July 13, 2020
Motortrivia Team (10194 articles)

Suzuki XL7 GLX ทางเลือกที่ตอบโจทย์คนรักครอบครัว

เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ

●  ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) เปิดตัวรถรุ่นใหม่ Suzuki XL7 แบบออนไลน์ เพิ่มทางเลือกสำหรับผู้ที่กำลังมองหารถยนต์เอนกประสงค์ 7 ที่นั่ง ในราคาที่จับต้องได้ 779,000 บาท (ราคาพิเศษช่วงแนะนำ) (สีขาวเพิ่ม 5,000 บาท) ทำตลาดด้วยรุ่นย่อยเดียว GLX หลังเปิดตัวก็เชิญสื่อมวลชนไปสัมผัสรถอย่างใกล้ชิด จากนั้นจึงจัดทดสอบแบบกลุ่มไปเช้าเย็นกลับ เส้นทางกรุงเทพฯ-เขาใหญ่ ระยะทางรวมประมาณ 370 กิโลเมตร นั่งคันละ 3 คน แบ่งกันขับตามอัธยาศัย

XL7 คือรุ่นใหม่ ไม่ใช่ Ertiga ยกสูง

●  ก่อนขับมีการบรรยายจุดเด่นของรถโดย คุณปลวัชร วราศักดิ์ Team Leader แผนกฝึกอบรม ที่เน้นว่า แม้ดูเผินๆ XL7 จะคล้าย Suzuki Ertiga แต่จริงๆ แล้วมีการใช้แพลทฟอร์มร่วมกันแค่บางส่วน โดยมีความแตกต่างกันตั้งแต่โครงสร้างตัวถัง ระบบเครื่องยนต์แตกต่างกันที่กล่องควบคุม ECM และอัตราทดเฟืองท้าย

●  ระบบรองรับน้ำหนักแตกต่างกันทั้งช็อคฯ และสปริงหน้า-หลัง เหล็กกันโคลงหน้าขนาดใหญ่ขึ้น ล้อและยาง รวมทั้งมุมล้อ ระบบเบรก ต่างกันที่ปั๊ม ABS และ ESP ระบบบังคับเลี้ยว แตกต่างกันในส่วนขิงพวงมาลัย แกนพวงมาลัย มอเตอร์ และกล่องควบคุมพวงมาลัยไฟฟ้า รวมทั้งระบบไฟฟ้าที่แตกต่างกันในส่วนของกล่องควบคุมระบบไฟฟ้า ไฟหน้า และแผงหน้าปัด

●  ตัวรถออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ ติดตั้งแผ่นดักลมด้านหน้าและด้านหลัง แผ่นปิดใต้เครื่องยนต์ และใต้หม้อน้ำ ราวหลังคารองรับน้ำหนักได้สูงสุด 50 กิโลกรัม ภายในติดตั้งจอสัมผัสขนาด 10.1 นิ้ว ความละเอียด 1024×600 พิกเซล ลำโพง 4 ตัว ทวิตเตอร์ 2 ตัว รองรับ Apple CarPlay และ Android Auto พร้อมสวิตช์ควบคุมบนพวงมาลัย สามารถเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth, HDMI, USB และ Micro SD Card ในชุดมาตรวัดมีจอแสดงผลขนาด 4.2 นิ้ว แบบ TFT LCD แสดงผลเปิด-ปิดประตู, แรง G, กำลังและแรงบิดของเครื่องยนต์, อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง, การเร่งและเบรก และนาฬิกา พวงมาลัยปรับขึ้นลงได้ 40 มิลลิเมตร เบาะผู้ขับปรับสูงต่ำได้ 60 มิลลิเมตร

●  เบาะนั่งแบบ 3 แถว มีที่วางขวดน้ำ 1 ลิตร 6 จุด 0.6 ลิตร 2 จุด จ่ายไฟฟ้า 12 โวลต์ 3 จุด เบาะแถว 2 เลื่อนเดินหน้าถอยหลังได้ 240 มิลลิเมตร พนักพิงเบาะแถว 3 ปรับเอนได้ พับราบได้ ประตูบานท้ายกว้าง 980 มิลลิเมตร สูง 850 มิลลิเมตร ลึก 440 มิลลิเมตร เมื่อเปิดพื้นห้องเก็บสัมภาระขึ้น จะมีช่องที่มีความลึก 170 มิลลิเมตร และถ้าไม่พับเบาะแถว 3 ลง ที่เก็บสัมภาระด้านท้ายมีความจุ 153 ลิตร และถ้าเปิดพื้นห้องเก็บสัมภาระ จะมีความจุเพิ่มขึ้นเป็น 199 ลิตร เรื่องความจุพอจะใช้อ้างอิงได้ ส่วนในการใช้งานจริงจะใส่ของได้แค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับขนาดและรูปทรงของสัมภาระด้วย

รูปลักษณ์ทันสมัย คันไม่ใหญ่ สูงกำลังดี

●  ภายนอกเน้นเส้นสายผสมกับความโค้งมน ไฟหน้า DRL และกระจังออกแบบให้ต่อเนื่องกัน ได้รับแรงบันดาลใจมาจากดาบคาทานะของญี่ปุ่น เสริมลุคตัวลุยด้วยโป่งล้อพลาสติกสีดำต่อเนื่องกับกันชนหน้าและหลัง ตัดกับสีเงินของการ์ดกันกระแทกที่ด้านล่างของกันชน บนหลังคาติดตั้งแร็คยึดสัมภาระ ด้านท้ายดูมีลูกเล่นด้วยไฟท้ายตรงตั้ง เชื่อมต่อด้วยแถบสีดำเงาและคิ้วโครเมียม

●  ตัวรถมีความยาว 4,450 มิลลิเมตร กว้าง 1,775 มิลลิเมตร สูง 1,710 มิลลิเมตร ตัวถังวางอยู่บนฐานล้อ 2,740 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 200 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 1,175 กิโลกรัม โครงสร้างตัวถัง HEARTECT platform โดยรวมดูดี คันไม่ใหญ่เทอะทะเมื่อเทียบกับพื้นที่ภายใน ความสูงตัวรถกำลังดี ไม่ต้องปีนขึ้นลงแบบรถยกสูง และไม่ต้องก้มตัวลงไปนั่งแบบรถเก๋ง ล้อและยางขนาด 195/60/16 ดูเล็กไปนิดเมื่อเทียบกับความหนาของตัวรถด้านข้าง แต่ก็เป็นเรื่องปกติของรถประเภทนี้ที่เน้นความนุ่มนวลจากยางแก้มสูง

นั่งสบายตามคาด ขับดีกว่าที่คิด

●  กลัวว่าช่วงบ่ายหลังอาหารกลางวันแล้วจะง่วง จึงอาสาขอขับก่อน เป็นการขับแบบ Free Run จึงไม่ต้องเร่งรีบตามขบวน ขับสบายๆ ด้วยความเร็วตามกฎหมาย 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้รอบสูงนิดอยู่ในช่วง 2,500-3,000 รอบต่อนาที เพราะต้องเผื่อการนั่งเต็มพิกัด 7 คนด้วย ระหว่างทางมีลองเร่งความเร็วและคิ๊กดาวน์ 2-3 ครั้ง นอกนั้นขับชิลๆ ตามวัตถุประสงค์ของรถ แต่นั่งกันแค่ 3 คน ระยะทางช่วงแรก 110 กิโลเมตร ได้อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 14.8 กิโลเมตรต่อลิตร ถือว่าดีเกินคาด

●  XL7 ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เบนซินรหัส K15B แบบ 4 สูบ 16 วาล์ว VVT แปรผันวาล์วไอดี ความจุ 1,462 ซีซี กำลังสูงสุด 105 แรงม้า (PS) ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 14 กก.-ม. ที่ 4,400 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ การตอบสนองของเครื่องยนต์ช่วงความเร็วต่ำ หรือการใช้งานในเมือง ทำได้ทันอกทันใจ ไม่ต้องลากรอบสูง เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ มีการเปลี่ยนเกียร์ที่นุ่มนวล ไม่กระตุกกระชาก ทั้งการเปลี่ยนเกียร์ขึ้นและลงที่รอบสูง ส่วนความฉับไวในการเปลี่ยนเกียร์อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย การเร่งแซงแบบรีบร้อนแน่นอนว่าต้องคิ๊กดาวน์เปลี่ยนเกียร์ลงต่ำ เพื่อใช้อัตราทดเกียร์สร้างแรงบิด เป็นปกติของเครื่องยนต์ขนาดกลางๆ ค่อนไปทางเล็ก กำลังสำรองพอมีให้ใช้ แต่ก็ต้องประเมินความเร็วและระยะห่างให้ดีก่อนแซง

●  พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า หนืดมือพอเหมาะ ไม่เบาหวิวจนขาดความมั่นใจ การหมุนพวงมาลัยราบเรียบต่อเนื่องดี องศาพวงมาลัยแหงนมากไปนิด ปรับเบาะขึ้นลงแล้วก็ยังไม่เข้าที่ คงต้องใช้การปรับตัวเข้าหารถบ้าง การตอบสนองของพวงมาลัยเหมาะกับบุคลิกของรถ ที่เน้นการขับแบบผ่อนคลายเป็นหลัก การทำงานสอดคล้องกับระบบกันสะเทือนหน้าอิสระแม็กเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังทอร์ชั่นบีม คอยล์สปริง ที่เซตมาพอเหมาะ มีการยึดเกาะถนนที่ดีเกินหน้าตา ให้นุ่มนวลหนักแน่น ขับได้อย่างมั่นใจ ลองกระตุกพวงมาลัยเบาๆ ที่ความเร็วประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อนที่ลองนั่งเบาะแถว 3 รายงานว่าเหวี่ยงนิดๆ ระบบเบรกหน้าดิสก์หลังดรัม พร้อมตัวช่วยมาตรฐาน ผลงานตามเกณฑ์ไม่มีที่ติ สร้างแรงเบรกได้ดี ไม่มีอาการเบรกทื่อเบรกไหล และให้แรงเบรกที่สัมพันธ์กับน้ำหนักเท้า

●  การขับโดยรวมถือว่าทำได้ดี เครื่องยนต์และเกียร์ตอบสนองได้ดี โดยเฉพาะในช่วงความเร็วต่ำ-ปานกลาง ประหยัดพอตัวแม้ใช้รอบค่อนข้างสูง ระบบกันสะเทือนปรับเซตมาลงตัวกับการใช้งาน พวงมาลัยเบาแรงพอเหมาะ เบรกดี เบาะพับได้หลายรูปแบบ แต่ยังคงแน่นหนานั่งสบายไม่หลวมคลอน

●  ถึงจุดแวะพักพร้อมสลับผู้ขับ เปลี่ยนมาลองนั่งเบาะแถว 2 ประตูคู่หลังกว้างกว่าคู่หน้า ทำให้ขึ้น-ลงสะดวก เน้นเอาใจคนนั่งหลังเป็นพิเศษ กระจกประตูบานใหญ่มองวิวเต็มตา แต่ก็โดนแดดเต็มตัวเพราะรถยังไม่ได้ติดฟิล์ม ถือว่าทดสอบระบบปรับอากาศไปในตัว ซึ่งก็เย็นฉ่ำทั่วถึงเพราะมีช่องแอร์บนเพดานเบาะแถว 2 พร้อมสวิตช์ปรับแรงลม เป็นระบบแอร์ที่มี 2 ตู้แอร์ ซึ่งได้รับคำแนะนำว่า แม้ไม่มีผู้โดยสารด้านหลังก็ควรเปิดแอร์ไว้เบาๆ เพื่อให้น้ำยาแอร์ทำงานเต็มระบบ และทำให้อุณหภูมิในห้องโดยสารเย็นฉ่ำตามที่ตั้งไว้ได้เร็วขึ้น คอมเพรสเซอร์แอร์จะได้มีจังหวะตัดการทำงานบ้าง ช่วยประหยัดเชื้อเพลิง เบาะแถว 3 ได้ลองนั่งในวันที่ให้ไปถ่ายรูป เป็นเบาะแถว 3 ที่ผู้ใหญ่นั่งได้ เพราะพื้นไม่ยกสูงขึ้นมา ทำให้ไม่ต้องนั่งคางเกยเข่า การเข้า-ออกจากเบาะแถว 3 ก็ไม่ถึงกับทุลักทุเล เพราะช่องทางออกไม่มีซุ้มล้อหลังมาเบียดบังพื้นที่ เมื่อรวมกับประตูคู่หลังบานใหญ่ จึงเพิ่มความสะดวกยิ่งขึ้น

●  หลังอาหารกลางวัน มีช่วงถามตอบโดย คุณวัลลภ ตรีฤกษ์งาม และกรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด และ คุณปลวัชร วราศักดิ์ Team Leader แผนกฝึกอบรม บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่มาช่วยกันตอบข้อสงสัยหลังการขับ จากนั้นจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในแบบ Free Run เหมือนเดิม แต่ที่ไม่เหมือนเดิมคือความอิ่มและความง่วงเริ่มครอบงำ แถมต้องย้ายมานั่งหน้าข้างผู้ขับเพื่อรับหน้าที่เป็นผู้นำทาง ได้ลองเล่นหน้าจอที่คอนโซลกลาง ที่มีขนาดใหญ่เต็มตา ความคมชัดอยู่ในระดับดีสมราคา ตอบสนองการสั่งงานไหลลื่นดี สังเกตอีกอย่างคือ การเก็บเสียงทำได้ดี ทั้งเสียงลมปะทะ และเสียงยางบดถนน ส่วนเสียงเครื่องยนต์จะได้ยินชัดถ้าลากรอบสูง ทำให้ห้องโดยสารเงียบสงบนั่งสบายจนไม่อยากขับ

●  ขากลับขับแบบทำเวลา เพราะอยากเลี่ยงรถติดสาหัสเย็นวันศุกร์ ขับแบบไหลๆ ไปตามช่องว่าง มีเร่งรอบสูงบ้าง กับเจอรถติดนิดหน่อย อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยไม่ได้เซตใหม่ จึงเป็นการเฉลี่ยรวมทั้งทริปไป-กลับ ได้ตัวเลข 15.3 กิโลเมตรต่อลิตร ขยับเพิ่มจากเดิมพอสมควรทั้งที่ขับเร็วขึ้น

●  ซูซูกิ XL7 เป็นรถที่มีเป้าหมายชัดเจนคือ เน้นความสะดวกสบายของผู้โดยสารบนเบาะแถว 2 และ 3 แล้วก็ทำได้ดีจริงๆ เมื่อเทียบกับราคารถ ทั้งความกว้างขวาง ตำแหน่งท่านั่ง ทัศนวิสัย การเข้า-ออก ความนิ่งความเงียบ การกระจายความเย็น และสิ่งอำนวยความสะดวก ตำแหน่งที่น่าจะเกี่ยงกันนั่งมากที่สุดจึงไม่ใช่เบาะแถว 3 แต่เป็นหลังพวงมาลัย เครื่องยนต์และระบบส่งกำลังไม่แรงหวือหวา แต่ทำงานสอดคล้องกัน ตอบสนองดีในย่านความเร็วที่ใช้บ่อย ประหยัดเชื้อเพลิงพอสมควร ถ้าขับไม่โหดมากหรือรถติดสาหัส ก็น่าจะเห็นอัตราสิ้นเปลืองเป็นตัวเลข 2 หลักให้ชื่นใจ พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าและระบบกันสะเทือน ปรับเซตให้ไปในทำนองเดียวกัน คือหนักแน่นมั่นคงไม่เบาหวิว ขับมั่นคงและผ่อนคลาย   ●

ขอบคุณ บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง

Group Test : 2020 Suzuki XL7 GLX