจกประตูหลังเปิดลงได้สุด บานใหญ่โปร่งสบาย

●   ก่อนกลับมีโอกาสได้ลองนั่งเบาะหลังของรุ่นฟาสแบ็ค เสาหลัง C-Pillar ที่หนา ไม่ได้บดบังทัศนวิสัยผู้โดยสาร เพราะในส่วนของเสาค่อนไปด้านหลังแล้ว กระจกประตูหลังที่ดูจากภายนอกแล้วบานค่อนข้างเล็ก ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกอัดอัด พื้นที่วางขากับพื้นที่เหนือศีรษะ แทบไม่ต่างกับรุ่นซีดาน ถ้าชอบทรงฟาสแบ็ค แต่นั่งเกิน 2 คนบ่อยๆ ก็คงไม่ใช่ปัญหา

ขอบคุณ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง


2019 Mazda 3 : Group Test