February 5, 2020
Motortrivia Team (10156 articles)

Mitsubishi ติดตั้งแผงเซลส์แสงอาทิตย์ ที่โรงงานโอกาซากิ

ประชาสัมพันธ์

●   มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น (Mitsubishi Motors Corporation หรือ MMC) ติดตั้งระบบการจัดการพลังงานใหม่ที่โรงงานโอกาซากิ ในเมืองโอกาซากิ จังหวัดไอจิ ซึ่งปัจจุบันโรงงานแห่งนี้เป็นหนึ่งในโรงงานหลักที่ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของมิตซูบิชิ โดยการดำเนินงานในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น (Mitsubishi Corporation หรือ MC) และ มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น พาวเวอร์ จำกัด (Mitsubishi Corporation Power Ltd. หรือ MCP)

●   ระบบบริการด้านการจัดการพลังงานนี้ มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียน โดย มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น และ มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น พาวเวอร์ จะติดตั้งระบบแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Photovoltaic หรือ PV) บนดาดฟ้าอาคาร เพื่อรองรับการใช้งานในระดับอุตสาหกรรม (*1) และระบบการจัดเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ หรือ Battery Energy Storage System (BESS) (*2) ซึ่งมีส่วนประกอบของแบตเตอรี่ในรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ผ่านการใช้งานแล้ว (*3)

●   เมื่อการติดตั้งเสร็จสมบูรณ์ แผนงานนี้จะเป็นหนึ่งในโครงการระบบ PV ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกลุ่มธุรกิจ Non-FIT (*4) ของประเทศญี่ปุ่น

ภาพรวมของบริการด้านการจัดการพลังงาน:

●   การก่อสร้างระบบ PV บนดาดฟ้าอาคารของมิตซูบิชิ เริ่มขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2019 และมีกำหนดเริ่มดำเนินงานในเดือนพฤษภาคม 2020 เบื้องต้นกำลังการผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ 3 เมกะวัทท์ (กำลังการผลิตไฟฟ้าต่อปีอยู่ที่ 3 กิกะวัทท์ชั่วโมง) จากนั้นจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง และโรงงานโอกาซากิจะใช้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นจากระบบ PV ซึ่งช่วยส่งเสริมแนวทางการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบยั่งยืนของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น

●   นอกจากนี้ รับบการจัดการพลังงานนี้ยังช่วยให้มิตซูบิชิใช้พลังงานสะอาดได้โดยปราศจากเงินลงทุนเบื้องต้น หรือการจัดหาอุปกรณ์ โดยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าไฟฟ้าเท่านั้น

●   มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น และ มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น พาวเวอร์ จะติดตั้งระบบการจัดเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ (BESS) และดำเนินการทดสอบการทำงานในปีงบประมาณ 2563 โดยระบบนี้จะมีส่วนประกอบของแบตเตอรี่ที่ผ่านการใช้งานแล้วจาก Mitsubishi Outlander PHEV ซึ่งมีกำลังสูงสุด 1 เมกะวัทท์ชั่วโมง

●   ระบบ PV และระบบการจัดเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ประมาณ 1,600 ตันต่อปี และหลีกเลี่ยงความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าในระดับสูงของโรงงานโอกาซากิได้

●   มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น และ มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น พาวเวอร์ ยังมีแผนใช้ระบบการจัดเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ให้เป็น โรงงานพลังงานไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) (*5) ในอนาคต เพื่อสร้างเสถียรภาพในการจ่ายไฟฟ้าในท้องถิ่น โดยในกรณีที่ระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าเกิดการขัดข้องเนื่องจากสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือภัยพิบัติ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น จะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าจากระบบการจัดเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ดังกล่าวให้แก่อาคารยิมเนเซียมที่โรงงานโอกาซากิ ซึ่งออกแบบให้เป็นศูนย์อพยพของเมืองโอกาซากิด้วย

●   บริการด้านการจัดการพลังงานนี้จึงไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในโรงงานโอกาซากิของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น เท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการรับมือกับภัยพิบัติของเมืองโอกาซากิด้วยเช่นกัน

●   สภาพอากาศที่แปรปรวนรุนแรงบ่อยครั้งมากขึ้นนั้น มีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในระดับโลก การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนในภาคธุรกิจด้วยการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน จึงถือเป็นกรณีเร่งด่วนของหลายบริษัท รวมถึง มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น, มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น และ มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น พาวเวอร์ จำกัด ที่มีความมุ่งมั่นขยายการใช้พลังงานหมุนเวียนด้วย

●   ย้อนไปในปี 2009 มิตซูบิชิได้เปิดตัว Mitsubishi i-Miev รถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นในเชิงพาณิชย์เป็นรุ่นแรกของโลก และเปิดประตูเข้าสู่ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันมิตซูบิชิได้แนะนำ Dendo Drive Station โชว์รูมรถยนต์ยุคใหม่ที่สามารถสัมผัสประสบการณ์การใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่สามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานได้

●   และด้วยนวัตกรรมเหล่านี้ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ได้เดินหน้าสู่การสร้าง สังคม เดนโด ไดร์ฟ (DENDO Drive Society) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพร้อมรับมือภัยพิบัติ ด้วยการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ… การนำบริการด้านการจัดการพลังงานรูปแบบดังกล่าวมาใช้ที่โรงงานโอกาซากิ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญสู่อนาคต ทั้งในด้านการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน และการสร้างสังคม เดนโด ไดร์ฟ ให้เกิดขึ้นจริง

  1. โมดูลแผงโซลาร์เซลล์แสงอาทิตย์ ผลิตโดย จินโก โซลาร์ เจแปน เคเค
  2. BESS: ระบบการจัดเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System)
  3. 3 แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนที่ใช้แล้วใน มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ ปลั๊กอินไฮบริด ผลิตโดย ลิเธียม เอเนอร์จี เจแปน คอร์ปอเรชั่น (สำนักงานใหญ่อยู่ในเมือง ริตโตะ จังหวัดชิงะ โดยมี โทชิยูกิ อาโอยามะ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น และ จีเอส ยัวซ่า คอร์ปอเรชั่น
  4. Non-FIT คือธุรกิจการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบ FIT (Feed-in Tariff) ซึ่งรัฐอุดหนุน โดยในระบบ FIT รัฐบาลญี่ปุ่นจะรับประกันการซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนโดยสาธารณูปโภคท้องถิ่นในราคาพิเศษที่รัฐอุดหนุน ผู้บริโภคไฟฟ้าทั้งหมดในญี่ปุ่นจะยอมรับต้นทุนการจัดซื้อของโรงผลิตไฟฟ้า เพราะต้นทุนในการจัดซื้อได้จะรับเงินสนับสนุนจากภาษีที่เพิ่มเข้ามาในใบแจ้งชำระค่าไฟฟ้า
  5. โรงไฟฟ้าเสมือนจริง (Virtual Power Plant) คือการใช้พลังงานโดยการรวบรวมพลังงานจากแหล่งต่างๆ อาทิ ศูนย์การผลิต ศูนย์การผลิตไฟฟ้าภายในโรงงาน ระบบการจัดเก็บพลังงานในแบตเตอรี่ (BESS) ระบบไฟส่องสว่าง และระบบการปรับอากาศ สำหรับการรักษาสมดุลการจ่ายและใช้งานไฟฟ้า โรงไฟฟ้าเสมือนจริงจะสามารถควบคุมการทำงานได้จากระยะไกล ด้วยเทคโนโลยีระบบการจัดการพลังงานแบบไอโอที (IoT) โดยมีการทำงานเหมือนเป็นโรงงานไฟฟ้าอิสระ