May 16, 2022
Motortrivia Team (10191 articles)

Ford Ranger Double Cab Wildtrak 2.0L Bi-Turbo 4×4 10AT ลองครบทุกฟังก์ชั่นทางเรียบทางลุย

เรื่อง-ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ

●   ทีมงานมอเตอร์ทริเวีย ลองขับ ฟอร์ด เรนเจอร์ รุ่นใหม่ล่าสุด บนเส้นทางภาคใต้ ภูเก็ต-พังงา ในช่วงพายุเข้า ฝนตกหนักสลับเบาทั้งวัน ได้ขับบนทางเรียบคดเคี้ยวและเปียกลื่นช่วงเขานางหงส์ และทางออฟโรดที่จัดขึ้นเป็นสถานีเพื่อทดสอบโหมดการขับแบบต่างๆ และทางออฟโรดธรรมชาติที่โหดกว่ากันเยอะ รถที่ได้ทดลองขับเป็นรุ่นท๊อป Double Cab Wildtrak 2.0L Bi-Turbo ขับเคลื่อน 4 ล้อ เกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ ราคา 1,299,000 บาท

เพิ่มความทันสมัยในความแกร่ง

●   รูปลักษณ์ภายนอกของเรนเจอร์ใหม่ ยังคงแนวคิดในเรื่องความแข็งแกร่งบึกบึนไว้เช่นเดิม แต่เพิ่มเติมในส่วนของความทันสมัย ผ่านทางเส้นสายและการตกแต่งในจุดต่างๆ รอบคัน ด้านหน้ามีเอกลักษณ์ด้วยไฟ DRL ทรงเฉพาะ ชุดไฟหน้า Matrix LED เปิด-ปิดอัตโนมัติ พร้อมระบบป้องกันไฟแยงตา ด้านหน้ามีระยะโอเวอร์แฮงค์หรือระยะยื่นเพียงเล็กน้อย ทำให้มุมปะทะค่อนข้างมาก เป็นคุณสมบัติที่ดีของรถลุย

●   มิติตัวรถมีความยาว 5,370 มิลลิเมตร กว้าง 1,918 มิลลิเมตร สูง 1,884 มิลลิเมตร ฐานล้อ 3,270 มิลลิเมตร

●   ด้านข้างให้ความรู้สึกแข็งแกร่งมีพลังมีมัดกล้าม ด้วยการออกแบบเส้นสายของโป่งล้อที่มาพร้อมวัสดุกันกระแทก ที่ออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของตัวรถ ไม่ได้แปะติดเข้าไปภายหลัง ทำให้ดูเรียบร้อยกลมกลืน ล้อแม็กลายแกร่งขนาด 18 นิ้ว พร้อมยาง 255/65/18 ดูจะแหวกสเปคของรถสไตล์นี้ ที่มักจะใช้ยางขนาด 265/60/18 คันที่ขับเป็นรุ่น 4 ประตู ที่ออกแบบได้ลงตัว ประตูบานหลังไม่ได้สั้นกุดจึงดูสมส่วน กระบะท้ายมี Sport Bar พร้อมแร็คยึดสิ่งของเช่นเดียวกับบนหลังคา

●   ส่วนด้านหลังเข้าใจว่าพยายามออกแบบให้มีความทันสมัย แต่ด้วยข้อจำกัดของความเป็นรถกระบะที่พลิกแพลงไม่ได้มาก จึงหันไปเล่นกับลวดลายของไฟท้ายและฝาท้ายแทน ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าเส้นสายเยอะไปนิดสำหรับรถที่เน้นความแข็งแกร่งสไตล์ลุยๆ กันชนท้ายแนบเข้าไปกับตัวรถ ไม่ยื่นมากช่วยเพิ่มมุมจากเมื่อขับบนทางออฟโรด ด้านข้างมีช่องให้เหยียบปีนขึ้นท้ายกระบะได้ ปลอดภัยกว่าเหยียบบนยางแบบที่นิยมทำกัน เพราะยางเป็นทรงกลมมีโอกาสเหยียบลื่นได้

ยกระดับมาตรฐานปิกอัพเมืองไทย

●   ภายในห้องโดยสารเป็นอีกจุดที่ฟอร์ด เรนเจอร์ ทำได้ดีไม่น้อยกว่ารูปลักษณ์ภายนอก โดยใส่ความทันสมัยมาให้แบบเต็มๆ โดยไม่กระทบกับภาพลักษณ์ด้านความแกร่ง แต่กลับดูเข้ากันได้อย่างไม่น่าเชื่อ เช่น จอสัมผัสขนาด 12 นิ้วที่คอนโซลกลาง รองรับ Apple CarPlay และ Android Auto แบบไร้สาย และใช้เป็นศูนย์กลางในการควบคุมระบบต่างๆ ของรถ ทำให้ลดจำนวนปุ่มต่างๆ ไปได้มาก หน้าจอมีความคมชัดในระดับเกินคาด และมีการตอบสนองที่รวดเร็วลื่นไหลติดมือ ส่วนชุดมาตรวัดดิจิตอลเต็มระบบขนาด 8 นิ้ว ความอะเอียดของภาพและคมชัดอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย ถ้าชัดใสเท่าจอกลางได้จะดีมาก

●   เบาะคู่หน้าปรับไฟฟ้าเต็มระบบสูง-ต่ำ-ใกล้-ไกล พร้อมที่ดันหลังไฟฟ้า พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่น ปรับได้ 4 ทิศทาง กระจกมองหลังตัดแสงอัตโนมัติ กระจกมองข้างไฟฟ้าบานใหญ่เต็มตาพร้อมไฟเตือนระบบ Blind Spot เบาะหลังปรับความชันของพนักพิงมาพอเหมาะ ส่วนความกว้างขวางของห้องโดยสารเหลือเฟือสำหรับ 4 ที่นั่ง คอนโซลกลางมีช่องเชื่อมต่อหน้าจอทั้งแบบ USB-A และ USB-Cเผื่อกรณีอยากชาร์จแบตไปด้วย มีช่องจ่ายไฟฟ้าทั้งแบบ 12 และ 240 โวลต์ จะติก็ตรงคันเกียร์ ที่ไม่มีไฟบอกตำแหน่งเกียร์ มีแค่ตัวหนังสือพิมพ์ไว้ กลางคืนต้องดูตำแหน่งเกียร์ในชุดมาตรวัด และโหมด +/- ที่ใช้การกดบนหัวเกียร์ ซึ่งไม่สะดวกใช้งานยากและต้องเสียจังหวะคลำหา ถ้าเป็นแบบโยกขึ้น-ลงจะดีมาก

●   การตกแต่งโดยรวมทำได้ที ทั้งการเล่นสีโทนดำล้วนรวมเสากลางและเพดาน ตัดกับสีส้มซึ่งเป็นสีเอกลักษณ์ของ WildTrak วัสดุที่ใช้ก็ดูดีมีคุณภาพสมราคา มีทั้งส่วนที่บุนุ่มแบบหนาและแบบบาง และส่วนที่เป็นพลาสติกแข็งที่ออกแบบลวดลายของพื้นผิวได้ดี ชอบใจการเก็บเสียงและความสั่นสะเทือนที่ทำได้ดีเกินคาด ขับเร็วแทบไม่มีเสียงลมปะทะ เร่งเครื่องยนต์รอบสูงก็ได้ยินเสียงแค่แผ่วๆ ส่วนความสั่นสะเทือนจากการทำงานของเครื่องยนต์ก็มีให้สัมผัสไม่มากนักแม้เร่งรอบสูง

แรงล้นคนขับต้องระวัง

●   เครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ 2,000 ซีซี อัดอากาศด้วยเทอร์โบคู่ ให้กำลังสูงสุด 210 แรงม้า ที่ 3,750 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 500 นิวตัน-เมตร ที่ 1,750-2,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ แม้จะเป็นเครื่องยนต์บล็อกเล็ก รีดสมรรถนะด้วยเทอร์โบ 2 ตัว แต่ให้ความรู้สึกในการตอบสนองใกล้เคียงกับเครื่องยนต์ดีเซลบล็อกใหญ่ คือ มีแรงบิดสูงในรอบต่ำ ตอบสนองเร็วไม่รอรอบ ไม่ต้องลากรอบสูงก็ได้อัตราเร่งที่เหลือเฟือกับการใช้งาน ช่วงที่ขับทดสอบบนทางเรียบ มีฝนตกเกือบตลอดเวลา บางจังหวะแค่กดคันเร่งเบาๆ เพื่อออกจากซอยเข้าสู่ถนนหลัก รู้สึกว่าล้อหลังมีอาการฟรีทิ้งนิดๆ ต้องรีบยกคันเร่ง ช่วงขับฝ่าสายฝนบางทางโค้งบางช่วงก็มีอาการท้ายไหลบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ได้ใช้ความเร็วสูง จึงออกอาการไม่มาก และแก้ไขได้ทัน จะว่าถนนลื่นเพราะฝนเพิ่งตกใหม่ๆ ก็ไม่น่าใช่ หรือจะกดคันเร่งแรงเกินไปก็ไม่น่าใช่เช่นกัน สอบถามเพื่อนสื่อมวลชนก็เป็นเหมือนกันทั้งในรุ่นเทอร์โบเดี่ยว 170 แรงม้า 405 นิวตัน-เมตร

●   ในการตอบสนองคันเร่งที่รวดเร็วที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับบนทางเปียกลื่น ก็แรงบิดที่สูงในรอบต่ำก็มีข้อดีเมื่ออยู่ในทางวิบากหรือลาดชัน เพราะจะทำให้ขับง่าย ไม่ต้องกดคันเร่งลึกหรือใช้รอบสูง จึงเดินคันเร่งได้ราบเรียบสม่ำเสมอ ค่อยๆ เคลื่อนผ่านอุปสรรคไปอย่างนุ่มนวล ไม่ปั่นหรือตะกุยกระจุยกระจาย ขับได้อย่างปลอดภัยและรถไม่ช้ำด้วย

●   สมรรถนะของเครื่องยนต์ทั้งบนทางเรียบและทางหินโคลนทรายถือว่าเหลือเฟือ เกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ ตอบสนองรวดเร็วทันใจและมีความต่อเนื่อง จากอัตราทดเกียร์ที่ลดหลั่นในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับกำลังของเครื่องยนต์ ช่วยเสริมให้ขับสนุกขึ้นอีก อัตราสิ้นเปลืองไม่ได้วัดอย่างจริงจัง คร่าวๆ ทั้งทางเรียบและออฟโรด 2 ช่วง เฉลี่ยได้ประมาณ 10 กิโลเมตรต่อลิตร

ทางเรียบมีลุ้น ทางลุยนุ่มสบาย

●   ขับทางเรียบคดเคี้ยวเปียกลื่นด้วยฝนที่ตกเกือบตลอดเวลา ช่วงแรกขับในโหมด 2H ปกติ มีอาการท้ายไหลเบาๆ เป็นบางครั้งทั้งที่ไม่ได้กดคันเร่งหนักหน่วง ช่วงเข้าโค้งรู้สึกว่าช่วงล่างนุ่มไปนิด ไม่กล้าโยนเข้าไปแรงๆ ต้องแอบตัดโค้งบ้างเป็นบางครั้ง หลังจากสลับผู้ขับฝนยังตกหนักต่อเนื่อง ลองเปลี่ยนเป็นโหมด 4H อาการต่างๆ ดีขึ้นเยอะ รถนิ่งขึ้น เข้าโค้งง่าย เกาะโค้งได้ดีนั่งแล้วรู้สึกมั่นใจ จากนั้นก็ใช้โหมด 4H ไปตลอดทาง

●   เข้าสู่ช่วงสถานีออฟโรด ที่จำลองสถานการณ์ต่างๆ ทั้งทางลื่นโคลน, ทางทรายร่วน, ทางหิน, ลุยน้ำ ขึ้นและลงเนินชันระดับแหงนมองฟ้าก้มหน้ามองดิน มี Instructor นั่งกำกับไปด้วยเพื่อความอุ่นใจ ช่วงไต่ขึ้น-ลง เนินที่ชันแบบมองไม่เห็นทางด้านหน้า กล้องมองรอบคัน 360 องศา เส้นไกด์พวงมาลัย และจอกลางที่คมชัดมีส่วนช่วยได้เยอะมาก ช่วยให้วางตำแหน่งล้อหน้าได้ถูกต้องไม่ตกขอบทาง หลบเลี่ยงอุปสรรคต่างๆ ได้ง่าย ทำให้ขับบนทางออฟโรดได้ง่ายแม้ไม่มีประสบการณ์มากนัก

●   ในช่วงทดลองขับบนทางออฟโรดด้วยโหมดต่างๆ ลองแอบใช้ 4H ก็ยังผ่านอุปสรรคไปได้ แต่ต้องเลี้ยงพวงมาลัยกันจนแขนแทบพันกัน เพราะข้อจำกัดอยู่ที่ยางติดรถที่เป็นแบบ HT หรือ Highway Terrain ไม่ใช่ AT หรือ All Terrain เมื่อดินโคลนเข้าไปอุดเต็มร่องยาง การยึดเกาะจากยางก็หมดไป เหลือแค่การขับเคลื่อนจากระบบขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น ที่ยังพารถเดินหน้าไปได้ บางจังหวะ Instructor แนะนำให้หมุนพวงมาลัยซ้าย-ขวาต่อเนื่อง พร้อมเดินคันเร่งเนียนๆ เพื่อหาแรงยึดเกาะจากล้อหน้า ถ้าไม่อยากเหนื่อยควบคุมรถก็ปลดเกียร์ว่างแล้วใส่ 4L ก็จะควบคุมรถได้ง่ายเกือบ 100 เปอร์เซนต์ ยังมีไหลเลื้อยบ้างเพราะยางกลายเป็นโดนัทไปแล้ว

●   โหมดการขับสำเร็จรูปต่างๆ สามารถใช้งานได้จริง เมื่อเลือกใช้โหมดที่เหมาะสมกับลักษณะพื้นผิว ระบบจะจัดการให้หมด ทั้งการส่งหรือตัดกำลัง จังหวะการเปลี่ยนเกียร์ ผู้ขับก็แค่ควบคุมพวงมาลัยและคันเร่งให้ดีเพื่อสนับสนุนให้ระบบทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ถ้าขับแบบตะบี้ตะบันหรือแกล้งระบบ ผลลัพธ์อาจจะไม่สวยเท่าไร

●   จบสถานีออฟโรด รุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ จะขับทางเรียบกลับที่พัก ส่วนรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ จะต้องขับผ่านเส้นทางออฟโรดธรรมชาติ ที่กว่าจะรู้ตัวว่าโหดกว่าสถานีออฟโรด ก็ตอนที่นั่งอยู่หลังพวงมาลัยแล้ว แค่ล้อหน้าแตะพื้นดินก็สัมผัสได้ถึงความลื่น โหมด 4H ที่ใส่มาล่วงหน้าแล้วนั้นไม่เพียงพอ (อาจจะพอถ้าได้ยาง AT เป็นอย่างน้อย) หัวขบวนแจ้งหยุดรถปลดเกียร์ว่าง แล้วใส่โหมด 4L ที่ทำได้ง่ายๆ แค่กดปุ่ม ไม่สับสนแน่นอน ส่วนโหมดการขับก็ใช้วิธีหมุนปุ่มเดียวกันนั่นเอง ช่วงล่างที่ดูจะนุ่มไปนิดเมื่อขับบนทางเรียบที่คดเคี้ยว กลับแสดงผลงานน่าประทับใจเมื่อขับบนทางลุย เพราะช่วยดูดซับแรงกระแทกได้ดีในบางจังหวะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การปีนไต่เนินชันล้อลอยและวางกลับลงบนพื้น ทำได้นุ่มนวลและหนักแน่นดี ขับบนทางออฟโรดแล้วผู้ขับและผู้โดยสารไม่บอบช้ำหรือถูกนวดเขย่ามากนัก

●   สำหรับคนที่ไม่ได้เชี่ยวชาญการขับออฟโรดอย่างผม ความโหดเส้นทางออฟโรดธรรมชาติ ทำเอาสถานีออฟโรดกลายเป็นง่ายไปเลย แต่ก็ได้นำความรู้และการใช้งานฟังก์ชั่นของรถจากสถานีออฟโรดมาใช้อย่างทันท่วงที เปิดกล้อง 360 องศาเอาไว้ กดหน้าจอกลางเพื่อเปิดใช้โหมดล็อกเพลาหลังและระบบช่วยลงเนิน ทิ้งระยะห่างจากคันหน้า ป้องกันการไหลไปชนกัน จากนั้นก็มองไกลๆ เลือกไลน์ให้ดี แต่บางครั้งก็เลือกไม่ได้ วางล้อบนสันเนินแล้วรถก็ยังไหลลงไปในร่องจนได้ รถไหลไปเอียงชิดแนบจนแทบจะพิงเนินดินด้านข้าง ต้องเดินคันเร่งเนียนๆ เลี้ยงโมเมนตัมรถไว้ ถ้าหยุดนิ่งจะออกตัวใหม่ลำบาก ดีว่าในโหมด 4L มีอัตราทดสูง ทำ Walking Speed ได้ง่าย แตะคันเร่งไว้แค่เบาๆ รถก็ค่อยๆ ไต่เนินดินชันลื่นๆ จากฝนที่ยังตกอย่างขยันขันแข็งได้โดยไม่ต้องปั่นหรือดิ้น รถมีอาการไหลเลื้อยไม่มากนัก หายใจไม่ทั่วท้องอยู่พักใหญ่ก็ขึ้นสู่ทางคอนกรีต ขับตามไปสมทบคันอื่น จอดนิ่ง ปลดเกียร์ว่าง แล้วกลับไปใช้โหมด 4H เพื่อขับทางเรียบต่อไปยังจุดพักรถและสลับผู้ขับอีกครั้งก่อนเข้าที่พัก

●   เครื่องยนต์ที่มีกำลังแรงม้าแรงบิดสูงในรอบต่ำ โหมดการขับเคลื่อน 4 ล้อ 4L ที่ทดรอบเพิ่มแรงบิด และโหมดการขับสำเร็จรูปที่มีให้เลือกตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นผิว รวมทั้งระบบช่วยขับต่างๆ ที่ออกแบบให้เปิด-ปิดการใช้งานได้ง่าย ไม่สับสน ทำให้มือใหม่ออฟโรดอย่างผม ขับได้อย่างค่อนข้างผ่อนคลายและมั่นใจ ผ่านอุปสรรคโหดๆ ไปได้โดยสวัสดิภาพ ปลอดภัยทั้งคนและรถ เอาตัวรอดมาได้ทั้งที่เป็นการใช้ยางที่ผิดประเภทอย่างแรง

●   ฟอร์ด เรนเจอร์ Double Cab Wildtrak 2.0L Bi-Turbo ขับเคลื่อน 4 ล้อ เกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ แรงเหลือเฟือบนทางเรียบ นั่ง 4 คนพร้อมบรรทุกของด้านหลังเสมอขอบกระบะ น่าจะไปได้แบบฉิวๆ แรงจนต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจบ้างเมื่อสภาพพื้นผิวถนนไม่เอื้ออำนวย อัตราสิ้นเปลืองแปรผันตามน้ำหนักเท้าขวาและสภาพการจราจร เดินทางไกลรถโล่ง ใช้ความเร็วตามกฎหมาย คาดหวังแบบไม่โลภได้แถวๆ 12-13 กิโลเมตรต่อลิตร ทางออฟโรดเบาๆ ถึงปานกลางกึ่งหนักยังไปได้สบาย แต่เพื่อความมั่นใจควรเปลี่ยนยางให้เหมาะกับงานจะได้ไม่ต้องกินข้าวลิง     ●

ขอบคุณ ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง

Group Test : 2022 Ford Ranger (motortrivia)

Group Test : 2022 Ford Ranger (Official)