September 13, 2019
Motortrivia Team (10069 articles)

MG ZS EV ลองขับรถไฟฟ้ารุ่นแรกของ MG ทั้งแบบทางไกลและในเมือง

เรื่อง-ภาพ-วีดิโอ : สุพรรณี ยังอยู่

●   ZS EV รถยนต์ไฟฟ้า 100% รุ่นแรกของ MG เปิดตัวในไทยเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากจีน และมีการทำตลาดในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษด้วย มาพร้อมคอนเซปต์ easy สื่อถึงนวัตกรรมของรถยนต์นำไปสู่การใช้ชีวิตของผู้ใช้รถง่ายขึ้น ทั้งเรื่องการขับ การใช้งานเชื่อมผ่านทางเทคโนโลยีในระบบต่างๆ การออกแบบทั้งภายนอกและภายในสวยงามและทันสมัย

สีสันโดดเด่น ระบบความปลอดภัยครบครัน

●   ภายนอกโดดเด่นด้วยสีฟ้า Copenhagen Blue ซึ่งเป็นสีเฉพาะรุ่นสำหรับ ZS EV เท่านั้น สะท้อนความเป็นสากลของรถยนต์ไฟฟ้า สื่อถึงความบริสุทธิ์ปราศจากมลพิษ กระจังหน้าออกแบบให้ดูทันสมัย หรูหรา แต่ยังคงเอกลักษณ์ MG ล้อขนาด 17 นิ้ว วงล้อออกแบบให้คล้ายกังหันลมประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อสื่อถึงพลังงานธรรมชาติ ภายในสีดำ วัสดุส่วนใหญ่บุนุ่มเพื่อสร้างความหรูหรามากขึ้น ห้องโดยสารกว้างขวาง จุดเด่นคือหลังคาพาโนรามิค ซันรูฟ ขนาดใหญ่ซึ่งกินพื้นที่ถึง 90% เวลาใช้งานทำให้ภายในดูโปร่งโล่งสบาย แต่ต้องช่วงเวลาเช้าๆ เย็นๆ หรือค่ำๆ เท่านั้น แดดจัดๆ คงไม่ไหว นอกจากนี้ยังมีระบบกรองอากาศที่ระบุว่าสามารถดักจับฝุ่นระดับ PM 2.5 ส่วนเบาะหลังสามารถพับได้แบบ 60:40 เพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระ

●   ระบบความปลอดภัย Advanced Synchronized Protection System มีอาทิเช่น ระบบเปิด-ปิดไฟสูงอัตโนมัติ IHC – Intelligent High – Beam Control, ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในเลน LKA – Lane Keep Assist, ระบบช่วยเตือนเมื่อรถออกนอกเลน LDW – Lane Departure Warning, ระบบช่วยควบคุมรถเมื่อรถออกนอกเลน LDP – Lane Departure Prevention, ระบบช่วยเตือนมุมอับสายตา BSD – Blind Spot Detection, ระบบช่วยเตือนขณะถอยหลัง RCTA – Rear Cross Traffic Alert, ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน ACC – Adaptive Cruise Control และระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติเมื่อความเร็วต่ำ TJA – Traffic Jam Assist เป็นต้น

ระบบไฟฟ้า มาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก

●   ZS EV ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าชนิด Permanent Magnet Synchronous ออกแบบให้มีการระบายความร้อนที่ดี กำลังสูงสุดผลิตได้ 110 กิโลวัตต์ เทียบเท่า 150 แรงม้า แรงบิด 350 นิวตันเมตร ไม่ต้องรอรอบ อัตราเร่งดี 0-50 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลา 3.1 วินาที

●   แบตเตอรี่ชนิดลิเธียม-ไอออน ความจุ 44.5 กิโลวัตต์-ชม. ติดตั้งอยู่ใต้ท้องรถยนต์ ตามสเปคสามารถใช้งานได้ 337 กิโลเมตร ต่อการชาร์จเต็มหนึ่งครั้ง (มาตรฐานการทดสอบความประหยัดและมลพิษของยุโรป NEDC เดิม ไม่ใช่ WLTP) ทว่าในการใช้งานจริง ระยะทางย่อมแปรผันตามรูปแบบการขับและการใช้ความเร็วในการขับของแต่ละบุคคล

●   ภายในโมดูลของแบตเตอรี่ มีชุดควบคุมอุณหภูมิให้พอเหมาะกับการทำงาน และซีลอย่างดีแบบ 360 องศา ป้องกันการกระแทก การขีดข่วน ฝุ่น และน้ำ ผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน IP67 ได้รับมาตรฐานความปลอดภัย American UL2580 ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลกจากสถาบัน UL ทดสอบภายใต้สภาวะต่างๆ ได้แก่ ไฟฟ้าลัดวงจร, ฝุ่น, การบีบอัด, ความเค็ม, ไฟไหม้, การกระแทก และตกหล่น

●   อีกหนึ่งจุดเด่นคือ ระบบการควบคุมเกียร์แบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือเกียร์ไฟฟ้า ใช้งานง่ายๆ ด้วยการหมุนปุ่มโรตารี่ไปตามสัญลักษณ์ตัวอักษร R (Reverse), N (Neutral) และ D (Drive) แบบเดียวกับสัญลักษณ์ของเกียร์อัตโนมัติ ส่วน P (Park) จะเป็นการกดลงไปที่ด้านบนของปุ่มโรตารี่

●   สำหรับสวิทช์โยกด้านบน (เหนือตัวอักษรบอกตำแหน่งเกียร์) จะมีทั้งหมด 3 ชุด แบ่งเป็น (1) MODE สำหรับเลือกโหมดในการขับ เลือกได้ระหว่าง Sport ช่วยเพิ่มการตอบสนองต่อการขับที่ต้องการความรวดเร็วฉับไว, Normal ขับใช้งานตามปกติในชีวิตประจำวัน และ Eco การขับในรูปแบบประหยัดพลังงาน

●   ต่อด้วย (2) KERS หรือ Kinetic Energy Recovery System ซึ่งมีหน้าที่ชาร์จพลังงานไฟฟ้าในขณะขับกลับเข้าไปยังแบตเตอรี่ สามารถตั้งค่าได้ 3 ระดับ โดยจะมีตัวเลขแสดงที่หน้าจอบนมาตรวัด ไล่ไปตั้งแต่ 1, 2 และ 3 ตัวเลขมากจะมีความหน่วงมากขึ้น (จังหวะชาร์จไฟกลับขณะลดความเร็วรถ หรือเบรค) ซึ่งการชาร์จพลังงานไฟฟ้ากลับไปยังแบตเตอรี่ก็จะมีปริมาณมากขึ้นเช่นกัน ขณะเดียวกัน การตั้งค่าที่ระดับ 3 ก็จะส่งผลต่อความนุ่มนวลในการลดความเร็วลงไปด้วย เนื่องจากเมื่อมีการถอนคันเร่ง ตัวรถจะถูกดึงให้ช้าลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นระบบนี้จึงเหมาะกับการใช้งานในช่วงความเร็วไม่สูงมาก เช่น การขับแบบไหลๆ ไปตามคันหน้าในสภาพการจราจรหนาแน่น ช่วยให้ไม่ต้องเหยียบเบรกบ่อย

●   ปิดท้ายด้วย (3) BATTERY ใช้เรียกดูสถานะของแบตเตอรี่ ซึ่งจะแสดงข้อมูลที่สัมพันธ์กันระหว่างปริมาณกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่ และระยะทางที่ยังสามารถขับต่อไปได้ โดยชุดข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จะแสดงผลชั่วคราวบนจอบอกข้อมูลระหว่างมาตรวัด และสลับไปแสดงผลข้อมูลปกติเองโดยอัตโนมัติ

อุ่นเครื่องในสนามก่อนลองของจริง

●   ช่วงทดลองขับในสนาม MGD Driving Experience Center เน้นไปที่การทดสอบเรื่องพวงมาลัยและช่วงล่างคนละ 2 รอบ มีทางตรงเพื่อทดลองอัตราเร่ง, ระบบเบรก, สลาลอมทดสอบระบบช่วงล่างและพวงมาลัย

●   จากการทดลองขับ พบว่าอัตราเร่งดี พวงมาลัยตอบสนองดี เกียร์เปลี่ยนได้นุ่มนวล ระบบเบรกใช้ได้ หากตั้งค่า KERS MODE ในระดับ 3 และใช้ความเร็วไม่สูงมาก จะสามารถเข้าโค้งได้โดยไม่ต้องแตะเบรกเลย แค่ผ่อนคันเร่งหรือยกเท้าออกจากคันเร่งความเร็วก็ลดลงแล้ว จากนั้นก็ควบคุมพวงมาลัยไปตามทิศทางที่ถูกต้อง ขับต่อไปได้สบายๆ หรือจะเติมความเร็วตามความเหมาะสมก็ตามแต่ละสถานการณ์

●   การขับบนถนนจริง ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา วิ่งบูรพาวิถี (ลอยฟ้า) ลงด่านบางวัวใช้เส้นมอเตอร์เวย์ ทางหลวงหมายเลข 7 แวะจุดพักรถเพื่อเปลี่ยนคนขับ และเดินทางต่อไปยังร้านอาหาร แวะชาร์จไฟที่ 7-11 ธาราพัทยา สถานีชาร์จเป็นของ EA Anywhere ซึ่งมีหัวจ่ายทั้งระบบกระแสไฟสลับ AC และกระแสไฟตรง DC ใช้วิธีชาร์จเร็ว ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีต่อคัน (โหมดชาร์จเร็วจะได้พลังงานไฟฟ้าประมาณ 80% จากจำนวนเต็ม ไม่ว่าปริมาณประจุไฟฟ้าก่อนหน้าจะเหลืออยู่ในแบตเตอรี่เท่าไหร่ก็ตาม) ซึ่งเพียงพอสำหรับการขับกลับ จากนั้นเปลี่ยนคนขับ ขากลับแวะจุดพักรถเพื่อเปลี่ยนคนขับอีกครั้งก่อนเข้ากรุงเทพ

●   รูปแบบในการขับ ตลอดเส้นทางใช้ความเร็วค่อนข้างสูง มีเร่งแซงกันบ่อย ทำให้ใช้ปริมาณพลังงานไฟฟ้ามาก ไม่ได้ใช้ความเร็วแบบคงที่ หรือเน้นขับแบบเน้นประหยัด และยังมีการชาร์จไฟกลับเข้าไปยังแบตเตอรี่น้อยมาก

●   ก่อนออกจากสถานีชาร์จสังเกตมาตรวัดปริมาณไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 98% หรือเกือบเต็ม แต่มาถึงจุดพักรถมอเตอร์เวย์ขาเข้าเหลือแค่ 22% เท่านั้น จากระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร และจากจุดพักรถกลับมาที่ MGD ปริมาณไฟฟ้าก็ลดลงเหลือ 14% กับระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ใช้ความเร็วเฉลี่ยประมาณ 100 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีเร่งแซงบ้าง และในส่วนช่วงเข้าเมืองการจราจรก็เริ่มติดขัดด้วย

●   ในการใช้งานบนถนนจริง รู้สึกว่าอัตราเร่งดี เมื่อกดคันเร่งความเร็วก็เพิ่มได้ทันใจ (ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าโหมดการขับด้วย) โหมด Sport ทำให้ขับสนุกขึ้น พวงมาลัยนิ่ง ช่วงที่นั่งเบาะหลังรู้สึกว่าถ้าใช้ความเร็วสูง ช่วงล่างจะมีอาการยวบยาบนิดๆ โดยรวมถือว่าขับดี น่าใช้ อุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ ครบครัน ใช้งานในเมืองก็น่าจะประหยัด ใช้งานนอกเมืองหรือเดินทางต่างจังหวัด ก็สามารถทำความเร็วได้ ไม่อืด ราคาไม่แพง (หากเทียบกับรถไฟฟ้าแบรนด์อื่นในปัจจุบัน)

●   แต่… การขับทางไกลต้องวางแผนเรื่องสถานีชาร์จไฟ และคำนวณระยะทางดีๆ เพื่อความสบายใจในการเดินทาง ถ้าใช้ความเร็วคงที่และสม่ำเสมอ 100-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่เร่งแซงบ่อยๆ น่าจะได้ระยะทางตามที่ฝ่ายเทคนิคแจ้งไว้ที่ 200 กิโลเมตร สบายๆ เผื่อเหลือเผื่อขาดอีกนิดหน่อย ส่วนข้อมูลที่แจ้งไว้ว่าสามารถใช้งานได้ 337 กิโลเมตร ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง น่าจะใช้ความเร็วต่ำกว่านี้

การติดตั้งที่ชาร์จและการชาร์จไฟฟ้า

●   MG ZS EV สามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ 3 รูปแบบ ประกอบด้วย:

●   (1) Charging Cable : เป็นอุปกรณ์ที่ให้มาพร้อมกับ แต่ MG แนะนำว่าให้ใช้เวลาฉุกเฉิน และควรใช้กับเต้าเสียบที่มีสายดินเท่านั้น ไม่ควรเสียบต่อกับปลั๊กพวง กล่าวได้ว่า “เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในระยะเวลาสั้นๆ แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า” เช่น แบตเตอรี่ใกล้หมด จำเป็นต้องชาร์จ มิฉะนั้นจะกลับบ้านไม่ได้ หรือชาร์จพอให้มีไฟฟ้าสำหรับขับไปสถานีชาร์จไฟฟ้าใกล้ๆ ไม่แนะนำให้ใช้ชาร์จทิ้งไว้ อาจเกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรือไฟไหม้ได้

●   (2) MG Home Charger : สามารถชาร์จพลังงานไฟฟ้าได้ 100% ต่อครั้ง ใช้เวลาประมาณ 6.5 ชั่วโมง

●   (3) Public Charger : มีทั้งแบบกระแสไฟสลับ AC หรือไฟบ้านทั่วไป และกระแสไฟตรง DC หรือไฟโรงงานใหญ่ๆ ซึ่งมีกำลังไฟสูง

●   ปัจจุบันตู้ชาร์จไฟฟ้าสาธารณะแบบกระแสไฟตรง DC ของ EA Anywhere ยังไม่เปิดใช้บริการ อยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมในการใช้งาน แต่กิจกรรมครั้งนี้ทาง MG ขอเป็นกรณีพิเศษเพื่อยืนยันว่า ZS EV สามารถชาร์จไฟจากตู้กระแสไฟ DC ได้ (โหมดชาร์จเร็ว)

●   ZS EV มีช่องเสียบชาร์จที่สามารถใช้ได้ทั้งหัวชาร์จ AC แบบ Type 2 และ DC แบบ CCS Combo สำหรับประเทศไทยหัวชาร์จแบบ Type 2 ได้รับเครื่องหมายรองรับมาตรฐานความปลอดภัยของผู้บริโภค มอก. นอกจากนี้ ZS EV ยังมีระบบตรวจสอบสถานะแบตเตอรี่และช่วยค้นหาสถานีชาร์จ โดยสามารถเข้าไปตั้งค่าได้ที่ Charging Management

●   ปัจจุบันตู้ชาร์จสาธารณะมีจำนวน 350 แห่งทั่วประเทศ ทั้งแบบชาร์จเร็วและชาร์จปกติ

●   MG ZS EV ราคา 1,190,000 บาท ใครสนใจ MG มีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับผู้ที่จองรถภายในเดือนกันยายน 2562 นี้ โดยจะได้รับการประกันแบตเตอรี่แบบไม่จำกัดระยะทาง ตลอดระยะเวลา 8 ปี, ประกันคุณภาพรถ 4 ปี หรือ 120,000 กิโลเมตร, ฟรีประกันภัยชั้น 1 ใน 1 ปีแรก, ฟรีชุดอุปกรณ์ชาร์จไฟในบ้าน MG Home Charger มูลค่า 45,000 บาท และ ฟรีค่าติดตั้งชุดอุปกรณ์ชาร์จไฟ มูลค่า 20,000 บาท

●   ใครต้องการติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จไฟ ควรมีมิเตอร์ไฟฟ้า 1 เฟส ขนาด 30/100 แอมป์ขึ้นไป โดยต้องไปดำเนินการติดต่อแจ้งกับทางเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเองว่ามีจุดประสงค์ใช้งานอะไร

●   จากนั้นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าจะเข้ามาตรวจสอบว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่ใช้อยู่ประจำ มีอะไรบ้าง ลักษณะการใช้งานเป็นอย่างไร และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ส่วนการติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้านั้น ทางเจ้าหน้าที่ MG จะเข้าไปตรวจสอบและให้คำแนะนำอีกครั้ง โดยจะไม่ปรับเปลี่ยนชุดควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าชุดเดิม แต่จะแยกส่วนโดยเดินสายไฟใหม่ เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าเท่านั้น

●   สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MG ZS EV เชิญได้ที่ mgcars.com/th


2019 MG ZS EV : Group Test

2019 MG ZS EV (THAILAND)