February 22, 2020
Motortrivia Team (10019 articles)

Great Wall Motor และการเตรียมการดำเนินงานในประเทศไทย

เรื่อง : AREA 54

●   หลังข่าว การขายโรงงานผลิตรถยนต์และโรงงานผลิตรถยนต์ของ GM ให้กับ Great Wall Motor Company Ltd หรือ GWM เริ่มซาลง คำถามต่อไปก็คือ เกรท วอลล์ มอเตอร์ จะทำการดำเนินงานในประเทศไทยอย่างไร? ที่แน่ๆ คือจะมีการเดินสายการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกในภูมิภาค ทว่าจะมีการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศรุ่นใดบ้าง เราต้องบอกว่าไม่ทราบจริงๆ

●   การเปิดตัวรถยนต์ในไทยไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะทำตลาดได้ยาวหรือไม่ จะขายได้ในระดับคุ้มทุนหรือเปล่า? ใครจะกล้าการันตี

อินเดียคือเป้าหมายแรกสู่ ASEAN

●   ก่อนหน้านี้ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2020 GM ได้ขายโรงงานผลิตรถยนต์ในเทลอากอน ประเทศอินเดีย ให้กับเกรท วอลล์ เดิมทีโรงงานแห่งนี้รับหน้าที่ผลิตรถเล็กสำหรับทำตลาดในพื้นที่อย่าง Chevrolet Beat, Chevrolet Sail และ Chevrolet Spark อยู่ก่อนหน้า และมีการเพิ่มสายการผลิต Chevrolet Cruze, Chevrolet Enjoy และ Chevrolet Tavera ซึ่งโยกการผลิตมาจากโรงงานของ GM ในเมืองฮาลาลที่ปิดตัวไปในช่วงปี 2017

●   เราได้ยินชื่อเกรท วอลล์ ในไทยตั้งแต่ช่วงปี 2013 จากข่าวการเตรียมเปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้นเกรท วอลล์ ได้เปิดบูธจัดแสดงรถยนต์ในงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ โดยนำรถ SUV แบรนด์ Haval รุ่น H6 เจนเนอเรชั่นแรกมาโชว์ตัวในงาน ณ ช่วงเวลานั้นเกรท วอลล์ ได้เปิดตัว Haval H6 รุ่นใหม่เจนเนอเรชั่น 2 ในตลาดโลกพอดี และนั่นทำให้มีการคาดเดากันว่า H6 เจนฯ 2 ซึ่งมีหน้าตาและเทคโนโลยีที่ดูดีกว่าเจนฯ แรก น่าจะเป็นรุ่นธงในการทำตลาดไทยอย่างแน่นอน

●   ทว่าในปีต่อมา (2014) แผนงานนี้ก็พับไปในเวลาลาอันสั้น พร้อมๆ กับงบลงทุนที่ตามข่าวว่าสูงถึง 1.1 หมื่นล้านบาท จากสถานการณ์ในไทยหลายๆ อย่างที่ไม่เป็นใจ… ท้ายที่สุดเกรท วอลล์ ได้เลือกตัดสินใจไปลงทุนในรัสเซียแทนที่ด้วยงบประมาณราว 1.8 หมื่นล้านบาท พร้อมการจ้างงานในพื้นที่มากกว่า 2,500 อัตรา

●   การเข้าซื้อโรงงานของ GM ทั้งในอินเดียและในประเทศไทยเรา เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานขยายการเติบโตทางธุรกิจของ เกรท วอลล์ ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงตลาดอาเซียน และออสเตรเลียด้วย โดยโรงงานในไทยจะนับเป็นโรงงานผลิตรถยนต์เต็มรูปแบบลำดับที่ 3 ของเกรท วอลล์ นอกแผ่นดินจีน ที่ดำเนินการต่อจากโรงงานในรัสเซีย และอินเดีย

●   จากนั้นในบ้านเรา เกรท วอลล์ มีความเคลื่อนไหวในวันที่ 6 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมีการส่งตัวแทนเข้าไปคุยกับศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (OSOS), นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.), กรมสรรพสามิตร, กรมการค้าต่างประเทศ, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และตัวแทนจากกรมศุลกากร เพื่อขอใช้สิทธิเขตการค้าเสรี, พิกัดศุลกากรของรถยนต์และส่วนประกอบรถยนต์, อัตราภาษีสรรพสามิตรสำหรับรถยนต์ประเภทต่างๆ, ขอใบรับรองและใบอนุญาตสำหรับการนำเข้า, ผลิต และจำหน่ายรถยนต์ รวมถึงการจัดตั้งโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าเกรท วอลล์ จะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในอีกราวๆ 2 ปีข้างหน้า (2565 / 2023)

●   นั่นหมายความว่าในระยะของการปรับเปลี่ยนเพื่อเตรียมขึ้นสายการผลิต ใช่ว่าจะไม่มีรอยต่อ และนั่นทำให้เราต้องรอความชัดเจนไปอีกระยะหนึ่ง เราจึงจะแน่ใจได้ว่าเกรท วอลล์ จะมีการจัดแจงแผนการตลาดทั้งหมดในประเทศไทยอย่างไร รวมถึงปริมาณการจ้างงานในพื้นที่ และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิต เช่น ซัพพลลายเออร์ต่างๆ ในประเทศด้วย

●   อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ Parker Shi รองประธาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ อินเดีย ซึ่งมีการดำเนินงานอย่างเป็นทางการไปแล้วระบุว่า เกรท วอลล์ ต้องการให้โรงงานในประเทศอินเดียเป็นฮับในการผลิตรถยนต์สำหรับการส่งออกในตลาดอาเซียน รวมทั้งจะมีการดำเนินงานในส่วนของ R&D ด้วยในเวลาเดียวกัน… ดังนั้นในเวลานี้โรงงานผลิตในอินเดียคือฐานทัพหลักของเกรท วอลล์ มอเตอร์

Great Wall Motor คือใคร?

●   เกรท วอลล์ มอเตอร์ เป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่เปิดบริษัทมาตั้งแต่ช่วงปี 1984 สำนักงานใหญ่อยู่ที่เหอเป่ย หลักๆ มีการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถปิคอัพภายใต้แบรนด์ Great Wall ทว่าปัจจุบันรถยนต์นั่งในกลุ่มซูเปอร์มินิ (A-segment), ซับคอมแพคท์ และคอมแพคท์ ได้ยกเลิกการผลิตไปหมดแล้ว เหลือเพียงปิคอัพในนามแบรนด์ Graet Wall เอง และรถ SUV หลายรุ่นภายใต้ซับ-แบรนด์ Haval และ WEY

●   นอกเหนือจากรถยนต์เหล่านี้ สิ่งที่ดูจะน่าสนใจที่สุดในผลิตภัณฑ์ของเกรท วอลล์ คือการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายใต้แผนงานของทางการจีนที่มีมาตรการจูงใจ และสิทธิพิเศษที่เอื้อให้ผู้ผลิตมีการพัฒนารถยนต์มลพิษต่ำภายใต้โปรแกรม NEV หรือ New Energy Vehicle Program

●   นั่นทำให้เกรท วอลล์ ปรับตัวเข้าสู่ยุคใหม่ด้วยการเปิดตัวซับ-แบรนด์ ORA และเปิดตัวรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่รุ่นแรกในชื่อ ORA R1 ซึ่งเพิ่งมีการเปิดตัวในงานเซี่ยงไฮ้ มอเตอร์โชว์ ช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา

●   ปัจจุบันพาร์ทเนอร์หลักในระดับโลกของเกรท วอลล์ ก็คือบีเอ็มดับเบิลยู… พวกเขาต้องการมีพาร์ทเนอร์เพิ่มเติมในจีน แม้ว่าจะมีการทำงานผ่านบริษัท BMW Brilliance Automotive แล้วก็ตาม… ในปี 2017 บีเอ็มดับเบิลยูต้องการตั้งโรงงานผลิตรถในเจียงซู โดยดำเนินงานในลักษณะบริษัทร่วมทุนเหมือนบริษัท Denza ซึ่งเป็นการร่วมงานระหว่าง BYD และ Mercedes โดยมีเป้าหมายหลักคือผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายใต้ซับ-แบรนด์ใหม่

●   และล่าสุดในช่วงปลายปี 2019 บีเอ็มดับเบิลยู และเกรท วอลล์ ก็เปิดตัวบริษัทร่วมทุนในนาม Spotlight Automotive การทำงานในเบื้องต้นคือ เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ใหม่ที่ชางเจียกัง เพื่อทำการผลิต MINI Electric ในประเทศจีน ซึ่งโรงงานแห่งนี้จะเริ่มดำเนินการผลิตได้ราวปี 2022

ขายรถในไทย… ขายรุ่นไหนดี?

●   ดูจากข้อมูลการขอใบอนุญาตข้างต้น เกรท วอลล์ น่าจะขายรถในบ้านเราแน่ๆ แต่ผู้เขียนขอบอกตามตรงว่า จนกว่าจะได้รับเอกสารประชาสัมพันธ์จากเกรท วอลล์ อย่างเป็นทางการ… ไม่กล้าเดาครับ

●   เมื่อดูลิสท์รายชื่อรถยนต์ของเกรท วอลล์ ในปัจจุบัน พวกเขามีรถยนต์ในเครืออยู่มากมายจริงๆ เฉพาะรถ SUV ในประเทศจีนภายใต้แบรนด์ Haval นั้นมีมากมายถึง 14 รุ่น และยังมีรถ SUV ภายใต้แบรนด์ WEY ให้เลือกอีก 6 รุ่น ปิดท้ายด้วยรถปิคอัพของ Great Wall เองอีก 5 รุ่น

●   ตีเสียว่า เกรท วอลล์ น่าจะลองเปิดตัว SUV และปิคอัพอย่างละ 1 รุ่น กลุ่มลูกค้าของเกรท วอลล์ คือใคร? และรถของเกรท วอลล์ จะสามารถแข่งขันกับเจ้าตลาดได้หรือไม่? เอาเป็นว่าหากเกรท วอลล์ เปิดราคารถ SUV มาแบบต่ำสุดๆ เพื่อชนกับคู่แข่งเจ้าตลาดดื้อๆ และจับปิคอัพลงตลาดเพื่อการพาณิชย์ หรือขายแบบฟลีท (ในลักษณะเดียวกับ TATA) ราคารถจะเป็นตัวชี้ขาดความสำเร็จในการจำหน่ายจริงหรือ?

●   ถ้าให้ผู้เขียนเลือกรถสักรุ่น ผู้เขียนขอเลือกไปที่รถมลพิษศูนย์อย่าง ORA R1 ครับ นี่เป็นตลาดที่เปิดสุดๆ ในบ้านเราแล้ว ที่เหลือคือการให้ผู้บริโภคในประเทศไทยเป็นคนตัดสินใจว่า พวกเราเองนั่นแหละจะเปิดใจรับแบรนด์ใหม่ (ในบ้านเรา) จากประเทศจีนในระดับไหน และเราพร้อมจะใช้รถซิตี้คาร์มลพิษศูนย์แบบใช้งานในเมืองหรือไม่

ORA R1 รถเล็กที่ดูเข้าตาที่สุด

●   ORA R1 เป็นรถขนาดเล็กในกลุ่ม A-segment มันมีความยาวรวมเพียง 3,495 มม. สั้นกว่า Mazda 2 ตัวถังแฮทช์แบค รุ่นปัจจุบันราว 565 มม. ขนาดตัวเหมาะกับการใช้งานเมืองที่เน้นความคล่องตัว หรือใช้เป็นรถคันที่ 2 ก็กำลังดี ตัวรถอยู่ในรูปโฉมของแฮทช์แบค 5 ประตูทรงกึ่งๆ ย้อนยุค มีการเล่นสีทูโทนเพื่อช่วยเพิ่มความทันสมัย (ในเมื่อบ้านเราลุ้น Honda e ยาก สิบเบี้ยใกล้มือก็ยังดี)

●   ระบบขับเคลื่อนประกอบด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแบบ Permanent Magnet แม่เหล็กถาวร สำหรับหมุนล้อคู่หน้า เอาท์พุท 35 กิโลวัทท์ หรือเทียบเท่า 49 แรงม้า (PS) แรงบิดสูงสุด 12.7 กก.-ม. เก็บประจุไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่แพคชนิด ลิเธียม-ไอออน โพลีเมอร์ (Lithium-ion Polymer หรือ LMP) ความจุหรือความสามารถในการจ่ายไฟใน 1 ชม. เท่ากับ 33 กิโลวัทท์-ชม. ชาร์จ 1 ครั้งวิ่งทำระยะทางได้ประมาณ 301 กม. ตามมาตรฐาน NEDC เดิมของยุโรป หมายความว่าหากวัดตามมาตรฐาน WLTP ใหม่ ระยะทางจะน้อยกว่านี้พอสมควร

●   ในแผ่นดินแม่ ORA เปิดราคาจำหน่าย R1 เริ่มต้นที่ 59,800 – 77,800 หยวน หรือประมาณ 2.7 – 3.5 แสนบาทเท่านั้น สูสีกับคู่แข่งในกลุ่ม NEV อย่าง Baojun E300 ของบริษัทร่วมทุน SAIC-GM-Wuling ซึ่งตลาดส่วนนี้ในจีนกำลังบูมและเปิดกว้างสุดๆ ในปัจจุบัน

●   สำหรับผู้เขียน ORA R1 คือตัวเลือกเดียวในการทำตลาดของเกรท วอลล์ ครับ เนื่องจากตลาด SUV และปิคอัพในประเทศไทยนั้น คู่แข่งในตลาดแข็งแกร่งเหลือเกิน อย่างไรก็ตาม เรายังมีเวลาลุ้นกันเล่นๆ อีกพักใหญ่ๆ ว่าเกรท วอลล์ จะตัดสินใจทำตลาดรถรุ่นใดบ้าง

●   ขอย้ำว่านี่เป็นเพียงการคาดเดาของผู้เขียนคนเดียวเท่านั้นครับ ความชัดเจนจากเกรท วอลล์ น่าจะมีให้เห็นกันภายในปีนี้  ●