June 16, 2022
Motortrivia Team (10167 articles)

Symbio / Schaeffler ตั้งบริษัทร่วมทุนผลิตแผ่นนำไฟฟ้า 2 ขั้ว

ประชาสัมพันธ์

●   ซิมบิโอ (Symbio) บริษัทพลังงานไฮโดรเจนที่ร่วมก่อตั้งโดย ‘มิชลิน’ และ ‘โฟเรอเซีย’ ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับ แชฟฟ์เลอร์ (Schaeffler) เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนสัดส่วน 50:50 สำหรับดำเนินธุรกิจผลิตแผ่นนำกระแสไฟฟ้าแบบสองขั้วที่ใช้ในเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Bipolar Plates: BPP) ซึ่งจะเป็นโซลูชั่นด้านพลังงานและการสัญจรระดับโลก บริษัทร่วมทุนแห่งนี้จะตั้งอยู่ที่เมืองอาเกอโน (Haguenau) แคว้นอัลซาซ (Alsace) ประเทศฝรั่งเศส ทำหน้าที่ผสานความรู้ความเชี่ยวชาญของซัพพลายเออร์ยานยนต์สัญชาติยุโรปและผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงยานยนต์ซึ่งต่างเล็งเห็นถึงศักยภาพที่เปิดกว้างในการพัฒนาเศรษฐกิจไฮโดรเจน (Hydrogen Economy) นอกจากนี้ การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวยังเป็นการสร้างพันธมิตรระหว่างธุรกิจในฝรั่งเศสและเยอรมันที่มุ่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่คุณค่าของการสัญจรด้วยพลังงานไฮโดรเจนในยุโรป

●   บริษัทร่วมทุนดังกล่าว ซึ่งมีกำหนดเริ่มดำเนินงานภายใต้ชื่อ ‘อินโนเพลท’ (Innoplate) ภายในปลายปีนี้ จะเร่งผลิตแผ่นนำกระแสไฟฟ้าแบบสองขั้วรุ่นใหม่สำหรับเซลล์เชื้อเพลิงชนิดเมมเบรนแลกเปลี่ยนโปรตอน (Proton Exchange Membrane: PEM) ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความจุ และต้นทุนที่แข่งขันได้ให้กับลูกค้า การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งนี้คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปลายปี 2565 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ มาตรการกำกับดูแลการควบรวมกิจการ ฯลฯ โดยบริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะผลิตแผ่นนำกระแสไฟฟ้าแบบสองขั้วในปริมาณมากทางอุตสาหกรรมและสร้างงานกว่า 120 ตำแหน่งในฝรั่งเศส

●   บริษัทร่วมทุนมีกำหนดเริ่มดำเนินการผลิตในช่วงต้นปี 2567 ทั้งนี้ หน่วยผลิตจะตั้งอยู่ที่เมืองอาเกอโน ประเทศฝรั่งเศส และในเบื้องต้นจะมีกำลังการผลิตแผ่นนำกระแสไฟฟ้าแบบสองขั้วอยู่ที่ 4 ล้านชิ้นต่อปี โดยตั้งเป้าที่จะผลิตให้ได้ทั่วโลกเป็นจำนวนสูงถึงราว 50 ล้านชิ้นต่อปี และจ้างงานมากกว่า 120 คน ภายในปี 2573 หน่วยผลิตแห่งนี้จะไม่เพียงมีมาตรฐานด้านความยั่งยืนสูงสุด แต่ยังมุ่งสู่การดำเนินงานที่มีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)

●   การก่อตั้งอินโนเพลทจะช่วยเร่งให้เกิดการผลิตแผ่นนำกระแสไฟฟ้าแบบสองขั้วรุ่นใหม่ในปริมาณมาก โดยมี ซิมบิโอ และ แชฟฟ์เลอร์ เป็นลูกค้าพิเศษของบริษัทร่วมทุนแห่งนี้ ทั้งนี้ ซิมบิโอ ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำระดับโลกแห่งหนึ่งเสนอชื่อเป็นลำดับแรกในฐานะผู้ให้บริการระบบเซลล์เชื้อเพลิง จึงวางแผนที่จะให้บริษัทร่วมทุนแห่งนี้เป็นผู้จัดหาแผ่นนำกระแสไฟฟ้าแบบสองขั้วในโครงการดังกล่าว

บริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในนาม ‘อินโนเพลท’ จะเร่งขับเคลื่อนการผลิตแผ่นนำกระแสไฟฟ้าแบบสองขั้วรุ่นใหม่สำหรับตลาดเซลล์เชื้อเพลิงชนิดเมมเบรนแลกเปลี่ยนโปรตอน (Proton Exchange Membrane: PEM)  โดยตั้งเป้าที่จะผลิตแผ่นนำกระแสไฟฟ้าแบบสองขั้วให้ได้ราว 50 ล้านชิ้น และจ้างงานมากกว่า 120 คน ภายในปี 2573(แหล่งที่มาของรูปภาพ: แชฟฟ์เลอร์)

●   ซิมบิโอ มีประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนานกว่า 30 ปีในการพัฒนาระบบเซลล์เชื้อเพลิง ทั้งยังเป็นผู้นำเสนอ StackPacks® ระบบไฮโดรเจนขนาดกะทัดรัดที่ผ่านการบูรณาการและตรวจสอบล่วงหน้า (Pre-Validated, Pre-Integrated Hydrogen System) ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดในเรื่องกำลังไฟฟ้าและความทนทานเพื่อการสัญจรที่มีค่าการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์

●   แชฟฟ์เลอร์ ซัพพลายเออร์ชั้นนำระดับโลกในภาคอุตสาหกรรมและภาคยานยนต์ มีความเชี่ยวชาญสูงเกี่ยวกับเทคโนโลยีการปั๊มและขึ้นรูปอย่างแม่นยำ รวมทั้งมีความรู้ความชำนาญด้านกระบวนการผลิตแผ่นโลหะนำกระแสไฟฟ้าแบบสองขั้วในปริมาณมาก โดย แชฟฟ์เลอร์ ใช้แผ่นโลหะนำกระแสไฟฟ้าดังกล่าวเป็นตัวแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Electrolyzer) เพื่อผลิตไฮโดรเจน ทั้งยังใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของแผงเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Stack) สำหรับนำไปใช้งานเป็นเซลล์เชื้อเพลิงทั้งแบบติดตั้งอยู่กับที่ (Stationary) และแบบเคลื่อนที่ (Mobile) ทุกประเภท การรุกขยายธุรกิจแนวตั้ง (Vertical Integration) ผ่านการควบรวมหรือซื้อกิจการด้านการขึ้นรูปและกระบวนการเคลือบผิวขั้นสูง ส่งผลให้ แชฟฟ์เลอร์ มีฐานความรู้ความชำนาญอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับกระบวนการผลิตแผ่นโลหะนำกระแสไฟฟ้าแบบสองขั้วในปริมาณมาก

●   ฟิลิปป์ โรซิเอร์ (Philippe Rosier) ประธานกรรมการบริหารของซิมบิโอ เปิดเผยว่า “แผ่นโลหะนำกระแสไฟฟ้าแบบสองขั้วที่ใช้ในเซลล์เชื้อเพลิงเป็นส่วนประกอบเพิ่มคุณค่าเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญของระบบเซลล์เชื้อเพลิง อินโนเพลทจะทำหน้าที่ดูแลศักยภาพการผลิตให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและสอดคล้องตามความต้องการของลูกค้าและตลาดการสัญจรที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน ขณะเดียวกันจะเร่งพัฒนาสมรรถนะของระบบให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพให้โซลูชั่นของเรามีต้นทุนที่แข่งขันได้มากขึ้น นอกจากนี้ การเข้ามามีส่วนร่วมของซิมบิโอจะช่วยผลักดันให้บริษัทร่วมทุนแห่งนี้กลายเป็นผู้นำทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในยุโรป”

●   เคลาส์ โรเซ็นเฟลด์ (Klaus Rosenfeld) ประธานกรรมการบริหารของแชฟฟ์เลอร์ กล่าวเสริมว่า “เราเชื่อว่าไฮโดรเจนจะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้เกิดการสัญจรด้วยพลังงานสะอาดในอนาคต การสร้างเศรษฐกิจไฮโดรเจนและการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืนนั้นขึ้นอยู่กับการทำให้ห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยีใหม่ที่เชื่อถือได้กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตได้จำนวนมาก แน่นอนว่าการที่เราเข้าร่วมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับซิมบิโอสอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว ในฐานะบริษัทระดับโลกซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนี เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นพันธมิตรกับซิมบิโอในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมนีในภาคธุรกิจที่สำคัญ บริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้นร่วมกับซัพพลายเออร์เซลล์เชื้อเพลิงชั้นนำจะช่วยให้แชฟฟ์เลอร์ขยายฐานเข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว”

●   แพทริค โคลเลอร์ (Patrick Koller) ประธานกรรมการบริหารของโฟเรอเซีย ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งในเครือกลุ่มฟอร์เวีย (FORVIA) กล่าวเพิ่มเติมว่า “เราตระหนักดีว่าความร่วมมือระหว่างบริษัทสัญชาติฝรั่งเศสและบริษัทสัญชาติเยอรมันทั้งสองจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่นำไปสู่ความเป็นเลิศ เรามีความมุ่งมั่นที่แน่วแน่และจริงจังในด้านเซลล์เชื้อเพลิง ไฮโดรเจนเป็นหัวใจสำคัญของการสัญจรแห่งอนาคต ความรู้ความเชี่ยวชาญที่ส่งเสริมกันระหว่างซิมบิโอและแชฟฟ์เลอร์จะทำให้อินโนเพลทมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโลกเข้าสู่ยุคแห่งการสัญจรด้วยพลังงานไฮโดรเจน”

●   ฟลอรองต์ เมอเนโกซ์ (Florent Menegaux) ประธานกรรมการบริหารของมิชลิน กล่าวว่า “การจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างซิมบิโอและแชฟฟ์เลอร์ครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญเชิงกลยุทธ์ที่จะผลักดันให้การสัญจรด้วยพลังงานไฮโดรเจนเกิดขึ้นได้เร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างศักยภาพของซิมบิโอให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านระบบเซลล์เชื้อเพลิงระดับโลกภายในปี 2573 เราเชื่อมั่นว่าการประสานความร่วมมือระหว่างกันในยุโรปจะช่วยให้ผู้ประกอบการทางอุตสาหกรรมในยุโรปก้าวขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าในด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคตได้ ซึ่งการร่วมพันธมิตรระหว่างบริษัทสัญชาติฝรั่งเศสและเยอรมันครั้งนี้ยืนยันประเด็นดังกล่าวได้เป็นอย่างดี”

เกี่ยวกับซิมบิโอ

●   ซิมบิโอ (Symbio) บริษัทพลังงานไฮโดรเจนที่ร่วมก่อตั้งโดย ‘มิชลิน’ และ ‘โฟเรอเซีย’ เป็นพันธมิตรระดับโลกด้านเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ (OEM) และผู้มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องการสัญจรอย่างยั่งยืน โดยมีความเชี่ยวชาญที่โดดเด่นและความสนใจในเรื่องการกำหนดมาตรฐานการผลิตยานยนต์ บริษัทฯ นำเสนอผลิตภัณฑ์ระบบไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Power Products) ครบทุกรูปแบบภายใต้ชื่อ StackPacks® เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างในด้านการคมนาคมขนส่ง ครอบคลุมตั้งแต่ยานยนต์เพื่อการพาณิชย์สำหรับใช้งานเบา, รถโดยสารประจำทางและรถบรรทุก ไปจนถึงยานยนต์ไฟฟ้าหลากประเภท ทั้งนี้ ซิมบิโอเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ด้านเซลล์เชื้อเพลิงของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำระดับโลกแห่งหนึ่งซึ่งกำลังจะเปิดตัวยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจนเป็นครั้งแรกในยุโรป เป้าหมายของซิมบิโอคือการเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการสัญจรด้วยพลังงานไฮโดรเจนที่มีค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยตั้งเป้าที่จะขยายกำลังการผลิต StackPacks® ทางอุตสาหกรรมทั่วโลกให้ได้สูงถึง 200,000 ชิ้นต่อปีภายในปี 2573 เพื่อรองรับการใช้งานของผู้ผลิตยานยนต์และการใช้งานเพื่อผลิตพลังงานไฮโดรเจนแบบติดตั้งอยู่กับที่ทั่วโลก คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.symbio.one

เกี่ยวกับกลุ่มแชฟฟ์เลอร์ : We Pioneer Motion

●   ในฐานะซัพพลายเออร์ชั้นนำระดับโลกในภาคอุตสาหกรรมและภาคยานยนต์ กลุ่มแชฟฟ์เลอร์ (Schaeffler Group) ได้ขับเคลื่อนพัฒนาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านการสัญจรและการเคลื่อนที่มานานกว่า 75 ปี ด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ตลอดจนผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อการสัญจรที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า, การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, อุตสาหกรรมดิจิทัล 4.0 และพลังงานหมุนเวียน ทำให้แชฟฟ์เลอร์เป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความน่าเชื่อถือในการผลักดันให้เกิดการสัญจรและการเคลื่อนที่ที่มีประสิทธิภาพ ชาญฉลาด และยั่งยืนยิ่งขึ้น บริษัทฯ ผลิตชิ้นส่วนและระบบที่มีความแม่นยำสูงสำหรับใช้งานกับระบบส่งกำลังและระบบช่วงล่าง รวมถึงผลิตตลับลูกปืนทั้งแบบลูกกลิ้งและแบบธรรมดาสำหรับใช้งานในอุตสาหกรรมหลากประเภท กลุ่มแชฟฟ์เลอร์มียอดขายอยู่ที่ราว 13.9 พันล้านยูโรในปี 2564 โดยเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีรากฐานมาจากกิจการครอบครัวที่ใหญ่สุดในโลกด้วยจำนวนพนักงานสูงถึง 83,000 คน นอกจากนี้ จากข้อมูลของสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าแห่งประเทศเยอรมนี (DPMA) แชฟฟ์เลอร์ยังเป็นบริษัทที่มีการพัฒนานวัตกรรมมากที่สุดเป็นอันดับสาม โดยได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรมากกว่า 1,800 รายการในปี 2564 คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.schaeffler.com

เกี่ยวกับฟอร์เวีย

●   ฟอร์เวีย (FORVIA) ผสานความแข็งแกร่งทั้งทางอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีจาก ‘โฟเรอเซีย’ และ ‘เฮลล่า’ (HELLA) โดยมีบทบาทในการสร้างทางเลือกที่แตกต่างและหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายด้านยานยนต์ในปัจจุบันและอนาคต บริษัทฯ มีพื้นที่อุตสาหกรรม 300 แห่ง และศูนย์วิจัยและพัฒนา 77 แห่ง จ้างงานพนักงานในกว่า 40 ประเทศรวมทั้งสิ้น 150,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นวิศวกรมากกว่า 35,000 คน ฟอร์เวียประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจ 6 กลุ่ม ซึ่งดูแลกลุ่มผลิตภัณฑ์รวม 24 กลุ่ม และมีรายการทรัพย์สินทางปัญญาจำนวนมากกว่า 14,000 สิทธิบัตร โดยมีพันธกิจมุ่งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปด้านการสัญจร คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.forvia.com

เกี่ยวกับมิชลิน

●   มิชลิน ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมยางรถยนต์ มุ่งมั่นส่งเสริมการสัญจรของลูกค้าอย่างยั่งยืน ออกแบบและจัดจำหน่ายยางที่เหมาะกับการใช้งานมากที่สุด ตลอดจนให้บริการและโซลูชั่นที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งครอบคลุมการให้บริการทางดิจิทัล การจัดทำคู่มือและแผนที่สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสประสบการณ์ที่แตกต่างไม่เหมือนใคร รวมถึงการพัฒนาวัสดุทางเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมการสัญจร กลุ่มมิชลินมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองแกลร์มง-แฟร็อง ประเทศฝรั่งเศส และมีสำนักงานสาขาอยู่ใน 177 ประเทศ โดยมีพนักงาน 124,760 คนทั่วโลก และมีโรงงานผลิตยาง 68 แห่ง ซึ่งผลิตยางรวมกันได้สูงถึง 173 ล้านเส้นในปี 2564 คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.michelin.co.th     ●