December 20, 2019
Motortrivia Team (10196 articles)

Mazda 2 กับการลองระบบ GVC Plus ในสนามช้างฯ

เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ • ภาพ : มาสด้า

●   ทิ้งช่วง หลังการเปิดตัวรุ่นปรับโฉมในมอเตอร์ เอ็กซ์โป ได้ไม่นาน มาสด้า ประเทศไทย ก็จัดกิจกรรมทดลองขับ มาสด้า 2 ใหม่ เล่นใหญ่ด้วยการบินไปขับที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ มีให้ลองทั้งรุ่นเบนซิน 1,300 ซีซี 93 แรงม้า และดีเซลเทอร์โบ 1,500 ซีซี 105 แรงม้า มีทั้งขับในสเตชั่น และหวดกันแบบเต็มรอบทั้ง 2 รุ่นเครื่องยนต์

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

●   มาสด้า 2 รุ่นปรับโฉมยังคงยึดแนวคิด KODO Design เพิ่มเติมในส่วนของ Less is More เน้นความเรียบง่าย ภายนอกของรุ่น 5 ประตู เปลี่ยนกระจังหน้า ซิกเนเจอร์วิง โคมไฟหน้า และกันชนหน้าทรงใหม่ เน้นการลดเส้นสายเช่นเดียวกับมาสด้า 3 ด้านข้างเปลี่ยนล้อแม็กขนาด 16 นิ้ว ลวดลายใหม่ ด้านหลังเปลี่ยนไฟท้ายใหม่ ทรงเดิมแต่ปรับรายละเอียดภายใน เปลี่ยนกันชนท้ายใหม่แนวเดียวกับด้านหน้า เน้นให้มุมมองที่แบนกว้าง ส่วนรุ่น 4 ประตู ปรับโฉมด้านหน้าเหมือนรุ่น 5 ประตู ด้านหลังเปลี่ยนแค่กันชนใหม่ นอกนั้นเหมือนเดิม

●   ลดเสียงและการสั่นสะเทือนด้วยการเพิ่มวัสดุบุหลังคารถเพื่อการซับเสียง ฝาท้ายด้านบนของรุ่น 5 ประตู ปรับปรุงการซับเสียง รอยเชื่อมเสา B ปรับปรุงฉนวนกันเสียง และซุ้มล้อด้านใน ภายในรุ่นย่อยระดับกลางขึ้นไปทั้งเบนซินและดีเซล ตกแต่งด้วยหนังแท้ Blue Grey ผสมหนังกลับ Grand Luxe อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่น่าสนใจคือ ระบบกล้องรอบทิศทาง 360 องศา แสดงภาพได้หลากหลาย เช่น ภาพด้านบนกับด้านหลัง, ภาพด้านบนกับด้านหน้า, ภาพด้านหน้ามุมกว้าง, ภาพด้านหลังมุมกว้าง และภาพด้านข้างซ้าย-ขวา

●   มิติตัวรถ รุ่นซีดาน XDL เครื่องยนต์ดีเซล มีความยาว 4,340 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,470 มิลลิเมตร ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,495/1,485 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,570 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 143 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1,174 กิโลกรัม

●   รุ่นแฮทช์แบค XDL SPORTS เครื่องยนต์ดีเซล มีความยาว 4,065 มิลลิเมตร กว้าง 1,695 มิลลิเมตร สูง 1,495 มิลลิเมตร ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,495/1,485 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,570 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 143 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1,160 กิโลกรัม

●   เบาะนั่งคู่หน้าได้รับการปรับปรุงใหม่ด้วยแนวคิด SKYACTIV-VEHICLE ARCHITECTURE เน้นการรองรับสรีระอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งในส่วนของกระดูกเชิงกรานส่วนล่างและส่วนบน เพื่อให้กระดูกเชิงกรานตั้งตรง สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติ และการรองรับในส่วนของกึ่งกลางกระดูกซี่โครง เพื่อให้กระดูกสันหลังเป็นรูปตัว S ตามธรรมชาติ

●   อีกหนึ่งไฮไลต์ของการปรับโฉมคือ การเพิ่มระบบ G-Vectoring Plus หรือ GVC Plus ทำให้มาสด้าลงทุนเช่าสนามช้างเพื่อให้ทดลองระบบได้อย่างปลอดภัย ระบบนี้จะทำงานเมื่อเข้าโค้งและมีการกดคันเร่ง (ถ้ายกคันเร่งหมดขณะเข้าโค้ง ระบบจะไม่ทำงาน) เมื่อรถเริ่มเข้าโค้ง ระบบจะลดแรงบิดของเครื่องยนต์ลงเล็กน้อย เพื่อให้ล้อหน้ายึดเกาะถนนได้มากขึ้น เข้าโค้งได้แม่นยำขึ้น ขณะรถอยู่ในโค้งแรงบิดเครื่องยนต์กลับสู่สภาวะปกติ เพื่อรักษาสมดุลขอรถให้ดียิ่งขึ้น และเมื่อรถกำลังออกจากโค้ง ระบบจะเพิ่มการทำงานของเบรกเพียงเล็กน้อย ในล้อหน้าด้านนอกโค้ง เพื่อช่วยให้รถกลับสู่ทางตรงได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น

2 สเตชั่น กับ 4 รอบสนาม

●   สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น หลังเสร็จสิ้นการบรรยายก็ได้เวลาลองของจริง อุ่นเครื่องเบาๆ ด้วยสถานี 1 ทดสอบ Performance อัตราเร่งและการหลบหลีก แบ่งเป็น 2 สถานีย่อย จุดแรกได้รับคำแนะนำให้ทำความเร็วประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้นยกคันเร่งหมดปล่อยรถไหลเข้าสถานี ซึ่งตั้งอยู่ในช่วงลงเนินความเร็วจึงค่อนข้างคงที่ หักหลบสิ่งกีดขวางโดยที่ระบบ GVC Plus ไม่ทำงาน (เพราะยกคันเร่งหมด)

●   จากนั้นวนไปอีกสถานี ใช้ความเร็วพอๆ กัน แต่ให้เลี้ยงคันเร่งเข้าไปเพื่อรักษาความเร็ว และให้มีการกดคันเร่งบ้าง เพื่อให้ระบบ GVC Plus ทำงาน แล้วเปรียบเทียบความรู้สึกในการหลบหลีกสิ่งกีดขวาง ก่อนวนกลับเข้าจุดสตาร์ท ต้องขับผ่านสายเคเบิลที่พาดขวางถนนไว้ เพื่อลองการเก็บเสียงและการสั่นสะเทือน

●   ผู้ฝึกสอนแนะนำว่า ในช่วงหักหลบถ้าใช้ความเร็วสูงเกินไปจนรถเริ่มมีอาการสูญเสียการควบคุม ระบบอื่นจะเข้ามาทำงานแทน เช่น TCS ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีและควบคุมการลื่นไถล และระบบ DSC ระบบควบคุมเสถียรภาพและการทรงตัวของรถ ถ้าจะทดลองระบบ GVC Plus จะต้องใช้ความเร็วที่รถยังไม่เสียการทรงตัว จุดแรกที่ให้ยกคันเร่งปล่อยรถไหลแล้วหักหลบ รู้สึกว่าต้องหมุนพวงมาลัยเป็นมุมที่ค่อนข้างมาก รวมทั้งต้องใช้แรงในการควบคุมเพื่อหลบไพลอนที่วางขวางไว้ ส่วนอีกจุดที่ให้เลี้ยงคันเร่งเข้าสเตชั่น เพื่อให้ระบบ GVC Plus ทำงาน รู้สึกว่าการหลบหลีกทำได้ง่ายและเบาแรงกว่า ใช้พวงมาลัยน้อยกว่า

●   แค่หลบไพลอนยังไม่หนำใจ มาสด้าเลยจัดให้ลองระบบ GVC Plus ด้วยการขับในสนามบริเวณโค้ง 7-8-9-10-11 รอบแรกให้ลองยกคันเร่งก่อนเข้าโค้ง และอีก 2 รอบให้เข้าโค้งด้วยการกดคันเร่งเลี้ยงความเร็วไว้ สเตชั่นนี้ใช้ความเร็วค่อนข้างสูง รอบที่ยกคันเร่งหมดก่อนเข้าโค้ง รู้สึกได้เลยว่ารถมีอาการหวิวเล็กน้อย ยังควบคุมทิศทางได้ แต่ต้องออกแรงเยอะพอสมควร ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะยกคันเร่งหมดแล้วปล่อยไหลเข้าโค้ง อีก 2 รอบที่ให้เลี้ยงคันเร่งเข้าโค้งรู้สึกได้ว่าเข้าโค้งง่ายและเบาแรง รู้สึกถึงความแตกต่างได้ชัดเจนกว่าสเตชั่นแรก

●   ปิดท้ายด้วยการขับแบบเต็มรอบ โดยมีรถนำขบวน พร้อมช่วยบอกไลน์การขับให้ผ่านวิทยุสื่อสาร 2 รอบแรกได้ขับรุ่นเบนซิน ด้านพละกำลังเป็นรองรุ่นดีเซล แต่ให้ความสนุกได้พอสมควรเมื่อขับในสนาม เพราะใช้รอบสูงเกือบตลอดเวลา ไม่ต้องมีช่วงไต่รอบ ตัวรถมีความคล่องแคล่ว ช่วงล่างและพวงมาลัยตอบสนองดีให้ความมั่นคงหนักแน่น แม้ยางขนาด 185/60/16 จะร้องโหยหวนไปบ้าง แต่ก็ยังอยู่ในการควบคุม ขับครบ 2 รอบแล้วสลับรถเป็นรุ่นดีเซล ได้รับคำเตือนว่าเครื่องยนต์หนักกว่ารุ่นเบนซิน ให้ระมัดะวังเรื่องอาการหน้าดื้อหรืออันเดอร์สเตียร์ ลองแล้วก็เกิดอาการนั้นจริงๆ ขับยากกว่ารุ่นเบนซินนิดหน่อย ต้องใช้แรงในการควบคุมมากกว่า

●   โดยรวมแล้วทั้ง 2 รุ่นย่อยมีประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนดีเกินประเภทรถ ขับในสนามแข่งได้สนุกและมั่นใจ ราคารุ่นเบนซิน 546,000-690,000 บาท และดีเซล 782,000-799,000 บาท  ●

2020 Mazda 2 : Group Test