May 13, 2020
Motortrivia Team (10167 articles)

Halo Car รถยนต์ที่ถูกใช้ในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์

เรื่อง : Panda Trueno

●  บังเอิญไปเจอกับฝรั่งเข้าคนหนึ่ง ก็เลยได้มีโอกาสสนทนากันแบบพอหอมปากหอมคอ ตามประสาคนที่พูดอังกฤษได้นิดๆ หน่อยๆ แล้วเรื่องที่คุยกันก็ออกแนวสัพเพเหระ ซึ่งก็รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับรถยนต์ด้วย และที่ชวนให้สะดุดหูจนกลายมาเป็นคอลัมน์ในวันนี้ คือ Halo Car

●  ตอนแรกฟังไปก็ไม่เข้าใจ คิดว่าเป็น Hello Car พลางนึกในใจว่าพี่แกกำลังพูดถึงเรื่องรถยนต์จากแนวคิด HELLO ของฮอนด้าที่เปิดตัวใน โตเกียว มอเตอร์โชว์ 2009 แถมยังเหน็บเจ้าคู่ร่วมสนทนาว่าพูดไม่ชัดเสียนี่ (ทั้งที่ตัวเองน่ะ หูไม่ดีต่างหาก) แต่พอฟังไปฟังมา… อ้าวไม่ใช่นี่

●  ว่าแต่ว่าเจ้า Halo Car มันคือ อะไรกันล่ะเนี่ย?

●  แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ Halo เกมคอมพิวเตอร์ของค่าย Bungie ที่ออกมาหลายภาคแล้ว แต่มีความหมายถึง ‘รถยนต์ที่ออกแบบ และผลิตขึ้นมาเพื่อภาพพจน์ของบริษัท’ หรือ ผลิตมาเพื่อให้เกิดความประทับใจต่อแบรนด์นั่นเอง ซึ่งตามวิกิพีเดีย คำนี้มีที่มาจากคำว่า Halo Effect หรือสินค้าอะไรก็ตามที่ผลิตออกมา แต่สามารถสร้างความรู้สึกที่ดี หรือมีเชิงบวกของผู้ใช้ต่อตัวแบรนด์หรือสินค้าภายในแบรนด์… ส่วนเรื่องที่ว่าคุณภาพดีหรือไม่นั้น ตรงนี้ไม่ได้มีการบอกกล่าวเอาไว้

●  ยกตัวอย่างเช่น iPod คือ ผลผลิตที่ทำให้ผู้บริโภคเกิด Halo Effect หรือความรู้สึกที่ดีต่อแบรนด์ Apple หรือสินค้าอื่นๆ ของแบรนด์นี้

ดอดจ์ ไวเปอร์ ถือเป็น Halo Car ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ดอดจ์ ในภาพคือ Dodge Viper GTS รุ่นปี 1996

●  กลับมาที่เรื่องของรถยนต์ แน่นอนว่า Halo Car มักจะถูกใช้ในเชิงของรถยนต์ที่ถือว่า เป็นสุดยอดยานยนต์เท่าที่แบรนด์นั้นเคยผลิตออกมา และก็อีกเช่นกันที่ว่า แม้จะไม่ได้มีการระบุว่าจะต้องเป็นตัวถังไหนหรือแบบไหน แต่โดยกลไกที่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นรถสปอร์ตเสียมากกว่า นั่นก็เลยทำให้ภาพของ Halo Car ถูกผูกอยู่กับรถสปอร์ตเป็นหลัก

●  เพราะอะไร?

●  ก็เพราะเมื่อพูดถึงความล้ำหน้าทางด้านวิศวกรรมยานยนต์แล้ว จริงอยู่ที่มีอะไรอยู่หลายอย่างชวนให้นึกถึง แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่พุ่งเป้าเข้าไปหา คือ ความแรงและเร้าใจ รวมถึงอะไรที่เป็นที่สุดของการพัฒนา และก็อีกเช่นเคย ที่ส่วนใหญ่แล้ว สิ่งเหล่านี้มักจะถูกจับมารวมกันในพวกรถสปอร์ต หรือซูเปอร์คาร์ มากกว่ารถยนต์ซีดาน หรือเอสยูวี เหมือนกับที่ใครๆ ก็คิดว่า F1 คือ สุดยอดรถยนต์ที่รวบรวมสุดยอดเทคโนโลยี

●  ไม่เชื่อก็ลองไปดู ดอดจ์ ไวเปอร์, เมอร์เซเดส-เบนซ์ SLR McLaren, ฟอร์ด GT, เอ็นโซ่ เฟอร์รารี่, ปอร์เช 911 GT1 หรือแม้แต่ เล็กซัส LFA ที่เพิ่งเปิดตัวล่าสุด ก็ถูกจัดรวมอยู่ในกลุ่มของ Halo Car ด้วยเช่นกัน ส่วนในกลุ่มที่เป็นรถยนต์นั่งก็มี เช่น โฟล์คสวาเกน เฟตัน เป็นต้น

แน่นอนว่า Halo Car ส่วนใหญ่จะเป็นรถสปอร์ต Mercedes-Benz SLR McLaren รุ่นปี 2004 คือตัวอย่างที่ดีรุ่นหนึ่ง

●  สำหรับรถยนต์ที่ถูกมองว่าเป็น Halo Car ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ ดอดจ์ ไวเปอร์ เพราะสามารถทำให้แบรนด์ดอดจ์ของไครสเลอร์ ที่แต่เดิมมีนิยามเดียวกับรถบรรทุกหรือปิกอัพ ให้สลัดคราบมาเป็นแบรนด์ที่เปี่ยมด้วยสมรรถนะ หรือ Performance Brand ของไครสเลอร์ และสามารถดึงคนให้เดินเข้าโชว์รูมดอดจ์ เพื่อมาดูหน้าตาของไวเปอร์ (แต่สุดท้ายก็วางเงินเพื่อซื้อรุ่นนีออนไปแทน)

●  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า Halo Car ที่ถูกผลิตออกมาแต่ละรุ่นจะต้องเป็นพระเอกแบบว่า ‘ข้าเจ๋งแบบสุดๆ’ เพราะอย่างเว็บไซต์ Wheels.ca ก็มีการรวบรวม ’10 รถยนต์ในกลุ่ม Halo ที่ประสบความล้มเหลวในการทำหน้าที่ของตัวเอง’ ซึ่งประกอบไปด้วย…

01. Chrysler TC by Maserati : 1989-1991

●  อีกครั้งที่ผู้ผลิตเชื่อมั่นว่า การจับมือกับแบรนด์ที่มีภาพจน์หรูหราแล้วจะสามารถช่วยยกระดับแบรนด์ของตัวเองได้ ซึ่งผลผลิตที่เรียกว่า TC ของไครสเลอร์กลายเป็นความผิดพลาดที่ไม่สมหวัง แม้ว่าจะมีทาง มาเซราติ ช่วยในเรื่องการดัดแปลงและตกแต่ง ซึ่งจากเดิมคิดว่าน่าจะขายได้ 30,000 คัน กลายเป็นว่ามีแค่ 7,300 คันเท่านั้นที่ถูกผลิตออกมา จนต้องยุบไลน์ผลิตในปี 1991

02. Cadillac Allante : 1987-1993

●  รายนี้ไม่ต่างจากไครสเลอร์ ทางแคดิลแล็กต้องการยกระดับตัวเองให้ขึ้นมามีภาพลักษณ์ของสปอร์ตหรูที่เทียบชั้นกับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ 560SL แต่กลับล้มไม่เป็นท่า ทั้งที่ตัวรถได้รับการออกแบบโดยพินินฟารินา ขณะที่ราคาซึ่งตั้งเอาไว้ถึง 60,000 เหรียญสหรัฐฯ ทำให้มีคนหลงผิดซื้อไปรวม 20,000 คัน

03. Plymouth Prowler : 1999 -2002

●  จากต้นแบบสุดฮ็อตกลายมาเป็นสของจริงสำหรับขาย ด้วยแนวคิดในการทำรถ Hot Rod ให้กลายมาเป็นของแท้ที่ออกจากโรงงาน เพื่อผลักดันรถยนต์ราคาประหยัดอย่าง พลีมัธ ให้ดูโดดเด่นขึ้น ซึ่งแม้ว่าคนที่ซื้อไปจะรักรถรุ่นนี้มาก หรือแม้เครื่องยนต์วี6 กับเกียร์อัตโนมัติจะไม่ยอดเยี่ยม แต่ทว่าในเรื่องของความเป็น Halo Car แล้ว พราวเลอร์ ไม่สามารถช่วยชีวิตของพลีมัธเอาไว้ได้ เพราะในปี 2001 ไครสเลอร์ บริษัทแม่ของพลีมัธจัดการลบชื่อนี้ออกจากตลาดรถยนต์ไปเลย

04. Chevrolet SSR : 2003-2006

●  สวยและแตกต่าง เมื่อปิกอัพมากับระบบเปิดประทุนหลังคาแข็งพับได้ แต่ตรงจุดนี้แหละที่ทำให้กลายเป็นจุดอ่อนของตัวรถ และทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมบริษัทรถยนต์ถึงผลิตปิกอัพ 2 ที่นั่งที่มาพร้อมหลังคาแข็งพับได้?

●  “มี 3 เหตุผลที่เราตัดสินใจผลิต SSR…ข้อ 1 นี่คือรถยนต์ที่สวย และเป็น Halo Car ของเชฟโรเลต ข้อที่ 2 เพราะนักข่าวบอกว่า ควรจะผลิตออกขาย และข้อที่ 3 ริก (แวโกเนอร์ ซีอีโอคนก่อน) บอกว่าให้ผลิต” นี่คือ เหตุผลที่ทาง ทอม วัลเลซ ผู้บริหารของเชฟโรเลตกล่าวกับ Autoweek ในวันที่เปิดตัว SSR แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด

05. Lincoln Blackwood : 2001-2002

●  เมื่อความหรูอยากจะลุย ก็เลยกลายมาเป็นโปรเจ็กต์ แบล็ควู้ด ซึ่งลินคอล์นพยายามลองพลิกบทบาทของตัวเอง เหมือนกับที่ทาง แคดิลแลค ลองทำกับเอสยูวีรุ่น เอสคาเลด ด้วยการจับเอา เนวิเกเตอร์ เอสยูวีรุ่นใหญ่มาผลิตเป็นปิกอัพแบบ 4 ประตู แต่สุดท้ายแนวคิดนี้ก็ไปไม่รอด มีการผลิตออกมาเพียงแค่ 4,000 คันเท่านั้น ขณะที่เอสคาเลดของแคดิลแล็กมีคนจองคิวยาวถึง 15 เดือน

06. Ford Thunderbird : 2002-2005

●  การปลุกรถยนต์รุ่นดังในอดีตกลับมาทำใหม่เป็นแนวทางที่น่าจะประสบความสำเร็จ แต่ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จเสมอไป เพราะการกลับมาของ ธันเดอร์เบิร์ด หรือ ที-เบิร์ด กลับล้มไม่เป็นท่า ซึ่งการนำเจนเนอเรชันที่ 11 ของที-เบิร์ดให้เป็น Halo Car กลับได้รับผลตอบรับที่ไม่ดี ทั้งในเรื่องของพื้นฐานทางวิศวกรรมที่แชร์ร่วมกับ ลินคอล์น LS และระบบช่วงล่างที่หลายคนบอกว่า ‘นุ่มเกินไป’ เช่นเดียวกับหน้าตาแบบหลุดโลก

08. Volvo 262C Bertone Coupe : 1978-1981

●  การจับมือกับทาง เบอร์โทเน หวังจะทำให้วอลโว่ได้รับการมองใหม่จากเดิมที่เป็น ‘ทุกชีวิตปลอดภัยในวอลโว่’ มาสู่อีกภาพลักษณ์ที่มีความสปอร์ต แต่สุดท้ายแล้วงานก็เดินหน้าไปได้ไม่ดีเท่าไร เพราะตัวถังซีดานของรุ่น 262 ที่จะถูกนำมาดัดแปลงเป็นรุ่นคูเป้ 262C ถูกวางกองเกลื่อนที่โรงเก็บรถของเบอร์โทเน และซ้ำร้ายกว่านั้นคือ ตัวรถไม่ผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัยในเรื่องการพลิกคว่ำ

07. Subaru Alcyone SVX : 1991-1997

●  ซูบารุเคยคิดกระโดดเข้าสู่ตลาดรถสปอร์ตแบบเต็มตัว SVX คือ หลักฐานที่ยืนยันถึงเรื่องนี้ และเหมือนกับวอลโว่ ซูบารุว่าจ้างสำนักออกแบบชื่อดังของอิตาลีอย่าง อิตัลดีไซน์ ที่มี จิออร์เจ็ตโต้ จุยเจียโร่ นั่งแท่น แต่สุดท้ายแล้วก็ได้รับผลลัพธ์แบบเดียวกัน แถมเมื่อต้องเจอ Halo Car ที่เป็นสุดยอดของยุครถสปอร์ตญี่ปุ่นในปี 1990 อย่าง ฮอนด้า NSX, โตโยต้า ซูปรา, นิสสัน Z และ มาสด้า RX-7 SVX ของซูบารุก็เลยด้อยไปถนัดตา

09. Jaguar XJ220 : 1991-1994

●  เกิดมาเพื่อแข่งกับ เฟอร์รารี่ F40 และ ปอร์เช่ 959 ในยุคทศวรรษที่ 1980 แต่กลับตั้งราคาขายแบบบ้าเลือดถึง 580,000 เหรียญสหรัฐฯ ทั้งที่ F40 ของเฟอร์รารี่ออยู่ที่ 400,000 เหรียญสหรัฐฯ และที่แย่กว่านั้น คือ ตัวเลข 220 ที่ถูกนำมาตั้งชื่อรุ่น ซึ่งหมายถึงความเร็วสูงสุดที่ตัวรถทำได้ ในหน่วยเป็นไมล์/ชั่วโมง แท้จริงแล้ว ทำได้แค่ 217 ไมล์/ชั่วโมงเท่านั้น

10. Volkswagen Phaeton : 2002-2006

●  รถยนต์ที่ เฟอร์ดินันด์ เพี๊ยค ต้องการเปลี่ยนโฟล์คจากรถยนต์เพื่อประชาชนมาเป็นแบรนด์สำหรับคนระดับหรู แต่กลับล้มไม่เป็นท่า เพราะว่าความหรูยังไม่ถึงขั้นกับคู่แข่งร่วมชาติ เรียกว่าขับ เฟตัน ไปที่กอล์ฟ คลับแล้ว เด็กรับต้องขับไปจอดที่ลานจอด ไม่ใช่จอดเรียงที่ช่องจอดด้านหน้าสำหรับเอาไว้โชว์รถ เหมือนอย่างเวลาที่ขับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ หรือ บีเอ็มดับเบิลยู ไป…

●  และทั้งหมดก็คือเรื่องราวของ Halo Car โดยสังเขปครับ   ●

Tags Halo Car