September 18, 2019
Motortrivia Team (10191 articles)

Mitsubishi Pajero Sport GT-Premium 4WD เพิ่มอุปกรณ์ รูปลักษณ์เติมความสด

เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ • ภาพ : มิตซูบิชิ ประเทศไทย

●   รุ่นปรับโฉมของ มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต เปิดตัวในเมืองไทยช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทิ้งช่วงประมาณ 2 เดือนจึงมีโอกาสได้ทดลองขับแบบกลุ่มกับรุ่นท๊อป GT-Premium 4WD ราคา 1,599,000 บาท เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ระหว่างทางมีแวะขับออฟโรด ลองระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Super Select 4WD II เอกลักษณ์ของปาเจโร สปอร์ต ในป่าแถวแก่งกระจาน

●   รูปลักษณ์ภายนอกและภายใน รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ย้อนกลับไปดูได้ที่งานเปิดตัว การปรับโฉมภายนอกเด่นชัดที่ด้านหน้าในสไตล์ Dynamic Shield แนวทางการออกแบบของมิตซูบิชิ ยุคใหม่ ดูโฉบเฉี่ยวและเสมือนเป็นเกราะป้องกัน โคมไฟท้ายทรงเดิม เปลี่ยนรายละเอียดภายในใหม่ ห้องโดยสารปรับใหม่หลายจุด ส่วนอุปกรณ์ใหม่ที่เพิ่มเติมในรุ่นปรับโฉม ก็เล็งจากตารางด้านล่างได้เลย

●   ทุกรุ่นย่อย เพิ่มอุปกรณ์มาตรฐานใหม่ ประกอบด้วย เบรกมือไฟฟ้า พร้อมระบบเบรกมือไฟฟ้าอัตโนมัติ และระบบช่วยหน่วงการเบรกขณะจอด ซึ่งมีเฉพาะมิตซูบิชิเท่านั้น, และเพิ่มจอคอนโซลกลางแบบสัมผัส ขนาด 8 นิ้ว รองรับการเชื่อมต่อผ่านสมาร์ทโฟน และ Apple Car Play แสดงผลได้ทั้งระบบนำทางผ่านดาวเทียม ข้อมูลความบันเทิง ด้านล่างมีช่องต่อ USB 2 และ HDMI 1 ช่อง และเพิ่มไฟตัดหมอกหน้าและไฟส่องสว่างขณะเลี้ยวแบบ LED

●   รุ่น GT-Premium เพิ่ม Electric Tailgate ฝาท้ายเปิด-ปิด ด้วยระบบไฟฟ้า, เพิ่มเสาอากาศแบบครีบฉลาม, เพิ่มระบบเตือนขณะเปลี่ยนเลน Lane Change Assist (LCA), เพิ่มระบบเตือนด้านหลังขณะถอยออกจากช่องจอด Rear Cross Traffic Alert (RCTA) และอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นในรุ่นปรับโฉม และมีเฉพาะในมิตซูบิชิเท่านั้น ไฮไลต์อยู่ที่ จอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบ Full LCD ขนาด 8 นิ้ว แสดงข้อมูลสัมพันธ์กับหน้าจอที่คอนโซลกลาง ทั้งระบบนำทางผ่านดาวเทียม รายชื่อเพลง และสมุดโทรศัพท์ สามารถปรับเปลี่ยนการแสดงผลได้ 3 รูปแบบ โดยต้องทำขณะรถจอดนิ่ง

●   ระบบสั่งการทำงานระยะไกลด้วยสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อื่นๆ ผ่าน Bluetooth ควบคุมได้ทั้งการจองเวลาเปิด-ปิด ประตูบานท้าย, สั่งปิดไฟฉุกเฉินหรือล็อกประตู, ค้นหาตำแหน่งรถ, แสดงข้อมูลรถยนต์ทั้งอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย ระยะทางที่ขับ และคะแนนการขับ (ใช้งานได้ในระยะที่สัญญาณ Bluetooth ครอบคลุม)

●   อุปกรณ์เดิมที่มีอยู่แล้ว และมีเฉพาะในมิตซูบิชิเท่านั้น ประกอบด้วย จอภาพบนเพดานเบาะแถว 2 แบบ Wide Screen 12.1 นิ้ว พร้อมช่องต่อ HDMI และ USB มีรีโมทคอนโทรลสำหรับผู้โดยสาร และหูฟังอินฟราเรด มีอุปกรณ์เสริม HDMI Dongle ส่งภาพหน้าจอโทรศัพท์ขึ้นจอภาพ, ระบบตัดกำลังเครื่องยนต์ชั่วขณะ เมื่อเหยียบคันเร่งอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ระบบกรองอากาศ NANOe ซึ่งทั้งหมดเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรุ่น GT-Premium และ GT-Premium 4WD เท่านั้น ภายนอกมี 2 สีใหม่ให้เลือก คือ White Diamond และ Graphite Grey ถ้าอยากเปรียบเทียบรูปร่างหน้าตากับโฉมแรก ทีมงานมอเตอร์ทริเวียก็เคยทดสอบไว้เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว

จากซ้าย : คุณยอดชาย ซื่อวัฒนากุล ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักสื่อสารการตลาด และ คุณวรากร จรุงสรศักดิ์ เจ้าหน้าที่วางแผนผลิตภัณท์ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย

●   กิจกรรมทดสอบเริ่มต้นช่วงสายๆ ของวันธรรมดา จุดนัดพบร้านอาหาร BRASSERIE 9 แถวสาทร สะดวกต่อการเดินทางลงใต้ ช่วงพิธีการได้รับเกียรติจาก คุณยอดชาย ซื่อวัฒนากุล ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักสื่อสารการตลาด กล่าวต้อนรับ และอธิบายรายละเอียดตัวรถโดย คุณวรากร จรุงสรศักดิ์ เจ้าหน้าที่วางแผนผลิตภัณท์ เสร็จแล้วกินมื้อกลางวันสไตล์หรูที่ร้าน ตามคอนเซ็ปต์รถเอนกประสงค์ระดับพรีเมียม อิ่มแล้วเดินทางแบบฟรีรัน จุดหมายที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นัดแนะเวลาประมาณ 13.30 น. ช้าสุดไม่เกิน 13.45 น.

●   วางแผนไว้แล้วว่าจะขับก่อน แล้วพอถึงช่วงทางออฟโรดค่อยสลับมานั่ง หลุดจากสาทรมาได้การจราจรเริ่มโล่งตามลำดับ เจอรถติดอีกช่วงแถวที่มีก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ยังพอเห็นเพื่อนร่วมกลุ่มอยู่บ้าง แต่หลังจากถนนโล่งก็เหลือแค่รถปิดท้ายขบวนขับตามหลังมาห่างๆ พยายามขับเลนกลางเพราะกลัวโดนกล้องจับความเร็ว ในตำแหน่งเกียร์ D ที่ 2,000 รอบต่อนาที ก็ทำความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้ว ขับไปเรื่อยๆ ดูอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 7.5 ลิตร/100 กิโลเมตร หรือ 13.3 กิโลเมตรต่อลิตร ไม่แน่ใจว่าก่อนออกเดินทางได้เซตข้อมูลอัตราสิ้นเปลืองใหม่หรือเปล่า

●   ขับไปเรื่อยๆ ประมาณ 12.30 น. ก็เริ่มเอะใจว่าจะไปทันเวลาไหม เลยให้เพื่อนที่นั่งมาด้วยกันลองเช็คจาก Google Map ซึ่งแจ้งว่าจะใช้เวลาอีก 50 นาที จึงจะถึงปลายทาง แปลว่าเลทกว่าเวลาที่กำหนดไว้เยอะมาก จำเป็นต้องเพิ่มความเร็วอย่างเร่งด่วน จากปกติที่เป็นคนขับรถแบบชิลๆ จึงตื่นเต้นเมื่อต้องใช้ความเร็วสูง ขับบนถนนเพชรเกษมไม่นานก็ขึ้นสะพานข้ามเข้าสู่ทางรองหมายเลข 3349 เป็นถนน 2 เลนสวน จึงทำความเร็วได้ไม่มากนัก

●   ช่วงนี้ได้ลองสมรรถนะของรถแบบไม่ตั้งใจ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ที่ถูกรีดเค้นแรงม้า ผ่านทางเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ผลักคันเกียร์จากตำแหน่ง D ไปที่ +/- แล้วควบคุมการเปลี่ยนเกียร์ด้วย Paddle Shift ที่พวงมาลัย เลือกตำแหน่งเกียร์ที่เหมาะสมเลี้ยงรอบรอไว้ รอจังหวะไม่มีรถสวนมาก็กดคันเร่งหมุนพวงมาลัยเบี่ยงรถแซงออกไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอจังหวะคิ๊กดาวน์ พวงมาลัยแร็คแอนด์พิเนียนพร้อมเพาเวอร์ที่รู้สึกว่าหนืดหนักไปนิดตอนขับฝ่าเมือง ส่งผลดีเวลาขับด้วยความเร็วสูงหรือเปลี่ยนเลนเร็วๆ เพราะทำให้ควบคุมรถได้อย่างมั่นคง ไม่วูบวาบ จังหวะการเปลี่ยนเกียร์ยังมีหน่วงนิดๆ ไม่ถึงกับรู้สึกว่าชักช้าไม่ทันใจแม้ว่ากำลังรีบ

●   ม้าทั้ง 181 ตัว ถูกปลุกให้ทำงานอย่างขยันขันแข็ง การกดคันเร่งลากรอบสูงๆ ในเครื่องยนต์ดีเซล ดูจะไม่ได้ทำให้อัตราเร่งดีขึ้นนัก กดคันเร่งและเปลี่ยนเกียร์ให้ถูกจังหวะของเครื่องยนต์ต่างหาก ที่ทำให้รู้สึกว่ารถพุ่งได้ไหลลื่นกว่าการลากรอบสูงๆ แล้วรู้สึกเครื่องยนต์ตื้อตัน เปลี่ยนเกียร์ขึ้นสูงที่ประมาณ 3,800 รอบต่อนาที ก่อนเรดไลน์ที่ 4,000 ดูจะถูกโฉลกกับรถรุ่นนี้ แต่ก็ต้องลืมเรื่องอัตราสิ้นเปลืองไปก่อน

●   ช่วงล่างมีเหล็กกันโคลงหน้า-หลัง ด้านหน้าอิสระปีกนกคู่ คอยล์สปริง ด้านหลังคานแข็ง ทรีลิงค์ ทอร์คอาร์ม คอยล์สปริง ให้ความมั่นคง รู้สึกมั่นใจเมื่อขับบนทางตรงที่ผิวถนนไม่เรียบนักที่ความเร็วเกินกฎหมายกำหนดไปเท่าตัว รู้สึกว่ารถยังอยู่ในการควบคุม เกียร์ 8 จังหวะ โอเวอร์ไดรฟ์ที่เกียร์ 7 และ 8 กับอัตราทดเฟืองท้ายเบอร์ 3.692 สำหรับการโดยสาร รอบจึงยังไม่ตัน กำลังเครื่องยนต์ยังเหลือพอจะไปได้อีกพอสมควร แต่ใจคนขับไปต่อไม่ไหวแล้ว เพราะแม้ทางจะโล่งตรง แต่ 2 ข้างทางมีชุมชนประปราย ทั้งมอเตอร์ไซค์และสัตว์เลี้ยง ที่แค่แว่บออกมาตรงไหล่ทาง ก็เพียงพอที่จะทำให้ต้องลองระบบเบรกแบบดิสก์พร้อมครีบระบายความร้อนทั้ง 4 ล้อ โดยไม่ค่อยเต็มใจ

●   นอกจากช่วงล่างและพวงมาลัยที่หนักแน่นแล้ว ประสิทธิภาพของระบบเบรกที่สร้างแรงดึงได้อย่างหนักหน่วงรวดเร็ว ก็ทำให้กล้าขับด้วยความเร็วสูงเกินสามัญไปมาก แรงเบรกที่เกิดขึ้น สัมพันธ์กับแรงที่เหยียบแป้นเบรก ทำให้เบรกง่าย กดหนักๆ ก็ดึงความเร็วให้ลดวูบลงได้โดยที่มีอาการหน้าทิ่มท้ายยกไม่มากนัก กระชากรถหนัก 2.075 ตัน ที่ขับมาด้วยความเร็วเกิน 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้ลดลงได้อย่างรวดเร็วและมั่นคงไม่ปัดเป๋

●   ในช่วงถนน 4 เลน เพื่อนที่นั่งมาด้วยก็ขานเวลาเพิ่มความกดดันให้เป็นระยะ หลังจากเร่งความเร็วได้พักใหญ่ๆ Google Map ก็แจ้งว่าจะถึงจุดนัดพบภายในเวลาที่กำหนด คือ ไม่เกิน 13.45 น. ซึ่งเป็นเวลาที่เผื่อเลทให้แล้ว ใจยังอยากจะให้ถึงตามเวลา 13.30 น. แต่ก็เป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะลดเวลาลงได้มากขนาดนี้กับระยะทางที่เหลืออยู่ และสภาพถนนที่ไม่เอื้ออำนวยนัก ยังไงก็ต้องนึกถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก

●   เท้าขวาก็ยังกดคันเร่งไม่ลดละ เพื่อนก็ขานเวลาเป็นระยะ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ถนน 2 เลนสวนแล้วเจอรถช้าข้างหน้า จะแซงก็ไม่มีจังหวะ ชักจะเริ่มเอะใจว่าทำไมให้เวลาค่อนข้างพอดี เพราะช่วงแรกก็ไม่ได้ขับช้าจนน่าเกลียด ก็ขับ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ที่มั่นใจได้อย่างหนึ่งคือ น่าจะเป็นคันสุดท้ายที่ไปถึง ขับเข้าไปในเขตอุทยานที่มีชุมชนหนาแน่น คราวนี้หมดสิทธิ์ทำความเร็ว เหลือบดูนาฬิกา 13.25 น. Google Map บอกจะถึงจุดหมายอีก 35 นาที ถอดใจว่าไปไม่ทันแน่ๆ เพราะเป็นถนนคดโค้งเลาะขอบเขื่อนแก่งกระจานแถมมีฝนตกพรำๆ ต้องลดความเร็วลงอีก ขับอีกไม่ไกลได้ยินเสียงวิทยุสื่อสารหลังจากเงียบเหงาไปพักใหญ่ ก็ยังไม่เอะใจว่าทำไมสัญญาณมาไกลจัง พอพ้นโค้งเห็นรถทีมงานจอดอยู่ ถึงได้รู้ว่าเพื่อนตัวดีป้อนข้อมูลปลายทางว่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่จุดที่นัดพบกันเวลา 13.30 น. เลทสุดไม่เกิน 13.45 น. คือ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ก่อนถึงตัวอุทยานประมาณ 20 กิโลเมตร งานนี้ก็เลยถึงจุดหมายตามเวลา 13.30 น. แบบลุ้นเหนื่อย

●   แวะพักรอสื่อมวลชนมาครบทุกคันแล้วสลับผู้ขับ ตั้งขบวนเดินทางเข้าป่า ผ่านด่านหน่วยพิทักษ์อุทยานแก่งกระจาน เขาสามยอด จากนั้นก็เข้าป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จอดรถปรับโหมดขับเคลื่อนไปที่ เส้นทางส่วนใหญ่ไม่โหดร้ายมากนัก มีลุยน้ำข้ามลำธารตะกายเนินดินแฉะๆ บ้าง แต่โดยรวมถือว่าโชคดีที่ฝนไม่ตกซ้ำลงมาอีก ทำให้ขับง่าย ทำเวลากันได้ดี

●   เครื่องยนต์ดีเซลรหัส 4N15 เสื้อสูบและฝาสูบผลิตจากอะลูมิเนียมอัลลอย น้ำหนักเบา ทนทาน และระบายความร้อนได้ดี เป็นแบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว พร้อมระบบแปรผันวาล์วไอดี MIVEC เทอร์โบแบบแปรผัน และอินเตอร์คูลเลอร์ จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ แบบคอมมอนเรล ความจุ 2,442 ซีซี อัตราส่วนการอัด 15.5:1 กำลังสูงสุด 133 กิโลวัตต์ หรือ 181 แรงม้า ที่ 3,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 430 นิวตันเมตร หรือ 43.8 กก.-ม. ที่ 2,500 รอบต่อนาที ถังน้ำมันจุ 68 ลิตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ โอเวอร์ไดรฟ์ อัตราทดต่ำกว่า 1.000 ที่เกียร์ 7 และ 8 มาพร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Super Select 4WD II และมีระบบล็อกเฟืองท้ายสำหรับลุยทางวิบากแบบโหดๆ

●   ในโหมดขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ 4H เมื่อใช้งานบนทางเรียบ ระบบจะแบ่งกำลังไปที่ล้อหน้า 40 เปอร์เซ็นต์ ล้อหลัง 60 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เลี้ยวได้โดยล้อหน้าไม่ขืน และเมื่อเข้าสู่ทางเปียกลื่น จะปรับเป็น 50:50 โดยอัตโนมัติ เพิ่มการยึดเกาะถนน ส่วนอีก 2 โหมดขับเคลื่อนคือ 4HLc และ 4LLc ระบบ Center Differential Lock จะแบ่งการส่งกำลังแบบ 50:50 โดย 4LLc จะเพิ่มระบบการล็อกเฟืองท้าย Rear Differential Lock ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้าพร้อมสวิตช์เปิด-ปิด มาพร้อมระบบ OFF-ROAD MODE ปรับการส่งกำลังจากเครื่องยนต์ให้เหมาะกับการขับ

●   จังหวะดีว่าฝนไม่ตก ทางไม่เละไม่ลื่นมาก ทำให้ขับง่ายไม่มีลุ้น ช่วงออฟโรดทั้งไปและกลับตีตั๋วผู้โดยสาร นั่งชมวิวเพลินๆ ช่วงทางวิบากตัวรถไม่กระแทกแรง การยุบและยืดตัวของช่วงล่างเป็นไปอย่างช้าๆ จึงไม่กระชาก เครื่องยนต์ก็แรงเหลือเฟือ บวกกับอัตราทดเกียร์ในโหมด 4HLc พละกำลังฉุดลากจึงเหลือๆ กับทางวิบากเล็กๆ ยางเดิมๆ มีอาการสไลด์บ้างพอสนุก ออกจากป่าแบบไม่ช้ำทั้งคนทั้งรถ จากนั้นเดินทางต่อไปยังที่พักในเมืองหัวหิน ถึงโรงแรมแล้วมิตซูบิชิไดัเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก่อนแยกย้ายกันเข้าห้องพักเพื่อเตรียมตัวสำหรับมื้อเย็นที่โรงแรม

●   รุ่งขึ้นมีสมาชิกเพิ่มอีก 1 คน จึงย้ายไปนั่งเบาะหลังเพื่อลองความสะดวกสบาย เรื่องกระจายความเย็นหายห่วง เพราะมีสวิตช์ควบคุมแอร์บนเพดานที่เบาะแถว 2 และมีช่องแอร์บนเพดานที่เบาะแถว 2 และ 3 รถก็ติดฟิล์มมาแล้วด้วย วันแรกที่นั่งหน้าอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน ลดพัดลมแอร์เหลือเบอร์ 1 ปรับอุณหภูมิไป 28 องศา ยังรู้สึกว่าหนาวนิดๆ สำหรับคนขี้หนาว ส่วนเรื่องความสะดวกสบายในการนั่ง ยังไม่ค่อยลงตัว แม้พนักพิงจะปรับเอนได้ กับมีที่เท้าแขนพร้อมที่วางแก้วน้ำตรงกลางมาให้ ก็ยังต้องใช้เวลาปรับเบาะอีกพักใหญ่กว่าจะลงตัว ที่รู้สึกเหมือนกันทั้งเบาะคู่หน้าและเบาะแถว 2 คือ พนักพิงค่อนข้างแอ่นดันหลังมากไปนิด พื้นที่วางขาแหละเหนือศีรษะเหลือเฟือสำหบความสูง 169 เซนติเมตร กับผู้โดยสารด้านหน้าและผู้ขับที่มีความสูงประมาณ 180 เซนติเมตร

●   มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต ทุกรุ่นย่อย ใช้เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังเหมือนกัน รุ่นสูงสุด GT-Premium 4WD เด่นที่ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ Super Select 4WD II ถ้าคิดว่าแค่ขับเคลื่อน 2 ล้อก็พอ ก็มีรุ่น GT-Premium ให้เลือก เป็นรุ่นท๊อป 2WD ประหยัดค่ารถได้ 130,000 บาท ระยะยาวก็จะประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าบำรุงรักษาได้อีก ส่วนรุ่น GT รุ่นพื้นฐาน 2WD ไม่มีมาตรวัดดิจิตอล และอุปกรณ์อีกหลายรายการที่ไม่มีให้ ถ้าของที่ไม่มีให้ก็ไม่ได้ใช้อยู่แล้วหรือไม่อยากได้ รุ่นพื้นฐานก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะราคาถูกกว่ารุ่นท๊อปถึง 300,000 บาท  ●

Group Test : 2019 Mitsubishi Pajero Sport GT-Premium 4WD