October 29, 2019
Motortrivia Team (10167 articles)

Toyota ประเทศไทย พาชม Tokyo Motor Show 2019 (ตอนที่ 3)

เรื่อง – ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ

●   บู๊ทโตโยต้า เน้นการเข้าถึงตามแนวคิด Play the Future ทุกคนสามารถสัมผัสรถต้นแบบได้ใกล้ชิด ไม่ใช่แค่เพียงยืนดูห่างๆ บางรุ่นมีการจัดลำดับ เพื่อให้เข้าไปทีละกลุ่ม ตามคิว เพื่อให้ได้ประสบการณ์ของการขับเคลื่อนแห่งอนาคตอย่างทั่วถึง และเต็มอิ่ม สมกับเป็น ‘สวนสนุกของการขับเคลื่อนแห่งอนาคต’

1. Toyota e-Care

●   เปิดประสบการณ์ใหม่กับรถตรวจสุขภาพแห่งอนาคต ที่ใช้การสื่อสารต่อหน้ากันแบบเดียวกับเกม ‘เป่ายิ้งฉุบ’ ที่ทุกคนรู้จักกันดี แพลตฟอร์มการให้บริการการขับเคลื่อนนี้ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารสามารถพูดคุยกับหมอในขณะโดยสาร ตลอดจนทำการตรวจร่างกายระหว่างเดินทางไปยังโรงพยาบาล โดยยานยนต์ TOYOTA e-Care สามารถไปยังจุดหมายปลายทางใดก็ได้ที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นบ้านของลูกค้า หรือสถานที่อื่นๆ

2. Toyota e-Palette

●   แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมการขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งมอบความบันเทิงผ่านกิจกรรมการแสดงที่ผสานทั้งผู้คน การขับเคลื่อน และภาพจำลองต่างๆ เอาไว้ด้วยกัน เป็นนวัตกรรมการให้บริการด้านการขับเคลื่อน ที่ยังคงเน้นให้ความสำคัญกับการบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับชีวิตผู้คนในอนาคตอย่างลงตัว

●   e-Palette ไม่เพียงมอบบริการด้านการขนส่งสัญจรเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้สนุกสนานเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรก หรือไม่ก็สามารถประยุกต์นำเอา e-Palette ไปใช้เป็นร้านค้าเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการให้กับบรรดาลูกค้าได้อีกด้วย

3. หุ่นยนต์ T-HR3

●   หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างยืดหยุ่นเป็นอิสระทั้งตัว โดยเคลื่อนไหวไปพร้อมกับท่าทางของผู้ควบคุม

4. Toyota e-RACER

●   นำเสนอประสบการณ์ “ความสนุกสนานในการขับขี่” แห่งโลกอนาคต ผู้เข้าชมสามารถสวมแว่นตาดิจิทัลที่ผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อสัมผัสประสบการณ์การขับรถแข่งแบบเสมือนจริงในสนามแข่งที่ตนเองเลือกได้ตามความต้องการ รวมทั้งยังสามารถเลือกปรับที่นั่งเพื่อให้พอดีกับรูปร่างได้ด้วย

5. Toyota e-4me

●   ชมการแสดงสดบนเวทีของยานยนต์ที่นั่งเดี่ยว ที่ให้บริการด้านการขับเคลื่อนแห่งโลกอนาคต พร้อมมอบความหรูหร สะดวกสบายในเวลาเดียวกัน

●   TOYOTA e-4me เป็นแพลตฟอร์มยานยนต์ที่นั่งเดี่ยวที่ให้บริการด้านการขับเคลื่อนพร้อมๆ กับให้ผู้โดยสารได้สัมผัสกับความรู้สึกหรูหรา สามารถทำกิจกรรมของตนเองและเพลิดเพลินไปกับบริการอื่นๆ ได้ตลอดการเดินทางไปยังจุดหมาย โดยไม่ต้องกังวลถึงผู้คนโดยรอบ

6. Toyota e-Trans

●   สัมผัสและลอง ขับยานพาหนะการขับเคลื่อนแห่งโลกอนาคต นี่คือบริการการเช่ารถระยะสั้นที่เอื้อให้ผู้คนจำนวนมากสามารถเดินทางสัญจรไปยังสถานที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย พร้อมทั้งสามารถขนส่งสิ่งของต่างๆ ได้มากมายด้วย

7. Toyota e-Chargeair

●   ติดตั้งระบบชาร์จแบตเตอรี่แบบไร้สาย เป็นแพลตฟอร์มบริการการเช่ารถระยะสั้นซึ่งสามารถชาร์จแบตเตอรี่ให้กับรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่คันอื่นๆ ในระหว่างการเดินทางได้ นอกจากนี้ยังสามารถผลิตไฟฟ้าให้กับทั้งรถยนต์และให้กับเมืองด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ยังมาพร้อมกับฟังก์ชั่นอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ เครื่องฟอกอากาศ และสัญญาณ Wi-Fi

Mobility for All

●   Toyota จัดแสดงความก้าวหน้าเพื่อการขับเคลื่อนแห่งอนาคต ภายในงานโตเกียว มอเตอร์โชว์ 2019 จัดแสดงนวัตกรรมการขับเคลื่อนอันล้ำสมัย ที่จะใช้ระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกโตเกียว 2020 วิสัยทัศน์สำหรับการขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ระบบขับอัตโนมัติแห่งอนาคต

●   โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (โตโยต้า) นำเสนอความคืบหน้าเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนบทบาทขององค์กร เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนระดับโลก ในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 46 ปี 2019 ตามแนวความคิดเพื่อมอบ “การขับเคลื่อนสำหรับทุกคน” (Mobility for All) ในคำกล่าวของผู้บริหารระดับสูงขององค์กร การสาธิตและอธิบายผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการนำเสนอแผนงานในการจัดเตรียมการขับเคลื่อนรูปแบบต่างๆ ระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกปี ค.ศ. 2020 ณ กรุงโตเกียว (โตเกียว 2020) โตโยต้าได้แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ เพื่อการมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่นำเสนอการขับเคลื่อนแบบบูรณาการ

●   มร. มิซึรุ คาวะอิ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวระหว่างให้การต้อนรับสื่อมวลชนและแขกผู้มีเกียรติหลายร้อยท่าน ก่อนการเปิดงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 46 ปี 2019 อย่างเป็นทางการว่า “กีฬาและการผลิตรถไม่ได้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพื่อทำให้ตนเองแข็งแกร่งขึ้น นักกีฬาหมั่นฝึกฝนและเพิ่มทักษะทุกวัน นั่นคือ การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง อันเป็นหลักการขั้นพื้นฐานข้อหนึ่งในวิถีแห่งโตโยต้า (Toyota Way) เรามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้นำเสนอความคืบหน้าและความมุ่งมั่น เพื่อสร้างสรรค์ยนตรกรรมที่ดียิ่งกว่า”

●   โตโยต้าประกาศแผนงานในการพลิกโฉมองค์กร เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนระดับโลก ในงาน CES (Consumer Electronics Show ) 2018 ที่ มร. อากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ได้เปิดตัวอี-พาเลตต์ (e-Palette) ซึ่งเป็นรูปแบบการขับเคลื่อนพร้อมบริการต้นแบบ ทั้งเผยถึงการมุ่งให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์และบริการ ที่ออกแบบเพื่อเพิ่มอิสรภาพในการขับเคลื่อนที่สำหรับทุกคน การปรับเปลี่ยนดังกล่าวเป็นไปตามพื้นฐานเกี่ยวกับความเข้าใจแนวโน้มในสังคม ด้านทิศทางของเทคโนโลยี 4 ประการ ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายแบบเชื่อมต่อ (Connected Networks) ระบบอัตโนมัติ (Automation) บริการระบบศูนย์กลางเพื่อกระจายข้อมูล (Shared Services) และระบบพลังงานไฟฟ้า (Electrification) ที่เมื่อทำงานร่วมกัน จะสามารถทำให้เกิดความเป็นไปได้ของการขับเคลื่อนที่ในรูปแบบใหม่ๆ เหนือขอบเขตของยนตรกรรมแบบเดิม

●   ความคืบหน้าของโตโยต้าในการมุ่งบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ได้มีการนำมาจัดแสดงอย่างเต็มรูปแบบภายในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 46 ปี 2019 ครั้งนี้ นอกเหนือจากการจัดแสดงยนตรกรรมที่ดีกว่าประเภทรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบสันดาปภายใน เช่น ยาริส ใหม่ โตโยต้ายังนำเสนอสายผลิตภัณฑ์ยานยนต์ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า ที่พร้อมทำการแนะนำเพื่อจำหน่าย โดยรวมถึง โตโยต้า มิไร เจเนอเรชั่นที่ 2 ที่จะเป็นยนตรกรรมในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีพลังงานเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น สู่การเป็นคู่แข่งด้านสมรรถนะในตลาดรถยนต์อย่างแท้จริง

●   Ultra-compact BEV (ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ อัลตรา คอมแพกต์) คำตอบของรูปแบบการขับเคลื่อนที่ตอบสนองความต้องการในการเดินทางระยะสั้นของทุกคน ไม่ว่าจะเป็น สำหรับ ผู้สูงอายุ การใช้งานในองค์กรหรือในหน่วยงานรัฐบาลระดับท้องถิ่น และใช้เพื่อเป็นแหล่งจ่ายพลังงานแบตเตอรี่ไปยังสถานีจ่ายพลังงานอุปกรณ์เพื่อการขับเคลื่อนขนาดเล็ก ผลิตภัณฑ์ใหม่เหล่านี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือกับผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และจะช่วยตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

●   มร. ชิเกะคิ เทราชิ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ประเด็นเกี่ยวกับการใช้พลังานไฟฟ้ากับยานยนต์ (Vehicle Electrification) นับเป็นหัวใจหลักของการพลิกโฉมองค์กรของเรา เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนระดับโลก และด้วยสายผลิตภัณฑ์ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าหลากหลายรูปแบบ จะทำให้โตโยต้า ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนี้โตโยต้าได้ตั้งเป้าหมายด้านการขายยานยนต์พลังงานไฟฟ้าภายในปี 2030 ที่ค่อนข้างสูง ทั้งยังตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยมลภาวะภายในปี 2050 ที่สูงยิ่งกว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของเราที่มีต่อยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ตลอดจนความมุ่งมั่นเพื่อก้าวข้ามทุกอุปสรรคซึ่งมีผลต่อการยอมรับยานยนต์ประเภทดังกล่าว”

●   ทั้งนี้ โตโยต้ายังประสบความสำเร็จในการผสานการทำงานร่วมกันระหว่างระบบส่งกำลังพลังงานไฟฟ้า ระบบ ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และระบบขับเคลื่อนแบบเชื่อมต่อ (Connected Mobility Systems) เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับบริการระบบศูนย์กลางเพื่อกระจายข้อมูล (Shared Services) ที่จะมีการทดลองใช้ครั้งสำคัญเป็นครั้งแรก ระหว่างการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกในปีหน้า โตโยต้า อี-พาเลตต์ จะมิใช่แค่ยานยนต์ต้นแบบอีกต่อไป หากแต่จะเป็นทางเลือกในการสัญจร ที่มอบ ”บริการในการขับเคลื่อน” แบบยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ขับเคลื่อนแบบไร้คนขับ สำหรับบรรดานักกีฬาและเจ้าหน้าที่ของงาน ทั้งภายในย่านที่พักของนักกีฬาโอลิมปิกและของนักกีฬาพาราลิมปิก

●   LQ (แอลคิว) ยานยนต์ที่โตโยต้าแนะนำในงาน CES เมื่อปี 2017 ในฐานะยานยนต์ต้นแบบ คอนเซปต์-ไอ (TOYOTA Concept-i) พร้อมทำให้ทุกคนเห็นถึงพลังของความสามารถในการ ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ระดับ SAE Level 4 ที่ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรถกับผู้ ขับได้ นวัตกรรมหลักอันล้ำหน้านี้ยังใช้กับผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กกว่า รวมทั้ง แพลตฟอร์มหุ่นยนต์ที่ออกแบบ เพื่อเพิ่มความสามารถของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่ายิ่ง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีข้อจำกัดด้านร่างกาย

มร. กิลล์ แพรทท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถาบันวิจัยโตโยต้า (Toyota Research Institute หรือ TRI)

●   มร. กิลล์ แพรทท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถาบันวิจัยโตโยต้า (Toyota Research Institute หรือ TRI) ผู้นำทีมพัฒนาการวิจัยระดับโลกของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และระบบการ ขับเคลื่อนอัตโนมัติ “โตโยต้าตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเสริมความสามารถให้กับมนุษย์ มิใช่เพื่อทำหน้าที่แทนมนุษย์ ทั้งนี้ หุ่นยนต์ที่มีความสามารถในการช่วยเราทำหน้าที่ หรือยานยนต์ที่ช่วยให้ไม่เกิดการชนขณะขับ จะสร้างประโยชน์ให้กับปัจเจกบุคคลและให้กับสังคม เทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ผู้สูงอายุยังสามารถอาศัยในบ้านตนเองได้อย่างมีเกียรติ หรือทำให้เรามีความสุขยิ่งกว่าเคยไปกับการขับเคลื่อนส่วนบุคคล จะก่อให้เกิดคุณประโยชน์ทางด้านอารมณ์ความรู้สึกอย่างใหญ่หลวง ยิ่งไปกว่านั้น หากมีทั้งสองสิ่งผสานกัน ประโยชน์ที่ได้รับทางด้านอารมณ์และทางกายภาค จะช่วยก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี ที่จะเติมเต็มการใช้ชีวิตของมนุษย์”

●   นอกเหนือจากการจัดแสดงแผนงานด้านผลิตภัณฑ์และบริการในอนาคต โตโยต้าใช้พื้นที่ในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 46 ปี 2019 เพื่อสนับสนุนความเชื่อที่มีต่อพลังแห่งการขับเคลื่อนอันจะทำให้สังคมดีขึ้น ความคิดนี้เป็นแกนหลักของการที่ร่วมเป็นพันธมิตรด้านการขับเคลื่อนที่ของโตโยต้า ในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกระดับสากล อันรวมถึงพันธกิจในการสร้างการขับเคลื่อนที่ปลอดภัย สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และเหมาะสมกับการใช้งาน และสามารถมอบบริการทันเวลาที่ต้องการ ให้กับนักกีฬา เจ้าหน้าที่ และผู้ชมการแข่งขัน นับพันคน ที่จะเดินทางมาร่วมการแข่งขันโตเกียว 2020 ในปีหน้า หากแต่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนั้น เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น โตโยต้ายังคงมุ่งหน้าสู่อนาคต ที่การขับเคลื่อนนั้นบูรณาการเข้าด้วยกันเป็น “เมืองแห่งการเชื่อมต่อ” (Connected City) ซึ่งทุกคนสามารถรับการบริการและความช่วยเหลือได้ตามความต้องการ

●   “เราขอเรียนเชิญทุกท่านมาเยี่ยมชมและสัมผัสว่า เมื่อโตโยต้ากลายเป็นองค์กรแห่งการขับเคลื่อนแล้วนั้น จะเป็นอย่างไร เรานำเสนอหลากหลายผลิตภัณฑ์และบริการที่แสดงให้เห็นถึงความคิดที่ล้ำหน้า และมีความทันสมัย โดยหวังว่าจะมิใช่เพียงนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าต้องการ หากยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ยาวนาน และนำมาซึ่งคุณประโยชน์ในสังคมโดยรวม ขอเชิญมาเยี่ยมชมและสัมผัสด้วยตัวท่านเองนะครับ” มร.อากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวในที่สุด

เยือน Toyota Research Institute เรียนรู้แนวคิดในการพัฒนา สัมผัสผลงานตัวเป็นๆ

●   หลังเข้างานมอเตอร์โชว์แล้ว รุ่งขึ้นมีโอกาสดีที่ได้ไปเยือน Toyota Research Institute หรือ TRI เพื่อเรียนรู้แนวคิดตั้งต้นในการพัฒนารถยนต์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ของโตโยต้า งานนี้ได้รับเกียรติจาก Mr. Gill Pratt ตำแหน่ง CEO – Toyota Research Institute และ Fellow – Toyota Motor Corporation อธิบายถึงการเชื่อมต่อกันของอารมณ์กับเทคโนโลยี ผสมผสานระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร เพื่อให้มีความปลอดภัยเมื่อใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ

Dr. James Kuffner ตำแหน่ง CEO, Toyota Research Institute – Advanced Development (TRI-AD)

●   Dr. James Kuffner ตำแหน่ง CEO, Toyota Research Institute – Advanced Development (TRI-AD) กล่าวถึงที่มาที่ไปของบริษัท TRI-AD ว่าเริ่มก่อตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2018 โดยร่วมมือกับโตโยต้า เดนโซ่ และไอซิน และอธิบายเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเน้นเรื่องการพัฒนายานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนา การใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น RADICAL – Robust Autonomous Driving Incorporating Cameras And Learning ไม่ต้องป้อนแผนที่ล่วงหน้า ทดลองการใช้งานทั้งแบบเสมือน และติดตั้งในรถต้นแบบเพื่อทดลองบนถนนจริง เพื่อให้แน่ใจว่าระบบมีความเสถียรและปลอดภัย

Mr. Nobby Koga ตำแหน่ง Chief Officer, Frontier Research Center

●   Mr. Nobby Koga ตำแหน่ง Chief Officer, Frontier Research Center นำหุ่นยนต์ HSR-Human Support Robot มาโชว์ประกอบการอธิบาย แนวคิดเพื่อเป็นผู้ช่วยของมนุษย์สำหรับกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ก็จะมีการนำหุ่นยนต์ไปใช้ในหลายส่วน

Maki Kobayashi, Executive Director of Communications and Engagement Bureau

●   ปิดท้ายด้วย Maki Kobayashi ตำแหน่ง Executive Director of Communications and Engagement Bureau กล่าวถึงความคืบหน้าและการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2020 ที่ทางโตโยต้าได้เตรียมยานพาหนะไว้รองรับ เพื่อให้เป็นไปตามแนวคิด ‘Freedom of Movement’ โดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและ Fuel Cell และมีการเตรียมสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้พิการเดินทางได้อย่างสะดวกสบายที่สุด รวมทั้งการใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น การนำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กลับมาใช้ทำเหรียญรางวัล และการใช้พลาสติกรีไซเคิลทำแท่นรับรางวัล เป็นต้น

●   ต่อเนื่องด้วยการชมการสาธิต การทำงานของหุ่นยนต์ HSR ผู้ช่วยงานบ้าน และ FSR-Field Support Robot ใช้ในกีฬาประเภทขว้างต่างๆ เมื่อนักกีฬาขว้างออกไปแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่เก็บอุปกรณ์กีฬาใส่ใน FSR แล้วจะวิ่งนำอุปกรณ์ไปส่งให้กรรมการต่อไป ช่วยทุ่นแรงคนที่จะต้องเดินส่งอุปกรณ์ FSR ทำความเร็วได้สูงสุด 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีระบบติดตามบุคคลและป้องกันการชน

●   ปิดท้ายด้วยการชมการสาธิต หนึ่งในขั้นตอนการพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ด้วยการติดตั้งเซนเซอร์และกล้องหลายตัว เพื่อให้รู้ว่าขณะขับรถในสถานการณ์ต่างๆ ผู้ขับมองตรงจุดไหนและทำอะไรบ้าง มีการถ่ายทอดภาพขึ้นบนจอเพื่อวิเคราะห์และเก็บข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่อไป

●   Toyota@Tokyo Motor Show 2019 : ตอนที่ 1.
●   Toyota@Tokyo Motor Show 2019 : ตอนที่ 2.
●   Toyota@Tokyo Motor Show 2019 : ตอนที่ 3.


Toyota@Tokyo Motor Show 2019 : Part 3