May 21, 2021
Motortrivia Team (10076 articles)

MOVE (มจธ.) ระบุปี 2035 รถส่วนใหญ่ในประเทศไทย อาจเปลี่ยนเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

ประชาสัมพันธ์

●   เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ศูนย์วิจัย MOVE มจธ. นำโดย รศ. ดร. ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนและหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมเสวนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ ZEV@35 ยานยนต์ไฟฟ้า 100% ปี ค.ศ. 2035 จุดเปลี่ยนสำคัญ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งจัดโดย สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย เเละบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ จำกัด

กราฟสัดส่วนการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ในต่างประเทศ ระหว่างปี ค.ศ. 2019 – ค.ศ. 2020 เเละ การคาดการณ์ยานยนต์ไฟฟ้าสะสม ตั้งเเต่ปี ค.ศ. 2020 – ค.ศ. 2030

●   ระหว่างการเสวนา รศ. ดร. ยศพงษ์ ลออนวล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็น ยานยนต์ไฟฟ้าโลก (Global Electric Mobility) ช่วงปี ค.ศ. 2019 เเละ ค.ศ. 2020 ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า จำนวนการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในเเถบ ยุโรป ตัวอย่างเช่น นอร์เวย์ ไอซ์เเลนด์ เเละสวีเดน จำนวนยานยนต์จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งจากนโยบายการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในเเต่ละประเทศ ที่ช่วยกระตุ้นการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าของประชาชน

●   ทางทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA ) คาดการณ์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ตามที่หลายประเทศประกาศนโยบายไว้ (Stated Policies Scenario) ว่าภายในปี ค.ศ. 2030 จะมีเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 140 ล้านคัน จากใน ปี ค.ศ. 2020 ที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคันทั่วโลก

คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าเเห่งชาติ เสนอ วิสัยทัศน์ ตั้งเป้าไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เเละชิ้นส่วนยานยนต์

●   ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าเเห่งชาติ ได้เสนอ วิสัยทัศน์ ให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เเละชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ด้วยปัจจัยการขับเคลื่อนหลักคือ การลดมลพิษทางอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เเละการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่

●   นอกจากนี้ทางคณะกรรมการยังได้เสนอให้ ตั้งเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2035 ให้ยานยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ภายในประเทศ เป็นยานยนต์ไร้มลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) ในสัดส่วน 100% โดยเร่งผลักดันมาตรการการผลิตยานยนต์ภายในประเทศเป็น ZEV ในสัดส่วน 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยปัจจุบันยานยนต์ ZEV ในประเทศเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเเบตเตอรี่ หรือ Battery Electric Vehicle (BEV) ทั้งหมด ถึงเเม้ในปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2020) การจดทะเบียนใหม่เป็น BEV มีจำนวน 2,999 คัน คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 1 % เทียบกับยานยนต์จดทะเบียนใหม่ทั้งหมด เเต่มีการเติบโตสูงขึ้นมากกว่า 90 % เมื่อเทียบกับในปี ค.ศ. 2019

ความคิดเห็นของประชาชนต่อเรื่อง ประเทศไทย ยกเลิกขายยานยนต์เครื่องยนต์ ภายในปี 2035 ที่มา เก็บข้อมูลแบบปฐมภูมิจากความคิดเห็นใต้คอมเม้นท์โพสต์เฟซบุ๊กจาก 6 เพจ ได้แก่ KMUTT MOVE: Mobility & Vehicle Technology Research Center, iPhoneMod.net, Tesla Club Thailand, EVAT (สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย), EV Club Thailand Group และ Drama-addict

●   รศ. ดร. ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย MOVE มจธ. ให้ข้อมูลว่า “จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนบนโซเชียลมีเดีย facebook.com/kmuttmove โดยศูนย์วิจัย MOVE มจธ. ต่อเรื่องประเทศไทยจะยกเลิกขายยานยนต์เครื่องยนต์ ภายในปี ค.ศ. 2035 พบว่า 31% ให้ความเห็นเรื่องช่วงเวลาการยกเลิก เเละคิดว่าช่วงเวลาปี ค.ศ. 2035 ช้าเกินไป”

●   “โดยส่วนตัวผมคิดว่า หากมีมาตรการที่กระตุ้นทั้งผู้ซื้อ เเละผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างชัดเจน ก็อาจจะทำให้ประเทศไทยมีผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่นเดียวกับเเนวโน้มการใช้ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในขณะนี้”

●   นอกจากภาคประชาชนจะเริ่มตื่นตัว ในเรื่องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเเล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในสังคมที่จะนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน กล่าวคือภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญมากเนื่องจากเป็นผู้กำหนดนโยบาย แก้ไขกฎระเบียบ และ ภาครัฐสามารถร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ รวมทั้งการริเริ่มโครงการต่างๆ หรือทำให้เกิดธุรกิจใหม่ (Start up) ส่วนภาควิชาการจะมีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรของประเทศ ภาคเอกชน จะมีบทบาทในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้งานได้จริง โดยมีราคาที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานที่เหมาะสม รวมทั้งการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย ที่ต้องเริ่มเเสวงหาโอกาสในอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น

●   และสุดท้ายสำคัญที่สุดคือ ภาคประชาชนนั้นเอง จะต้องร่วมมือกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป   ●

เกี่ยวกับศูนย์วิจัย MOVE มจธ.

●   ศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center หรือ MOVE มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2020 โดยมี รศ.ดร. ยศพงษ์ ลออนวล เป็นหัวหน้าศูนย์วิจัย มีวิสัยทัศน์ในการก้าวเป็นผู้นำด้านยานยนต์สมัยใหม่ที่ยั่งยืนผ่านการวิจัย นวัตกรรม และการศึกษา โดยมีพันธกิจเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านยานยนต์สมัยใหม่บนพื้นฐานแนวคิด CASE (Connected, Autonomous,Shared และ Electrified) พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ซึ่งเป็นการยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ โดยทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายมีบุคลากรจากหน่วยงานทั้งภายใน และภายนอกมหาวิทยาลัยฯ และมีแผนพัฒนาและสร้างห้องปฏิบัติการวิจัยที่ทันสมัยเพื่อรองรับการทดสอบและวิจัยด้านยานยนต์สมัยใหม่   ●