September 1, 2022
Motortrivia Team (10069 articles)

All-New Honda BR-V EL 280 กิโลเมตร นั่ง 4 คน 15.5 กม./ลิตร

เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ

●   ทิ้งช่วงจากการประกาศราคาได้ไม่นาน ทีมงานมอเตอร์ทริเวียก็ได้ทดลองขับ เจเนอเรชั่นที่ 2 ของซับคอมแพกต์เอสยูวี 7 ที่นั่ง นำเข้าจากอินโดนีเซีย ฮอนด้า BR-V รุ่นย่อยสูงสุด EL สีขาวมุก Premium Sunlight White Pearl ซึ่งเป็นสีเฉพาะรุ่น EL ราคา 977,000 บาท โดยการทดลองขับเป็นแบบ One Day Trip กรุงเทพฯ-สระบุรี ระยะทางรวมประมาณ 280 กิโลเมตร

ภายนอกเรียบง่ายลงตัว

●   รูปลักษณ์ภายนอกเน้นเส้นสายที่ดูสะอาดตา เรียบง่าย และให้ความรู้สึกหนักแน่น ชุดไฟหน้า LED พร้อมระบบปิด-ปิดไฟหน้าอัตโนมัติ มีไฟ DRL แบบ LED เช่นกัน กระจังหน้า Piano Black มีคิ้วโครเมียมด้านบนที่ออกแบบให้เป็นคิ้วไฟหน้าไปในตัว ด้านล่างของกันชนมีสปอตไลต์ LED ขอบล่างของตัวรถรวมทั้งคิ้วขอบล้อเป็นสีดำสไตล์รถลุย

●   ล้อแม็กทูโทนขนาด 7×17 นิ้ว ยาง 215/55 R17 เว้นช่องระหว่างซุ้มล้อกำลังสวย ความสูงตัวรถก้ำกึ่งระหว่างครอสโอเวอร์และเอสยูวี ตัวรถด้านข้างคาดเส้นลากยาวจากหน้าจรดท้าย เพิ่มความโฉบเฉี่ยวและรู้สึกมั่นคง แนวหลังคาลาดลงด้านหลังเล็กน้อยดูปราดเปรียวทันสมัย แต่ไม่กระทบกับพื้นที่เหนือศีรษะในห้องโดยสาร บนหลังคาติดตั้งแร็กและเสาอากาศแบบครีบฉลาม ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่ารถสไตล์นี้เกือบทุกรุ่นประตูบานหลังจะยาวกว่าบานหน้า เพราะต้องเปิดพื้นที่ให้ผู้โดยสารเบาะแถว 3 เข้า-ออกได้สะดวกด้วย ส่งผลพลอยได้ถึงผู้โดยสารแถว 2 ที่เข้าออกสะดวก ทัศนวิสัยกระจ่างเต็มตา เพราะกระจกข้างก็บานใหญ่ตามประตูไปด้วย

●   ด้านท้ายอาจดูโล่งๆ ไปนิด โดยเฉพาะช่องว่างระหว่างไฟท้ายที่เป็นแบบ LED มีเพียงโลโก้ฮอนด้าอยู่ตรงกลาง กระจกบานท้ายมีที่ปัดน้ำฝน พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 อยู่ด้านใน มีสปอยเลอร์หลังชิ้นเล็กๆ พร้อมหัวฉีดน้ำล้างกระจก ป้ายทะเบียนติดตั้งในกันชนที่ออกแบบกลมกลืนไปกับตัวรถ ด้านล่างของกันชนตกแต่งด้วยแผ่นกันกระแทกสีเงิน

●   การออกแบบภายนอกโดยรวมดูลงตัว ดูทันสมัย แต่ไม่ถึงกับหวือหวาเตะตามาก น่าจะดูได้นานโดยไม่เบื่อ ขนาดตัวรถก็กำลังเหมาะ ไม่เล็กจนภายในคับแคบ เพราะต้องรองรับได้ถึง 7 ที่นั่ง แต่ก็ไม่ใหญ่จนอึดอัดเมื่อขับในเมือง มิติตัวรถมีความยาว 4,490 มิลลิเมตร กว้าง 1,780 มิลลิเมตร สูง 1,685 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,695 มิลลิเมตร ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,548/1,540 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 209 มิลลิเมตร น้ำหนักรุ่น EL 1,285 กิโลกรัม

ห้องโดยสารเน้นประโยชน์ใช้สอย

●   ในรุ่นสูงสุด EL จะได้ภายในสีดำล้วน (รุ่น E จะเป็นทูโทน ดำ/เทา) แซมด้วยสีดำเงา Piano Black และสีเงินเมทัลลิกในตำแหน่งและสัดส่วนที่พอเหมาะ ไม่เยอะเกินไปจนดูรกตา ซึ่งก็สอดคล้องกับการออกแบบภายในที่เน้นความเรียบง่ายเช่นเดียวกับภายนอก แผงคอนโซลทรงเรียบ วางอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ในตำแหน่งที่แยกกันชัดเจน ใช้งานง่ายไม่สับสน และพยายามให้ทุกจุดในห้องโดยสารใช้ประโยชน์ได้สูงสุด โดยยังคงความสวยงามและทันสมัยไว้อย่างครบถ้วน ใส่ใจด้วยการใช้วัสดุอ่อนนุ่มในจุดที่สัมผัสบ่อยเช่น ที่เท้าแขนกลางเบาะหน้าและที่แผงประตูทั้ง 4 บาน รวมทั้งการตกแต่งด้วยหนังแท้ผสมหนังสังเคราะห์

●   ชุดมาตรวัดแบบเข็มทรงกลมทั้งวัดรอบและวัดความเร็ว ออกแบบให้อ่านค่าได้ง่าย ตรงกลางเป็นจอดิจิตอล TFT ขนาด 4.2 นิ้ว แสดงข้อมูลต่างๆ รวมทั้งการปรับตั้งระบบของตัวรถ ควบคุมด้วยปุ่มบนพวงมาลัยฝั่งขวา สั่งงานง่าย ภาพกราฟิกไม่ถึงกับสวยล้ำแต่ก็เข้าใจง่าย พวงมาลัย 3 ก้าน ขนาดวงไม่ใหญ่เทอะทะ ขนาดพอเหมาะจับกระชับมือและหุ้มหนัง มี Paddle Shift น่าเสียดายที่พวงมาลัยปรับได้แค่สูง-ต่ำ ไม่สามารถปรับใกล้-ไกลได้

●   คอนโซลกลางด้านบนติดตั้งช่องแอร์ขนาดใหญ่ ถัดลงมาเป็นจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว รองรับ Apple CarPlay และ Android Auto ผ่านพอร์ท USB-A ต่อเนื่องด้วยชุดสวิตช์แอร์แบบดิจิตอลอัตโนมัติ พร้อมจอแสดงสถานะที่ล้อมกรอบแยกสัดส่วนไว้อย่างชัดเจน เหนือคอนโซลเกียร์มีช่องวางแก้วน้ำ ช่องจ่ายไฟฟ้า 12 โวลต์ และ USB-A  2 ช่อง  คอนโซลเกียร์ตกแต่งด้วยสีดำเงา ล้อมกรอบด้วยเมทัลลิก ต่อเนื่องด้วยเบรกมือแบบสายสลิง ที่เท้าแชนกลางเบาะหน้าเป็นที่ใส่ของแบบมีฝาปิด เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าปรับระดับไม่ได้

●   ในส่วนของแผงคอนโซลและอุปกรณ์ต่างๆ ทำออกมาได้ดูดี ส่วนที่เป็นพลาสติกแข็งก็เลือกใช้ลวดลายที่ดูไม่ขัดสายตา การกดใช้งานสวิตช์ต่างๆ ก็ให้ความรู้สึกที่หนักแน่นดี ช่องไฟรอยต่อของชิ้นส่วนต่างๆ ค่อนข้างเนี๊ยบและสม่ำเสมอดี การประกอบประณีตใช้ได้ น่าจะแข็งแรงทนทานไม่ส่งเสียงรบกวนเมื่อผ่านการใช้งานไปนานๆ

●   เบาะนั่งและแผงประตูหุ้มหนังแท้ผสมวัสดุสังเคราะห์ เย็บด้วยด้ายสีขาว ลดความมืดทึมเพิ่มความสว่างได้ในระดับหนึ่ง เบาะผู้ขับปรับสูง-ต่ำได้ นั่งสบายพอสมควร กระจกมองข้างปรับและพับด้วยระบบไฟฟ้า ฝั่งซ้ายมีกล้องสำหรับระบบ Honda Lane Watch พร้อมเส้นกะระยะ แสดงผลที่จอบนคอนโซลกลางเมื่อเปิดไฟเลี้ยวหรือกดปุ่มบนก้านไฟเลี้ยว สามารถตั้งเวลาการแสดงผลหลังปิดไฟเลี้ยว หรือปิดการแสดงผลก็ได้ ส่วนกระจกมองหลังยังเป็นแบบคันโยกตัดแสง ที่บังแดดมีไฟส่องสว่าง ยังเป็นหลอดไส้สีออกส้มแดงเช่นเดียวกับไฟอ่านแผนที่ด้านหน้า

●   ย้ายไปนั่งเบาะแถว 2 ที่ปรับเลื่อนเดินหน้าถอยหลังได้ประมาณ 10 เซนติเมตร ปรับเอนได้ และแยกพับได้ในอัตราส่วน 60:40 ไม่ต้องห่วงเรื่องการกระจายความเย็น เพราะบนเพดานติดตั้งช่องแอร์ 3 ช่อง พร้อมสวิตช์ปรับแรงลม เป็นแอร์ที่มีคอยล์เย็นแยกจากด้านหน้า ไม่ใช่แค่ดูดลมเย็นจากด้านหน้ามาเป่าไปด้านหลัง เบาะแถว 2 จึงเย็นฉ่ำนั่งสบาย มีที่เท้าแขนตรงกลาง นั่ง 2 คนหลวมๆ สบายๆ แต่ถ้าจะนั่ง 3 คน ก็มีเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุดมาให้ครบทุกตำแหน่ง

●   เบาะแถว 2 ทั้ง 3 ฝั่ง มีก้านโยกที่โยกเพียงครั้งเดียวก็สามารถพับพนักพิงลงแนบกับเบาะนั่ง แล้วกระดกทั้งชุดไปด้านหน้า เพื่อให้ผู้โดยสารแถว 3 เข้าออกได้สะดวก และออกแบบให้ผู้โดยสารแถว 3 สามารถโยกคันโยกได้เองอย่างสะดวกด้วย เมื่อเบาะทั้งชุดกระดกไปด้านหน้าแล้ว เวลาเข้าออกจากเบาะแถว 3 ต้องระวังไม่ไปเท้าหรือกดลงน้ำหนักบนเบาะแถว 2 ที่กระดกค้างอยู่ เพราะตัวเบาะอาจปิดลงมาทับเท้าได้ แต่เท่าที่ลองกดดู ก็ต้องใช้แรงเยอะพอสมควร

●   ลองย้ายไปนั่งเบาะแถว 3 กับความสูง 170 เซนติเมตร ยังนั่งได้ ยิ่งถ้าเลื่อนเบาะแถว 2 ไปด้านหน้าด้วย ก็จะช่วยเพิ่มพื้นที่บริเวณเข่าได้ ศีรษะยังไม่ติดเพดาน ลองสอดเท้าเข้าไปใต้เบาะแถว 2 ต้นขาด้านหลังก็ยังไม่แนบกับตัวเบาะอยู่ดี แม้พื้นห้องโดยสารจะทำเป็นหลุมลงไปเล็กน้อย แต่ก็ไม่ถึงกับนั่งคางเกยเข่าสำหรับความสูงเท่านี้ แต่ถ้าตัวสูงขายาวมากๆ น่าจะนั่งลำบาก

●   พนักพิงเบาะแถว 3 ปรับเอนได้ และเวลานั่งต้องดึงหมอนรองศีรษะขึ้นด้วย การพับพนักพิงเบาะแถว 3 ก็ใช้วิธีเดียวกับเบาะแถว 2 เมื่อนั่งครบ 3 แถว จะเหลือที่วางของด้านหลังไม่มากนัก ฮอนด้าพยายามเพิ่มพื้นที่ด้วยการออกแบบพื้นห้องเก็บสัมภาระด้านท้ายให้แยกส่วน ยกขึ้นมาวางเป็นแบบ 2 ชั้นได้ ด้านล่างจะมีช่องเตี้ยๆ สำหรับวางสิ่งของขนาดเล็กได้อีกพอสมควร แต่ถ้าใช้เดินทางไกลนั่งเต็มความจุ 7 คน สัมภาระของแต่ละคนก็คงต้องนำขึ้นไปใส่กล่องไว้บนหลังคา

●   ห้องโดยสารโดยรวมถือว่าน่าพอใจทั้งในแง่การออกแบบ การประกอบ และประโยชน์ใช้สอย เบาะนั่งปรับได้ แต่ก็ยังให้ความรู้สึกแน่นหนาเมื่อนั่ง ไม่โยกคลอนหรือหลวม ความกว้างขวางรองรับได้ 7 คนใช้งานได้จริง อุปกรณ์มาตรฐานต่างๆ ก็ครบครัน เท่าที่ทดลองใช้งานก็ไม่รู้สึกว่าขาดแคลนหรืออยากได้อะไรเพิ่ม บางอย่างที่ขาดหายไปก็ไม่ถึงกับกระทบกับความสะดวกสบายมากนัก การเก็บเสียงก็ทำได้ดี ขับชิลๆ ความเร็วตามกฎหมายแทบไม่ได้ยินเสียงลมหรือเสียงเครื่องยนต์ แต่ถ้าคิ๊กดาวน์ลากรอบสูงก็ย่อมมีเสียงเข้ามาบ้างเป็นเรื่องปกติ เสียงยางก็ค่อนข้างเงียบสมกับที่เลือกใช้ยางคุณภาพสูง ยกเว้นเจอผิวถนนที่แย่จริงๆ

Honda SENSING 6 ระบบ ให้ครบทุกรุ่นย่อย

●   ลองเปรียบเทียบรุ่น E และ EL สีตัวรถเหมือนกันคือดำคริสตัล (มุก) ราคาต่างกัน 52,000 บาท ระบบความปลอดภัยต่างกันที่รุ่น EL มีแอร์แบ็กข้าง นอกนั้นเหมือนกันหมด จะไปต่างกันที่อุปกรณ์อำนวยความสะดวกและการตกแต่งเป็นหลัก ซึ่งก็เป็นแนวทางที่ดีที่หลายแบรนด์ก็ทำในทิศทางเดียวกัน เพราะไม่ว่าจะจ่ายเงินมากหรือน้อย ก็ควรได้ความปลอดภัยเหมือนกัน เช่นเดียวกับระบบ Honda SENSING ที่ฮอนด้าก็ให้มาเท่ากันทั้ง 2 รุ่นย่อย ประกอบด้วย

●   ระบบเตือนการชนพร้อมระบบช่วยเบรก (Collision Mitigation Braking System: CMBS), ระบบช่วยควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถ (Lane Keeping Assist System: LKAS) ทำงานที่ความเร็ว 72 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป, ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบแปรผัน (Adaptive Cruise Control: ACC)

●   ควบคุมความเร็วและปรับความเร็วอัตโนมัติ ด้วยกล้องตรวจจับรถคันหน้า เพื่อรักษาระยะห่างจากรถคันหน้าอย่างเหมาะสม ทำงานที่ความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป

●   ระบบเตือนและช่วยควบคุมเมื่อรถออกนอกช่องทางเดินรถ (Road Departure Mitigation System with Lane Departure Warning: RDM with LDW) ทำงานที่ความเร็ว 72 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป,ระบบปรับไฟสูงอัตโนมัติ (Auto High-Beam: AHB)ทำงานที่ความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป, ระบบเตือนเมื่อรถคันหน้าเคลื่อนที่ (Lead Car Departure Notification System: LCDN) ทำงานเมื่อตรวจพบว่ารถคันหน้าที่อยู่ห่างกันไม่เกิน 10 เมตรมีการเคลื่อนที่ และรถของผู้ขับไม่มีการเคลื่อนที่

●   ตลอดการขับได้ลองใช้ระบบ Lane Keeping Assist System และ Road Departure Mitigation System with Lane Departure Warning แม้จะมีการปรับให้สอดคล้องกับการใช้งานมากขึ้น แต่ก็ยังรู้สึกว่าระบบรบกวนการขับมากไปนิดในบางจังหวะ เช่น การขับบนทางคดเคี้ยวที่ต้องตัดเลนบ้างเพื่อลดการโคลงหรือเหวี่ยงของตัวรถ และไม่ได้เปิดไฟเลี้ยว (เพราะไม่ได้จะเลี้ยว) ระบบก็จะเตือนและพยายามดึงพวงมาลัยให้อยู่ในเลน ทำให้ต้องต่อสู้กับระบบบ้าง ซึ่งก็สามารถสั่งปิดระบบได้ด้วยการกดปุ่มเพียงไม่กี่ครั้ง

เกินคาดทั้งสมรรถนะและอัตราสิ้นเปลือง

●   เห็นตัวเลขในแคตาล็อกแล้วไม่คาดหวังมาก และคิดว่ารถรุ่นนี้น่าจะเน้นที่ความเอนกประสงค์ของห้องโดยสารและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเป็นหลัก ส่วนเครื่องยนต์ก็แค่ไปได้เรื่อยๆ สไตล์รถครอบครัว ขับได้ไม่หวือหวาทั้งอัตราเร่งและความประหยัด แต่หลังจากได้ลองขับแล้วก็เปลี่ยนความคิด

●   BR-V ใหม่ใช้เครื่องยนต์บล็อกใหม่ เป็นแบบเบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว i-VTEC ความจุ 1,498 ซีซี กระบอกสูบ 73 มิลลิเมตร ช่วงชัก 89.5 มิลลิเมตร อัตราส่วนการอัด 10.6:1 กำลังสุงสุด 121 แรงม้า ที่ 6,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 14.79 กก.-ม. ที่ 4,300 รอบต่อนาที รองรับ E20 ถังน้ำมันจุ 42 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ CVT ล็อกได้ 7 จังหวะ

●   ขับความเร็วต่ำตอบสนองดีเป็นเรื่องปกติ แต่ที่แปลกใจคือ เมื่อใช้ความเร็วปานกลางแล้วเร่งแซง ที่ทำได้ดีเกินคาดทั้งที่นั่งกัน 4 คน กดคันเร่งเพิ่มความเร็วแบบไม่คิ๊กดาวน์ ก็รู้สึกว่ารถตอบสนองได้ดี มีการเปลี่ยนความเร็วที่ชัดเจน ส่วนการกดคันเร่งสุดรอบจะไปคาอยู่แถวๆ 6,000 รอบต่อนาที ความเร็วก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นทางตรงโล่งยาวเลยลองกดคันเร่งต่อ ใช้ระยะทางกับเวลาไม่นานก็ทำความเร็วแตะ 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้แล้ว แต่ดูจะเค้นเครื่องยนต์มากไปนิด ลองอัตราเร่งแล้วก็กลับมาขับเหมือนใช้งานปกติ เร่งแซงตามจังหวะ ใช้ความเร็วตามกฎหมาย ขับได้สบายๆ ไม่เครียด ทำอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยได้ 15.5 กิโลเมตรต่อลิตร สูสีกับตัวเลขจากฮอนด้าที่เคลมไว้ 16.1 กิโลเมตรต่อลิตร ซึ่งก็ประหยัดกว่าที่คาดไว้เช่นกัน ถ้านั่งเต็มความจุ 7 คน พร้อมสัมภาระ อัตราสิ้นเปลืองก็น่าจะลดลงบ้างตามสัดส่วน

●   โดยรวมเป็นเครื่องยนต์ที่ขับให้ประหยัดได้ง่าย เพราะใช้รอบค่อนข้างต่ำ ประมาณไม่เกิน 2,000 รอบต่อนาที ก็ทำความเร็วได้กว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว ถ้าขับความเร็วนิ่งๆ แล้วไฟ ECO สีเขียวใต้มาตรวัดความเร็วสว่างขึ้น แสดงว่าเครื่องยนต์ทำงานอยู่ในช่วงประหยัดสูงสุด อัตราเร่งไม่อืด แต่ก็ไม่หวือหวา ถ้าต้องการความเร่งด่วนต้องใช้รอบสูงช่วยเพิ่มแรงบิด

ช่วงล่างหนักแน่น เบรกดี

●   BR-V ใช้ระบบกันสะเทือนหน้าอิสระ แม็กเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังทอร์ชั่นบีม ตัวรถมีระยะต่ำสุด 209 มิลลิเมตร สูงกว่ารถเก๋งอย่างซีวิค EL ที่มีระยะต่ำสุด 126 มิลลิเมตร แอคคอร์ด 131.3 มิลลิเมตร ซิตี้ 135 มิลลิเมตร และสูงกว่า HR-V ที่มีระยะต่ำสุด 196 มิลลิเมตร ขับทางวิบากเล็กๆ แต่ไม่ถึงขั้นออฟโรดโหดๆ ได้อย่างสบายใจ ช่วงล่างปรับเซตมาค่อนข้างแข็ง น่าจะเพื่อลดอาการโคลงจากความสูงของรถ รวมทั้งเผื่อรองรับการนั่งเต็มความจุ 7 คนด้วย

●   นั่ง 4 คน ขับความเร็วต่ำอาจรู้สึกตึงตังไปนิด โดยเฉพาะเบาะแถว 2 แต่ส่งผลดีเมื่อใช้ความเร็วสูงหรือขับบนทางคดเคี้ยว ตัวรถค่อนข้างนิ่ง ควบคุมรถได้ง่าย ยางขนาด 215/55 R17 ให้การดูดซับแรงสะเทือนที่ดี รู้สึกได้ชัดเมื่อขับผ่านรอยต่อถนน และให้ความรู้สึกในการหมุนพวงมาลัยที่ดีด้วย การเลือกใช้ยางติดรถที่มีคุณภาพค่อนข้างสูง นับเป็นเพิ่มต้นทุนที่คุ้มค่า เพราะช่วยยกระดับความรู้สึกในการขับ การทรงตัวและการเบรกให้ดีขึ้นด้วย

●   ระบบเบรกหน้าดิสก์หลังดรัม หน้าตาไม่หล่อแต่นิสัยดี เบรกได้นุ่มนวลตั้งแต่ครั้งแรกที่ขับ เพราะเบรกไม่จับตัวเร็วเกินไป ให้แรงเบรกที่สัมพันธ์กับน้ำหนักเท้าที่กดแป้นเบรก แล้วก็สร้างแรงเบรกได้หนักแน่น ไม่มีอาการเบรกไหลให้ต้องลุ้น แต่ยังไม่ได้ลองเบรกแบบฉุกเฉิน มีตัวช่วยตามมาตรฐานทั้ง ABS และ EBD มีระบบไฟฉุกเฉินอัตโนมัติเมื่อเบรกกะทันหัน

●   พวงมาลัยแร็กแอนด์พิเนียนไฟฟ้า ปรับน้ำหนักมาในแบบที่ชอบคือ ค่อนไปทางหนืด ไม่เบาหวิว และหนักหนืดขึ้นเมื่อใช้ความเร็วสูง เหมาะกับรถทรงสูง ขับแล้วนิ่งไม่วูบวาบ และไม่ต้องประคองพวงมาลัยมากเกินไป การหมุนราบเรียบต่อเนื่อง การตีคืนพวงมาลัยหลังออกจากยูเทิร์น ก็ทำได้รวดเร็ว วงเลี้ยว 5.3 เมตร ขับได้คล่องแบบเก๋งขนาดกลาง

●   ฮอนด้า BR-V ใช้เป็นรถคันเดียวของบ้านได้ วันธรรมดาขับไปทำงานก็คล่องตัว ไม่ใหญ่เกะกะ วันหยุดรวมตัวกันทั้งครอบครัวก็รองรับได้ 7 ที่นั่ง เบาะปรับได้หลายรูปแบบ กำลังของเครื่องยนต์เพียงพอให้ขับท่องเที่ยวเดินทางไกลได้อย่างมั่นใจ ไม่กินน้ำมันดุเดือด ช่วงล่างหนักแน่นนุ่มนวล ขับเบาแรงแบบเก๋ง แต่ลุยทางขรุขระได้ดีกว่าเก๋ง สะดุดอยู่เรื่องเดียวคือ ราคา 977,000 บาท แพงกว่าคู่แข่งพอสมควร แต่ฮอนด้าก็พยายามใส่ความคุ้มค่าเข้าไปในหลายจุด เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 3,000 คัน ภายใน 1 ปีหลังการเปิดตัว     ●

ขอบคุณ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด

Group Test : 2022 Honda BR-V EL