March 19, 2020
Motortrivia Team (10167 articles)

COVID-19 และผลกระทบในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

เรื่อง : AREA 54

●   นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม 2020 เป็นต้นมา การแพร่ระบาดของ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบกับสุขภาพของผู้คนและเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่เกี่ยวข้องกับผู้คน, การพบปะทางธุรกิจ และการเดินทางไปทั่วโลก ก็หนีไม่พ้นเช่นกัน

●   ในตอนแรกผู้แปลคิดว่าจะดำเนินชีวิตไปตามปกติ ติดตามข่าวสารตามความจำเป็น และแปลข่าวส่งให้ motortrivia ไปวันต่อวัน แต่ไหนๆ เมื่อมาถึงจุดนี้กันแล้วก็อยากจะบันทึกเหตุการณ์เอาไว้สักหน่อย จึงขอรวบรวมผลกระทบเอาไว้ตรงนี้ และจะอัพเดทไปเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายครับ

มกราคม 2020

●   22 มกราคม : เจนเนอรัล มอเตอร์ส และฟอร์ด เริ่มจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดในจีน โดยเฉพาะ GM ซึ่งมีโรงงานผลิตรถยนต์ในอู่ฮั่น แม้จะยังไม่ประกาศแผนการหยุดการทำงานในโรงงาน แต่ก็มีการเริ่มสังเกตสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพนักงานในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่วางแผนเดินทางในช่วงตรุษจีน และมีการขอร้องให้งดการเดินทางไปยังพื้นที่สุ่มเสี่ยงเพื่อลดปริมาณการแพร่ระบาด

●   27 มกราคม : Groupe PSA ซึ่งมีโรงงานผลิตรถยนต์ในนามบริษัทร่วมทุน Dongfeng Peugeot Citroën Automobile อยู่ในอู่ฮั่นพอดิบพอดี ประกาศสั่งอพยพพนักงานและครอบครัวออกจากอู่ฮั่น โดยมีการประสานงานกับสถานกงสุลใหญ่ให้แยกกักตัวชั่วคราวเพื่อสังเกตอาการที่ฉางชา ก่อนจะส่งตัวกลับฝรั่งเศส

กุมภาพันธ์ 2020

●   4 กุมภาพันธ์ : ฮุนไดประสบปัญหาการผลิตรถยนต์ในเกาหลีใต้ชะงัก เนื่องจากชุดไวร์ริ่งระบบไฟส่วนใหญ่นั้นใช้บริการซัพพลายเออร์จากประเทศจีน… ฮุนไดนับเป็นผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่นอกแผ่นดินจีนรายแรกที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในจีน ยังผลให้คู่ค้าของฮุนไดอย่างน้อย 2 ราย เช่น บริษัท Yura Corporation ในเซอร์เบียซึ่งซัพพอร์ทชุดสายไฟให้กับฮุนไดและเกีย จำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตทดแทน และทำให้ฮุนไดตัดสินใจเลื่อนการเปิดตัวรถรุ่นสำคัญอย่าง Genesis G80 ออกไปชั่วคราว

●   7 กุมภาพันธ์ : มีรายงานว่าบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลักๆ ของโลกที่ลงทุนอย่างหนักในประเทศจีน ประกอบด้วย บีเอ็มดับเบิลยู, เดมเลอร์, GM, Groupe PSA, ฮอนด้า, ฮุนได, นิสสัน, เรโนลท์, โฟล์คสวาเกน และโตโยต้า ต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ โดยมาตรการล็อคดาวน์ในจีนได้ส่งผลให้การผลิตและการจำหน่ายรถยนต์ชะงักงันอย่างสิ้นเชิง Standard & Poor’s คาดการณ์ว่าผู้ผลิตรถยนต์ทั่วเอเซียจะต้องลดกำลังการผลิตลงราว 15% ตลอดไตรมาสแรก… ในจำนวนนี้ GM, Groupe PSA, ฮอนด้า, นิสสัน และเรโนลท์ คือบริษัทที่มีโรงงานผลิตรถยนต์อยู่ในศูนย์กลางอย่างอู่ฮั่น

●   11 กุมภาพันธ์ : ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตต่างๆ พิจารณาปิดโรงงานชั่วคราวทั่วประเทศจีนไปอีกอย่างน้อยๆ 3 สัปดาห์ ทว่าเทสล่าได้เตรียมกลับมาดำเนินงานในโรงงาน Gigafactory 3 ที่เซี่ยงไฮ้อีกครั้ง เนื่องจากเทสล่าต้องการส่งมอบ Tesla Model 3 ให้ได้ตามกำหนดการณ์ โดยจะมีการตรวจสอบพนักงานอย่างเข้มงวดก่อนเข้าโรงงาน

●   12 กุมภาพันธ์ : อีเวนท์ประจำปีใหญ่ๆ หลายรายการ เริ่มมีการพิจารณาเลื่อนการจัดออกไปเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด ดังนั้นการแข่งขัน F1 รายการ Chinese Grand Prix 2020 ซึ่งเดิมจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 19 เมษายน 2020 จึงถูกเลื่อนออกไป เบื้องต้นคาดกันว่าน่าจะสามารถจัดการแข่งขันได้ในช่วงเดือนกันยายน หรือตุลาคม 2020

●   13 กุมภาพันธ์ : CNN Business มีรายงานว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศจีนอยู่ในสถานะช๊อคครั้งใหญ่ ยอดจำหน่ายรถยนต์เดือนมกราคม 2020 ในจีนน้อยกว่า 2 ล้านคัน ลดลงถึง -18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2019 และเลวร้ายกว่าช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ SARS ในปี 2013 (-13%) สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศจีน หรือ China Association of Automobile Manufacturers คาดว่าจะเกิดบัตเตอร์ฟลาย เอฟเฟคท์ ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกในไม่ช้า

●   17 กุมภาพันธ์ : มหกรรมยานยนต์ Beijing International Automotive Exhibition หรือ 2020 Beijing Auto Show ซึ่งเดิมจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 – 30 เมษายน 2020 ประกาศเลื่อนการจัดงานออกไปอย่างไม่มีกำหนด

●   18 กุมภาพันธ์ : The Guardian รายงานว่า จากัวร์ แลนด์ โรเวอร์ อาจจะต้องหยุดการทำงานในโรงงานที่สหราชอาณาจักรชั่วคราว เนื่องจากซัพพลายเออร์ในจีนไม่อาจส่งชิ้นส่วนได้ตามกำหนด Ralf Speth ผู้บริหารระดับสูงของ JLR ให้ความเห็นว่า พวกเขามีชิ้นส่วนมากพอที่จะผลิตรถยนต์ได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เท่านั้น แต่ไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ตามปกติในเดือนมีนาคมอย่างแน่นอน… ปัจจุบันโรงงานผลิตของ JLR ในอังกฤษใช้ชิ้นส่วนจากประเทศจีนราว 20%

●   20 กุมภาพันธ์ : ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น (Japan Automobile Manufacturers Association) รวมทั้งซัพพลายเออร์ตลอดห่วงโซ่การผลิต (Japan Auto Parts Industries Association) และรัฐบาลญี่ปุ่น ประกาศนโยบายเชิงรุกด้วยการตั้งคณะทำงานร่วมชั่วคราว พร้อมแชร์ข้อมูลต่างๆ ร่วมกัน และออกมาตรการช่วยเหลือทั้งในด้านนโยบายและการเงินที่เหมาะสม เพื่อพยุงไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปมากกว่านี้

●   25 กุมภาพันธ์ : เฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์ ประกาศมาตรการเข้มงวดในการเข้าถึงพื้นที่อาคาร, โชว์รูม, โรงงาน ฯลฯ ในโซนยุโรปทั้งหมด และแบนผู้ที่เดินทางมาจากจีน รวมถึงอาเซียนด้วย หลังพบผู้ป่วยมากกว่า 200 รายในอิตาลี ยังผลให้อิตาลีเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักที่สุดในยุโรป

●   28 กุมภาพันธ์ : Geneva Motor Show 2020 อีเวนท์มหกรรมยานยนต์หลักประจำปีที่ประเทศสวิทเซอร์แลนด์ ตัดสินใจประกาศยกเลิกการจัดงาน โดยครั้งสุดท้ายที่เจนีวาฯ เคยประกาศยุติการจัดงาน คือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัทผู้ผลิตต่างๆ ที่มีคิวเปิดตัวรถใหม่ในงาน ต่างก็ปรับเปลี่ยนวิธีการไปเปิดตัวรถแบบสตรีมมิ่งผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ แทนที่

●   28 กุมภาพันธ์ : ฮุนไดประกาศปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในอุลซัน เกาหลีใต้ ชั่วคราว หลังพบพนักงานในโรงงานติดเชื้อ COVID-19 โดยโรงงานของฮุนไดทั้ง 5 โรงงานในอุลซันนั้นอยู่ห่างจากเมืองแทกูซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดโดยใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชม. เท่านั้น

มีนาคม 2020

●   2 มีนาคม : โฆษกของบีเอ็มดับเบิลยูแถลงการณ์ยืนยัน หนึ่งในพนักงานของศูนย์ R&D ในมิวนิค BMW Group Research and Innovation Center FIZ มีผลทดสอบ COVID-19 เป็นบวกจริง ทว่าไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศในช่วงเวลาใกล้เคียง ยังผลให้บีเอ็มดับเบิลยูตัดสินใจสั่งให้พนักงานที่ติดต่อโดยตรงกับพนักงานคนดังกล่าวประมาณ 150 คน ต้องกักตัวเป็นเวลา 2 สัปดาห์

●   3 มีนาคม : ในญี่ปุ่น บริษัทผู้ผลิตหลักๆ เริ่มได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ฮอนด้าประกาศลดกำลังการผลิตรถยนต์ของโรงงานในประเทศญี่ปุ่น 2 โรงงาน เนื่องจากซัพพลายเออร์จากจีนไม่สามารถจัดส่งชิ้นส่วนได้ ในขณะที่โรงงานผลิตรถยนต์ 3 โรงงานในอู่ฮั่น ยังคงต้องปิดต่อไปอีกอย่างน้อยๆ เกือบ 2 สัปดาห์… นิสสันได้ประกาศหยุดสายการผลิตในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ที่โรงงานผลิตในฟุคุโอกะ และมาสด้าต้องหยุดการผลิตรถหลายรุ่น เนื่องจากชิ้นส่วนหลายชิ้นมีการผลิตที่หูเป่ย ซึ่งเป็นมณฑลที่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง

●   4 มีนาคม : GM, เฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์ และฟอร์ด ขอให้พนักงานงดเดินทางจากจีนในระยะเวลาหนึ่ง เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจาย โดยในกรณีของ GM นั้นจะขอสกรีนทุกคนที่เดินทางจากจีน, อิตาลี, อิหร่าน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อย่างน้อย 14 วัน ส่วนผู้ที่มีประวัติติดเชื้อจะถูกห้ามเข้าถึงทุกส่วนที่เป็นสิ่งปลูกสร้างของ GM ทั้งหมด… FCA ขอให้พนักงานจัดลำดับความสำคัญให้ดี โดยผู้ที่จะเดินทางได้นั้นต้องได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าทีมเสียก่อน… ส่วนฟอร์ดระบุว่า พนักงานของฟอร์ดทั้ง 2 คนที่ติด COVID-19 มีอาการดีขึ้นแล้ว ทว่าฟอร์ดได้ขอให้พวกเขาเลื่อนเวลาเดินทางกลับจนกว่าจะถึงช่วงปลายเดือนมีนาคมเพื่อลดความเสี่ยง

●   9 มีนาคม : มหกรรมยานยนต์ 2020 New York Auto Show ประกาศเลื่อนการจัดงาน จากเดิมช่วงเดือนเมษายน ไปเป็นวันที่ 26 สิงหาคม 2020

●   10 มีนาคม : ฟอร์ดตัดสินใจส่งพนักงานบางส่วนราว 30 คนในศูนย์ R&D ที่โคโลญจน์ ประเทศเยอรมนีกลับสหรัฐฯ หลังพบพนักงานคนหนึ่งมีผลทดสอบเป็นบวก ส่วนพนักงานคนอื่นๆ ที่ต้องปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานคนดังกล่าวจำเป็นต้องถูกแยกออกไปกักตัวเพื่อตรวจอาการต่อไป ทว่าฟอร์ดให้ความมั่นใจว่าจะไม่กระทบส่วนงานอื่นๆ แต่มีการขยายระยะเวลาการห้ามเดินทางของพนักงานโดยไม่จำเป็นจนถึงวันที่ 17 เมษายน

●   12 มีนาคม : F1 2020 สนามแรก รายการ Australian Grand Prix ยกเลิกการแข่งขัน หลังจากที่ทีมงานของแมคลาเรนตรวจพบการติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งทางแมคลาเรนได้ประกาศไม่ส่งทีมเข้าลงแข่งมาก่อนหน้านี้ จากนั้น FIA ได้มีมติเลื่อนการแข่งขันราย Bahrain Grand Prix และ Vietnamese Grand Prix ออกไปอีก 2 รายการ

●   13 มีนาคม : แลมบอร์กินีประกาศปิดโรงงานในซานตากาตา โบโลเญส ชั่วคราว จากสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้นในอิตาลี โดยในเบื้องต้นโรงงานแห่งนี้จะหยุดการดำเนินงานทั้งหมดจนถึงวันที่ 25 มีนาคมเป็นอย่างต่ำ… Stefano Domenicali แชร์แมนและ CEO ของแลมบอร์กินีให้ความเห็นว่า แลมบอร์กินีจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะปรับเปลี่ยนการตัดสินใจตามความเหมาะสม ซึ่งสำนักข่าวหลายแห่งมีความเห็นตรงกันว่าการปิดโรงงานน่าจะยาวนานกว่าที่ประเมินไว้

●   13 มีนาคม : BYD ประกาศว่าบริษัทได้ทำการปรับสายการผลิตรถยนต์ในจีนบางส่วน เป็นการผลิตหน้ากากหน้ากากอนามัยตั้งแแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม เพื่อช่วยรัฐบาลในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัส โดยเฉพาะในหูเป่ย แบ่งเป็นสายการผลิตหน้ากากอนามัยที่มีปริมาณการผลิตถึง 5 ล้านชิ้นต่อวัน และสายการผลิตขวดเจลล้างมืออีก 3 แสนขวดต่อวัน ในขณะที่สายการผลิตแบตเตอรี่แพคสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังคงทำงานควบคู่กันไปด้วย

●   16 มีนาคม : เฟอร์รารี่ประกาศยุติสายการผลิตในมาราเนลโล และโมเดนา จนถึงวันที่ 27 มีนาคมเป็นอย่างต่ำ ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานและกิจกรรมทั้งหมดของทีม Scuderia Ferrari F1 ด้วย… ณ วันที่ผู้แปลส่งต้นฉบับให้ MT สถานการณ์ในอิตาลีก็ยังคงน่าเป็นห่วงอย่างมาก

●   16 มีนาคม : เฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์ สั่งยุติการดำเนินงานของโรงงานหลักในยุโรปทั้งหมด ประกอบด้วยโรงงานในเซอร์เบีย, โปแลนด์ และแน่นอนว่าอิตาลี เบื้องต้นโรงงานทั้งหมดจะถูกปิดไปจนถึงวันที่ 27 มีนาคมเป็นอย่างต่ำ

●   16 มีนาคม : ฟอร์ดประกาศปิดโรงงานในวาเลนเซีย ประเทศสเปน จนถึงวันที่ 23 มีนาคมเป็นอย่างต่ำ หลังจากพบคนงาน 3 คนมีผลทดสอบ COVID-19 เป็นบวก ภายใน 24 ชม. ยังผลให้ฟอร์ดต้องคัดแยกผู้ที่สัมผัสกับพนักงานทั้ง 3 คนโดยตรงออกมาเพื่อกักตัวและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแบบวันต่อวัน

●   17 มีนาคม : ฮุนได และเจเนซิส ออกมาตรการพิเศษให้ความช่วยเหลือเจ้าของรถที่ซื้อฮุนไดหรือเจเนซิส ระหว่างวันที่ 14 มีนาคม – 30 เมษายน โดยผู้ที่ซื้อรถและตกงานในช่วงนี้ จะได้รับการช่วยเหลือชำระค่างวดให้ 6 เดือน

●   17 มีนาคม : ซัพพลายเออร์บางส่วนของผู้ผลิตญี่ปุ่นที่มีโรงงานผลิตในประเทศจีน เริ่มเตรียมการตั้งโรงงานชั่วคราวในเม็กซิโก เพื่อให้การผลิตในญี่ปุ่นและภูมิภาคอื่นๆ บางส่วน สามารถดำเนินงานต่อไปได้ ยกตัวอย่างมาสด้าได้เริ่มดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยสั่งเพิ่มกำลังการผลิตชิ้นส่วนของ Mazda 3 และ Mazda CX-30 ในเม็กซิโกขึ้น 50% เพื่อทดแทนการปิดโรงงานในมณฑลเจียงซูเป็นการชั่วคราว

●   17 มีนาคม : ยุโรปยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนัก โฟล์คสวาเกนประกาศปิดโรงงานในโปรตุเกส, สโลวาเกีย และสเปน โดยยังไม่มีกำหนดเปิดโรงงานที่แน่ชัด หลังจากประเมินสถานการณ์แล้วว่าไม่สามารถการันตีความปลอดภัยให้กับคนงานได้ ในขณะที่โตโยต้าก็สั่งปิดโรงงานในฝรั่งเศสเช่นกัน ต่างกันตรงที่โตโยต้ามีการระบุว่าจะปิดโรงงานจนถึงวันที่ 31 มีนาคมเป็นอย่างต่ำ จากนั้นจะมีการพิจารณาความเหมาะสมตามสถานการณ์

●   17 มีนาคม : ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งสหรัฐฯ หรือ UAW (United Auto Workers) Rory Gamble เรียกร้องให้ GM, ฟอร์ด และเฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์ ปิดโรงงานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัส โดยอิงจากคำแนะนำของ WHO ทว่ายังไม่มีการเจรจากันอย่างเป็นทางการ

●   18 มีนาคม : GM, เฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิลส์, ฟอร์ด และ UAW ตกลงยืดหยุ่นการทำงานในโรงงาน โดยมีมาตรการเบื้องต้น อาทิ การเพิ่มระยะห่างระหว่างคนงาน, การทำความสะอาดอย่างเข้มงวดทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนกะ และยืดระยะเวลาการเปลี่ยนกะ เพื่อลดการสัมผัสระหว่างคนงานในแต่ละกะ และทั้ง 3 บริษัทผู้ผลิตจะมีการตกลงกันภายในเพื่อหาวิธีหมุนเวียนกันปิดโรงงาน

●   18 มีนาคม : ฮอนด้าประกาศปิดโรงงานในอเมริกาเหนือจนถึงวันที่ 23 มีนาคมเป็นอย่างต่ำ โดยคนงาน 27,600 คน จะยังคงได้รับค่าจ้างตามปกติ จากนั้นจะมีการทำความสะอาดโรงงานอย่างเข้มข้น เพื่อให้คนงานสามารถกลับมาทำงานเต็มกะได้ในวันที่ 31 มีนาคม

●   18 มีนาคม : LA Times รายงานว่า Elon Musk ออกแถลงการณ์ทางอี-เมล ถึงพนักงานของเทสล่าว่าโรงงานในฟรีมอนท์ ยังคงเปิดทำการต่อไปแม้ว่าจะมีการประกาศสั่งให้ประชาชนอยู่ในบ้านให้มากที่สุด (Shelter-in-place) ทว่าใครที่รู้สึกไม่ค่อยดีกับสถานการณ์ (หรือรู้สึกไม่สาย) ก็ให้อยู่กับบ้านเสีย… แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นข่าวเพราะพนักงานบางส่วน “ไม่อยากเสี่ยงตกงาน” แม้ว่าจะรู้สึกไม่สบายใจก็ตาม และตัว Musk เองก็คิดว่าผู้คนส่วนใหญ่ตื่นตระหนกกับสถานการณ์ COVID-19 มากเกินไป และความตื่นตระหนกนี้แพร่กระจายไปมากกว่าตัวไวรัสเองเสียอีก

●   18 มีนาคม : ผู้บังคับใช้กฏหมายเขต (County Sheriff หรือที่บ้านเราเรียกว่านายอำเภอ) ของเขตอลาเมดา หนึ่งใน 7 เขตที่ถูกประกาศมาตรการ Shelter-in-place ในแถบแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ ประกาศในทวิทเตอร์ให้เทสล่าจำกัดการทำงานในโรงงานที่ฟรีมอนท์ในระดับที่ต่ำที่สุด (minimum basic operations) เพื่อลดความเร็วในการแพร่ระบาดของไวรัสในพื้นที่

●   19 มีนาคม : เทสล่าประกาศหยุดการดำเนินงานที่โรงงานในฟรีมอนท์

●   19 มีนาคม : โรลส์-รอยซ์ ประกาศปิดโรงงานตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม – 5 เมษายน เป็นอย่างต่ำ ทว่าส่วนงานอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิต ยังคงดำเนินต่อไป ทว่าจะมีการหมุนเวียนการทำงานของพนักงานสลับกันระหว่างออฟฟิซและที่บ้าน

●   20 มีนาคม : FIA ประกาศยกเลิกการแข่งขัน F1 รายการ Dutch Grand Prix, Spanish Grand Prix และ Monaco Grand Prix ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ในขณะที่ฝั่งเอนดูรานซ์การแข่งขันรายการใหญ่อย่าง 24 Hours of Le Mans ก็มีการประกาศเลื่อนการแข่งขันเช่นกัน โดยในเบื้องต้นหากสถานการณ์ดีขึ้น Le Mans จะจัดแข่งกันในวันที่ 19-20 กันยายน 2020

●   21 มีนาคม : วอลโว่ประกาศปิดโรงงานในสหรัฐฯ ชั่วคราวระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 14 เมษายน โดยโรงงานในสวีเดนและเบลเยียมที่มีการหยุดดำเนินงานไปก่อนหน้าจะปิดอย่างน้อยจนถึงวันที่ 5 เมษายน ส่วนพนักงานออฟฟิซยังคงมีการทำงานที่บ้าน ทว่ามีการพิจารณาลด ชม. การทำงานลง

●   23 มีนาคม : สถานการณ์ในจีนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังการประกาศเปิดมณฑลหูเป่ย (อู่ฮั่นยังคงปิดต่อไปจึงวันที่ 8 เมษายนเป็นอย่างต่ำ) โชว์รูมทั่วประเทศจีนเริ่มเปิดทำการมากกว่า 90% ทว่าผู้ที่เข้าไปใช้บริการยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ

●   23 มีนาคม : GM และบริษัทผู้ผลิตอุปกรณืทางการแพทย์ Ventec Life Systems ร่วมมือกันเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากในขณะนี้สหรัฐฯ มีแนวโน้มจะกลายเป็นพื้นที่แพร่กระจาย COVID-19 ในระดับที่ใกล้เคียงกับอิตาลี

●   24 มีนาคม : เฟียต ไครสเลอร์ ออโตโมบิล, ฟอร์ด ร่วมกับ 3M และ GE Healthcare ออกแบบและผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ หน้ากากป้องกันแบบเต็มหน้า และเครื่องช่วยหายใจ รวมทั้งช่วยจัดหาหน้ากากมาตรฐาน N95 สำหรับศัลยแพทย์ด้วย

●   25 มีนาคม : MG ส่ง MG ZS EV จำนวน 100 คันให้บุคลากรทางแพทย์ทั่วราชอาณาจักรเอาไว้ใช้ปฏิบัติงานเป็นเวลา 6 เดือน โดยสามารถเข้าไปแจ้งความจำนงค์และรับรถได้ตามดีลเลอร์ต่างๆ ในพื้นที่

●   26 มีนาคม : หลังการเซ็น MOU ร่วมกันในแผนงานควบรวมบริษัทระหว่าง Groupe PSA และ Fiat Chrysler Automobiles ในช่วงปลายปี 2019 โดยจะใช้เวลาปิดดีลราวๆ 12 – 18 เดือนข้างหน้า มีคำถามว่าแผนงานนี้จะเกิดขึ้นไม่? ล่าสุด PSA ให้ความเห็นว่าจะยังคงมุ่งมั่นในการแผนงานสำคัญนี้ต่อไป แม้ว่าทั้ง 2 บริษัทจะอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากก็ตาม

●   26 มีนาคม : โฟล์คสวาเกนมั่นใจว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในเยอรมนี จะฟื้นตัวภายในช่วงฤดูร้อนนี้ หรือประมาณเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป เนื่องจากสถานการณ์ในจีนดีขึ้นเร็วกว่าที่คาดเอาไว้

●   26 มีนาคม : อีเวนท์สำคัญอย่าง 2020 Goodwood Festival Of Speed ในสหราชอาณาจักร ซึ่งเดิมจะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมของทุกปี ประการเลื่อนการจัดงานโดยยังไม่มีการระบุวัน/เวลาใหม่

●   27 มีนาคม : ซัพพลายเออร์ยักใหญ่อย่าง BOSCH ประกาศผลิตชุดทดสอบ COVID-19 แบบเร่งด่วน ซึ่งมีความแม่นยำราว 95% และรู้ผลได้ภายใน 2.5 ชม. โดยชุดทดสอบนี้บ๊อชใช้เวลาพัฒนาราว 6 สัปดาห์เท่านั้น

●   27 มีนาคม : โตโยต้า สหรัฐฯ และเมอร์เซเดส ประกาศช่วยเหลือทางการด้วยการผลิตเครื่องช่วยหายใจและหน้ากากป้องกันแบบเต็มหน้า โดยใช้เทคโนโลยี 3D printing เบื้องต้นจะเริ่มส่งให้กับโรงพยาบาลในอินเดียนา, เคนทัคกี, เท็กซัส และมิชิแกน

●   29 มีนาคม : 2020 North American International Auto Show หรือที่เราๆ คุ้นกันในชื่อ Detroit Auto Show ประกาศยกเลิกการจัดงาน เนื่องจากสถานการณ์ในสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกัน กองทัพสหรัฐฯ ก็วางแผนจะดัดแปลง TCF Center (สถานที่จัดงาน) เป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราวเพื่อเตรียมรองรับผู้ป่วย

●  31 มีนาคม : ACEA หรือ European Automobile Manufacturers’ Association กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ยุโรป คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในยุโรปจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงตลอดห่วงโซ่อย่างคาดไม่ถึง เบื้องต้นการปิดโรงงานทั่วยุโรป จะทำให้รถยนต์หายไปจากระบบราว 1.23 ล้านคัน และทำให้พนักงานที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิตทั้งหมด (ยังไม่รวมรวมซัพพลายเออร์ และดีลเลอร์) ราว 1.11 ล้านคนได้รับผลกระทบไปด้วย นอกจากนี้อีกหนึ่งในสิ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าคือ การขาดสภาพคล่องทางการเงิน

เมษายน 2020

●  1 เมษายน : ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก เริ่มใช้วิธีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่แบบออนไลน์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดแบบออนไลน์ รวมถึงการสั่งซื้อรถยนต์ผ่านระบบออนไลน์ และเพิ่มบริการรับ-ส่งรถยนต์ที่จะต้องเข้ารับการบำรุงรักษาตามระยะที่ศูนย์บริการ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะยังคงได้รับผลกระทบไปอีกพักใหญ่

●  1 เมษายน : แลมบอร์กินี ปรับไลน์การผลิตรถยนต์ที่โรงงานในเมืองซานตากาตา โบโลญเญเซ มาช่วยผลิตหน้ากากอนามัย โดยใช้ช่างฝีมือจากแผนกตัดเย็บที่ผลิตชิ้นส่วนภายในและดูแลงานคัสตอมโดยเฉพาะ ช่างฝีมือเหล่านี้สามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้ถึง 1,000 ชิ้นต่อวัน และผลิต Face Shield ได้ 200 ชิ้นต่อวัน ด้วยเครื่องพิมพ์ 3D สำหรับการผลิตชิ้นส่วนคาร์บอนไฟเบอร์

●  3 เมษายน : ยอดจำหน่ายรถยนต์ในหลายประเทศยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยยอดจำหน่ายรวมเดือนมีนาคม 2020 ในเยอรมนีลดลงราว 38% ส่งผลกระทบกับผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีทุกแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นออดี้ (-37%) บีเอ็มดับเบิลยู (-21%) เมอร์เซเดส (-28%) หรือโฟล์คสวาเก้น (-35%) ส่วนยอดจดทะเบียนรถใหม่ในยุโรปนั้น อิตาลีลดลงสูงสุดถึง -85% ฝรั่งเศสลดลง -72% และสเปนลดลง 69%

●  3 เมษายน : จากัวร์ แลนด์โรเวอร์ และองค์กร NHS Professionals ร่วมมือกันออกแบบและใช้เทคโนโลยี 3D printing ในโรงงานของ JLR ผลิต Face Shield สำหรับแจกจ่ายให้บุคลากรทางการแพทย์ในสหราชอาณาจักร โดยจะสามารถผลิตได้ประมาณ 5,000 ชิ้นต่อสัปดาห์

●  4 เมษายน : AutoNation, Inc. หนึ่งในเครือข่ายดีลเลอร์ผู้จำหน่ายรถยนต์ในสหรัฐฯ เลย์ออฟพนักงานราว 30% ทั่วประเทศ หลังยอดจำหน่ายรถยนต์ลดลงถึง 50% เนื่องจาก 95% ของรายรับนั้นมาจากการจำหน่ายรถยนต์ในเมืองที่ถูกคำสั่งล็อคดาวน์โดยตรง ยังผลให้พนักงานราว 7,000 คนต้องถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน

●  6 เมษายน : เทสล่า เผยโฉมเครื่องช่วยหายใจที่ออกแบบเป็นพิเศษโดยใช้ชิ้นส่วนของ Tesla Model 3 ซึ่งสามารถใช้งานแบบสแตนด์อโลนได้ราว 20 – 40 นาที เพียงพอที่ให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับกริดไฟฟ้า

●  6 เมษายน : ฮุนไดประกาศช่วยเจ้าของรถผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ โดยจะขยายระยะเวลารับประกันรถยนต์และระบบขับเคลื่อนออกไปอีกเล็กน้อย เบื้องต้นรถที่จะสิ้นสุดระยะเวลารับประกันในเดือนมีนาคม 2020 จะได้รับการขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2020 ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของรถราว 1.2 ล้านคันใน 175 ประเทศสบายใจไปได้อย่างน้อยๆ ราว 3 เดือน

●  7 เมษายน : มาฮินดรา แอนด์ มาฮินดรา (Mahindra & Mahindra Limited) หนึ่งในยักษ์ใหญ่ของประเทศอินเดีย ซึ่งอยู่ในฐานะบริษัทแม่ของซังยอง มอเตอร์ส (ปัจจุบัน M & M ถือหุ้นเกือบ 75%) ประกาศหยุดการลงทุนใดๆ ในซังยองเพื่อสำรองเงินสดเอาไว้หากเกิดกรณีฉุกเฉิน โดยถึงกับระบุอย่างเป็นทางการว่าให้ซังยองมองหาลู่ทางการระดมทุนจากแหล่งอื่นๆ ด้วย

●  8 เมษายน : Zoox บริษัทสตาร์ทอัพผู้พัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ประกาศเลย์ออฟพนักงานเป็นการชั่วคราว รวมถึงผู้ควบคุมรถในฐานะแบ๊คอัพระบบด้วย และจะพยายามกลับมาเรียกใช้บริการพนักงานชุดเดิมอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ทว่าพนักงานส่วนใหญ่เชื่อว่าพวกเขาไม่น่าจะได้ตำแหน่งงานเดิมคืนมาง่ายนัก

●  9 เมษายน : โรงงานผลิตรถยนต์ของฮอนด้าในเมืองอู่ฮั่น กลับมาดำเนินงานอย่างเต็มรูปแบบ โดยคนงานราว 98% (จากจำนวน 12,000 คน) จะมีการทำงานล่วงเวลา เพิ่มชดเชยกำลังการผลิตที่หายไปในช่วงปิดเมือง เบื้องต้นเป้าหมายในการผลิตคือ 1,237 คันต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นราว 17% เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตปกติ หรือราว 1,060 คันต่อวัน

●  9 เมษายน : ออดี้และเมอร์เซเดส เตรียมการเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์ในยุโรป แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะยังคงน่าเป็นห่วง โดยเมอร์เซเดสจะเริ่มผลิตชิ้นส่วนหลักๆ เพื่อเตรียมป้อนให้โรงงานประกอบ E-Class และ S-Class ก่อนเป็นลำดับแรก และคาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในวันที่ 20 เมษายน ส่วนออดี้คาดว่าจะเริ่มกลับมาผลิต A3, A4, A5 และ Q2 ได้ในวันที่ 27 เมษายนเป็นต้นไป

●  10 เมษายน : CarMax, Inc. บริษัทผู้จำหน่ายรถมือสองที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ประกาศให้พนักงานราว 1.55 หมื่นคนทุกสาขาทั่วประเทศหยุดงานได้โดยยังคงได้รับค่าจ้างตามปกติ ส่วนผู้บริหารจะมีการลดเงินเดือนลงราว 50%

●  10 เมษายน : South China Morning Post มีรายงานว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศจีนช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ลดลงถึง 41% เมื่อเทียบกับปี 2019 ทว่าตัวเลขยอดจำหน่ายน่าจะกระเตื้องขึ้นในเดือนเมษายน เนื่องจากทางการจีนผ่อนคลายความเข้มงวดลงไป

●  13 เมษายน : China Automobile Dealers Association หรือสมาคมตัวแทนจำหน่ายรถยนต์แห่งประเทศจีน มีรายงานว่าดีลเลอร์ทั่วประเทศกลับมาดำเนินงานเกือบเต็มรูปแบบถึง 99% หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในจีนดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทว่าการเข้าไปใช้งานโชว์รูมของลูกค้า ยังคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง โดย ณ เวลานี้ ตัวเลขของผู้ที่เข้าไปใช้บริการจริงยังคงอยู่ในสัดส่วน 66% เท่านั้น เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ

อัพเดทล่าสุด : 13 เมษายน 2020