GWM เปิดตัวรถรถน่าสนใจหลายรุ่นในงาน 2020 Auto China
เรื่อง : AREA 54
● เกรท วอลล์ มอเตอร์ส (GWM) ส่งรถใหม่เข้าร่วมงาน Beijing International Automotive Exhibition 2020 (หรือ Auto China) โดยภายในงาน GWM ได้ทำการเปิดตัวรถใหม่หลายรุ่น รวมถึงรถต้นแบบ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ระบบการเชื่อมต่อ COFIS, ชุดระบบช่วยขับในกลุ่ม ADAS ที่พร้อมใช้งานในรถรุ่นต่างๆ หรือแพลทฟอร์มการผลิตรถแบบความยืดหยุ่นสูง L.E.M.O.N. เป็นต้น
● สำหรับรถยนต์รุ่นหลักๆ ที่จัดแสดงในงานนี้ ยังคงเป็นแบรนด์หลักในเครืออย่างรถ SUV ในนามแบรนด์ Haval, รถปิคอัพในนาม Great Wall Motors และรถยนต์พลังงานไฟฟ้าภายใต้ซับ-แบรนด์ใหม่อย่าง ORA
● รุ่นรถที่น่าสนใจประกอบด้วย:
Haval A01
● Haval A01 เป็นรถ SUV ขนาดคอมแพคท์ที่ GWM จัดแสดงเป็นครั้งแรกแบบเวิลด์พรีเมียร์ในงานนี้ ตัวรถยังไม่มีข้อมูลอะไรมากนัก เนื่องจาก GWM จะทำการเปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งหลังงานนี้ เบื้องต้นตัวรถจะพัฒนาขึ้นบนแพลทฟอร์มใหม่ L.E.M.O.N. ย่อมาจาก Lightweight Electrification Multi-purpose Omni-protection Network ซึ่งแพลทฟอร์มนี้จะเป็นแพลทฟอร์มแบบโมดูลาร์ตามสมัยนิยม
● จุดเด่นของแพลทฟอร์มที่มีโครงสร้างแบบโมดูลาร์ คือ สามารถปรับเปลี่ยนไปใช้งานกับรถได้หลายคลาส ไม่ว่าจะเป็น SUV, MPV หรือซีดาน ครอบคลุมขนาดตัวในหลายกลุ่มตลาด รองรับการติดตั้งระบบขับเคลื่อนทุกรูปแบบในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบพื้นฐาน, ไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด, ไฟฟ้าล้วนแบบแบตเตอรี่ หรือฟิวเซลล์ และในอนาคตแพลทฟอร์มนี้จะรองรับการติดตั้งระบบเชื่อมต่อที่ใช้ความสามารถของเครือข่าย 5G รวมถึงระบบความปลอดภัย 3DP (Passenger, Pedestrian, Parts) ของ GWM
● หมายเหตุ : รถรุ่นแรกของ Haval ที่ใช้แพลทฟอร์ม L.E.M.O.N. ในการผลิตคือ Haval H6 ซึ่งเปิดตัวไปแล้วในงาน Chengdu Motor Show 2020 ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
GWM Poer EV
● GWM Poer EV รถปิคอัพพลังงานไฟฟ้าตัวโปรโตไทป์ที่ใกล้เคียงรุ่นจำหน่ายจริง พร้อมรุ่นตกแต่งพิเศษแบบออฟ-โรด แสดงวิสัยทัศน์ของ GWM ในการทำตลาดปิคอัพยุคใหม่ในอนาคตอันใกล้ งานออกแบบโดยรวมไม่ต่างจากปิคอัพ P Series (หรือ Great Wall Pao ในประเทศจีน) ชื่อรุ่น Poer นั้นเป็นการเล่นคำจาก “Power” โดยไม่มีตัวอักษร w ทว่าออกเสียงว่า “พาวเวอร์” เช่นเดียวกัน เพื่อสื่อถึงการใช้งานระบบขับเคลื่อนแบบไฟฟ้านั่นเอง
● ในเอกสารประชาสัมพันธ์ GWM ระบุว่า คำๆ นี้เป็นการขยายความจากตัวอักษร “炮” ในภาษาจีน ออกเสียงว่า “เปา” (แปลว่าปืนใหญ่ : Cannon) แบบเดียวกับที่ใช้ในปิคอัพ P Series และเป็นคอนเซ็ปท์หลักของแบรนด์ปิคอัพ GWM ได้แก่ Power, Peak และ Perfect
● ตัวรถใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 150 กิโลวัทท์ หรือเทียบเท่า 201 แรงม้า (HP) แรงบิดสูงสุด 30.57 กก.-ม. เก็บประจุไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่แพคชนิด ลิเธียม-ไอออน ชาร์จ 1 ครั้งวิ่งทำระยะทางได้ประมาณ 405 กม. มากที่สุดในรถปิคอัพไฟฟ้าที่จำหน่ายในจีน ณ วันปัจจุบัน
● อีกหนึ่งเทคโนโลยีใหม่ในรถรุ่นนี้คือ Poer จะเป็นรถ “รถรุ่นแรกในโลกที่ใช้ co-axial เชื่อมต่อกับ electronic drive bridge” (the global first co-axial integrated electronic drive bridge) ซึ่งผู้แปลยังไม่แน่ใจว่าคืออะไร ณ เวลานี้ครับ ต้องรอรายละเอียดกันอีกที
ORA ES11 GT
● ORA ES11 รุ่นพื้นฐานเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ของ ORA ซึ่งอยู่ในรูปโฉมแบบรถเรโทร และมีการจัดแสดงไปก่อนหน้านี้ที่งานเฉิงตู 2020 ทว่าในงานนี้ GWM ได้เปิดตัวรุ่นใหม่เวอร์ชั่นสปอร์ต ใช้ชื่อว่า ORA ES11 GT เพิ่มเติมอีกหนึ่งรุ่น
● ORA ES11 เป็นรถไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า 107 กิโลวัทท์ หรือเทียบเท่า 143 แรงม้า เก็บประจุไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่แพคชนิด ลิเธียม-ไอออน ชาร์จ 1 ครั้งวิ่งทำระยะทางได้ประมาณ 500 กม. เมื่อแบตเตอรี่เหลือ 30% จะสามารถชาร์จได้ 80% ภายใน 30 นาที
● ส่วนขนาดตัวรถจะอยู่ในกลุ่มคอมแพคท์คาร์ ความยาวรวม 4,235 มม. กว้าง 1,825 มม. สูง 1,596 มม. ความยาวฐานล้อ 2,650 มม. ใกล้เคียงกับ Nissan Leaf รุ่นปัจจุบัน เจนเนอเรชั่น 2 ทว่า ES11 จะสั้นกว่านิดหน่อยครับ (-225 มม.)
Futurist Concept
● ปิดท้ายด้วยรถต้นแบบซีดานทรงเรโทร Futurist Concept รถรุ่นนี้ GMW ยังไม่ระบุกรอบเวลาในการผลิต… หรืออาจจะไม่ผลิต เรายังไม่แน่ใจ หากผลิตจริงก็น่าจะเป็นรถภายใต้แบรนด์ ORA เบื้องต้นตัวรถอยู่ในรูปโฉมของรถทรงย้อนย้อนยุคสไตล์คลาสสิค เพิ่มความร่วมสมัยด้วยสีหวานๆ โดยรวมนับว่าเป็นรถที่ออกแบบได้น่าดึงดูดที่สุดรุ่นหนึ่งในงานนี้
● เว็บไซท์ carnewschina.com ระบุว่า งานออกแบบเป็นผลงานของ Phil Simmons อดีตดีไซน์เนอร์ของ แลนด์ โรเวอร์ ในขณะที่ด้านวิศวกรรม ตัวรถพัฒนาขึ้นบนแพลทฟอร์ม L.E.M.O.N. หมายความระบบขับเคลื่อนน่าจะอยู่ในกลุ่มพลังงานทางเลือกแบบใดแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น HEV, PHEV, BEV หรือแม้แต่ FCEV
● ตัวแบตเตอรี่แพคจะเป็นแบบไร้โลหะหนัก (เช่น โคบอลท์ : cobalt-free battery) ซึ่งปัจจุบันมีซัพพลายเออร์หลายรายกำลังพัฒนาเทคโนโลยีนี้ โดยให้ข้อมูลว่า แบตเตอรี่ในกลุ่มโคบอลท์-ฟรี จะช่วยลดการสร้างมลภาวะลง ลดต้นทุน และไม่กระทบต่อประสิทธิภาพในการเก็บกักกระแสไฟฟ้า เบื้องต้นต้นแบบรุ่นนี้สามารถวิ่งทำระยะทางได้ประมาณ 700 กม. ต่อการชาร์จ 1 ครั้งในทางทฤษฎี และรองรับการใช้งาน ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ Level 3
● สำหรับเทคโนโลยีแนะนำอื่นๆ ในงาน นอกจากแพลทฟอร์มใหม่ L.E.M.O.N. แล้วยังมี ระบบเชื่อมต่ออัจฉริยะ COFIS Intelligent Connectivity System ซึ่ง GWM ตั้งใจพัฒนามาเพื่อใช้งานในร่วมกับการขับเคลื่อนแห่งอนาคต หรือ Future Mobility ประกอบด้วย (1) Intelligent Cab : ห้องโดยสารอัจฉริยะ (2) Intelligent Driving : ระบบขับเคลื่อนอัจฉริยะ หรือระบบช่วยขับในกลุ่มอัตโนมัติ และ (3) Intelligent Electrical Architecture : สถาปัตยกรรมระบบไฟฟ้าแบบอัจฉริยะ
● นอกจากนี้ GWM ยังตั้งเป้าหมายในการพัฒนาขีดความสามารถในการเชื่อมต่อแบบอนนไลน์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มใช้งานกับรถของแบรนด์ WEY ก่อนเป็นลำดับแรกจากนั้นจึงจะพัฒนาต่อยอดไปใช้กับรถยนต์แบรนด์อื่นๆ ในเครือต่อไปในอนาคต
● หมายเหตุ : WEY เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ในเครือ GWM ที่ผลิต SUV เช่นเเดียวกับ Haval ทว่ารถส่วนใหญ่ของ WEY จะขยับขึ้นไปใช้ระบบขับเคลื่อน ปลั๊ก-อิน ไฮบริด ●