November 22, 2021
Motortrivia Team (10170 articles)

Toyota Camry 2.5 SPORT ขับสนุก นั่งสบาย ได้ความหรูหรา

เรื่อง – ภาพ – วีดิโอ : นาธัส แสงสุริยะ

●   โตโยต้า ปรับโฉมรถยนต์นั่งในกลุ่ม D-Segment พร้อมจัดเรียงรุ่นย่อยใหม่ ในรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน แทนที่รุ่น 2.0 เดิมด้วยรุ่นใหม่ 2.5 ซึ่งแบ่งเป็น 2 รุ่นย่อย รุ่นเริ่มต้น 2.5 SPORT ราคา 1,475,000 บาท และถ้าเพิ่มเงิน 124,000 บาท จะได้รุ่น Premium ราคา 1,599,000 บาท ความแตกต่างหลักๆ อยู่ที่ขนาดล้อและยาง ภายในเพิ่มซันรูฟ Paddle Shift มีโหมดการขับให้เลือก และมีชุดระบบช่วยเหลือการขับและระบบความปลอดภัยเพิ่มเติม

●   ทีมงานมอเตอร์ทริเวีย ลองขับรุ่น 2.5 SPORT เพราะอยากรู้ว่ารถรุ่นเริ่มต้นในกลุ่ม D-Segment ที่ราคาแพงกว่ารถรุ่นท๊อปในกลุ่ม C-Segment ประมาณ 2 แสนกว่าบาท ในส่วนของอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ จะเพียงพอต่อการใช้งานทั่วไปหรือไม่ มีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร คุ้มหรือไม่ที่จะอัพเกรดมาใช้รถในกลุ่มนี้

เส้นสายโฉบเฉี่ยวสไตล์สปอร์ต

●   คัมรี่โฉมนี้มีการออกแบบที่ดูสปอร์ตอยู่แล้ว ทั้งเส้นสายหลักที่แบนกว้างลาดต่ำ เสริมด้วยการตกแต่งด้วยเส้นตัวถังที่เฉียบคม หน้าดุด้วยโคมไฟหน้า LED ทรงเฉียง รับกับเส้นบนฝากระโปรงหน้าที่วิ่งมารวมกันบริเวณโลโก้ กันชนหน้าทรงสปอร์ตติดตั้งไฟตัดหมอก LED

●   ด้านข้างจะเห็นได้ว่ามีเส้นสายที่ดูแล้วให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวมีพลัง โดยเฉพาะบริเวณโป่งล้อหลัง ซึ่งเป็นจุดบรรจบของเส้นตัวถังด้านข้าง มีเส้นที่ลากจากเสาหลังต่อเนื่องไปบนฝากระโปรงท้ายที่ยกสันเป็นสปอยเลอร์ในตัว ทำให้รถดูแข็งแรงมีพลัง แต่ในเมื่อเป็นรุ่นเริ่มต้นก็ต้องทำใจ เพราะให้ล้อแม็กลวดลายเบสิกขนาด 17 นิ้ว พร้อมยางคุณภาพดีขนาด 215/55 R17 (รุ่น 2.5 Premium ให้ยาง 235/45 R18)

●   ด้านหลังให้มุมมองที่หนักแน่นมั่นคงด้วยชุดโคม LED ทรงแบนยาว กันชนท้ายทรงเรียบแต่ไม่ธรรมดาด้วยปลายท่อไอเสียโครเมียมแยกออกซ้าย-ขวา ด้านหลังโล่งๆ มีเพียงโลโก้แบรนด์และชื่อรุ่นหลัก คันที่ทดลองขับเป็นสีใหม่ Metal Stream Metallic ออกโทนสีเหล็กหรือโลหะแวววาว เมื่อมีแสงกระทบในมุมเหมาะ จะเห็นลายเส้นบนตัวถังได้อย่างชัดเจน

●   รูปลักษณ์ภายนอกโดยรวมดูเพรียวสปอร์ต ทั้งที่ตัวรถค่อนข้างกว้างและยาว ให้ความสปอร์ตด้วยแนวเส้นที่ลาดต่ำ และการตกแต่งด้วยเส้นตัวถังที่เฉียบคม มิติตัวรถมีความยาว 4,885 มิลลิเมตร กว้าง 1,840 มิลลิเมตร สูง 1,445 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,825 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 140 มิลลิเมตร

โดดเด่นเรื่องความกว้าง อุปกรณ์มาตรฐานไม่ขาดแคลน

●   เมื่อขยับเป็นรถในกลุ่ม D-Segment จะสัมผัสได้ถึงความกว้างขวางในห้องโดยสาร โดยเฉพาะด้านหลังที่แทบไม่ต้องขยับเลื่อนเบาะหน้าช่วย พื้นที่ว่างจะหลวมๆ ขึ้นทั้งที่วางขา หัวไหล่ และเหนือศีรษะ ใช้เป็นรถครอบครัวขนาดเล็กก็ได้ หรือจะเป็นรถประจำตำแหน่งก็นั่งสบาย เพราะฐานล้อยาวนอกจากให้ผลดีด้านความกว้างขวางแล้ว ยังทำให้รถนิ่งและนุ่มนวลขึ้นด้วย

●   เรื่องอุปกรณ์มาตรฐานรุ่นเริ่มต้นของรถ D-Segment ย่อมน้อยกว่ารุ่นท๊อปในกลุ่ม C-Segmemt เพราะต้องเฉลี่ยต้นทุนไปกับส่วนอื่นของรถ แต่เท่าที่ใช้งานก็ไม่รู้สึกว่าขาดแคลนหรือขาดความสะดวกสบาย เพราะอุปกรณ์อำนวยความสะดวกหลักๆ ที่ใช้งานบ่อยก็มีให้ครบ อย่างเช่น ระบบ Smart Entry และ Push Start เบาะคู่หน้าปรับไฟฟ้า ไฟหน้าและที่ปัดน้ำฝนอัตโนมัติ แอร์อัตโนมัติแบบแยกส่วนพร้อมช่องแอร์ด้านหลัง ไวร์เลสชาร์จเจอร์ เบรกมือไฟฟ้าและ Auto Hold จะติก็ตรงหน้าจอที่คอนโซลกลางที่ดูธรรมดาไปนิด แสดงภาพจากกล้องมองหลังพร้อมเส้นกะระยะได้ชัดเจนพอสมควร อีกอย่างที่ขอติคือ สีของการตกแต่งภายในที่ดูไม่สปอร์ตสมชื่อเท่าไร

●   ความกว้างขวางและหรูหราเป็นสิ่งที่สัมผัสได้อย่างชัดเจนว่าแตกต่างจากรถ C-Segment ส่วนจากการออกแบบตกแต่ง คุณภาพของวัสดุ และฟิลลิ่งเมื่อใช้งานปุ่มหรือสวิตช์ระบบต่างๆ ก็มีความหนักแน่นนุ่มนวลรู้สึกถึงความมีราคา ขับแล้วรู้สึกถึงความนุ่มนวลหนักแน่นมั่นคง นั่งก็สบายด้วยความกว้างขวาง ส่วนเรื่องการเก็บเสียงยังข้องใจ เพราะขับด้วยความเร็วประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะได้ยินเสียงแผ่วๆ เหมือนลมซึมเข้าแถวเสา A หรือกระจกมองข้าง

●   เบาะหลังเหมาะมากสำหรับการนั่ง เพราะกว้างขวางสบายสุดๆ ทั้งพื้นที่วางขาและเหนือศีรษะสำหรับผู้โดยสารที่มีความสูงประมาณ 170 เซนติเมตร พนักพิงเบาะหลังแบบตายตัวแยกพับไม่ได้ ปรับองศาพนักพิงมาพอเหมาะ มีช่องแอร์และช่องจ่ายไฟฟ้าแบบ USB มีที่เท้าแขนขนาดใหญ่หนานุ่มพร้อมที่วางแก้วน้ำแบบมีฝาปิด เสียตรงที่ไม่มีที่ดึง ต้องสอดมือเข้าไปตรงช่องว่างเพื่อดึงที่เท้าแขนลงมา มีช่องเล็กๆ ทะลุไปที่เก็บของด้านหลังได้ กระจกข้างด้านหลังทั้ง 2 ฝั่ง มีม่านบังแดด ส่วนกระจกหลังมีม่านบังแดดไฟฟ้า สั่งเปิด-ปิดยากหน่อยเพราะต้องเข้าเมนูในชุดมาตรวัด เวลาเข้าเกียร์ถอยหลังม่านจะเลื่อนลงอัตโนมัติ และเลื่อนปิดกลับเมื่อออกจากเกียร์ถอยหลัง

ตอบสนองทันใจ นุ่มนวล และประหยัด

●   เป็นเรื่องน่ายินดีที่โตโยต้าใช้เครื่องยนต์ใหญ่ขึ้นเป็น 2.5 ลิตร เพราะในรุ่นเดิมเครื่องยนต์ 2.0 จะเอนเอียงไปทางความประหยัดมากไปนิด ทำให้การตอบสนองด้านอัตราเร่งถูกลดทอนลงไป สำหรับรุ่นใหม่ใช้เครื่องยนต์ 2.5 ลิตร ที่เซตมาให้มีสัดส่วนของความประหยัดและสมรรถนะที่เหมาะสมลงตัวมากขึ้น น่าจะสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายรถรุ่นนี้

●   คัมรี่ 2.5 SPORT ใช้เครื่องยนต์รหัส A25A-FKB เบนซิน 4 สูบ DOHC VVT-iE16 วาล์ว D-4S ความจุ 2,487 ซีซี อัตราส่วนการอัด 13.0:1 กำลังสูงสุด 209 แรงม้า (PS) ที่ 6,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตัน-เมตร ที่ 5,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ รองรับแก๊สโซฮอล์ได้สูงสุดถึง E85 ถังน้ำมันจุ 60 ลิตร

●   ความรู้สึกแรกหลักจากได้ขับคือ ความนุ่มนวล ไม่มีปัญหาเรื่องความสั่นสะเทือนที่เกิดจากเครื่องยนต์สูบน้อยแต่ความจุค่อนข้างสูง แม้แรงม้าแรงบิดสูงสุดอยู่ในรอบค่อนข้างสูง แต่ขับในเมืองใช้รอบต่ำก็ตอบสนองได้ทันใจพอสมควร ที่ชอบใจอีกอย่างก็คือ เกียร์อัตโนมัติแบบฟันเฟือง 8 จังหวะ ให้ความรู้สึกที่เคยชิน แม้เกียร์ซีวีทียุคใหม่จะให้การตอบสนองที่ขึ้นมากแล้ว แต่ถ้าเลือกได้ก็ขอเลือกเกียร์แบบฟันเฟือง

●   สำหรับเกียร์รุ่นนี้มีโอเวอร์ไดรฟ์หรืออัตราทดต่ำกว่า 1.000 ที่เกียร์ 7 และ 8 ใช้ความเร็วตามกฎหมายรอบเครื่องยนต์จะป้วนเปี้ยนแถว 1,600 รอบต่อนาทีเท่านั้น ไม่แปลกใจที่เคลมตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยไว้ค่อนข้างสูงที่ 15.6 กิโลเมตรต่อลิตร แต่เท่าที่ลองขับจริงยังทำได้ประหยัดกว่าอีกพอสมควร

●   ขับเดินทางไกลไปถ่ายรูปด้วยความเร็วตามกฎหมาย 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีบางช่วงตัวเลขบนหน้าปัดขึ้นไปถึง 22 กิโลเมตรต่อลิตร แต่เมื่อถึงช่วงทางชันและขึ้นเขาต่อเนื่อง อัตราสิ้นเปลืองก็ลดลงตามลำดับ ถึงจุดถ่ายรูปด้วยระยะทาง 217 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 2.44 ชั่วโมง ความเร็วเฉลี่ย 78 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 18.4 กิโลเมตรต่อลิตร

●   ตลอดการขับสังเกตว่าเกียร์คิ๊กดาวน์ค่อนข้างบ่อย การไล่รอบสูงขึ้นในเกียร์เดิมทำได้ยาก น่าจะเพราะบุคคลิกของเครื่องยนต์ที่แรงม้าแรงบิดสูงสุดอยู่ในรอบสูง และอยู่ในรอบใกล้เคียงกัน คือ 6,600 กับ 5,000 รอบต่อนาที ข้อดีของเครื่องยนต์สไตล์นี้คือ ยิ่งลากรอบสูงยิ่งขับสนุก ถ้ายอมลดความสนุกลงบ้าง ก็จะได้ตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองอย่างที่เห็น แต่ถ้าเป็นคนเท้าหนักชอบขับรถเร็ว บอกได้เลยว่ายากจะห้ามใจ เพราะแม้เครื่องยนต์จะมีช่วงชักยาวถึง 103 มิลลิเมตร แต่ก็ไล่ขึ้นรอบสูงได้อย่างรวดเร็ว รอบตวัดขึ้นได้ง่ายๆ เสียงเครื่องยนต์กระหึ่มแน่น รถพุ่งได้อย่างทันใจ รู้สึกเหมือนรถเบากว่าตอนขับช้าๆ หรือรอบต่ำ เรียกว่าเปลี่ยนบุคลิกของรถไปเลย

●   เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ ที่ดูจะเน้นความนุ่มนวลเป็นหลัก กลับตอบสนองได้อย่างกระชับและฉับไวเมื่อเครื่องยนต์อยู่ในรอบสูง เร่งได้ต่อเนื่องทันใจ ขับสนุกจนนึกเสียดายที่น่าจะมี Paddle Shift มาให้ด้วย ส่วนตำแหน่ง +/- ของคันเกียร์ก็วางไว้สลับกับความรู้สึกคือ – ควรจะผลักออก และ + ควรจะดึงเข้าหาตัว อย่างไรก็ตามเกียร์ชุดนี้ก็ฉลาดพอสวมควร ถ้าลากรอบสูงหรือกระแทกคันเร่งเพื่อคิ๊กดาวน์บ่อยๆ เกียร์จะเรียนรู้และคาเกียร์ต่ำไว้ให้อีกนิดแม้ผ่อนคันเร่งแล้ว ไม่เปลี่ยนขึ้นเกียร์สูงทันทีที่ผ่อนคันเร่ง

●   โดยรวมเป็นเครื่องยนต์สูบน้อยช่วงชักยาวที่รอบจัดตวัดเร็วขับสนุก แรงม้าแรงบิดมาในรอบใกล้เคียงกันยิ่งลากยิ่งมัน สุ้มเสียงหนักแน่นดุดันพอสมควรสำหรับรถบ้าน อัตราทดเกียร์ท้ายๆ ค่อนข้างต่ำ ทำให้ขับเดินทางไกลแล้วประหยัดเพราะใช้รอบต่ำมาก แต่ถึงเวลาต้องการใช้รอบกระแทกคันเร่งคิ๊กดาวน์ เกียร์ก็ไล่ลงต่ำได้เร็ว รอบตวัดสูงพร้อมเร่งแซง ส่วนการขับความเร็วกลางๆ แล้วอยากจะเพิ่มความเร็วขึ้นเล็กน้อยอาจรู้สึกว่าเกียร์เปลี่ยนเร็วไปนิด

●   ขับรถไปคืนที่โตโยต้าแถวบางนาในช่วงเช้ามืด ช่วงถนนโล่งลองกดคันเร่งลากยาวๆ ไปแตะ 140-150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถึงปลายทางกดดู Trip Summary ระยะทาง 34.8 กิโลเมตร ใช้เวลา 33 นาที อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 16.2 กิโลเมตรต่อลิตร ใช้ในเมืองรถติดๆ ก็ไม่น่ากินน้ำมันดุเดือดเท่าไร เพราะสังเกตว่าขับไปถึงจุดถ่ายรูปแล้วจอดนิ่งติดเครื่องยนต์เปิดแอร์ไว้เกือบชั่วโมง อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยก็ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ได้ลงแบบฮวบฮาบ

ฟิลลิ่งแบบรถใหญ่ ไม่ว่องไวแต่หนักแน่น

●   ระบบกันสะเทือนอิสระพร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหน้าแม็กเฟอร์สันสตรัต ด้านหลังปีกนก 2 ชั้น พวงมาลัยแร็กแอนด์พิเนียนพร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า ระบบเบรกดิสก์ 4 ล้อ พร้อมครีบระบายความร้อน รถคันใหญ่ฐานล้อยาว ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,590/1,615 มิลลิเมตร ให้ความนุ่มนวล นิ่ง และมั่นคง แก้มยางหนาๆ ช่วยซับความสั่นสะเทือนไปอีกแรง ถ้าได้ยางเบอร์เดียวกับรุ่น 2.5 Premium ก็น่าจะได้การยึดเกาะถนนเพิ่มขึ้น กับความนุ่มนวลที่น้อยลง

●   ความรู้สึกของช่วงล่างเมื่อใช้ในเมืองจะให้ความนุ่มนวล ซับแรงสะเทือนได้ดี ฐานล้อยาวทำให้ไม่ค่อยมีอาการกระโดกกระเดก ขับทางไกลให้ความนิ่งมั่นคง ขับได้อย่างผ่อนคลายแม้จะใช้ความเร็วค่อนข้างสูงก็ยังรู้สึกไม่เร็วมาก ยังสามารถควบคุมรถได้ และรถยังมีความสามารถเหลือเฟือเมื่อต้องหลบหลีกฉุกเฉิน ฟิลลิ่งของช่วงล่างเมื่อขับทางไกลหรือใช้ความเร็วสูงต่อเนื่อง น่าจะเป็นจุดที่เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับรถในกลุ่มรองลงไป

●   ระบบเบรกดิสก์ 4 ล้อ รู้สึกว่าจะขยันทำงานมากไปนิดที่ความเร็วต่ำ ยกตัวอย่างเช่นการเลียเบรกเพื่อเข้า-ออกจากที่จอดรถ เมื่อแตะเบรกรถแทบจะหยุดนิ่งทันที ต้องปรับตัวกันพักใหญ่กว่าจะเบรกได้นุ่มนวลที่ความเร็วต่ำ

●   ส่วนการขับใช้งานบนถนน เบรกเพื่อติดไฟแดงหรือขับไหลๆ ตามกันเมื่อรถติด กลับรู้สึกว่าควบคุมแรงเบรกได้ง่ายกว่า ลองเหยียบเบรกแบบเน้นๆ คล้ายเบรกในสถานการณ์ฉุกเฉินแต่ไม่ถึงกับกระทืบเบรก รู้สึกว่าระบบสร้างแรงเบรกได้หนักแน่นดี ไม่มีอาการเบรกไหลเบรกทื่อให้หวาดเสียว

●   พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าไม่เบาหวิว มีน้ำหนักกำลังพอดี ให้การควบคุมที่คล่องและเป็นธรรมชาติ ความเฉียบคมว่องไว เป็นไปตามขนาดรถคือ ไม่ได้คล่องตัวมาก แต่ก็ไม่ถึงกับเชื่องช้า ออกแนวหนักแน่นมั่นคงมากกว่า

●   โตโยต้า คัมรี่ 2.5 SPORT รุ่นเริ่มต้นของรถในกลุ่ม D-Segment เด่นในเรื่องความมั่นคงหนักแน่นและความกว้างขวาง ซึ่งเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของรถในกลุ่มนี้อยู่แล้ว ส่วนภาพลักษณ์ความหรูหราก็มาจากราคาที่ค่อนข้างสูง อุปกรณ์มาตรฐานทั้งเพื่อความสะดวกสบายและความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไป ราคาขยับจากรุ่นท๊อป C-Segment ประมาณ 2 แสนกว่าบาท เหมาะสำหรับคนที่ไม่เน้นลูกเล่นมากนัก อยากได้รถขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อใช้งานแบบครอบครัวหรือขับทางไกลบ่อย ภาพลักษณ์ดี มีความปลอดภัย และรับได้กับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่สูงขึ้นเล็กน้อย ทั้งค่าประกัน ภาษี และค่าเข้าศูนย์บริการ เป็นทางเลือกที่น่าสนใจถ้าคิดว่าได้ใช้คุณสมบัติที่เพิ่มเติมขึ้นมาได้อย่างคุ้มค่า    ●

ขอบคุณ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

Test Drive : Toyota Camry 2.5 SPORT