May 12, 2021
Motortrivia Team (10185 articles)

ETRAN ระดมทุนเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด

motortrivia

●   อีทราน (ETRAN) ผู้ผลิตรถมอเตอร์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สัญชาติไทย จัดงาน ETRAN Press Conference ผ่าน Zoom เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกาศความสำเร็จในการระดมทุนสู่ Series A มูลค่าราว 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 100 ล้านบาท จาก 2 นักลงทุนรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR ผู้ผลิตและจำหน่ายยางล้อมอเตอร์ไซค์สัญชาติไทย ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาด หลักทรัพย์ เอ็ม.เอ.ไอ (mai) และ Angle investor หรือนักลงทุนอิสระ

●   การระดมทุนในครั้งนี้จะช่วยให้อีทรานสามารถทำการตลาดกับกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้าง รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2564 นี้ อีทรานได้วางแผนเปิดตัวรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 2 รุ่น ประกอบด้วย ETRAN KRAF สำหรับทำตลาดกลุ่มผู้ใช้รถมอเตอร์ไซด์ทั่วไป และ ETRAN MYRA สำหรับกลุ่มไรเดอร์เดลิเวอรี่ รวมทั้งจะมีการขยายเครือข่ายสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ หรือ ETRAN Power Station จำนวน 100 สถานี ในเขตกรุงเทพฯ ภายใน 3 ปี เพื่อรองรับผู้ใช้งานกลุ่มไรเดอร์

ETRAN KRAF Limited Edition เปิดตัวไปก่อนหน้าในช่วงปี 2562

●   นอกจากนี้ อีทรานจะนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ทันยุคสมัย อาทิ มอเตอร์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่แพคสมรรถนะสูง, เทคโนโลยีชุดระบบความปลอดภัย และเทคโนโลยีการผลิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

●   อีทรานวางเป้าหมายยอดขายเอาไว้ที่ 50% ของตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าภายในปี 2568 หรือคิดเป็นยอดขายกว่า 100,000 คัน และอีทรานยังวางเป้าหมายในการเปลี่ยนวงการรถมอเตอร์ไซค์สู่พลังงานสะอาด ด้วยการสร้างประสบการณ์ให้ผู้ขี่มอเตอร์ไซค์ตระหนักว่า พวกเขามีส่วนช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อมและสังคมได้ด้วยการขี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ซึ่งลดการสร้างมลพิษทางอากาศ และมลพิษเสียง

นายสรณัญช์ ชูฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด

●   นายสรณัญช์ ชูฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของอีทรานถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด Drive The Better World ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย (1) Clean : พัฒนาอีโคซิสเต็มส์ของมอเตอร์ไซค์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ (2) Efficient : พัฒนามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ และใช้งานได้ทุกรูปแบบ และ (3) Equitable : ส่งเสริมความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของอีทรานต้องเข้าถึงได้ง่าย, ประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้ผู้ใช้งาน

●   ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ETRAN PROM รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ออกแบบเพื่อการขนส่ง สาธารณะ ได้รับรางวัล reddot winner 2020 innovative product จาก Red Dot Design Award ประเภทผลิตภัณฑ์นวัตกรรมยอดเยี่ยม และได้การสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การลดต้นทุน และสร้างมาตรฐานของรถไฟฟ้าสัญชาติไทยให้สามารถแข่งขันในประเทศได้

เตรียมทำตลาด 2 รุ่นใหม่

●   สำหรับ ETRAN KRAF อีทรานได้เปิดตัวรุ่น Limited Edition ไปก่อนหน้าเมื่อปี 2562 ปัจจุบันกำลังพัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยบนท้องถนน และเพิ่มอรรถรสในการขี่เพิ่มเติม โดยจะมีการพัฒนาขั้นตอนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ซึ่งอีทรานคาดว่าจะส่งมอบรถรุ่นนี้ได้ในช่วงปลายปี 2564

●   และในปีนี้ อีทรานจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่ ETRAN MYRA เพื่อทำตลาดกลุ่มขนส่ง รถรุ่นนี้ออกแบบมาเพื่อการขนส่งโดยเฉพาะ สามารถวิ่งทำระยะทางได้ประมาณ 180 กม. ต่อการเปลี่ยนแบตเตอรี่ 1 ครั้ง ทำความเร็วสูงสุดได้ 120 กม./ชม.

●   ตัวรถรองรับการติดตั้งอุปกรณ์พิเศษที่หลากหลาย เช่น กล่องขนส่ง, ตู้เย็น, อุปกรณ์ติดตาม และระบบบริหารจัดการเครือข่ายขนส่งขนาดใหญ่ และรองรับการใช้งานระบบ เปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ ETRAN Power Station ซึ่งอีทรานวางแผนจะติดตั้งทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล 100 จุด พร้อมตั้งเป้าเติบโตคู่กับภาคการขนส่ง Last mile delivery กว่า 10,000 คัน ภายในปี 2567

●   ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2565 อีทรานตั้งเป้ารายได้เอาไว้ที่ประมาณ 400 – 500 ล้านบาท และในปี 2566 คาดว่ารายได้จะเติบโตแบบก้าวกระโดดไปแตะที่ 1,000 ล้านบาทได้

นายอาร์ชวัส เจริญศิลป์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด

●   นายอาร์ชวัส เจริญศิลป์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังมีความพยายามพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) กับภาคนโยบาย (Policy) เพื่อผลักดัน EV ในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ยังผลให้ตลาด EV ในประเทศมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่:

●   1. ภาครัฐ : เดินหน้านโยบายจริงจังผ่าน คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) วางเป้าหมายผลักดันประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ของภูมิภาคอาเซียน (EV Hub) พร้อมทั้งวางเป้าหมายสนับสนุนให้มีการใช้รถมอเตอร์ไซค์ EV ในประเทศจำนวน 1,800,000 คัน ภายใน 3 ปี

●   2. ภาคผู้ผลิต : เริ่มมีรถ EV ในแผนการพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ เพื่อทำการตลาดในประเทศ มากขึ้น ซึ่งอีทรานเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่พร้อมจะร่วมเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็น EV Hub อย่างเต็มรูปแบบ

●   3. ภาคผู้บริโภค : เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้นประกอบกับเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภค มีความมั่นใจต่อศักยภาพของรถ EV และประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้รถ EV ในภาพรวม

ปรับองค์กรรับความเปลี่ยนแปลง

●   สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อโอกาสใหม่ๆ จากแนวโน้มตลาด EV ที่จะเติบโตขึ้น อีทรานได้วางแผนปรับองค์กรจากสตาร์ทอัพ เป็นองค์กรธุรกิจเต็มรูปแบบ โดยมีการวางแผนพัฒนาองค์กร และสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืน ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการการเงิน, การตลาด, การสร้างแบรนด์ และการสร้างวัฒนธรรมองค์กร โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต

●   อีทรานระบุว่า พวกเขามีเป้าหมายที่ใหญ่กว่าการเป็นเพียงผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า นั่นคือการเป็นผู้นำให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ สู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ, สังคม และสิ่งแวดล้อม

●   ด้านการบริหาร อีทรานได้เปิดตัว 3 คณะกรรมการบริหาร (Board of Directors) เพิ่มเติม ประกอบด้วย:

●   (1) นายศิโรตม์ เสตะพันธุ : ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Managing Partner บริษัท เอ็กซ์ฟอร์แม็ท จำกัด มีประสบการณ์ด้านการเงินและการลงทุนมากกว่า 25 ปี เคยดำรงตำแหน่งในกระทรวงการคลัง และ บริษัท เจพีมอร์แกน

●   (2) นายฐิติ ตวงสิทธิตานนท์ : ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท Dole Packaged Foods มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาธุรกิจและการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ มากกว่า 20 ปี เคยดำรงตำแหน่งใน Coca-Cola, Mars, และ Royal Canin

●   (3) นายธันวา มหิทธิวาณิชชา : ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Partner บริษัท แกรนท์ ธอนตัน จำกัด มีประสบการณ์เกี่ยวกับกฎหมายและมาตรการภาษีมากกว่า 15 ปี เคยดำรงตำแหน่งใน บริษัท PricewaterhouseCoopers

นายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน)

●   นายชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติเข้าทำรายการซื้อหุ้นสามัญในบริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 157,500 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 100 บาท ในราคา 382.22 บาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 35% ของทุนจดทะเบียนของอีทราน ด้วยมูลค่ารวม 60.20 ล้านบาท ซึ่งจะชำระค่าหุ้นสามัญของ ETRAN โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทในลักษณะ การเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) แทนการชำระด้วยเงินสด จำนวนไม่เกิน 31.5 ล้านหุ้น มีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ในราคาเสนอขายหุ้นละ 2.72 บาท คิดเป็นมูลค่า 60.20 ล้านบาท (Share Swap) โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนหุ้นเท่ากับ 1 หุ้นใหม่ของ อีทราน ต่อ 140.52 หุ้น ใหม่ของบริษัท

●   ทั้งนี้ การเข้าลงทุนในอีทรานสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯ ในการมองหาธุรกิจที่มีศักยภาพ ในการเติบโตเพื่อสร้าง New S-curve ซึ่งเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการ Growth Cycle ซึ่งการร่วมลงทุนครั้งนี้ จะทำให้บริษัทฯ มีธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น เป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจและต่อยอดจากธุรกิจเดิม อีกทั้งจะช่วยสนับสนุนให้ผลดำเนินการของบริษัทฯ เติบโตอย่างต่อเนื่องและก้าวกระโดด ได้ในอนาคต โดยคาดว่าอีทรานจะสามารถสร้างรายได้และผลกำไรได้ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

●   สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเชิญได้ที่เว็บไซท์ ETRAN Group : www.etrangroup.com โทร. +66-96-962-6562 หรือแฟนเพจ facebook.com/ETRANgroup   ●

เกี่ยวกับ บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด

●   อีทราน (ไทยแลนด์) สตาร์ทอัพผู้พัฒนายานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด ภายใต้แบรนด์ ETRAN ผู้มีแนวคิด วิสัยทัศน์ และมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าที่สะอาด สร้างสรรค์ ประสบการณ์ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยกระดับความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพยสิน ของผู้ใช้ถนน โดยมียานยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวเชื่อมจังหวะชีวิตเข้าด้วยกัน ลดความเหลื่อมล้ำ ในสังคมด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ เพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้แก่สังคมไทย พร้อมกระจายองค์ความรู้ สร้างโอกาสเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการเริ่มต้น Ecosystem ของยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อน โลกที่ดีกว่า ตามแนวคิด Drive The Better World

●   ด้วยปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างฉับพลัน (Climate change) ทำให้ปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับภาวะโลกร้อน อันเกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ไม่ว่าจะเป็น รถส่วนบุคคล รถขนส่งสาธารณะ หรือรถมอเตอร์ไซค์ ล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกออกสู่สิ่งแวดล้อม คิดเป็น 14% ของจำนวนก๊าซเรือนกระจกโลก อีกทั้งเชื้อเพลิงน้ำมัน ในตลาดที่มีราคาที่ไม่แน่นอน และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างชัดเจนในอนาคต ทั้งยังก่อให้เกิดมลภาวะ ทางเสียงจากเครื่องยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมการประกอบและผลิต ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ยังมีช่องว่างในการเปลี่ยนแปลง และเติบโตเข้าสู่อุตสาหกรรมสะอาด รองรับ นโยบายประเทศไทยที่จะก้าวเป็น EV Hub ในอนาคต

●   ในปี 2564 นี้ อีทรานมีแผนนำรถรุ่น ETRAN MYRA ออกสู่ตลาด รองรับธุรกิจขนส่งที่เติบโต อย่างชัดเจน เพื่อช่วยลดต้นทุนการประกอบอาชีพของคนไทย ให้เหลือกำไรมากยิ่งขึ้น จากการลด ค่าใช้จ่ายทางพลังงาน ลดภาระการซ่อมแซมยานพาหนะ ด้วยโมเดลธุรกิจให้เช่า ลดมลพิษทั้งทาง อากาศและทางเสียงทั่วประเทศไทยเพื่อสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า พร้อม เปิดตัว ETRAN Power Station ที่เป็นจุดเปลี่ยนแบตเตอรี่ตลอด 24 ชั่วโมง รองรับการให้บริการ ในภาคขนส่งทุกรูปแบบ    ●