December 20, 2019
Motortrivia Team (10196 articles)

สถิติโพเดียม 27 ปี ที่ Carlos Sainz ทำลายไปที่บราซิล

Posted by : FascinatorFJ

●   อะไรที่เป็นครั้งแรก มันมักจะสร้างความประทับใจไม่รู้ลืม และสำหรับบางคนมันเป็นยิ่งกว่านั้น อย่างเช่น คาร์ลอส ซายน์ซ นักแข่งสแปนิช ที่เพิ่งขึ้นโพเดียมครั้งแรกของตัวเองได้ในปีนี้ที่บราซิล ซึ่งนอกจากจะเป็นโพเดียมครั้งแรกของเขาที่มีเหตุการณ์มากมายแล้ว เขายังเป็นนักแข่งคนแรกที่กว่าจะขึ้นโพเดียมได้ก็ต้องแข่งขันมามากกว่า 100 เรซ

●   คาร์ลอส ซายน์ซ ต้องใช้เวลาถึง 101 เรซ กับการที่ได้ก้าวมาถึงโพเดียมในที่สุด มันดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่เยอะ? ใช่สิ…นี่คือคนที่ต้องใช้เวลานานที่สุดกว่าจะได้ลิ้มรสชาติของแชมเปญ และเมื่อเราลองมาดูท็อป 8 ของนักแข่งในลิสต์นี้ พวกเขาใช้เวลากันพอสมควรทีเดียวกว่าจะได้มา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโพเดียมใน F1 นั้นไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมาคว้าไปง่ายๆ

เฟลิเป้ มาสซ่า – 57 เรซ

●   อันดับ 8 ในลิสต์นี้คือ เฟลิเป้ มาสซ่า นักแข่งบราซิเลียนที่ได้เริ่มต้นอาชีพนักแข่ง F1 กับเซาเบอร์ในปี 2002 ในปีนั้นเขาก็เร็วดีอยู่ แต่เขาไม่สม่ำเสมอและเอาแน่เอานอนไม่ได้ นั่นทำให้ปีถัดมาเขากลับไปอยู่เบื้องหลังเป็นนักขับทดสอบให้กับเฟอร์รารี เพื่อฝึกสมาธิและเตรียมตัวให้มั่นคงยิ่งขึ้น

●   เขากลับมาลงแข่งให้กับเซาเบอร์อีกครั้งในปี 2004 และ 2005 กลับมาคราวนี้เขาได้สร้างผลงานที่น่าประทับใจเอาไว้พอสมควร อย่างไรก็ตามเซาเบอร์ไม่ใช่ทีมที่จะมอบรถที่ทำให้เขาขึ้นโพเดียมได้อย่างง่ายดาย แต่จากผลงานที่เขาได้ทำไว้ใน 2 ปีที่ผ่านมา มันทำให้เขาได้รับการขยับขึ้นไปขับให้กับเฟอร์รารี ทีมที่มีศักยภาพไม่เพียงแต่ขึ้นโพเดียม แต่ถึงขั้นสามารถคว้าแชมป์โลก

●   ถึงอย่างนั้นการขึ้นมาขับให้กับเฟอร์รารีของนักแข่งบราซิเลียนก็ไม่ได้เรียบง่ายโรยด้วยกลีบกุหลาบ เขาเกือบจะคว้าโพลได้ตั้งแต่สนามแรกที่บาห์เรน แต่ในการแข่งขันเขากลับพลาดท่าหมุนออกจากแทร็คไปเองเสียดื้อๆ สนามต่อมาเขาได้พบกับบทลงโทษในการใช้เครื่องยนต์ที่มาเลเซีย และยังเกิดอุบัติเหตุตั้งแต่รอบแรกที่ออสเตรเลีย เขามีผลงานที่ดีขึ้นในสนามอิโมล่าด้วยอันดับ 4 และในที่สุดเขาก็จับทุกอย่างมารวมเข้าด้วยกันจนขึ้นโพเดียมได้สำเร็จในสนามที่ 5 ของฤดูกาล 2006 ซึ่งเป็นเรซที่ 57 ของเขาที่นูร์บวร์กริง เมื่อเขาควอลิฟายและจบการแข่งขันในอันดับ 3 จ่อท้ายชุดเกียร์ของ เฟอร์นันโด อลองโซ เข้าเส้นชัย และตามหลังผู้นำอย่าง มิคาเอล ชูมัคเกอร์ เพียง 4 วินาที

จิอันนี โมร์บิเดลลี – 60 เรซ

●   จิอันนี โมร์บิเดลลี ได้เดบิวต์กับ สคูเดอเรีย อิตาเลีย ในปี 1990 และเริ่มแข่งขันเต็มฤดูกาลกับมินาร์ดี้ในปี 1991 โดยในปีนั้นเขาได้รับโอกาสให้ขับเฟอร์รารีด้วย เนื่องจากเขาได้ไปแทนที่ อแลง พรอสต์ ที่ถูกปลดกลางอากาศ อย่างไรก็ตามรถเฟอร์รารีในปีนั้นก็ไม่ได้ดีในระดับที่จะต่อกรกับหัวแถวได้มากนัก

●   เขาอยู่กับมินาร์ดี้ต่อในปี 1992 และได้พักการแข่งขัน F1 ไปเป็นเวลา 1 ปีเต็ม เขากลับมาลงแข่ง F1 อีกครั้งในปี 1994 คราวนี้กับฟุตเวิร์ค และปีที่ 2 ที่เขาอยู่กับฟุตเวิร์ค สนามสุดท้ายเขาขึ้นโพเดียมได้สำเร็จ รวมแล้วต้องใช้เวลา 60 เรซ กว่าจะมาถึงจุดนี้ และมันเป็นเพียงครั้งที่ 5 ของนักแข่งอิตาเลียนเท่านั้นที่สามารถเก็บคะแนนได้

จอห์นนี เฮอร์เบิร์ต – 67 เรซ

●   คุณจะคิดอย่างไรเมื่อคนที่ลงแข่งสนาม F1 ครั้งแรกทำได้ดีที่สุดถึงอันดับ 4 คุณคงจะคิดว่านักแข่งคนนั้นน่าจะประสบความสำเร็จถึงโพเดียมได้ไม่ยาก นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ จอห์นนี เฮอร์เบิร์ต แต่ความเป็นจริงมันกลับไม่เป็นเช่นนั้น

●   เฮอร์เบิร์ตใช้เวลาครึ่งอาชีพนักแข่ง F1 ไปกับโลตัสที่อยู่ในยุคเสื่อมถอย นั่นทำให้เขาไม่เคยมีโอกาสดีๆ ที่จะได้สัมผัสกับโพเดียม และกว่าที่เขาจะย้ายทีมไปยังทีมที่มีโอกาสลุ้นโพเดียมนับจากสนามแรกที่เขาลงแข่งขันในปี 1989 ก็ต้องรอถึง 5 ปี ซึ่งเขาย้ายไปอยู่กับเบเนตองใน 2 สนามสุดท้ายของปี 1994

●   ในปีถัดมาเขาลงแข่งขันเต็มฤดูกาลกับเบเนตองและทำได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว น่าเสียดายในตอนนั้นเขามีทีมเมทชื่อว่า มิคาเอล ชูมัคเกอร์ นั่นทำให้เขาถูกดับแสงลงไปอย่างไม่น่าเป็นที่แปลกใจ เขาเข้าใกล้โพเดียมอีกครั้งในสนามที่ 2 ของฤดูกาลด้วยอันดับ 4 และในที่สุดกับสนามที่ 4 ของฤดูกาล เขาก็ขึ้นโพเดียมได้สำเร็จด้วยอันดับ 2 ตามหลังชูมัคเกอร์ รวมแล้วต้องใช้เวลา 67 เรซ หรือรอมา 6 ปี เลยทีเดียว

●   นักแข่งสหราชอาณาจักรฯ ยังสามารถเก็บโพเดียมได้เพิ่มอีก 3 ครั้ง ในฤดูกาลนั้น ซึ่ง 2 ใน 3 เป็นชัยชนะ และโพเดียมซึ่งเป็นถึงชัยชนะครั้งสุดท้ายของเขาก็มาที่นูร์บวร์กริงในปี 1999 กับเรซอันแสนวุ่นวายในปีนั้น

เปโดร เดอ ลา โรซ่า – 67 เรซ

●   เปโดร เดอ ลาโรซ่า เริ่มต้นอาชีพนักแข่ง F1 ได้ค่อนข้างสวยเลยทีเดียว เขาเก็บแต้มได้ตั้งแต่สนามแรกที่ลงแข่งขันในปี 1999 กับแอโรว์ ซึ่งไม่ใช่ทีมแข่งชั้นนำ เขาพยายามสร้างผลงานและได้ย้ายไปอยู่กับจากัวร์ในปี 2001 อย่างไรก็ตามทีมเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถมอบตั๋วเบิกทางให้เขาขึ้นโพเดียมได้ เขาจึงได้ตัดสินใจไปเป็นนักขับทดสอบให้กับแม็คลาเรนตั้งแต่ปี 2003

●   การตัดสินใจซบแม็คลาเรนของนักแข่งสแปนิชนั้นเห็นผลในปี 2006 เมื่อ ฮวน พาโบล มอนโตย่า นั้นมีปัญหากับทีมและได้ตัดสินใจออกจากทีมไปกลางฤดูกาล นั่นเปิดทางให้ เดอ ลา โรซ่า ได้ขึ้นมาเป็นนักขับตัวจริงคู่กับ คิมี ไรค์โคเนน

●   ในสนามที่ 3 ของการเข้ามาขับเป็นตัวจริงหรือก็คือที่ฮังกาโรริง 2006 เขาใช้เวลาตลอดการแข่งขันอยู่ในอันดับท็อป 3 แม้สภาพอากาศจะแปรปรวจจนต้องลุ้นตัวโก่งกับการตัดสินใจของทีมตลอดเวลา และถึงแม้ว่า เจนสัน บัตตัน ผู้ชนะ และ เฟอร์นันโด อลองโซ ผู้นำการแข่งขันซึ่งรีไทร์ในเวลาต่อมาจากปัญหาช่วงล่าง จะเร็วมากในสนามนั้น แต่นักแข่งสแปนิชก็เป็นรองเพียงแค่ 2 คนนั้นและทำสำเร็จด้วยการเข้าเส้นชัยในอันดับ 2

●   เมื่อเทียบกับไรค์โคเนน, เดอ ลา โรซ่า ถือว่าทำผลงานได้ค่อนข้างดีและคงไม่มีใครค้านหากเขาจะได้ไปต่อ อย่างไรก็ตามแม็คลาเรนตัดสินใจดันเด็กปั้นของตัวเองซึ่งเป็นแชมป์โลก GP2 นามว่า ลูวอิส แฮมิลตัน ขึ้นมาเป็นนักขับตัวจริงในปี 2007 นั่นจึงเป็นโอกาสเพียงแค่ชั่วประเดี๋ยวเดียวของ เดอ ลา โรซ่า ที่ได้ขับให้กับท็อปทีม หลังจากนั้นเขาก็ได้ไปขับให้กับเซาเบอร์และ HRT และจบความสัมพันธ์ใน F1 ในตำแหน่งนักขับทดสอบของเฟอร์รารี

เจนสัน บัตตัน – 68 เรซ

●   อีกหนึ่งตัวอย่างของนักแข่งที่มีดีพอที่จะขึ้นโพเดียม แต่กลับต้องเสียเวลารอคอยอย่างยาวนานกว่าโอกาสนั้นจะมาถึง เจนสัน บัตตัน นั้นค่อนข้างที่จะโชคไม่ดีที่เขาไม่สามารถคว้าโพเดียมได้เลยกับฤดูกาลที่เขาเดบิวต์กับวิลเลียมส์ในปี 2000 และเขาย้ายไปยังเบเนตองในปีถัดมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เบเนตองถอยหลังกลายไปเป็นทีมแบ็คมาร์คเกอร์

●   นักแข่งสหราชอาณาจักรฯ อยู่กับเบเนตองต่อในปี 2002 ซึ่งได้กลายเป็นทีมโรงงานของเรโนลต์ เขาได้ย้ายไปอยู่กับ BAR ในปี 2003 หลังจากเรโนลต์ไม่ต่อสัญญากับเขา และในปี 2004 นี้เอง BAR ก็ได้สร้างรถแข่งที่เป็นรองเพียงแค่ F2004 ของเฟอร์รารี ที่ถล่มคู่แข่งทลายในปีนั้น ซึ่งบัตตันไม่รอช้า เพียงแค่เรซที่ 2 ของปี 2004 และเป็นเรซที่ 68 ของเขา นักแข่งสหราชอาณาจักรฯ ก็ขึ้นโพเดียมครั้งแรกของตัวเองได้สำเร็จ มันเป็นโพเดียมครั้งแรกของ 10 ครั้ง ในปีนั้นที่ทำให้เขามุ่งหน้าสู่การเป็นเป็นนักขับที่ดีที่สุดอันดับ 3

●   ปี 2004 บัตตันได้พิสูจน์ตัวเองว่า เขาคือนักขับที่เจ๋งจริงตามที่หลายฝ่ายเชื่อว่าเขาเป็นอย่างนั้น ถึงแม้ว่าชัยชนะครั้งแรกของเขาจะไม่เกิดขึ้นในปีนั้นก็ตาม และต้องรอถึงปี 2006 กว่าเขาจะได้ชัยชนะครั้งแรก แต่ด้วยความสามารถที่เขามี เมื่อตำนานบรอว์นจีพีเริ่มต้นขึ้นในปี 2009 จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เขาจะฉวยโอกาสนั้นทำให้ความฝันของการเป็นแชมป์โลกของเขาสำเร็จขึ้นมา

มิก้า ซาโล – 73 เรซ

●   หลังจากที่ มิก้า ซาโล เริ่มต้นแข่งขัน F1 กับโลตัสในปี 1994 ได้ 2 สนาม เขาก็ย้ายไปอยู่กับไทร์เรลในปี 1995 และอยู่มาเป็นเวลา 3 ปี ก่อนที่จะย้ายไปแอร์โรว์อีกครั้งในปี 1998 ซึ่งทั้ง 3 ทีมข้างต้นนั้น แทบจะไม่มีโอกาสขึ้นโพเดียมได้เลย และถึงแม้ว่าเขาจะทำได้โอเคพอสมควร เขากลับต้องพบว่าตัวเองได้กลายเป็นผู้ชมในปี 1999 แทน

●   ในปีนั้นเขาได้เป็นตัวแทนของ ริคาร์โด ซอนต้า ที่ BAR แต่โอกาสที่ยิ่งใหญ่นั้นได้มาถึงเมื่อ มิคาเอล ชูมัคเกอร์ ขาหักจากอุบัติเหตุที่ซิลเวอร์สโตน ในฐานะที่เขาเป็นนักขับที่มีประสบการณ์ เชื่อถือผลงานได้ นักแข่งฟินน์ถูกเรียกตัวให้มาเฟอร์รารีเพื่อซัพพอร์ท เอดดี้ เออร์ไวน์ ที่กำลังลุ้นแชมป์โลก

●   ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานาน เพียงแค่สนามที่ 2 ที่เขาลงขับในเสื้อสีแดง ซาโลกำลังจะเข้าเส้นชัยเป็นคันแรก แต่ทางทีมสั่งให้เขาสลับอันดับกับเออร์ไวน์ที่มีลุ้นแชมป์โลก เขาเสียถ้วยผู้ชนะไปแต่ก็ได้ขึ้นโพเดียมสมใจ ถึงแม้ว่ามันจะขมเฝื่อนไปเล็กน้อยก็ตาม

●   เขาขึ้นโพเดียมให้กับเฟอร์รารีได้อีกครั้งในบ้านของเฟอร์รารีที่มอนซ่า แต่ดูเหมือนว่าที่เขาทำมาทั้งหมดจะไม่เพียงพอที่จะทำให้เฟอร์รารียื่นข้อเสนอนักขับตัวจริงให้กับเขา ดังนั้นเขาจึงไปอยู่กับเซาเบอร์ในปี 2000 และจบอาชีพนักขับ F1 กับโตโยต้าในปี 2002

มาร์ติน บรันเดิล – 91 เรซ

●   ลุงมาร์ติน โฆษกภาคสนามที่เราคุ้นตากันดี ได้เริ่มอาชีพนักแข่ง F1 ในปี 1984 กับไทร์เรล เขานั้นผ่านทีมแข่งมาหลายทีม ทั้ง แซ็คสปีด, วิลเลียมส์, บราบัม ก่อนจะไปยังเบเนตองในปี 1992 ที่ซึ่งเขารับถ้วยรางวัลบนโพเดียมครั้งแรกในรอบ 8 ปี

●   จริงๆ แล้วสถานการณ์ของบรันเดิลดูดีกว่านั้น เขาจบการแข่งขันในอันดับ 2 ได้ตั้งแต่สนามที่ 7 ที่เขาลงแข่งในซีซั่นแรก เขาเร็วมาก เร็วชนิดที่ไม่มีข้อสงสัย แล้ว 91 เรซ ข้างบนนั่นมาจากไหน? มันเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เปลี่ยนชีวิตของเขาไป อย่างแรกเขาเกิดอุบัติเหตุในระหว่างการควอลิฟายที่ดัลลาส สนามถัดมา ทำให้ข้อเท้าของเขาหัก และนั่นดูเหมือนจะทำให้ความเร็วที่เขามีหายไปด้วย อย่างต่อมาคือไทร์เรลถูกริบผลการแข่งขันทั้งฤดูกาล จากการใช้ตัวถ่วงน้ำหนักที่ผิดกติกาซึ่งทำให้รถเบากว่าน้ำหนักขั้นต่ำ และนั่นทำให้อันดับ 2 ของบรันเดิลมลายหายไป

คาร์ลอส ซายน์ซ – 101 เรซ

●   และเราก็มาถึงอันดับ 1 นั่นก็คือ คาร์ลอส ซายน์ซ นักแข่งสแปนิชเป็นเด็กปั้นของเรดบูลล์ ทำให้เขาได้เริ่มต้นการแข่งขัน F1 กับโทโรรอสโซในปี 2015 และเขาดูเหมือนจะมีอนาคตที่สดใส หากเพื่อนร่วมทีมของเขาไม่ใช่ แม็กซ์ เวอร์สแท็พเพ่น

●   ในการแข่งขันร่วมกันนั้น ซายน์ซและเวอร์สแท็พเพ่นดูจะทำผลงานได้ไล่เรี่ยกัน นักแข่งดัตช์อาจจะมีผลงานที่ดูโดดเด่นกว่าเล็กน้อยในบางสนาม และเมื่อ ดานีล คฟยาต ไม่สามารถทำผลงานได้ตามเป้าหมายในปี 2016 ก็เป็นนักแข่งดัตช์ที่ถูกดันตัวขึ้นไปแทนในทีมใหญ่เรดบูลล์

●   ซายน์ซนั้นยังคงอยู่กับโทโรรอสโซจนจบฤดูกาลและฤดูกาลต่อมาในปี 2017 อย่างไรก็ตามมันดูจะชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เขาจะไม่ได้รับโอกาสให้ขึ้นไปขับยังทีมใหญ่ ดังนั้นเมื่อสบโอกาสที่เรโนลต์มาขอดึงตัวไปร่วมทีม นักแข่งสแปนิชก็ย้ายสังกัดทันทีในช่วงกลางฤดูกาล 2017 และอยู่กับทีมแข่งฝรั่งเศสต่อในปี 2018 แต่กระนั้นสถานการณ์ที่เรโนลต์ยืมตัวเขามาทำให้เขายังคงมีสถานการณ์ที่ติดขัด

●   ในที่สุดปี 2019 แม็คลาเรนได้ดึงตัวเขาไปร่วมทีมเพื่อแทนที่นักแข่งสแปนิชฝีมือดีอีกคนหนึ่งที่รีไทร์ไป ในคราวนี้เขาได้เป็นตัวของตัวเองเต็มที่และไม่มีพันธะกับเรดบูลล์อีกต่อไป เขากลายเป็นนักขับที่เร็วที่สุดคนหนึ่งบนกริด 2019 ประจวบเหมาะกับการที่แม็คลาเรนฟื้นฟอร์มกลับมา ทำให้เขาทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมตามหลังเพียง 3 ทีมใหญ่เท่านั้น และคว้าโพเดียมแรกของตัวเองมาได้ในที่สุด  ●


ที่มา :
•  https://wtf1.com.