April 1, 2021
Motortrivia Team (10069 articles)

2021 Lexus LF-Z Electrified concept ตัวแทนเทคโนโลยีปี 2025

เรื่อง : AREA 54

●   เลกซัสประกาศแผนการปรับโฉมแบรนด์เลกซัส โดยมีการเตรียมจัดตั้งศูนย์ธุรกิจและเทคโนโลยีแห่งใหม่ที่รวมแผนกพัฒนา, การออกแบบเทคโนโลยีการผลิต และการวางแผน ใช้ชื่อว่า Shimoyama Technical Center พร้อมเผยภาพและรายละเอียดของรถต้นแบบรุ่นใหม่ Lexus LF-Z Electrified Concept พรีวิวแนวคิดภาษาในการออกแบบ (Design language) ใหม่ของแบรนด์เลกซัส, แนวทางด้านสมรรถนะของรถที่ใช้งานระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า (หรือ Electrified : นับรวมรถไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และแบตเตอรี่) รวมถึงชุดระบบที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เลกซัสวางแผนจะใช้งานในรถใหม่มากกว่า 20 รุ่นภายในปี 2025

●   การเปิดตัวมีขึ้นที่โตโยต้า ซิตี้ จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2021 ที่ผ่านมา ตัวรถอยู่ในรูปโฉมของรถครอสโอเวอร์ท้ายลาดแบบ Coupe-like งานออกแบบเน้นความเรียบง่ายสะอาดตาตลอดคัน ขนาดตัวรถมากับความยาวรวม 4,880 มม. กว้าง 1,960 มม. สูง 1,600 มม. ระยะฐานล้อ 2,950 มม. น้ำหนักตัวรถ 2,100 กก. ชุดแบตเตอรี่แพคออกแบบการจัดวางใหม่เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงของแชสซีส์ และช่วยให้ตัวรถมีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำลง รวมถึงช่วยลดแรงสั่นสะเทือนและลดเสียงรบกวนในห้องโดยสาร

●   ห้องโดยสารออกแบบใหม่ทั้งหมดภายใต้แนวคิด “ทาสึนะ” (Tazuna หมายถึงบังเหียนในภาษาญี่ปุ่น) มุ่งให้ผู้ขับเป็นศูนย์กลางของรถ ใช้แรงบันดาลใจจากความสัมพันธ์ระหว่างม้ากับคนที่สื่อสารกันด้วยบังเหียนเพียงเส้นเดียว มีพื้นที่โปร่งโล่ง เรียบง่ายในสไตล์มินิมอล และมี AI ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเสมือนให้กับผู้ขับ และมีชุดระบบซาวด์ซิสเต็มของแบรนด์ไฮเอนด์ Mark Levinson

●   เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะทำหน้าที่เรียนรู้พฤติกรรมของผู้ขับ และให้การสนับสนุนผู้ขับแบบรีลไทม์ด้วยการสื่อสารในลักษณะเสียงพูด ซึ่งเลกซัสเชื่อว่าจะช่วยให้การควบคุมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในขณะขับ เช่น การระบุเส้นทาง, ให้ข้อมูลการจราจร ไล่ไปจนถึงการจองโต๊ะในร้านอาหาร ในขณะที่การควบคุมรถด้วยฮาร์ดแวร์นั้น เลกซัสได้ออกแบบให้มาตรวัด, จอทัชสกรีน ควบรวมกันเป็นโมดูลเดียว ส่วนฟังก์ชันในการสั่งงานระบบต่างๆ จะรวมกันเอาไว้โดยรอบพวงมาลัย เพื่อช่วยให้ผู้ขับลดการละสายตาจากท้องถนน

●   ชุดระบบสาธิตใหม่ที่เลกซัสแนะนำในต้นแบบรุ่นนี้คือ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อเจนเนอเรชั่นใหม่ ใช้ชื่อทางการค้าว่า DIRECT4 ตัวระบบสามารถควบคุมการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าได้อย่างอิสระ แยกการควบคุมล้อหน้า-หลังออกจากกัน ตัวรถจึงสามารถใช้งานได้ทั้งระบบขับเคลื่อนล้อหน้า, ขับเคลื่อนล้อหลัง หรือ all-wheel drive ตามแต่ละสถานการณ์ ซึ่งระบบจะควบคุมการจัดสรรแรงบิดหรือระบบขับเคลื่อนด้วยการประมวลผลตามลักษณะการกดคันเร่ง หรือการควบคุมพวงมาลัยของผู้ขับ

●   ชุดระบบบังคับเลี้ยวใหม่เป็นแบบไฟฟ้า (steer-by-wire) ตัดการเชื่อมต่อด้วยกลไกผ่านแกนพวงมาลัยออกไป ยังผลให้การตอบสนองโดยตรงระหว่างส่วนควบคุมพวงมาลัยและแรงขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยให้ตัวรถมีมุมบังคับเลี้ยวแคบลง และมีความแม่นยำมากขึ้นในการตอบสนองต่อการขับในสภาวะต่างๆ

●   เบื้องต้นชุดระบบขับเคลื่อนประกอบด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างต่ำ 2 ตัว แยกหมุนล้อคู่หน้า-หลัง ระบบส่งกำลังไม่ระบุ แบตเตอรี่แพคชนิดลิเธียม-ไออน ระบายความร้อนด้วยของเหลว ความจุหรือความสามารถในการจ่ายไฟต่อเนื่อง 90 กิโลวัทท์-ชม. ชาร์จ 1 ครั้งวิ่งทำระยะทางได้ประมาณ 600 กม. ตามมาตรฐาน WLTP กำลังสูงสุดผลิตได้ 536 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 71.3 กก.-ม. อัตราเร่ง 0 – 100 กม./ชม. ภายใน 3 วินาที ความเร็วสูงสุดจำกัดเอาไว้ที่ 200 กม./ชม.

นายโคจิ ซาโตะ ประธาน และหัวหน้าทีมภาพลักษณ์แบรนด์ เลกซัส อินเตอร์เนชันแนล

ข้อมูลเพิ่มเติมจากเลกซัส ประเทศไทย

●   นายโคจิ ซาโตะ ประธาน และหัวหน้าทีมภาพลักษณ์แบรนด์ เลกซัส อินเตอร์เนชันแนล กล่าวว่า “ผมขอแสดงความนับถือด้วยใจจริงต่อผู้คนทั่วโลก ที่พยายามอย่างหนักท่ามกลางความยากลำบากทั้งหลายในขณะที่เราดำเนินภารกิจเพื่อสังคมในการสร้างชุมชนที่งดเว้นการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นจริงขึ้นมานั้น เราจะยังคงมอบความสนุกและความสุขที่รถยนต์มีให้อย่างต่อเนื่อง เราจะยังคงมีส่วนในการมอบความสุขและรอยยิ้มของลูกค้า รวมถึงทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเลกซัส เริ่มจากเปิดตัวรถยนต์ใหม่สองรุ่นในปีนี้ เราจะพัฒนานวัตกรรมต่อไป เพื่อเพิ่มสีสันให้กับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของลูกค้า เราหวังว่าคุณจะคอยติดตามอนาคตของเลกซัส ซึ่งมีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะสร้างสรรค์อนาคต เพื่อให้สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยความหวังเป็นจริงขึ้นมาได้ในที่สุด”

Shimoyama Technical Center

●   เลกซัสระบุว่า ในเดือนมีนาคม 2024 เลกซัสจะเปิดธุรกิจและศูนย์เทคโนโลยีแห่งใหม่ขึ้นที่ศูนย์เทคนิคโตโยต้า ชิโมยามะ (Toyota Technical Center Shimoyama หรือ TTCS) โดยรวบรวมทีมงานที่เกี่ยวข้องในด้านการพัฒนา, การออกแบบ, เทคโนโลยีการผลิต และการวางแผนของแบรนด์เลกซัส เพื่อส่งเสริม “การสร้างรถยนต์ที่ดียิ่งขึ้น” หรือ Building Ever Better Cars ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางด้านยานยนต์ครั้งใหญ่ ซึ่งเชื่อกันว่าจะเกิดขึ้นเพียงศตวรรษละหนึ่งครั้ง

●   เลกซัส ชิโมยามะ จะพัฒนาทั้งรถยนต์และบุคลากรที่สร้างรถยนต์ สนามที่ใช้ทดสอบรถยนต์จะจำลองสภาวะการขับที่เลวร้ายในรูปแบบต่างๆ รถยนต์ที่เข้าทดสอบจะได้รับการทดลองขับและปรับปรุงซ้ำไปซ้ำมา ซึ่งการพัฒนารถยนต์และทรัพยากรมนุษย์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นได้ที่นี่ เนื่องจากพื้นที่ชิโมยามะมีความหลากหลาย และเป็นเขตพื้นที่ธรรมชาติที่มีความผันผวนอย่างมาก

●   ในส่วนของสำนักงาน อาคารเลกซัสจะเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ในขณะที่อาคารเมสเซะ (Messe building) จะใช้ในการทำงานร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ อาคารทั้ง 2 แห่งนี้จะเป็นสถานที่ที่ทีมงานจากภายในและภายนอกบริษัทร่วมกันทำงาน

●   ทั้งนี้ เสาหลักของการพัฒนารถใหม่จะอยู่ที่อาคารเลกซัสหลังใหม่ขนาด 3 ชั้น ชั้นแรกจะจำลองลักษณะและบรรยากาศของพิทที่สนามแข่งนูร์เบอร์กริง ทีมงานที่รับผิดชอบทุกส่วนงานจะมาร่วมกันในแต่ละโปรเจคท์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่รวดเร็วด้วยการบูรณาการการผลิตรถเข้ากับอุปกรณ์ดิจิทัลที่ทันยุคสมัย

●   ชั้นที่ 2 จะเป็นพื้นที่สำนักงาน โดยมีผังแบบเปิดโล่งเพื่อใช้งานในลักษณะที่หลากหลายเพื่อพัฒนาความร่วมมือ และเป็นพื้นที่ที่บุคลากรทุกคนจะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้มากที่สุดในการเร่งการพัฒนาโดยมีรถยนต์เป็นศูนย์กลาง บุคลากรทุกคนสามารถเดินขึ้น-ลงระหว่างชั้นต่างๆ ของอาคารได้อย่างอิสระ รวมถึงทำงานนอกสถานที่ตามสไตล์การทำงานของตนเองได้ตามต้องการ

●   พื้นที่ออกแบบบริเวณชั้นที่ 3 จะเน้นที่การออกแบบรถรุ่นต่างๆ ด้วยดินเหนียว ซึ่งพื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่สำหรับการระดมความคิดสร้างสรรค์อย่างเข้มข้น เพื่อให้มั่นใจว่านักออกแบบ, วิศวกรการผลิต, ผู้เชี่ยวชาญด้านอากาศพลศาสตร์ และทีมงานส่วนอื่นๆ ของฝ่ายการทดลองจะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อมองหาแนวคิดใหม่ๆ

●   ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมแบบเปิดที่ศูนย์เทคนิคชิโมยามะ จะเป็นสถานที่เพื่อการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับผู้ผลิต รวมถึงพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแบรนด์ที่ดำเนินอยู่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มลูกค้า อาคารเมสเซะจะเป็นสถานที่เพื่อการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งนอกจากโถงอเนกประสงค์แล้วจะมีโรงซ่อมรถเพิ่มเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง เพื่อให้พันธมิตรทางธุรกิจของเลกซัสได้เข้าชม, เก็บข้อมูลทางเทคนิค รวมถึงสัมผัสรถรุ่นต่างๆ ได้โดยตรง

●   ส่วนสนามทดสอบนั้น จะปรกอบด้วยสนามทดสอบหลายสนาม แต่ละสนามมีการออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อการประเมินรถยนต์โดยเฉพาะ สนามแห่งแรกในจำนวน 3 สนามเปิดใช้งานแล้วในช่วงปี 2019 ตัวสนามใช้พื้นที่ธรรมชาติในเขตชิโมยามะ ออกแบบให้จำลองการทดสอบสภาพถนนนอกตัวเมือง ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร มีทางโค้งรัศมีต่างๆ และมีระดับความสูง-ต่ำของพื้นที่ที่แตกต่างกัน 75 เมตร

●   ปัจจุบัน สนามทดสอบประมาณ 10 สนามกำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้างเพิ่มเติม รวมถึงสนามประเมินความเร็วสูงแบบวิ่งวน และสนามทดสอบที่จำลองสภาพพื้นผิวถนนลักษณะต่างๆ ทั่วโลก

●   ศูนย์เทคนิคชิโมยามะ สร้างขึ้นภายใต้หลักปรัชญา “ศูนย์เทคนิคที่กลมกลืนกับธรรมชาติและชุมชนท้องถิ่น” (technical center in harmony with nature and local communities) โดยในด้านการอยู่ร่วมกันกับชุมชนในพื้นที่นั้น เลกซัสจะให้ความสำคัญกับกลุ่มคนในพื้นที่ และรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มคนดังกล่าวพร้อมๆ ไปกับการก่อสร้าง ด้านการรักษาสภาพแวดล้อม เลกซัสจะพยายามรักษาและบริหารจัดการสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติให้คงเดิมด้วยความเหมาะสม โดยพื้นที่ก่อสร้างประมาณ 70% ของทั้งหมด จะได้รับการรักษาสภาพภูมิประเทศ รวมถึงพืชพันธุ์และสัตว์ป่าไว้ให้คงเดิม

●   ขณะนี้ เลกซัสกำลังดำเนินการสนับสนุนการฟื้นฟู รักษาป่าไม้และนาข้าวในพื้นที่ใกล้เคียง หรือที่เรียกกันว่า ซาโตยามะ (ระบบนิเวศบริเวณข้างเคียงที่เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับชีวิตมนุษย์ในพื้นที่) เพื่อฟื้นคืนนาข้าวที่แห้งแล้งและเสื่อมสภาพให้กลับเป็นแหล่งชีวภาพชุ่มน้ำดังเดิม สร้างช่องทางส่งน้ำเพื่อให้มีน้ำเข้าสู่ที่นาโดยรอบตลอดทั้งปี เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและหลบภัยของเหล่าสัตว์น้ำ

●   นอกจากนี้ อุโมงค์และสะพานต่างๆ ยังได้รับการออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อรักษาภูมิประเทศตามธรรมชาติให้คงสภาพเดิมมากที่สุด ทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยและเส้นทางในการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์ต่างๆ รวมทั้งให้พันธุ์พืชได้เติบโตอีกด้วย   ●

2021 Lexus LF-Z Electrified concept