March 13, 2020
Motortrivia Team (10196 articles)

Nissan “Go Anywhere” ลุยได้ทุกที่ ตะลุยประเทศมาเลเซีย

เรื่อง : สันติภพ นิ่มเล็ก • ภาพ : นิสสัน

●   ทริปทดลองขับรถยนต์นิสสันภายใต้ธีม “Go Anywhere” หรือ “ลุยได้ทุกที่” จัดขึ้นโดยใช้เส้นทางรอบประเทศมาเลเซีย ผ่านภูมิประเทศที่หลากหลาย พิสูจน์สมรรถนะรถยนต์นิสสันที่ผลิตขึ้นจากฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งมีความสะดวกสบายในการขับ และเทคโนโลยีอัจฉริยะจากการใช้งานจริง

●   รุ่นรถที่ใช้เดินทางในทริปนี้ ประกอบด้วย นิสสัน เทอร์ร่า, นิสสัน นาวารา และ นิสสัน เอ็กซ์เทรล โดยมีสภาพเส้นทางที่ผสมผสานระหว่างถนนลาดยาง ถนนโค้งบนภูเขา รวมถึงการผจญภัยแบบออฟโรด ตามคำกล่าวของ ราเมช นาราสิมัน (Ramesh Narasimhan) ประธาน นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย ที่กล่าวไว้ว่า “ประสบการณ์การขับเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงคุณภาพระดับโลกของรถยนต์นิสสัน”

คุณปีเตอร์ แกลลี (Peter Galli) รองประธาน สายงานสื่อสารองค์กร นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย

●   การเดินทางรอบประเทศมาเลเซียในครั้งนี้ มีสื่อมวลชนเข้าร่วมทริปมากมาย ทั้งในกลุ่มยานยนต์และไลฟ์สไตล์ ร่วมผจญภัยกัน 3 กลุ่ม แบ่งกันขับไปตามเส้นทางที่หลากหลาย เพื่อพิสูจน์สมรรถนะของรถยนต์แต่ละรุ่น ตามจุดหมายปลายทางที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ การเดินทางเต็มไปด้วยความท้าทาย จากเส้นทางและสถานการณ์การขับที่มีเอกลักษณ์ตามลักษณะภูมิประเทศ เขตเมืองสำคัญมีการจราจรหนาแน่นในช่วงเช้าและบ่าย การขับบนท้องถนนเป็นแบบพวงมาลัยขวา และขับรถชิดทางด้านซ้ายเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยรวมการเดินทางรอบประเทศมาเลเซียจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากเลยทีเดียว

●   “Go Anywhere” ณ ประเทศมาเลเซีย เริ่มต้นกลุ่มแรกด้วยการขับรถบนทางหลวงจากอำเภอหาดใหญ่ ไปยังชายแดนไทย-มาเลเซีย ที่ด่านสะเดา หลังจากนั้นเดินทางเข้าสู่ รัฐเกดะห์ (Kedah) ประเทศมาเลเซีย ก่อนเดินทางไปยัง ภูเขาเจไร (Mount Jerai) ปราสาทเคลลี (Kellie’s Castle) และกรุง กัวลาลัมเปอร์

●   กลุ่มที่สองขับจากกัวลาลัมเปอร์ไปยัง เมืองกวนตัน (Kuantan) ผ่านเมือง ปุตราจายา (Putrajaya) และ เมืองมะละกา (Malacca) ปิดท้ายด้วยกลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ motortrivia ร่วมเดินทางด้วย โดยจะใช้เส้นทางจาก กวนตัน ผ่านเมือง กัวลาตรังกานู (Kuala Terengganu) ไปยัง รัฐปีนัง (Penang) ก่อนที่จะข้ามชายแดนด่านสะเดากลับสู่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นอันจบการเดินทาง

จากกวนตัน มุ่งสู่กัวลาตรังกานู ระยะทาง 375 กม.

●   วันแรกของการเดินทาง เราขึ้นเครื่องบินจากประเทศไทยมาลงที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ก่อน จากนั้นก็ลี่ยนเครื่องเพื่อบินต่อไปยัง กวนตัน ซึ่งจบการเดินทางช่วงวันแรก เริ่มวันใหม่เป็นวันที่ 2 เราได้รับเจ้า นิสสัน นาวารา มาเป็นพาหนะคู่ใจในการเดินทางสู่ กัวลาตรังกานู สภาพเส้นทางช่วงแรกนี้ยังเป็นถนนราดยางแบบ 2 เลนสวนกัน สภาพธรรมชาติ 2 ข้างทางเป็นป่าพรุเสียส่วนใหญ่ มีโค้งซ้าย-ขวาสลับไปมาบ้าง สภาพการจราจรไม่ค่อยคับคั่งเนื่องจาก กวนตัน ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวนั่นเอง

●   เมือง กวนตัน นั้นเป็นเมืองหลวงของ รัฐปะหัง รัฐที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของมาเลเซีย ตัวเมืองตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำกวนตัน อยู่ทางทิศตะวันออกของรัฐปะหัง เป็นเมืองใหญ่อันดับ 9 ของมาเลเซีย

●   ช่วงที่ 2 ของวันแรก การเดินทางต้องผ่านเส้นทางธรรมชาติซึ่งเป็นป่าที่ยังสมบูรณ์ดีอย่างมากของมาเลเซีย การเดินทางช่วงนี้ต้องใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อกันทุกคัน เพราะสภาพเส้นทางมีทั้งแบบเป็นหินกรวดลอย ดินโคลนที่ลื่น อีกทั้งหลายๆ ช่วงยังต้องลุยน้ำพื่อผ่านลำธารหลายๆ จุดอีกด้วย ซึ่งพวกเราก็สามารถผ่านอุปสรรคทั้งหมดออกมาได้ และเดินทางบนถนนต่อจนถึง กัวลาตรังกานู กันอย่างปลอดภัยทุกคัน

●   นิสสัน นาวารา รุ่นล่าสุดมาพร้อมเครื่องยนต์ดีเซล YD25DDTi ขนาดความจุ 2.5 ลิตร มีความโดดเด่นด้านการประหยัดน้ำมัน และการปล่อยมลพิษที่ต่ำ แต่ยังคงไว้ซึ่งความทรงพลังและอัตราเร่งที่ดีเยี่ยม จากระบบเทอร์โบชาร์จเจอร์ที่ช่วยเพิ่มพละกำลังของเครื่องยนต์ กำลังสูงสุดมีให้ถึง 190 แรงม้า และให้แรงบิดสูงสุดที่ 450 นิวตัน-เมตร ที่ 2,000 รอบต่อนาที นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มมั่นใจให้กับผู้ขับขี่ด้วยเทคโนโลยีเสริมความปลอดภัยมากมาย

●   เกียร์อัตโนมัติ 7 สปีด ส่งกำลังต่อเนื่อง พร้อมโหมดการเปลี่ยนเกียร์แบบแมนน่วล ช่วยประหยัดน้ำมันในช่วงความเร็วต่ำ แต่ให้อัตราเร่งที่ดี อัตราทดเกียร์กว้างขึ้นเพื่อรองรับการขับในทุกช่วงความเร็ว การเปลี่ยนเกียร์มีความนุ่มนวล สอดคล้องกับแนวคิดในการขับแบบ “ลุยได้ทุกที่” สะดวกด้วยระบบปรับการขับเคลื่อน 2 ล้อเป็น 4 ล้อแบบ Shift-on-the-fly 4-wheel Drive & 4LO ที่ช่วยควบคุมการทำงานขณะตัวรถกำลังเคลื่อนที่ และยังมีระบบควบคุมการทรงตัวอัตโนมัติ Vehicle Dynamic Control หรือ VDC ช่วยเพิ่มสมรรถนะการขับ 4 ล้อและความปลอดภัย รวมถึงระบบป้องกันการลื่นไถล 4-wheel Active Brake Limited Slip

●   นาวาร่า มาพร้อมชุดเทคโนโลยีความปลอดภัยของนิสสัน ที่จะช่วยให้ผู้ขับมั่นใจทุกเส้นทาง และเข้าถึงการเชื่อมต่อได้อย่างแท้จริง รวมถึงกล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง Around View Monitor หรือ AVM ซึ่งให้มุมมองแบบ 360 องศา และบริเวณโดยรอบ จากกล้อง 4 ตัวที่ติดตั้งอยู่รอบตัวรถ

●   เทคโนโลยีความปลอดภัยและความสะดวกสบายอื่นๆ ได้แก่ เทคโนโลยีเบรกกันล้อล็อค (Anti-Lock Braking System – ABS) โครงสร้างนิรภัย (Body Reinforcement) ถุงลมเสริมความปลอดภัย 7 ตำแหน่ง เทคโนโลยีกระจายแรงเบรก (Electronic Brake-Force Distribution – EBD) กุญแจรีโมท ปุ่มสตาร์ท และ ช่องแอร์ปรับอากาศด้านหลัง

●   ต่อด้วยเทคโนโลยี นิสสัน อินเทลลิเจนต์ โมบิลิตี (Nissan Intelligent Mobility) ที่จะช่วยให้ผู้ขับเข้าถึงการเชื่อมต่อได้อย่างแท้จริง ผ่านระบบ Nissan Connect แอพพลิเคชันที่เชื่อมต่อรถยนต์เข้ากับสมาร์ทโฟนผ่านฟังก์ชั่น Apple CarPlay โดยระบบอินโฟเทนเมนต์อัจฉริยะนี้ยังสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ขับได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเส้นทาง ช่องทางการขับ การรายงานสภาพจราจร และตรวจสอบการขับแบบประหยัดได้

จากกัวลาตรังกานู ขับยาวๆ สู่รัฐปีนัง ระยะทาง 448 กม.

●   วันที่ 3 ของการเดินทาง เราต้องขับรถเดินทางจาก กัวลาตรังกานู มุ่งสู่ รัฐปีนัง วันนี้เราได้เปลี่ยนไปใช้เจ้า เอ็กซ์เทรล 2.5VL 4WD รุ่นใหม่ล่าสุดเพื่อใช้เดินทางกัน

●   กัวลาตรังกานู เป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลจีนใต้ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ห่างจาก กัวลาลัมเปอร์ ราว 500 กิโลเมตร มีประชากร 406,317 คน ในอดีตที่นี่เคยเป็นเมืองท่าที่ค้าขายกับประเทศจีน ทำให้ที่นี่มีประชาชนที่เชื้อสายจีนเข้ามาตั้งรกรากเป็นจำนวนมาก แต่ต่อมาการค้าขายมักติดต่อไปยังเมืองมะละกา การค้าในแถบบนี้จึงลดความสำคัญลงไป

●   กัวลาตรังกานู เป็นที่รู้จักในฐานะที่ตั้งของห้องแถวในชุมชนชาวจีนอายุกว่าร้อยปี ซึ่งเคยถูกคุกคามจากการรื้อถอน ภายหลังหมู่บ้านดังกล่าวจึงถูกขึ้นบัญชีของกองทุนอนุสรณ์สถานโลกในปี ค.ศ. 1998 ซึ่งมีความพยายามให้ประชาชนในท้องถิ่นอนุรักษ์หมู่บ้านแห่งนี้ต่อไป

●   เราออกดินทางออกจาก กัวลาตรังกานู โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 3 ซึ่งเป็นถนนเลียบทะเลด้านทะเลจีนใต้ ผ่านเมือง เจอร์เตห์ (Jerteh) แล้วเลี้ยวเข้าสู่ถนนหมายเลข 4 เข้าสู่ รัฐกลันตัน (Kelantan) หนึ่งในสิบสามรัฐที่ประกอบขึ้นเป็นสหพันธ์มาเลเซีย มีชื่อเฉลิมเกียรติเป็นภาษาอาหรับว่า ดารุลนาอิม หรือ “ถิ่นที่อยู่ที่สวยงาม” เมืองหลวงและเมืองของเจ้าผู้ครองประจำรัฐคือ โกตาบารู (Kota Bharu)

●   รัฐกลันตัน ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมาเลเซียตะวันตก มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดนราธิวาส ประเทศไทย ทางทิศเหนือ ติดต่อกับ รัฐตรังกานู ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ รัฐเปรัก (Perak) ทางทิศตะวันตก และ รัฐปะหัง ทางทิศใต้ ส่วนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจรดทะเลจีนใต้

●   เราขับรถยนต์ตามเส้นทางถนนราดยางที่คดเคี้ยวไปมาไม่นานนัก ก็เข้าสู่ รัฐเปรัก หนึ่งในสิบสามรัฐที่ประกอบขึ้นเป็นประเทศมาเลเซีย มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในมาเลเซียตะวันตก ติดต่อกับ รัฐเกอดะฮ์ (Kedah) และจังหวัดยะลาของประเทศไทยทางทิศเหนือ รัฐปีนัง ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ รัฐกลันตัน และ รัฐปะหัง ทางทิศตะวันออก รัฐเซอลาโงร์ (Selangor) ทางทิศใต้ ส่วนทางทิศตะวันตกจรดช่องแคบมะละกา

●   เปรัก ในภาษามลายูหมายถึง “เงิน” ซึ่งน่าจะมาจากสีเงินของแร่ดีบุก แต่บางคนก็ว่าชื่อของรัฐมาจากแสงวิบวับของปลาในน้ำซึ่งส่องเป็นประกายเหมือนเงิน ส่วนชื่อเฉลิมเมืองในภาษาอาหรับคือ ดารุลริดซวน หรือ “ดินแดนแห่งความสง่างาม”

●   ผ่านช่วงตอนใต้ของ รัฐเกดะห์ เราขับรถข้ามสะพานปีนัง เพื่อเข้าสู่ รัฐปีนัง หรือ ปูเลาปีนัง (มลายู: Pulau Pinang) หนึ่งในสิบสามรัฐที่ประกอบขึ้นเป็นสหพันธรัฐมาเลเซีย เดิมชาวมลายูรุ่นแรกเรียกว่า ปูเลาวาซาตู หรือ เกาะเดี่ยว ต่อมาพบในแผนที่เดินเรือ เรียกว่า ปูเลาปีนัง หรือ เกาะหมาก หลังจากนั้นอังกฤษเรียกว่า เกาะพรินซ์ออฟเวลส์ (Prince of Wales)

●   ที่นี่มีพื้นที่บนดินทั้งหมดเพียง 1,048 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น เป็นรัฐที่มีพื้นที่บนดินเล็กที่สุดอันดับสองของประเทศมาเลเซีย รองจาก รัฐปะลิส (Perlis) ตัว รัฐปีนัง นั้นตั้งอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของมาเลเซียตะวันตก ประกอบด้วยพื้นที่ 2 ส่วน ได้แก่ เกาะปีนัง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ และเป็นที่ตั้งของ จอร์จทาวน์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐ และอีกส่วนหนึ่งคือ เซอเบอรังเปอไร (Seberang Perai) ซึ่งตั้งอยู่บนแผ่นดินใหญ่ ดังนั้นเมื่อถึงปีนัง ก็ถือว่าจบการเดินทางในวันนี้

●   นิสสัน เอ็กซ์เทรล 2.5VL 4WD ใหม่ มีสัดส่วนความยาว 4,690 มม. ความกว้าง 1,820 มม. และ 1,740 มม. ระยะฐานล้อ 2,705 มม. ความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถ 210 มิลลิเมตร มีรัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.6 เมตร มาพร้อมกับเครื่องยนต์เบนซินขนาด 2.5 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 171 แรงม้า แรงบิดสูงที่ 233 นิวตันเมตร ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ พร้อมโรเตอร์สวิตช์ (4x4i with roter switch) เทคโนโลยีที่ช่วยการขับทั้งออนโรดและออฟโรด ผู้ขับสามารถเลือกโหมดการขับเคลื่อนได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ พร้อมเทคโนโลยีความปลอดภัยมากมาย

  • เทคโนโลยีควบคุมความเร็วอัตโนมัติอัจฉริยะ หรือ Intelligent Cruise Control (ICC)
  • เทคโนโลยีตรวจจับวัตถุด้านหลังรถขณะถอย หรือ Rear Cross Traffic Alert (RCTA)
  • เทคโนโลยีช่วยเตือนก่อนการชนด้านหน้าอัจฉริยะ หรือ Intelligent Forward Collision Warning (FCW)
  • เทคโนโลยีเบรกฉุกเฉินอัจฉริยะ หรือ Intelligent Emergency Braking (IEB)
  • เทคโนโลยีเตือนเมื่อรถออกนอกช่องทาง หรือ Lane Departure Warning (LDW)
  • เทคโนโลยีเตือนเมื่อมีวัตถุอยู่ในจุดอับสายตา หรือ Blind Spot Intervention (BSW)
  • เทคโนโลยีกล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง หรือ Intelligent Around View Monitor (iAVM)
  • เทคโนโลยีเตือนวัตถุเคลื่อนไหวรอบคัน หรือ Moving Object Detection (MOD)

จากรัฐปีนัง สู่ประเทศไทย สิ้นสุดที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ระยะทาง 220 กม.

●   วันสุดท้ายของการเดินทาง เราเปลี่ยนไปใช้ นิสสัน เทอร์ร่า เพื่อขับกลับสู่ประเทศไทยกัน เราออกเดินทางจากตัวเมืองหลวงของ รัฐปีนัง คือจอร์จทาวน์ ข้ามสะพานปีนังสู่ รัฐเกดะห์ ตามเส้นทาง AH2 ซึ่งเป็นทางด่วนพิเศษมุ่งสู่ ด่านพรมแดนสะเดา ของประเทศไทย

●   สภาพเส้นทางเป็นถนนเรียบที่สามารถใช้ความเร็วสูงได้ นิสสัน เทอร์ร่า ถือว่าสามารถรับใช้การเดินทางได้อย่างไม่มีที่ติ ความนุ่มนวลของช่วงล่างกับการออกแบบห้องโดยสารที่ช่วยให้ผู้โดยสารไม่เมื่อยล้าตลอดการเดินทาง ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง รวมถึงตัวช่วยต่างๆ ของระบบความปลอดภัย ทำให้การเร่งแซงบนท้องถนนตลอดการเดินทางเป็นได้อย่างทันใจและปลอดภัย

●   เราเดินทางกันอย่างเพลินๆ ก็ถึงชายแดนระหว่างประเทศมาเลเซียกับประเทศไทย เมื่อผ่านการตรวจเอกสารเรียบร้อยเราก็ขับรถเดินทางต่อตามทางหลวงหมายเลข 4 เข้าสู่ตัวเมืองหาดใหญ่ ซึ่งเป็นอันจบการเดินทางปิดทริปการเดินทาง “Go Anywhere” หรือ “ลุยได้ทุกที่” กันอย่างเรียบร้อยและปลอดภัยทุกคัน

●   สำหรับ เกดะห์ หรือ ไทรบุรี มีชื่อเมืองเป็นภาษาอาหรับว่า ดารุลอามัน หรือ “ถิ่นที่อยู่แห่งสันติภาพ” เมืองนี้เป็นรัฐหนึ่งในประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของมาเลเซียตะวันตก ครอบคลุมขนาดเนื้อที่ 9,425 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่บนแผ่นดินใหญ่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบใช้สำหรับปลูกข้าว รวมทั้ง เกาะลังกาวี ด้วย

●   พรมแดนของ รัฐเกอดะฮ์ ทางทิศเหนือติดต่อกับ รัฐปะลิส และติดต่อกับจังหวัดสงขลา และจังหวัดยะลาของประเทศไทย ทิศใต้ติดต่อกับ รัฐเปรัก และทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดต่อกับ รัฐปีนัง เมืองหลวงของรัฐคือ อาโลร์เซอตาร์ (Alor Setar) และเมืองของเจ้าผู้ครองคือ อานักบูกิต (Anak Bukit) ส่วนเมืองหลักอื่นๆ ได้แก่ ซูไงเปอตานี (Sungai Petani) และ กูลิม (Kulim) บนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้ง กัวะฮ์ (Kuah) บนเกาะลังกาวี

●   นิสสัน เทอร์ร่า มากับเครื่องยนต์ดีเซล YS23DDTT ทวินเทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์ DOHC ขนาด 2,298 ซีซี หัวฉีดเชื้อเพลิงระบบไดเร็คอินเจคชั่น ให้กำลังสูงสุด 190 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตร ระบบส่งกำลังแบบอัตโนมัติ 7 สปีด พร้อมโหมดขับขี่แบบแมนนวล (M mode)

●   ระบบขับเคลื่อน 4×4 มาพร้อมฟังก์ชั่น shift-on-the-fly สามารถเปลี่ยนการขับจากแบบสองล้อหรือ 2H เป็นระบบขับเคลื่อนสี่ล้อหรือ 4H ได้โดยไม่ต้องหยุดรถ นอกจากนี้ยังมีโหมดการขับขี่แบบความเร็วต่ำ (4LO) พร้อมระบบล็อกเฟืองท้ายแบบไฟฟ้า ปลอดภัยสูงสุดด้วยเทคโนโลยี นิสสัน อินเทลลิเจนท์ โมบิลิตี – อินเทลลิเจนท์ ไดรฟ์วิง

  • เทคโนโลยี กระจกมองหลังอัจฉริยะ หรือ Intelligent Rear View Mirror (IRVM)
  • เทคโนโลยี กล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง หรือ Intelligent Around View Monitor (IAVM)
  • เทคโนโลยีตรวจจับและส่งสัญญาณเตือนวัตถุ และบุคคลที่เคลื่อนไหวจากกล้องรอบคัน Moving Object Detection (MOD)
  • เทคโนโลยีเตือนจุดบอดหรือจุดอับสายตาอัจฉริยะ หรือ Intelligent Blind Spot Intervention (IBSW)
  • เทคโนโลยีเตือนเมื่อรถออกนอกช่องทางอัจฉริยะ หรือ Intelligent Lane Intervention (ILDW)
  • ถุงลมนิรภัย 6 จุด ที่ ตำแหน่งด้านหน้า ด้านข้างของเบาะแถวหน้า และม่านถุงลม
  • เข็มขัดนิรภัยที่เบาะคู่หน้า เบาะนั่งแถวที่สอง และเบาะแถวที่สามเป็นเข็มขัดสามจุด ELR
  • เทคโนโลยีเบรก Brake Limited Slip Differential (B-LSD)
  • ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี หรือ Traction Control System (TCS)
  • เทคโนโลยีช่วยออกตัวบนทางลาดชัน หรือ Hill Start Assist (HSA)
  • เทคโนโลยีควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน หรือ Hill Descent Control (HDC)
  • เทคโนโลยีตรวจสอบแรงดันลมยาง หรือ Tire Pressure Monitoring System (TPMS)
  • ระบบเบรกป้องกันล้อล็อก (ABS) ระบบกระจายแรงเบรก (EBD) และระบบช่วยเบรก (Brake Assist System: BA) รวมถึงไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED
  • ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว หรือ Vehicle Dynamic Control (VDC)

ขอบคุณ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จํากัด อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง


2020 Nissan Caravan “Go Anywhere” : Malaysia