Triumph TE-1 เผยโฉมโปรโตไทป์ พร้อมเริ่มทดสอบใช้งานจริง
ประชาสัมพันธ์
● ความร่วมมือสุดพิเศษระหว่าง ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ บริษัท Williams Advanced Engineering บริษัท Integral Powertrain และศูนย์ WMG มหาวิทยาลัยวอร์ริค ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานเพื่อยานพาหนะปลอดการปล่อยมลพิษ (OZEV) ผ่าน Innovate UK โดยความร่วมมืออันยอดเยี่ยมนี้เพื่อมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีวิศวกรรมจักรยานยนต์ไฟฟ้าเฉพาะทาง และการออกแบบทางเทคโนโลยีที่มีการบูรณาการเชิงนวัตกรรม
● ขณะนี้เฟสที่ 3 ของโปรเจค TE-1 ก็เสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว หลังจากที่พัฒนาโปรโตไทป์ตัวสาธิตเวอร์ชันสุดท้าย ซึ่งเป็นการผสมผสานนวัตกรรมใหม่ล่าสุดเป็นครั้งแรก และนวัตกรรมเวอร์ชันสุดท้ายที่มาจากพันธมิตรต่างๆ ในโปรเจคความร่วมมือนี้ ดังนี้
● ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์: โครงรถเวอร์ชันสุดท้าย ที่รวมถึงเฟรม และซับเฟรมท้าย ค็อกพิท แผงข้างและล้อ รวมไปถึงระบบขับเคลื่อนประกอบไปด้วย ระบบส่งกำลังและระบบขับเคลื่อนด้วยสายพานแบบ Gates Carbon ระบบอิเล็กทรอนิกส์ โช้คหน้าหัวกลับจาก Öhlins และระบบกันสะเทือนหลังสำหรับรุ่นโปรโตไทป์จาก คาลิปเปอร์ Brembo M50 และซอฟต์แวร์ควบคุมจากไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์
● บริษัท Williams Advanced Engineering: ชุดแบตเตอรี่ WAE เวอร์ชันสุดท้าย จะมีการใช้เซลล์ที่มีแพ็คเกจเฉพาะ เพื่อให้จุดศูนย์ถ่วงนั้นเหมาะสมที่สุด ยูนิตควบคุมยานพาหนะ ตัวแปลง DCDC ระบบระบายความร้อนในตัว พอร์ตชาร์จไฟ และฝาครอบคาร์บอน
● บริษัท Integral Powertrain: ระบบส่งกำลังเวอร์ชันสุดท้าย ซึ่งมาพร้อมกับอินเวอร์เตอร์ในตัวที่สามารถปรับสเกลได้ อีกทั้งยังรวมมอเตอร์เข้ากับเทคโนโลยีซิลิกอนคาร์ไบด์สวิตช์ขั้นสูงมาใช้ และระบบระบายความร้อนในตัว
● ศูนย์ WMG มหาวิทยาลัยวอร์ริค University of Warwick: ขั้นตอนสุดท้ายของการจำลองการทดสอบก่อนใช้งานจริงนั้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยผลลัพธ์ที่ได้นั้นบ่งชี้ว่าโปรเจคนี้สามารถมอบประสิทธิภาพด้านสมรรถนะ และความทนทานได้ตามที่ตั้งเป้าไว้
● ความสำเร็จหลักของโปรเจคในเฟสนี้ ได้แก่ ผลการทดสอบที่เหนือกว่าเกณฑ์มาตรฐานในปัจจุบัน รวมไปถึงเกณฑ์ที่ UK Automotive Council กำหนดไว้สำหรับปี 2025 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าโปรโตไทป์นี้เป็นแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพสูงสำหรับการพัฒนาสมรรถนะรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต
● วัตถุประสงค์โดยรวมของโปรเจค TE-1 คือการมุ่งไปที่การพัฒนาขีดความสามารถของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อที่ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์จะได้นำไปเป็นข้อมูลต่อยอดในการพัฒนารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่จะผลิตเพื่อจำหน่ายในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการผลักดันด้านนวัตกรรม ขีดความสามารถ และก่อให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญาใหม่ๆ รวมถึงเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมและการออกแบบสัญชาติอังกฤษ
การเริ่มดำเนินการความร่วมมือของโปรเจคระยะที่ 4
● หลังจากที่โปรโตไทป์ตัวสาธิตนั้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว การทดสอบการใช้งานจริงของโปรเจค TE-1 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในระยะที่ 4 ก็สามารถเริ่มดำเนินการได้ โดยอยู่ในภายในกรอบระยะเวลา 6 เดือนหลังจากนี้ โปรโตไทป์ตัวสาธิตจะเข้าสู่โปรแกรมการทดสอบการใช้งานจริงอย่างละเอียดภายในสถานที่ทดสอบสุดล้ำสมัยของไทรอัมพ์
ซึ่งประกอบด้วย
● การทดสอบบนเครื่องจำลองการวิ่งบนถนน ซึ่งมีเกณฑ์การประเมินในคุณลักษณะหลัก ดังนี้:
- การปรับเทียบคันเร่ง
- การแมปสมรรถนะของระบบส่งกำลัง
- กำลังและแรงบิดที่ได้
- ระยะทางที่วิ่งได้ และการใช้งานแบตเตอรี่
- การพัฒนาโหมดการขับขี่
- การตรวจสอบการทำงานของซอฟต์แวร์
- การปรับแต่งค่าความร้อนให้เหมาะสม
● การทดสอบในสนามแข่ง เกณฑ์การประเมินในด้านไดนามิกของผู้ขี่ที่ครอบคลุม ได้แก่:
- การบังคับรถ
- การเร่งความเร็ว
- ระบบเบรก และการชาร์จไฟขณะเบรก (Braking regeneration strategy)
- ระบบควบคุมการยึดเกาะถนน
- ระบบควบคุมการยกล้อหน้า
● โปรแกรมการทดสอบได้รับการออกแบบมาเพื่อกำหนดแนวทางการตั้งค่า และการปรับเทียบครั้งสุดท้ายสำหรับโปรโตไทป์ตัวสาธิต
ความร่วมมือของโปรเจคระยะที่ 4 จะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงฤดูร้อนปี 2022
● หลังจากผ่านขั้นตอนการทดสอบใช้งานจริง ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ช่วงฤดูร้อนปี 2022 โปรโตไทป์ตัวสาธิตจะได้รับการอัพเดตขั้นสุดท้ายโดยการเพิ่มแผนปิดตัวถัง และทำสี เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขี่ทดสอบในสนามแข่ง รวมถึงเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เข้าชมการทดสอบนี้ โดยจะมีการเผยแพร่ผลงานทั้งหมดของโครงการ และสเปคสุดท้าย รวมไปถึงข้อมูลเชิงลึก และข้อเท็จจริงที่สำคัญเกี่ยวกับวิธีการที่โปรเจค TE-1 สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายของโปรเจคทั้งในด้านนวัตกรรม การสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ รวมไปถึงสมรรถนะในด้านระยะทางที่สามารถวิ่งได้ และประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ เสริมด้วยการเปิดโอกาสให้เหล่าสื่อมวลชนได้พูดคุยกับทีมงาน ชมการทดสอบจริงของโปรโตไทป์ในสนามแข่ง และฟังความคิดเห็นจากนักขี่ที่ได้ทำการทดสอบ
● มร. นิค บลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ เปิดเผยว่า “ผมรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นพัฒนาการในระหว่างเฟส 3 ของโปรเจค Triumph TE 1 โดยที่รถจักรยานยนต์โปรโตไทป์เวอร์ชันสุดท้ายนั้นพร้อมแล้วสำหรับการทดสอบการใช้งานจริงในขณะนี้ ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ไทรอัมพ์ต่างก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในการสร้างนวัตกรรมสัญชาติอังกฤษในครั้งนี้ โดยส่วนตัวผมรู้สึกตื่นเต้นกับผลงานที่เราทำสำเร็จร่วมกับพันธมิตรของเราและตั้งตาคอยที่จะได้เห็นศักยภาพด้านอนาคตแห่งพลังงานไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นจริง เราตั้งใจที่จะทุ่มเทอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาโปรโตไทป์ตัวสาธิตซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมแห่งอนาคตต่อไปในขั้นตอนของการทดสอบการใช้งานจริงและรอวันที่จะได้เปิดเผยผลการทดสอบกับเหล่าแฟนๆ ของไทรอัมพ์ทั่วโลก”
ผลลัพธ์ของโครงการ Triumph TE-1 – ระยะที่ 3 : โปรโตไทป์ตัวสาธิต
● ทีมงาน Triumph TE-1 เริ่มต้นโปรเจคในระยะที่ 3 อย่างประสบผลสำเร็จ โดยการสร้างจักรยานตั้งต้น ซึ่งประกอบไปด้วย แบตเตอรี่ อินเวอร์เตอร์ มอเตอร์ รวมไปถึงโครงรถไว้ด้วยกันเป็นครั้งแรก จากแพลตฟอร์มจักรยานต้นแบบนี้ พันธมิตรในโปรเจคนี้ทุกรายได้ร่วมมือในการปรับแต่งซอฟต์แวร์ให้สามารถทำงานร่วมกับระบบต่างๆ ที่มีความซับซ้อน ซึ่งต้องทุ่มเทเวลานับร้อยชั่วโมงให้กับการทดสอบอย่างละเอียดเพื่อให้มั่นใจว่าคุณลักษณะและซอฟต์แวร์ในทุกๆ ส่วนนั้น สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและใช้งานได้ง่ายสมกับความคาดหวังของลูกค้า โดยผ่านการตรวจสอบจากการจำลองสถานการณ์การใช้งานจริงที่ WMG ซึ่งการทดสอบและการจำลองระบบส่งกำลังด้วยอุปกรณ์ทดสอบเฉพาะ เพื่อประเมินเกณฑ์ต่างๆที่สำคัญในด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการทำงานของมอเตอร์และการควบคุมยานพาหนะ อีกทั้งยังมีการทดสอบความทนทานของระบบเกียร์หลักเพื่อให้มั่นใจว่าทีมงานจะมีความเข้าใจอย่างละเอียดเกี่ยวกับความแตกต่างพื้นฐานระหว่างโหลดมอเตอร์ไฟฟ้ากับการใช้งานของยานพาหนะในแต่ละกรณี รวมถึงประสิทธิภาพ และผลกระทบที่เกิดขึ้นตามอายุการใช้งานเกียร์
● ในขณะเดียวกันโครงรถรุ่นผลิตพิเศษซึ่งไทรอัมพ์เป็นผู้ดูแลหลักในการออกแบบได้ถูกพัฒนาควบคู่กัน โดยมุ่งเน้นให้สามารถผลิตออกมาได้ตรงตามเป้าหมายด้านสไตล์ที่กำหนดไว้ในความร่วมมือในระยะที่ 2 ให้มากที่สุด ขณะนี้เราผ่านความร่วมมือในระยะที่ 3 ของโปรเจคมาแล้วเมื่อโปรโตไทป์ตัวสาธิตได้รับการประกอบอย่างสมบูรณ์ โดยภาพถ่ายจะได้รับการเปิดเผยเป็นครั้งแรกในวันนี้
● มร. สตีฟ ซาร์เจนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์ ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ กล่าวว่า “ในความร่วมมือระยะที่ 3 นั้น เราเน้นไปที่การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นโปรโตไทป์คันแรกของไทรอัมพ์ ผมรู้สึกพึงพอใจกับผลลัพธ์ที่ได้จากความพยายามของไทรอัมพ์ และพันธมิตรในโปรเจค TE-1 ในการสร้างรถจักรยานยนต์สาธิตซึ่งนอกจากจะมีรูปลักษณ์ที่น่าดึงดูดแล้ว ยังมี DNA การออกแบบของไทรอัมพ์อยู่อย่างชัดเจน เพียบพร้อมไปด้วยระบบส่งกำลังไฟฟ้าแบบใหม่ที่มีพละกำลังมหาศาลและเร้าใจ มีศักยภาพสูงพร้อมรองรับอนาคต ผมพร้อมที่จะพัฒนารถจักรยานยนต์สาธิตรุ่นนี้อย่างต่อเนื่องในความร่วมมือระยะที่ 4 และจะใช้ความรู้ความสามารถที่ไทรอัมพ์มีเพื่อรวมเทคโนโลยีสุดล้ำของพันธมิตรทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน และสร้างสรรค์ผลงานเวอร์ชันสุดท้ายที่จะเป็นตัวกำหนดกลยุทธ์ของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของไทรอัมพ์ในอนาคต ประสบการณ์ของเราบอกกับเราในขั้นตอนนี้ของโปรเจคว่า เราจะต้องไม่ยอมให้มีสิ่งใดมาแทนที่การขับขี่ที่ยอดเยี่ยม ในขณะพัฒนาความสามารถในการขับขี่ การบังคับรถ และคาแรคเตอร์ โดยเรามีเป้าหมายอย่างมุ่งมั่น คือการมอบประสบการณ์การขับขี่ที่ใหม่และเร้าใจ แต่ยังคงความใช้งานได้ง่าย และคุ้นเคยเอาไว้ในท้ายที่สุด ผมกำลังเฝ้ารอโอกาสครั้งแรกของผมในการได้ทดลองขี่โปรโตไทป์เวอร์ชันที่สมบูรณ์แบบ”
บริษัท WILLIAMS ADVANCED ENGINEERING (WAE)
● สืบเนื่องจากความสำเร็จในความร่วมมือระยะที่ 2 ที่เสร็จสมบูรณ์ในเดือนมีนาคม 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการทดสอบแบตเตอรี่อย่างละเอียด บริษัท Williams Advanced Engineering ก็ได้ทำหน้าที่ได้อย่างลุล่วงในความร่วมมือระยะที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของโปรเจคนี้
● นอกจากการสนับสนุนฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผสานการทำงานของซอฟต์แวร์ควบคุมรถจักรยานยนต์ไทรอัมพ์เพื่อให้สามารถทำงานควบคู่ไปกับตัวควบคุม และระบบการจัดการแบตเตอรี่ของ WAE ทีมงานยังได้ยกระดับการผสานรวมโซลูชันเครื่องกลและระบบไฟฟ้า การปรับเลย์เอาต์ของแบตเตอรี่ให้เหมาะสมเพื่อความสมดุลของมวลและการวางตำแหน่งภายในโครงรถ
● สำหรับรถจักรยานยนต์ตัวสาธิตกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบการประเมินระดับของแบตเตอรี่ครั้งสุดท้าย เพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่าแบตเตอรี่มีประสิทธิภาพสูงสุดตามเป้าหมายในด้านกำลัง และความหนาแน่นของพลังงานที่อยู่ในระดับแนวหน้า ในส่วนของผู้ขี่นั้นคือการสร้างความมั่นใจว่าสมรรถนะของจักรยานยนต์จะยังคงประสิทธิภาพแม้ในขณะที่พลังงานไฟฟ้าอยู่ในระดับต่ำ
● “หลังจากการทดสอบอย่างต่อเนื่องยาวนาน เรารู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เห็นผลงานนี้ถูกนำไปใช้กับรถจักรยานยนต์จริงๆ สำหรับความร่วมมือกับทีมงานไทรอัมพ์ ทำให้เราได้มีโอกาสท้าทายขีดความสามารถของเทคโนโลยีแบตเตอรี่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็คำนึงถึงผู้ขับขี่อยู่ตลอดเวลา” มร. ดียร์ อาร์แดช หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรทางธุรกิจ บริษัท Williams Advanced Engineering กล่าว
● “เนื่องจากเราได้ออกแบบแบตเตอรี่ตั้งแต่เริ่มต้น ดีไซน์ของเราจึงสมบูรณ์แบบในทุกๆ ด้าน และเราสามารถผลักดันขอบเขตของเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อสร้างแบตเตอรี่ที่ยอดเยี่ยมในด้านสมรรถนะ และสิ่งสำคัญที่สุดคือระยะทางที่สามารถวิ่งได้”
บริษัท INTEGRAL POWERTRAIN แผนก E-DRIVE
● มร. แอนดรูว์ ครอส หัวหน้าฝ่ายเทคนิคของบริษัท Integral Powertrain กล่าวว่า “เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทำหน้าที่ในส่วนที่รับผิดชอบได้อย่างสมบูรณ์ และสร้างสรรค์ผลงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ได้แก่ มอเตอร์และอินเวอร์เตอร์ที่ปรับสเกลได้โดยปราศจากสายไฟฟ้าแรงสูง บัสบาร์ หรือวงจรระบายความร้อนแบบแยก สำหรับโปรเจค TE-1 ในส่วนของมอเตอร์มีกำลังสูงสุดและความหนาแน่นของพลังงานแบบต่อเนื่องอยู่ที่ 13 kW/kg และ 9 kW/kg ตามลำดับ ซึ่งค่าที่ได้นั้นสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่เป็นข้อกำหนดของเป้าหมายโรดแมปเทคโนโลยีใหม่ของ APC ประจำปี 2025 ถึง 60% การออกแบบให้มีคุณสมบัติทั้งหมดนี้ได้นั้น มาจากการเลือกใช้วัสดุ และกระบวนการผลิตที่สามารถทำงานร่วมกับการผลิตยานยนต์ในปริมาณมากในอุตสาหกรรมยานยนต์ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการใช้แพลตฟอร์มมอเตอร์ที่สามารถปรับความยาวได้ แนวคิดของอินเวอร์เตอร์ก็สามารถปรับสเกลได้เช่นเดียวกัน โดยการปรับจูนจำนวนระดับพลังงานซิลิคอน คาร์ไบด์ตามขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของมอเตอร์ที่แตกต่างกัน ช่วยให้สมรรถนะการทำงานที่ยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง จึงทำให้ยูนิต TE-1 มีขีดความสามารถมากกว่า 500kW เราจึงมีโอกาสในการปรับปรุงและพัฒนาแพลตฟอร์มนี้เพื่อรองรับการผลิตจำนวนมาก”
● “การผสมผสานมอเตอร์และอินเวอร์เตอร์นั้นได้ถูกติดตั้งในรถจักรยานยนต์โปรโตไทป์แล้วในขณะนี้ และทำผลงานได้ตรงตามเป้าหมายที่เราได้สร้างขึ้นทั้งในด้านสมรรถนะ และประสิทธิภาพในการกักเก็บพลังงานต่อรอบการชาร์จ ที่เราได้ออกแบบทางวิศวกรรม สร้างแบบจำลอง และจำลองสถานการณ์เสมือนจริงเอาไว้ เราหวังว่าจะได้รับข้อแนะนำ หรือข้อเสนอแนะในขั้นตอนของการทดสอบหลังจากนี้ รวมถึงข้อดีจากประสิทธิภาพระดับสูงของระยะที่วิ่งได้ เรารู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนสำคัญของโปรเจคที่น่าตื่นเต้นนี้ อีกทั้งยังถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในอุตสากรรมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสัญชาติอังกฤษ”
ศูนย์ WMG มหาวิทยาลัยวอร์ริค (UNIVERSITY OF WARWICK)
● มร. ทรอง ควาง ดินห์ รองศาสตราจารย์ด้านระบบการจัดการและควบคุมพลังงาน ศูนย์ WMG มหาวิทยาลัยวอร์ริค (University of Warwick) เผยว่า “ศูนย์ WMG เราได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับไทรอัมพ์ในการสนับสนุนการพัฒนายูนิตควบคุมรถจักรยานยนต์ โดยใช้กระบวนการประเมินแบบเรียลไทม์ที่ครอบคลุมทุกรายละเอียด ผ่านอุปกรณ์ทดสอบทางกายภาพที่สั่งผลิตโดยเฉพาะ 2 เครื่อง โดยแบบจำลองรถจักรยานยนต์แบบ 3 มิติ จะถูกผลิตขึ้น และติดตั้งไว้กับอุปกรณ์ทดสอบเครื่องแรก เพื่อให้สามารถประเมิน และปรับแต่งยูนิตควบคุมได้ภายใต้สถานการณ์การขับขี่จริง เพื่อให้มั่นใจได้ว่ายูนิตควบคุมนี้จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อนที่นำไปติดตั้งในรถจักรยานยนต์โปรโตไทป์รุ่นแรก สำหรับอุปกรณ์ทดสอบเครื่องที่สองมีไว้เพื่อสนับสนุนไทรอัมพ์ในการประเมินผลด้านกำลัง และสมรรถนะในด้านพลังงานของระบบส่งกำลังโดยรวม ตลอดจนการยืนยันผลลัพธ์ในด้านความทนทาน เรายังมุ่งเน้นไปที่การวิจัย และพัฒนาการควบคุมในระดับอื่นๆ ได้แก่ ระบบควบคุมการยึดเกาะถนนขั้นสูง กลยุทธ์การใช้อุปกรณ์ผสมแรงเบรกให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด ข้อมูลที่ได้จากการสร้างแบบจำลองระบบพลังงานการจำลองสถานการณ์เสมือนจริง และการควบคุมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีศึกษาการใช้งานจริงของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเราได้รับจากโปรเจค TE-1 นี้ ได้ถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาสื่อการสอนด้านระบบพลังงาน เทคโนโลยีไฮบริด และการใช้พลังงานไฟฟ้าในโปรแกรมการเรียนการสอนที่ WMG”
● “นอกจากนี้ WMG ยังช่วยสนับสนุนไทรอัมพ์ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโอกาส และผลที่จะเกิดขึ้นในวงกว้างจากการเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าในธุรกิจของพวกเขา ซึ่งรวมถึงการศึกษาโอกาสในการสร้างเครือข่ายระบบชาร์จไฟ ความจำเป็นของระบบรีไซเคิลรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ความจำเป็นในการจัดการห่วงโซ่อุปทานของแบตเตอรี่ระดับท้องถิ่น และทิศทางการดำเนินงานที่จำเป็นสำหรับไทรอัมพ์เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาจะสามารถออกแบบ พัฒนา ผลิต และจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าได้ในอนาคต ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยเหล่านี้ยังช่วยกำหนดแนวทางให้กับหน่วยงานรัฐทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแทรกแซงด้านนโยบายจะสามารถช่วยสนับสนุนการเปิดรับการใช้งานรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้น”
● จิม ฮูเปอร์ หัวหน้าวิศวกรสำหรับโปรเจคยานพาหนะไฟฟ้า ศูนย์ WMG มหาวิทยาลัยวอร์ริค (University of Warwick) กล่าวว่า “ในการวิจัยจำนวนมากที่ดำเนินการโดย WMG แบบจำลองบนคอมพิวเตอร์ที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัย (เช่น ซอฟต์แวร์ Uniwarp ของทางมหาวิทยาลัย) มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจถึงแนวทางที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้ หรือการดำเนินการที่จำเป็นในสถานการณ์ต่างๆ วิธีการนี้ยังช่วยสนับสนุนให้ WMG สามารถประเมินผลกระทบของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าต่อสิ่งแวดล้อม และระบุวิธีการซึ่งสามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้เพื่อการพัฒนาต่อยอดคุณลักษณะใหม่ๆ ของยานพาหนะ รวมถึงการกำหนดขนาดระบบยานยนต์ หรือการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกในโครงการใหม่”
● สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ ในประเทศไทย เชิญได้ที่ www.triumphmotorcycles.co.th ●