November 27, 2019
Motortrivia Team (10196 articles)

F1 Abu Dhabi GP 2019 Preview : สนามสุดท้ายประจำปี 2019

Posted by : Fascinator

●   สนามสุดท้ายประจำปี 2019 ของการแข่งขัน ฟอร์มูล่าวัน จะปิดฤดูกาลกันที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

●   อาบูดาบีกรังด์ปรีซ์เป็นรายการยุคโมเดิร์นที่เข้าสู่ปฏิทินการแข่งขัน F1 ในปี 2009 โดยมักจะถูกจัดเป็นรายการปิดท้ายของฤดูกาล มันเป็นรายการแรกที่จัดการแข่งขันแบบเดย์-ไนท์ หรือก็คือแข่งในช่วงตอนเย็นก่อนพระอาทิตย์ตกดิน ไปจนจบการแข่งขันภายใต้แสงดาวยามค่ำคืน

●   สนามแข่งถูกก่อสร้างอยู่บนเกาะยาส ห่างจากตัวเมืองไป 30 นาที โดยได้ เฮอร์มัน ทิลเก้ มาเป็นสถาปนิกออกแบบให้ มันมีทั้งธีมพาร์คอย่าง เฟอร์รารี เวิร์ล อาบูดาบี ซึ่งเป็นสวนสนุกที่มีโครงสร้างโครงถักใหญ่ที่สุดในโลก, วอเตอร์ พาร์ค สวนน้ำที่มีเครื่องเล่นมากกว่า 40 ชนิด, โรงแรมยาส ซึ่งเป็นโรงแรมที่แพงที่สุดในโลก และมีชายหาดส่วนตัวของสนามอีกด้วย ซึ่งพวกเขาลงงบประมาณไปกับการสร้างสนามถึง 1,322 ล้าน เหรียญสหรัฐ

●   ในส่วนของตัวสนามนั้น สนามแข่งมีโค้งทั้งหมด 21 โค้ง วิ่งทวนเข็มนาฬิกา มีความยาวทั้งสิ้น 5.554 กิโลเมตร และประดับประดาไปด้วยไฟส่องสว่างซึ่งจะเปิดตั้งแต่การแข่งขันเริ่มต้นขึ้น แม้ว่าดวงอาทิตย์จะยังไม่ตกดินก็ตาม โดยโปรเจ็คต์ไฟส่องสว่างของที่นี่คือโปรเจ็คต์ระบบให้ความสว่างถาวรที่ใหญ่ที่สุดในโลก

●   ผังสนามนั้นมีความชัดเจนแตกต่างกันทั้ง 3 เซ็คเตอร์ โดยเซ็คเตอร์แรกนั้นจะเป็นโค้งความเร็วสูงที่สามารถทำความเร็วได้อย่างลื่นไหล เซ็คเตอร์กลางจะเป็นโค้งความเร็วต่ำดักที่สุดทางตรงยาว ซึ่งทางตรงของที่นี่ยาวถึง 1,140 เมตร ยาวที่สุดเป็นอันดับ 4 ของปฏิทิน และเซ็คเตอร์สุดท้ายจะเป็นโค้งหักศอกที่แคบและคดเคี้ยว

●   เซ็คเตอร์แรกกับเซ็คเตอร์สุดท้ายนั้นชัดเจนว่าตัวรถต้องการ ดาวน์ฟอร์ซมหาศาล เพื่อที่จะให้รถแข่งมีการยึดเกาะสูงที่สุด แต่ทีมงานจำเป็นต้องบาลานซ์ดาวน์ฟอร์ซกับเซ็คเตอร์กลางให้ดี เพราะจุดนี้มีทางตรงยาว หากใช้ดาวน์ฟอร์ซมากเกินไปจะทำให้ความเร็วบนทางตรงลดลง

●   แน่นอนว่าด้วยทางตรงที่ยาวมาก กำลังเครื่องจึงสำคัญในเซ็คเตอร์กลาง ในขณะที่เซ็คเตอร์อื่นนั้นแทบจะไม่ต้องใช้กำลังเครื่องยนต์เลย

●   ในส่วนของยางนั้น ผิวแทร็คของที่นี่ทำจากเกรย์แวก ซึ่งเป็นวัสดุที่ให้การยึดเกาะสูงที่สุด ซึ่งพวกเขาจำเป็นจะต้องใช้เกรย์แวกเพื่อมาชดเชยกับการแข่งขันที่ถูกจัดในเวลาพลบค่ำ ซึ่งทำให้อุณหภูมิผิวแทร็คต่ำ รวมทั้งฝุ่นทรายที่มีอยู่เต็มไปหมดรอบสนาม

ใครมีโอกาสชนะมากที่สุด ?

●   เรียกได้ว่าเป็นรังของเมอร์เซเดสก็มิปาน เพราะนับตั้งแต่เข้าสู่ยุคไฮบริดเป็นต้นมา เมอร์เซเดสเป็นทีมเดียวที่คว้าชัยชนะที่นี่ โดย ลูวอิส แฮมิลตัน เป็นผู้ที่คว้าชัยชนะไปได้มากที่สุดเป็นจำนวน 4 ครั้ง แน่นอนว่าเขาจึงกลายมาเป็นตัวเต็งอย่างไม่ต้องสงสัย

บันทึกความทรงจำ

●   สนามนี้อาจจะเป็นสนามสุดท้ายของ นิโค ฮูลเคนเบิร์ก ในการแข่งขัน F1 นักแข่งเยอรมันไม่มีสัญญากับทีมใดในปีหน้าและคงต้องออกจากค็อกพิทหลังพวงมาลัย F1 ไป เขาอาจจะกลับมาได้ในอนาคตก็เป็นได้ แต่ที่แน่ๆ กับการแข่งขันที่อาบูดาบีในปีที่แล้ว เขามีความทรงจำที่ไม่ดีนัก เมื่อรถของเขาตีลังกาไปค้างเติ่งอยู่ริมบาริเออร์โดยที่มีไฟลุกติดขึ้นมา ย้อนกลับไปชมเหตุการณ์ในวันนั้นกันครับ

รายละเอียดสนามเพิ่มเติม

  • สนาม : ยาส มารีน่า
  • ความยาวสนามต่อรอบ : 5.554 กิโลเมตร
  • เปิดใช้งานครั้งแรก : ปี 2009
  • ความเร็วสูงสุด : 330 กิโลเมตร/ชั่วโมง
  • อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง : 3 / 5
  • อัตราสิ้นเปลืองเบรก : 3 / 5
  • อัตราสิ้นเปลืองยาง : 2 / 5
  • ต้องการดาวน์ฟอร์ซ : 3 / 5
  • ความยากในการแซง : 3 / 5
  • จุดแซงสำคัญ : โค้ง 8, 11
  • จุดสำคัญของสนาม : โค้ง 5-6-7
  • ยางที่สามารถใช้ได้ : C3, C4, C5
  • DRS Zone : โซนคู่ โซนแรกอยู่ที่ 270 เมตร หลังผ่านโค้ง 7 มีจุดตรวจจับเวลาอยู่ที่ 40 เมตร ก่อนเข้าโค้ง 7
  • โซนที่ 2 อยู่ที่ 165 เมตร หลังผ่านโค้ง 9 มีจุดตรวจจับเวลาอยู่ที่ 50 เมตร หลังผ่านโค้ง 9
  • ผู้ชนะคนล่าสุด : ลูวอิส แฮมิลตัน – เมอร์เซเดส
  • ผู้ที่ได้ตำแหน่งโพลคนล่าสุด : ลูวอิส แฮมิลตัน – เมอร์เซเดส
  • ผู้ที่ชนะรายการนี้มากที่สุดบนกริด : ลูวอิส แฮมิลตัน (2011, 2014, 2016, 2018)
  • สถิติสนาม : เซบาสเตียน เวทเทล – เรดบูลล์ เรโนลต์ – 1.40.279 – 2009
  • เวลาเร็วที่สุดของสนาม : ลูวอิส แฮมิลตัน – เมอร์เซเดส – 1.34.794 – 2018 (Q3)

ที่มา :
twitter.com/f1.
twitter.com/pirellisport
.


พรีวิวสนามประจำฤดูกาล 2019

• สนามที่ 01 : Australian GP Preview : ได้ฤกษ์เปิดฤดูกาลสนามแรก.
• สนามที่ 02 : Bahrain GP 2019 : เครื่องยนต์เป็นหลักกับพาวเวอร์แทร็ค.
• สนามที่ 03 : Chinese GP 2019 : เวทเทลน่าจะมีโอกาสระเบิดฟอร์ม.
• สนามที่ 04 : Azerbaijan GP 2019 : เลอแคลร์มีโอกาสเก็บชัยชนะแรก.
• สนามที่ 05 : Spanish GP 2019 : เข้าสู่โซนยุโรปอย่างเป็นทางการ.
• สนามที่ 06 : Monaco GP 2019 : เมอร์เซเดสยังคงเป็นตัวเต็ง.
• สนามที่ 07 : Canadian GP 2019 : เฟอร์รารีควรจะทำได้ดีที่นี่.
• สนามที่ 08 : French GP 2019 : สนามที่ต้องการกำลังเครื่องอย่างหนัก.
• สนามที่ 09 : Austrian GP 2019 : สนามที่ 9 เรดบูลล์ริง ถิ่นกระทิงดุ.
• สนามที่ 10 : British GP 2019 : สนามที่ 10 กับสนามสุดคลาสสิค.
• สนามที่ 11 : German GP 2019 : เฟอร์รารีมีโอกาสขยับเข้าใกล้.
• สนามที่ 12 : Hungarian GP 2019 : เมอร์เซเดสกับเรดบูลล์ โอกาสมากกว่า.
• สนามที่ 13 : Belgian GP 2019 : กับสนามที่สุดแสนคลาสสิค.
• สนามที่ 14 : Italian GP 2019 : รายการที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับ 5.
• สนามที่ 15 : Singapore GP 2019 : สนามแห่งแรกในเอเชียที่ใช้แข่ง F1.
• สนามที่ 16 : Russian GP 2019 : ไปต่อกันที่ฝั่งตะวันออกของทะเลดำ.
• สนามที่ 17 : Japanese GP 2019 : ย้ายวันควอลิฟาย ผลกระทบจากพายุ.
• สนามที่ 18 : Mexican GP 2019 : อากาศเบาบาง แต่ละค่ายขยับเข้าใกล้.
• สนามที่ 19 : US GP 2019 : อีกหนึ่งสนามที่เข้าทางเมอร์เซเดส.
• สนามที่ 20 : Brazilian GP 2019 : ตัวสนามยังคงเอื้อ 3 ค่ายใหญ่.
• สนามที่ 21 : Abu Dhabi GP 2019 : สนามสุดท้ายประจำปี 2019.