Toyota ประเทศไทย พาชม Tokyo Motor Show 2019 (ตอนที่ 1)
เรื่อง – ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ
● โตเกียว มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 46 จัดขึ้นภายใต้ธีม OPEN FUTURE สื่อถึงความเป็นไปได้อันไม่มีที่สิ้นสุดของเทคโนโลยียานยนต์ สำหรับปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีการขยายพื้นที่จัดงานจากเดิมที่โตเกียว บิ๊กไซต์ ไปยังอาโอมิ และพื้นที่ Open Road ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างอาริอาเกะและอาโอมิ เพื่อสร้างสรรค์ให้เป็น “ธีมปาร์คด้านยานยนต์” อันกว้างใหญ่สำหรับผู้ชมงาน และ Future Expo จัดบนพื้นที่ของเมกาเว็บ (Megaweb) เปิดประสบการณ์ของชีวิตประจำวันในอนาคต
● สำหรับโตโยต้า การเข้าร่วมงานในครั้งนี้มีขึ้นภายใต้แนวคิด การขับเคลื่อนสำหรับทุกคน หรือ Mobility for All เน้นการแสดงทิศทางการพัฒนารถยนต์ของโตโยต้าในอนาคต ผ่านรถต้นแบบรุ่นต่างๆ บางรุ่นเตรียมผลิตจริงในอีก 1-2 ปี ข้างหน้า และอีกหลายรุ่นจะถูกนำไปใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 และพาราลิมปิก 2020 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น โดยโตโยต้าเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของทั้ง 2 การแข่งขัน
● โตเกียว มอเตอร์โชว์ ครั้งนี้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เชิญสื่อมวลชนกว่า 30 ชีวิตเข้าร่วมงาน วันที่ 22 ตุลาคม 2562 อุ่นเครื่องเบาๆ ด้วยการเดินทางไปที่โรงแรมฮิลตัน โอไดบะ ช่วงเช้าเข้าร่วมฟังการพรีวิวข้อมูลรถรุ่นต่างๆ ที่จัดแสดงในงาน ช่วงบ่ายทดลองขับและนั่งรถรุ่นใหม่ ปิดท้ายด้วยงานเลี้ยงสื่อมวลชนจากหลากหลายประเทศในช่วงค่ำ
1. LQ-Learn, Grow, Love
● ยานยนต์ที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์ด้านอารมณ์ความรู้สึกกับผู้ขับ ตัวแทนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในตัวรถ (Onboard Artificial Intelligence Agent) ที่ชื่อว่า “Yui” (ยุอิ) สร้างประสบการณ์ในการขับขี่ส่วนบุคคล และมีความสามารถในการ ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ระดับ SAE Level 4
● โตโยต้า LQ ใหม่ พัฒนาภายใต้แนวคิด เรียนรู้ เติบโต รัก (Learn, Grow, Love) โดยร่วมกับสถาบันวิจัยโตโยต้า (Toyota Research Institute หรือ TRI) พัฒนา Yui และเทคโนโลยีการขับอัตโนมัติของโตโยต้า LQ ซึ่งจะทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างประสบการณ์ในการขับเคลื่อนที่เฉพาะบุคคล ผ่านการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรถกับผู้ขับ จากการเรียนรู้และตอบสนองความชอบและความต้องการของแต่ละบุคคล โดยชื่อรุ่น LQ ยังสื่อถึง ความมุ่งหวังของโตโยต้าว่า วิธีการนี้จะเป็นการส่งสัญญาณ (cue) ถึงแนวทางการพัฒนายนตรกรรมในอนาคต ที่สามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านอารมณ์ระหว่างรถกับผู้ขับได้
● มร. ไดสุเกะ อิโดะ หัวหน้าทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ กล่าวว่า “ในอดีต ความรักที่มีต่อรถ เกิดจากความสามารถในการเป็นยานพาหนะที่พาเราไปสถานที่ที่อยู่ไกล และทำให้เกิดการผจญภัยขึ้น เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้เรามีพลังในการสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่สร้างความตื่นเต้นและการมีส่วนร่วมที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตของผู้บริโภค เรามีความภูมิใจในการนำเสนอโตโยต้า LQ ใหม่ ยานยนต์ที่สามารถสร้างประสบการณ์ส่วนบุคคล ตอบสนองความต้องการในการขับเคลื่อนที่เฉพาะบุคคลของผู้ขับขี่ และสร้างความสัมพันธ์ด้านอารมณ์ระหว่างรถกับผู้ขับให้ผูกพันกันยิ่งกว่าเคย”

● มร. กิลล์ แพรทท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถาบันวิจัยโตโยต้า (Toyota Research Institute หรือ TRI) ผู้นำทีมพัฒนาการวิจัยระดับโลกของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และระบบการขับอัตโนมัติ กล่าวว่า “โตโยต้าตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเสริมความสามารถให้กับมนุษย์ มิใช่เพื่อทำหน้าที่แทนมนุษย์ หุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการช่วยเราทำหน้าที่ หรือยานยนต์ที่ช่วยให้ไม่เกิดการชนขณะขับ จะสร้างประโยชน์ให้กับปัจเจกบุคคลและให้กับสังคม เทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ผู้สูงอายุยังสามารถอาศัยในบ้านตนเองได้อย่างมีเกียรติ หรือทำให้เรามีความสุขยิ่งกว่าเคยไปกับการขับเคลื่อนส่วนบุคคล จะก่อให้เกิดคุณประโยชน์ทางด้านอารมณ์ความรู้สึกอย่างใหญ่หลวง ยิ่งไปกว่านั้น หากมีทั้ง 2 สิ่งผสานกัน ประโยชน์ที่ได้รับทางด้านอารมณ์และทางกายภาค จะช่วยก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี ที่จะเติมเต็มการใช้ชีวิตของมนุษย์”
● คุณลักษณะเด่นและเทคโนโลยีของโตโยต้า LQ ใหม่ ประกอบด้วย:

● 1. Yui ผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนที่ และตัวแทนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สุดชาญฉลาด : โดย LQ มาพร้อมกับตัวแทนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในตัวรถ (Onboard Artificial Intelligence Agent) ชื่อว่า Yui ที่สามารถมอบประสบการณ์การขับเฉพาะบุคคล ตามสภาวะด้านอารมณ์และความพร้อมด้านความปลอดภัย ยนตรกรรมนี้ออกแบบให้รองรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบสามารถตอบโต้กับผู้ขับ ผ่านการสื่อสารด้วยเสียงในรูปแบบของการปฎิสัมพันธ์ ที่นั่งติดตั้งฟังก์ชันให้เพิ่มความพร้อมด้านความปลอดภัยหรือลดความเครียดให้กับผู้ขับ ตลอดจนการออกแบบแสงภายในตัวรถ เครื่องปรับอากาศ การใช้กลิ่นหอม และยังมาพร้อมเทคโนโลยีการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับรถ หรือ Human-Machine Interactions (HMI) เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ขับจะได้รับความปลอดภัยและความสะดวกสบาย นอกจากนั้น Yui ยังสามารถเลือกและเล่นดนตรีให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมขณะขับ สามารถให้ข้อมูลตามเวลาจริงแบบ Real Time ตามหัวข้อที่ผู้ขับสนใจได้
● นอกเหนือจาก การวิจัยภายใต้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยโตโยต้า (Toyota Research Institute หรือTRI) โตโยต้ายังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรดังต่อไปนี้ ในการพัฒนาและทดลองใช้งาน ตัวแทนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ Yui ประกอบด้วย:
● (1) JTB Corporation สนับสนุนข้อมูลด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและเส้นทางเดินรถ ตลอดจนเส้นทางที่เหมาะสมกับความชอบของผู้ขับ (2) AWA Co., Ltd. สนับสนุนดนตรีในการฟังเพลงรูปแบบออนไลน์ โดยใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลาง (streaming music) ที่เหมาะสมกับเส้นทางเดินรถ และความชอบของผู้ขับ และ (3) NTT DoCoMo, Inc. สนับสนุนเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็วและมีความเสถียรสูง ด้วยการติดตั้งสถานีเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 5G ขณะการทดลองขับ นอกจากนี้ ในอนาคตโตโยต้าจะพัฒนาเพื่อปรับปรุงการทำงานของ Yui ให้มีความสามารถทำงานร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่น เช่น สมาร์ทโฟน
● 2. เทคโนโลยีที่ออกแบบเพื่อมอบความปลอดภัย ความสบายใจ และประสบการณ์ในการขับเคลื่อนที่อันแสนสะดวกสบาย : ความสามารถในการ ขับเคลื่อนอัตโนมัติ : LQ มาพร้อมความสามารถในการ ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ระดับ SAE2 Level 4
● ระบบค้นหาและจอดรถอัตโนมัติ : (พัฒนาร่วมกับ พานาโซนิค คอร์ปอเรชั่น) ระบบนี้จะทำให้ไม่จำเป็นต้องหาที่จอดรถอีกต่อไป ด้วยความสามารถในการขับอัตโนมัติ ระหว่างจุดรับ-ส่งและช่องจอดรถที่กำหนดไว้ในที่จอดรถที่อยู่ใกล้เคียง ช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับผู้มีข้อจำกัดในการเคลื่อนที่ ซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย สตรีมีครรภ์ ผู้ที่เดินทางพร้อมทารก และผู้ที่ไม่สะดวกในการจอดรถ ระบบนี้ยังใช้พื้นที่ในที่จอดรถได้อย่างคุ้มค่าที่สุด ด้วยการลดระยะห่างระหว่างรถคันอื่นถึง 20 เซนติเมตร
● ระบบค้นหาและจอดอัตโนมัติ จะทำงานผ่านระบบที่ติดตั้งในตัวรถ เพื่อระบุตำแหน่งปัจจุบันของรถ ผ่านกล้องหลายตัว มีการใช้ระบบโซนาร์และเรดาร์ แผนที่ถนนแบบสองมิติ กล้องที่ติดตั้งในที่จอดรถและศูนย์กลางในการควบคุม ระบบเซนเซอร์และกล้องที่จอดรถ จะตรวจสอบยานพาหนะอื่น และผู้สัญจรเดินเท้า ภายในเส้นทางเดินรถที่อยู่ในระยะของระบบ ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และจะหยุดรถอัตโนมัติเมื่อตรวจพบยานพาหนะอื่น และผู้สัญจรเดินเท้า
● AR-HUD (พัฒนาร่วมกับ พานาโซนิค คอร์ปอเรชั่น) ระบบ Head up Display แบบโลกเสมือนจริง Augmented Reality Head’s Up Display (AR-HUD) ของ LQ ใช้เทคโนโลยีเสริมความเป็นจริง (Augmented Reality) เพื่อแสดงผลบนกระจกหน้ารถ Head’s Up Display (HUD) ช่วยทำให้เกิดการขับที่ปลอดภัย ด้วยการลดการเคลื่อนที่ของสายตาขณะขับ
● ข้อมูลการขับ เช่น การเตือนเมื่อเปลี่ยนเลน สัญญาณบนท้องถนน และการแนะนำเส้นทาง สามารถแสดงผลในรูปแบบสามมิติที่เข้าใจได้ง่าย บนจอแสดงผลของกระจกหน้ารถ ด้วยหน้าจอที่มีขนาดใหญ่ (เทียบเท่าขนาด 230 นิ้ว) ที่มีมิติความลึก 7 เมตร ถึง 41 เมตร ระบบนี้จะช่วยทำให้สายตาของผู้ขับจับจ้องที่ท้องถนน
● ที่นั่งพร้อมระบบเตือนเพื่อความปลอดภัยและระบบผ่อนคลาย (ครั้งแรกของโลก) (พัฒนาร่วมกับโตโยต้า โบโชคุ คอร์ปอเรชั่น) ระบบที่นั่งสุดล้ำสมัยของ LQ มีการบรรจุถุงลมแบบพองได้จำนวนมากเข้าไปในที่นั่งที่มีระบบเครื่องปรับอากาศ ช่วยทำให้ผู้ขับรู้สึกตื่นตัวหรือผ่อนคลาย ตามสภาพแวดล้อมขณะขับ หากระบบเรียนรู้ว่าผู้ขับมีอาการเหนื่อยล้า จะทำการเป่าลมภายในที่นั่งบริเวณด้านหลัง เพื่อทำให้เกิดลักษณะท่านั่งแบบหลังตรง พร้อมทำการปล่อยลมเย็นจากระบบหมุนเวียนภายในที่นั่ง เมื่อเกิดสภาวะที่ผู้ขับผ่อนคลายได้ เช่น ในขณะที่ระบบขับอัตโนมัติทำงาน ถุงลมภายในที่นั่งบริเวณด้านหลังจะค่อยๆ ยุบและพอง เพื่อให้เกิดการหายใจด้วยกล้ามเนื้อกระบังลม

● 3. เทคโนโลยีและอุปกรณ์ล้ำสมัยอื่นๆ : เทคโนโลยีการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับรถ (HMI) ใหม่ : LQ ใช้พื้นที่บริเวณหลังคาและพื้นรถเป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารเฉพาะบุคคล เพื่อแบ่งปันข้อมูลระหว่างรถกับผู้ขับ แสงบนหน้าจอจะแสดงสีแตกต่างกัน เมื่อแสดงผลว่ารถกำลังเคลื่อนที่ด้วยระบบขับอัตโนมัติ หรือการขับโดยมนุษย์ และแสงบริเวณเท้าจะระบุว่า Yui กำลังสื่อสารกับผู้โดยสารท่านใด
● LQ มีความสามารถในการสื่อสารข้อมูล เช่น สภาพพื้นผิวถนนให้คนที่อยู่ในและนอกตัวรถทราบ ผ่านการใช้อุปกรณ์ ดิจิตัล ไมโครมิเรอร์ Digital Micromirror Device (DMD) ซึ่งติดตั้งในไฟหน้าของรถ ระบบจะทำงานผ่านกระจกเล็กๆ จำนวนหนึ่งล้านชิ้นที่อยู่ภายใน เพื่อแสดงผลสภาพพื้นผิวถนนอันซับซ้อนที่รถกำลังมุ่งหน้าไป
● เทคโนโลยีหน้าจอแสดงผลแบบ Organic LED: (ครั้งแรกของโตโยต้า) เป็นครั้งแรกที่โตโยต้าใช้เทคโนโลยี Organic LEDs (OLEDs) สำหรับหน้าปัดรถและการแสดงผลของ LQ ซึ่งเป็นการออกแบบแผงควบคุมรอบคนขับที่มีดีไซน์ล้ำหน้า ทั้งทำให้เกิดการแสดงผลที่ชัดเจน
● ระบบตัวกรองอากาศ : (พัฒนาร่วมกับ Aisin Chemical Co., Ltd. และ Cataler Corporation) LQ ติดตั้งระบบตัวกรองอากาศแบบใหม่ที่จะย่อยสลายโอโซนในก๊าซออกซิเจน ผ่านพัดลมหม้อน้ำ ส่งผลให้โอโซนที่อยู่บริเวณพื้นดิน ซึ่งเป็นหนึ่งสาเหตุของหมอกควันแบบโฟโตเคมี (photochemical smog) ถูกย่อยสลายขณะรถเคลื่อนที่ โตโยต้าประเมินว่าผลจากระบบดังกล่าว จะช่วยทำให้เกิดการกรองอากาศของโอโซนประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่ในอากาศปริมาณ 1,000 ลิตร ระหว่างระยะเวลาการขับ 1 ชั่วโมง
● โตโยต้ามุ่งหวังว่านวัตกรรมดังกล่าว จะช่วยลดมลพิษที่ก่อให้เกิดอันตรายอย่างโอโซนจากอากาศที่เกิดขึ้นระหว่างขับขี่ และยังพิจารณาให้ยนตรกรรมที่จะจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในอนาคต มีการนำเอาเทคโนโลยีนี้มาใช้

● 4. ดีไซน์ : ห้องโดยสารของ LQ ออกแบบให้มีโครงสร้างแห่งอนาคต ดูล้ำสมัย ด้วยการนำเอา Yui ไว้ที่กึ่งกลางแผงควบคุม ผ่านเส้นสายที่วาดจากภายในตัวรถมายังภายนอก
● การออกแบบภายในดูเรียบง่ายและมีความเงางาม มีการซ่อนอุปกรณ์หลักอย่างเครื่องปรับอากาศให้อยู่ ในบริเวณที่มองไม่เห็น คอนโซลกึ่งกลางพิมพ์สามมิติ การใช้เทคโนโลยีด้านการออกแบบ topology optimization ส่งผลให้เกิดความแข็งแรงสูงสุด และทำให้ภายในตัวรถดูทันสมัยยิ่งขึ้น ด้วยโครงสร้างอุปกรณ์ภายในห้องโดยสารที่ผู้ขับขี่มองเห็นมีจำนวนน้อยลง ประตูภายนอกตัวรถมีการใช้แก้วที่เชื่อมโดยปราศจากรอยต่อ เข้ากับด้านในตัวรถ ทำให้เกิดดีไซน์ที่เป็นเอกภาพ ดูหรูหราสง่างาม
● มิติตัวรถมีความยาว 4,530 มิลลิเมตร กว้าง 1,840 มิลลิเมตร สูง 1,480 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,700 มิลลิเมตร รองรับผู้โดยสาร 4 ที่นั่ง น้ำหนักตัวรถ 1,680 กิโลกรัม ระยะทางการขับต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ประมาณ 300 กิโลเมตร
2. Ultra-Compact BEVs
● เตรียมเปิดตัวช่วงปลายปี 2020 โดยเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ของโตโยต้าที่ให้ความสำคัญในการสร้างความแพร่หลายของยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) ทั้งนี้ ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) โตโยต้ารุ่นอื่นๆ ได้แก่ Walking Area BEV (ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ที่วิ่งบนเขตผู้สัญจรเดินเท้าได้) และ Toyota i-Road
● Ultra-compact BEV (ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ อัลตรา คอมแพกต์) รุ่นใหม่ เป็นรถที่ผลิตเพื่อวางจำหน่ายจริง ก่อนเปิดตัวเพื่อวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในประเทศญี่ปุ่น ปี 2020 ออกแบบสำหรับการเดินทางระยะใกล้ โดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

มร. อะคิฮิโระ ยานะคะ หัวหน้าทีมพัฒนายานยนต์ Ultra-compact BEV
● มร. อะคิฮิโระ ยานะคะ หัวหน้าทีมพัฒนายานยนต์ Ultra-compact BEV กล่าวว่า “เราตั้งใจที่จะพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนที่ตอบสนองสังคมผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น ทั้งสามารถมอบอิสระทางการเคลื่อนที่ให้กับผู้คนในทุกช่วงชีวิต เราจึงภูมิใจที่จะแนะนำ Ultra-compact BEV เพื่อนำเสนอยานพาหนะ ที่มิใช่แค่เพียงมอบอิสรภาพในการเดินทางที่ดียิ่งขึ้น หากแต่ยังสามารถวิ่งโดยที่ใช้พื้นที่น้อยลง ก่อให้เกิดเสียงลดลง ทั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในปริมาณที่น้อย”
● การแนะนำ Ultra-compact BEV ในปี 2020 เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่ของโตโยต้า ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความแพร่หลายของยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ ซึ่งรวมถึงการให้ความสำคัญกับแบตเตอรี่ตลอดทุกช่วงอายุการใช้งาน นับตั้งแต่กระบวนการผลิต การขาย การขายต่อ และการรีไซเคิล เพื่อก่อให้เกิดคุณค่าสูงสุด
● สำหรับแผนงานระยะสั้น โตโยต้ามุ่งขยายแนวคิดเกี่ยวกับธุรกิจเช่าซื้อ ซึ่งออกแบบเพื่อนำเอาแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วมาประเมินมูลค่า และอาจมีการนำมาใช้ใหม่ตามความเหมาะสมในรถยนต์ใช้แล้ว รวมถึงการใช้งานในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งอยู่ระหว่างการพัฒนาบริการที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ เช่น สถานีเติมพลังงานเชื้อเพลิง และการคุ้มครองด้านประกันภัย
● โตโยต้ายังสำรวจความต้องการในการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ขนาดเล็ก สำหรับการสัญจรระยะสั้น ที่นอกเหนือจากการใช้งานส่วนบุคคล เช่น พบว่าการใช้รถประเภทดังกล่าวเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับเขตเทศบาลเมือง เพื่อให้เกิดทางเลือกการคมนาคมในเขตตัวเมืองและชุมชนที่อยู่บริเวณภูเขาให้เดินทางได้อย่างปลอดภัย ไร้ข้อจำกัด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
● ปัจจุบันโตโยต้ามีพันธมิตรองค์กรและหน่วยงานราชการประมาณ 100 แห่ง ในการร่วมสำรวจรูปแบบการคมนาคมแบบใหม่ ซึ่งรวมถึงการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ เช่น Ultra-compact BEV ทั้งยังอยู่ระหว่างการปรึกษาหารือกับที่อื่นๆ อีก สามารถตรวจสอบรายนามพันธมิตรปัจจุบันได้ที่นี่

● อรรถประโยชน์และคุณลักษณะเด่นของยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่โตโยต้า ประกอบด้วย:
● Ultra-compact BEV Concept Model for Business ตอบสนองการใช้งานเชิงธุรกิจ สำหรับการสัญจรหรือการเดินทางระยะทางใกล้ๆ ในรูปแบบที่ขับไปและจอดแบบเป็นกิจวัตร ทั้งยังทำหน้าที่เป็นที่ทำงานเคลื่อนที่ (mobile office) ด้วยรูปแบบการทำงาน 3 แบบ เพื่อรองรับการสัญจร การทำงาน และการพักเบรค ภายในรถ
● Walking area BEV ประเภทยืนขับ ตอบสนองการใช้งานเป็นรถตรวจการ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย หรือขนย้ายสัมภาระที่มีน้ำหนักมากรอบสถานที่ขนาดใหญ่ เช่น สนามบิน หรือโรงงาน
● Walking area BEV ประเภทนั่งขับ อำนวยความสะดวกด้านคมนาคมสำหรับผู้มีสัมภาระจำนวนมาก หรือผู้ที่มีความยากลำบากในการเดิน
● Walking area BEV ประเภทเชื่อมต่อเข้ากับรถเข็นวีลแชร์ เชื่อมต่อเข้ากับรถเข็นวีลแชร์เพื่อให้ขับเคลื่อนได้โดยเครื่องยนต์ สำหรับใช้งานภายในสถานที่ขนาดใหญ่หรือสถานที่ท่องเที่ยว
● Toyota i-ROAD ตอบสนองการใช้งานเพื่อการสัญจรระยะสั้น โดยยานพาหนะขนาดรถจักรยานยนต์ที่มีเสถียรภาพดีขึ้น รองรับการเดินทางเขตเมืองใน ช่วงท้ายสุดของการเดินทาง (last-mile) หรือใช้งานเชิงท่องเที่ยว
ชื่อ | Ultra-compact BEV | Ultra-compact BEV Concept Model for Business | Walking area BEV ประเภทยืนขับ | Walking area BEV ประเภทนั่งขับ | Walking area BEV ประเภทเชื่อมต่อเข้ากับรถเข็นวีลแชร์ | Toyota i-ROAD |
เวลาเปิดตัว | ฤดูหนาว 2020 | – | ฤดูหนาว 2020 | 2021 | 2020 | – |
จำนวนผู้โดยสาร | 2 คน | 1 | 1 | 1 | 1 | 1/2 |
ความยาว | 2,490 มม. | 2,490 มม. | 700 มม. | 1,180 มม. | 540 มม. | 2,345 มม. |
ความกว้าง | 1,290 มม. | 1,290 มม. | 450 มม. | 630 มม. | 630 มม. | 870 มม. |
ความสูง | 1,550 มม. | 1,550 มม. | 1,200 มม. | 1,090 มม. | 1,090 มม. | 1,455 มม. |
ความเร็วสูงสุด | 60 กม./ชม. | 60 กม./ชม. | 10 กม./ชม. (ปรับได้) | 2, 4, 6 กม./ชม. (ปรับได้) | 2, 4, 6 กม./ชม. (ปรับได้) | 60 กม./ชม. |
ระยะทางที่วิ่งได้ ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง | 100 กิโลเมตร | 100 กิโลเมตร | 14 กิโลเมตร | 10 กิโลเมตร | 20 กิโลเมตร | 50 กิโลเมตร |
ระยะ เวลาในการชาร์จโดยประมาณ | 5 ชั่วโมง (ไฟ200 โวลต์ ) | 5 ชั่วโมง (ไฟ200 โวลต์ ) | 2.5 ชั่วโมง (เปลี่ยนแบตเตอรี่ได้) | 2 ชั่วโมง (เปลี่ยนแบตเตอรี่ได้) | 2.5 ชั่วโมง (เปลี่ยนแบตเตอรี่ได้) | 3 ชั่วโมง |

3. Mirai Concept
● Mirai ใหม่ ปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของเซลล์พลังงานเชื้อเพลิง ใช้งานได้ไกลกว่ารุ่นปัจจุบัน 30 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงปรับปรุงอัตราการเร่งและสมรรถนะของรถ โดยได้รับการออกแบบใหม่หมด บนสถาปัตยกรรมยานยนต์ล่าสุด TNGA เพื่อมอบประสบการณ์ในการขับที่เหนือระดับ ความสะดวกสบายที่ดียิ่งกว่า และดีไซน์ที่คล่องแคล่วปราดเปรียว
● มร. โยชิกะซึ ทานะกะ หัวหน้าวิศวกร โตโยต้า มิไร กล่าวว่า “เรามุ่งสร้างสรรค์ยนตรกรรมที่จะทำให้ผู้ใช้รู้สึกสนุกกับการขับ ยนตรกรรมที่พร้อมด้วยเสน่ห์ของดีไซน์ที่น่าดึงดูด ทั้งสายตาและด้านความรู้สึก ตลอดจนสามารถตอบสนองสมรรถนะด้านการขับได้อย่างดีเยี่ยม และหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ยินลูกค้าพูดว่า สาเหตุที่ซื้อรถรุ่นนี้ไม่ใช่เพราะว่าเป็นรถไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง แต่เป็นเพราะเหตุผลที่ว่า เขากำลังมองหารถสักคัน และบังเอิญรถที่เลือกนั้น เป็นยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง”

มร. โยชิกะซึ ทานะกะ หัวหน้าวิศวกร โตโยต้า มิไร
● โตโยต้า แนะนำ มิไร เจเนอเรชั่นที่ 1 ในเดือนธันวาคม 2014 ยนตรกรรมรุ่นนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพในระดับโลกของสังคมแห่งพลังงานไฮโดรเจน ด้วยรูปแบบของยนตรกรรมที่ให้การขับเคลื่อน ที่ใช้พลังงานสะอาดและยั่งยืน และมีระยะทางในการเดินทางและใช้เวลาเติมเชื้อเพลิงเทียบเท่ายานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่มีจุดเด่นในเรื่องปราศจากการทำให้เกิดมลภาวะ โดยจะปล่อยของเสียออกมาเป็นน้ำ นับตั้งแต่การแนะนำรุ่นดังกล่าว ยอดจำหน่ายสะสมทั่วโลกของโตโยต้า มิไร อยู่ที่ประมาณ 10,000 คัน ถือเป็นการช่วยปูทางสู่สังคมแห่งพลังงานไฮโดรเจน ที่มีการปล่อยมลพิษน้อยลง มีความหลากหลายของแหล่งกำเนิดพลังงานเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับโลก
● สำหรับ โตโยต้า มิไร เจเนอเรชั่นที่ 2 วางแผนว่าจะเปิดตัวช่วงปลายปี 2019 โดยเริ่มจากประเทศญี่ปุ่น ทวีปอเมริกาเหนือ และในทวีปยุโรป โดยรถรุ่นนี้เป็นยิ่งกว่ารถที่ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งก้าวเพื่อมุ่งสู่อีกขั้นของยุคแห่งยานยนต์พลังงานไฮโดรเจน ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงานของเซลล์พลังงานเชื้อเพลิง และยังมีถังเก็บพลังงานไฮโดรเจนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โตโยต้าตั้งเป้าหมายให้รถรุ่นนี้มีระยะการเดินทางที่ไกลกว่ารุ่นปัจจุบัน 30 เปอร์เซ็นต์
● โตโยต้า มิไร เจเนอเรชั่นที่ 2 ได้รับการออกแบบใหม่หมด โดยใช้สถาปัตยกรรมยานยนต์ใหม่ TNGA แบบระบบขับเคลื่อนล้อหลังอันเหนือระดับของโตโยต้า เพื่อผสานความคล่องตัว และสมรรถนะด้านการขับที่ดียิ่งกว่า ให้เข้ากับรูปทรงภายนอกที่หรูหราปราดเปรียว ซึ่งคุณลักษณะเด่นของยานยนต์ต้นแบบโตโยต้ามิไรประกอบด้วย
● โดดเด่น ปราดเปรียว มอบสมรรถนะในการขับขี่เหนือระดับ ทั้งมีรูปทรงสวยงาม เร้าอารมณ์ : ออกแบบโดยใช้สถาปัตยกรรมยานยนต์ใหม่ของโตโยต้า (TNGA) ทั้งมีเส้นสาย สัดส่วนที่้ดูสวยงาม ตัวถังแข็งแกร่งปราดเปรียว ล้อรถขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 20 นิ้ว โดยองค์ประกอบทั้งหมดทำให้เกิดดีไซน์ทรงพลัง และ โดดเด่น สะกดสายตา
● สีภายนอกที่จะนำมาเปิดตัว คือ สีใหม่ (สีน้ำเงิน Force Blue Multiple Layers) ที่เน้นการใช้หลาย ชั้นสี เพื่อทำให้เกิดความสว่างและมิติความลึกแบบพิเศษ

● การออกแบบภายใน มีพื้นที่แบบเรียบง่าย ทันสมัย ให้ความรู้สึกของความอบอุ่นและความสบาย ด้วยวัสดุต่างๆ บริเวณแผงควบคุมตรงกลางเชื่อมต่อเข้ากับหน้าจอขนาด 12.3 นิ้ว รวมทั้งแผงหน้าปัดที่รอบล้อมคนขับ นอกจากนั้น การออกแบบระบบเซลล์พลังานเชื้อเพลิงให้อยู่บนสถาปัตยกรรมยานยนต์ใหม่ TNGA รองรับได้ 5 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากรุ่นปัจจุบันที่มี 4 ที่นั่ง
● สมรรถนะในการขับที่พัฒนาให้ดีขึ้นอย่างแท้จริง : นับตั้งแต่เริ่มต้น ตลอดทุกขั้นตอนในการออกแบบรถรุ่นนี้ โตโยต้าได้คำนึงถึงการทำให้สมรรถนะของระบบส่งกำลังโตโยต้า รวมทั้งประสิทธิภาพของเซลล์เชื้อเพลิงอยู่ในระดับสูงสุด โดยการใช้สถาปัตยกรรมยานยนต์ใหม่ของโตโยต้า ทำให้ยานยนต์ต้นแบบมีความแข็งแกร่งของตัวรถมากขึ้น ส่งผลให้รถมีความคล่องตัว และมีการตอบสนองดียิ่งขึ้น ตลอดจนจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำ ทำให้การควบคุมรถเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ตอบสนองได้ดั่งใจ
● นอกจากการพัฒนาระบบเซลล์พลังงานเชื้อเพลิง ให้รถมีระยะทางในการวิ่งที่ไกลขึ้นแล้ว ยังทำให้รถออกตัวได้อย่างราบรื่นและต่อเนื่อง ทั้งทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันเมื่อมีการเหยียบคันเร่งและเมื่อรถส่งกำลังเพื่อทำให้เกิดอัตราเร่ง การควบคุมรถมีความเบา และทำได้ง่าย แม้วิ่งบนถนนในขณะลมพัด รวมทั้ง เมื่อรถวิ่งบนถนนหลวงก็รู้สึกได้ถึงสมรรถนะอันทรงพลังที่ทุกระดับความเร็ว
● อีกขั้นของเทคโนโลยีเซลล์พลังงานเชื้อเพลิง : โตโยต้า มิไร เจเนอเรชั่นที่ 2 มาพร้อมระบบเซลล์พลังงานเชื้อเพลิงใหม่ พัฒนาประสิทธิภาพของเซลล์พลังงานเชื้อเพลิง (FC Stack) ให้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก โตโยต้าตั้งเป้าหมายให้รถรุ่นนี้มีระยะขับที่ดีขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ จากรุ่นปัจจุบัน ด้วยการทำให้ถังเก็บพลังงานไฮโดรเจนมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในการพัฒนายนตรกรรมรุ่นใหม่นี้
● มิติตัวรถมีความยาว 4,975 มิลลิเมตร เพิ่มขึ้น 85 มิลลิเมตร กว้าง 1,885 มิลลิเมตร สูง 1,470 มิลลิเมตร ลดลงจากรุ่นเดิม 35 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,920 มิลลิเมตร ยาวขึ้น 140 มิลลิเมตร ขับเคลื่อนล้อหลัง ภายในแบ่งเป็น 2 การตกแต่ง White & Silver ให้ความหรูหราผ่อนคลาย และ Black & Silver เน้นความเข้มขรึม
● จบการพรีวิวผลิตภัณฑ์ในช่วงเช้า ก็พักทานอาหารกลางวันในบริเวณจัดงาน จากนั้นเริ่มงานในช่วงบ่ายด้วยการบรรยายเรื่องแผนงานสำหรับรถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าของโตโยต้า ทำอย่างไรให้มีการใช้อย่างแพร่หลายยิ่งขึ้น โดยมี มร. ชิเกะคิ เทราชิ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และหัวหน้าทีมเทคโนโลยี บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้บรรยาย
● โตโยต้า มีการคิดค้นพัฒนาแบตเตอรี่มาตั้งแต่ปี 1925 และก่อตั้งห้องทดลองเกี่ยวกับแบตเตอรี่ในปี 1939 โดยมีแนวคิดในการพัฒนาว่าต้องมีพลังงานสูง ชาร์จซ้ำได้อย่างรวดเร็ว มีความต้านทานต่ำ ผลิตง่ายและทนทาน จากนั้นก็เปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นพริอุส เจนเนอเรชั่นแรก ในปี 1997 ใช้แบตเตอรี่แบบ นิเกิล เมทัล ไฮดราย จากนั้นในปี 2003 ก็เปิดตัวแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ส่วนในอนาคตอันใกล้จะพัฒนาแบตเตอรี่แบบ Solid-State และแบบ Metal Air
● เมื่อเปรียบเทียบแบตเตอรี่รถไฮบริดรุ่นปัจจุบันกับรุ่นก่อนหน้า จะพบว่าแบตเตอรี่ของรถไฮบริดรุ่นใหม่ๆ จะใช้งานได้ระยะทางมากกว่าเมื่อรถผ่านการใช้งานไปแล้ว 10 ปี แสดงว่าตัวแบตเตอรี่มีความทนทานมากขึ้น มีการเสื่อมสภาพน้อยลง และยังคงประสิทธิภาพการเก็บและจ่ายไฟฟ้า แม้ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนาน รถพลังงานไฟฟ้าและรถไฮบริด มีส่วนสำคัญจะช่วยลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง นอกจากนี้ยังช่วยลด CAFE หรือ Corporate Average Fuel Economy ให้ได้ตามข้อกำหนด และช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้รถพลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้นด้วย

4. e-Palette-ยานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ
● โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จะจัดสรรให้มียานยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ อี-พาเลตต์ รุ่นออกแบบพิเศษ โตเกียว 2020 เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม ระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกปี 2020 ณ กรุงโตเกียว (โตเกียว 2020) โดยจะมีความสามารถในการขับเคลื่อนอัตโนมัติ และวิ่งตามเส้นทางที่กำหนดไว้ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมสำหรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ของงาน ยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ขับเคลื่อนแบบไร้คนขับนี้ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ สำหรับการใช้งานระหว่างโตเกียว 2020 บนพื้นฐานความคิดเห็นจากนักกีฬา ที่มีต่อความต้องการด้านการสัญจร โดยรวบรวมจากประสบการณ์ในการเข้าร่วมการแข่งขันที่ผ่านมา
● มร. ทะคะฮิโระ มุตะ หัวหน้าทีมพัฒนายานยนต์รุ่น อี-พาเลตต์ (รุ่นโตเกียว 2020) กล่าวว่า “นักกีฬาที่ร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกต่างทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อบรรลุสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และเราต้องการมอบบริการเพื่อการเคลื่อนที่ ซึ่งออกแบบเป็นพิเศษ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักกีฬาระหว่างการแข่งขันโตเกียว 2020” ระหว่างการพัฒนายานยนต์รุ่นนี้ นักกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ร่วมการแข่งขันพาราลิมปิก ช่วยทำให้เราเข้าใจว่าควรปรับปรุงและพัฒนารถรุ่นนี้อย่างไร เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการในการเคลื่อนที่ซึ่งง่าย สะดวก และสบาย เรามีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมกับนักกีฬาในการพัฒนายนตรกรรมที่มิใช่เพียงมอบการขับเคลื่อนทางกายภายในหมู่บ้านนักกีฬา หากแต่ยังมอบโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น แบ่งปันประสบการณ์ใหม่ๆ และขับเคลื่อนด้านอารมณ์ความรู้สึกอีกด้วย”

มร. ทะคะฮิโระ มุตะ หัวหน้าทีมพัฒนายานยนต์รุ่น อี-พาเลตต์
● โตโยต้าแนะนำ อี-พาเลตต์เป็นครั้งแรกใน 2018 เป็นรถยนต์แบตเตอรี่ไฟฟ้าคันแรกของโตโยต้าซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อให้บริการขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autono-MaaS*1) โดยเฉพาะ สื่อถึงความตั้งใจในการปรับเปลี่ยนบทบาทองค์กรจากการเป็นเพียงผู้ผลิตรถยนต์สู่การเป็นองค์กรแห่งการขับเคลื่อน ทั้งนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีเชื่อมต่อ และเทคโนโลยีการขับขี่ที่ล้ำสมัยเข้ามาสนับสนุนธุรกิจพัฒนาการขับเคลื่อนแบบใหม่ในอนาคต
● อี-พาเลตต์ (รุ่นโตเกียว 2020) ได้รับการพัฒนาให้ตอบสนองความต้องการเฉพาะสำหรับการสัญจรภายในหมู่บ้านของนักกีฬาด้วยการติดตั้งประตูที่มีขนาดใหญ่ ทางลาดระบบไฟฟ้าให้กับรถรุ่นนี้ เพื่อให้สะดวกสำหรับนักกีฬาที่เดินทางเป็นหมู่คณะ รวมทั้งนักกีฬาพาราลิมปิกในการขึ้นลงรถได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย รถจะให้บริการด้วยระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติด้วยความเร็วสูงสุด 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะมีความสามารถในการขับเคลื่อนอัตโนมัติ ระดับ SAE Level2 4 ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยประจำรถ
● การนำยานยนต์รุ่นนี้มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกด้านคมนาคมสำหรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ นับเป็นพันธกิจหลักของโตโยต้าที่จะมอบทางแก้ปัญหาด้านการสัญจร ซึ่งมีเทคโนโลยีอ้นก้าวหน้า ล้ำสมัย ในฐานะผู้สนับสนุนระดับโลกด้านการขับเคลื่อนเป็นรายแรก ของการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก นอกจากนั้น โตโยต้ายังมีแผนที่จะนำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับจากการนำเอา อี-พาเลตต์ รุ่นออกแบบพิเศษ มาใช้ระหว่างโตเกียว 2020 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ เกี่ยวกับบริการด้านการสัญจรในอนาคต

● รายละเอียดยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ e-Palette รุ่นออกแบบพิเศษ โตเกียว 2020 ประกอบด้วย:
● ดีไซน์ที่เหมาะสมเพื่อมอบบริการแห่งการขับเคลื่อนที่สะดวกสบาย : สัดส่วนตัวรถด้านหน้าและด้านหลังมีความสมดุลลงตัว ล้อของรถออกแบบให้อยู่ที่บริเวณมุมของตัวรถ ทำให้พื้นที่ภายในตัวรถกว้างมากขึ้น
● สะท้อนความมุ่งมั่นในการมอบบริการแห่งการขับเคลื่อนสำหรับทุกคน ออกแบบราวจับและที่นั่งให้ใช้งานได้ง่ายสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะมีส่วนสูงเท่าไรก็ตาม นอกจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นพื้น การออกแบบเส้นสาย ที่นั่ง รวมทั้งส่วนประกอบอื่นๆ มีองค์ประกอบความแตกต่างของสีที่ชัดเจน เอื้อต่อผู้ที่มีภาวะตาบอดสี
● ผู้โดยสารสามารถขึ้นลงรถได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย : ด้วยการติดตั้งประตูที่มีขนาดใหญ่ ระดับของพื้นรถที่ต่ำ ทางลาดระบบไฟฟ้าให้กับรถรุ่นนี้ มาพร้อมระบบควบคุมเมื่อรถเคลื่อนใกล้ถึงจุดหมาย Arrival Control3 เพื่อให้ผู้โดยสาร รวมทั้งผู้ที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ ขึ้นลงรถได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย
● ด้วยฐานล้อที่ยาวและพื้นรถที่ราบเรียบทำให้สามารถให้บริการผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์มากถึง 4 คัน และผู้โดยสารยืน เดินทางร่วมกันด้วยยานพาหนะนี้ได้ในหนึ่งเที่ยว

● ระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย : อี-พาเลตต์จะให้บริการด้วยระบบการ ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ออกแบบเป็นพิเศษ ผสานการทำงานร่วมกันระหว่างฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และเซ็นเซอร์ที่ล้ำสมัย เช่น กล้องและเซ็นเซอร์ วัดแสงเทคโนโลยีไลดาร์ (LiDAR) ทำงานร่วมกับ ตัวการทำแผนที่สามมิติ (3D mapping) และระบบควบคุมการปฏิบัติการ เพื่อให้มีความสามารถในการขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ความเร็วต่ำ SAE ระดับ 4
● เพื่อสนับสนุนระบบการทำงานที่ปลอดภัย อี-พาเลตต์จะมาพร้อมหน้าจอแสดงผลแสดงให้เห็นการทำงาน และการควบคุมเครื่องจักร (Human-Machine Interface) ช่วยสื่อสารกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวรถ รวมทั้งคนเดินเท้า ขณะรถให้บริการขับเคลื่อนอัตโนมัติ ไฟรถด้านหน้าและหลังจะเลียนแบบการทำงานของมนุษย์ด้วยการสื่อสารทางสายตาเพื่อแจ้งคนเดินเท้าให้ทราบสถานะการทำงานของรถ
● ระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติจะคอยตรวจสอบสิ่งกีดขวางด้วยมุมมองแบบ 360 องศารอบตัวรถ และจะปรับระดับความเร็วให้เหมาะสมตามสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยเชิงรุก เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยประจำรถจะคอยตรวจสอบความเคลื่อนไหวของรถ และพร้อมทำการควบคุม ในกรณีที่มีความจำเป็น
ยาว / กว้าง / สูง / ฐานล้อ | 5,255 มม. / 2,065 มม. / 2,760 มม. / 4,000 มม. |
จำนวนผู้โดยสาร | รองรับได้สูงสุด 20 คน * (รวมเจ้าหน้าที่ประจำรถ) *สำหรับผู้โดยสารที่ใช้รถเข็น : รองรับรถเข็นได้สูงสุดถึง 4 คัน + ผู้โดยสารยืน 7 คน |
ระยะทางที่วิ่งได้ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง | ประมาณ 150 กิโลเมตร |
ความเร็ว | 19 กม./ชม. |
*1 เป็นการผสมของคำว่า “autonomous” และ “mobility as a service” เพื่ออธิบายการให้บริการด้านการขับเคลื่อนของโตโยต้าด้วยยานพาหนะที่ขับเคลื่อนได้โดยไร้คนขับ
*2 ศึกษาข้อมูลอ้างอิงของระดับ SAE Level ได้ที่ automatedtoyota.com
*3 ระบบควบคุมรถให้หยุด ณ จุดจอดรับส่ง และลดระยะห่างจากจุดที่จอดอัตโนมัติ
● Toyota@Tokyo Motor Show 2019 : ตอนที่ 1.
● Toyota@Tokyo Motor Show 2019 : ตอนที่ 2.
● Toyota@Tokyo Motor Show 2019 : ตอนที่ 3.