September 27, 2022
Motortrivia Team (10196 articles)

ในปี 2022 สถานีบริการไฮโดรเจนสำหรับรถ FCEV มีปริมาณเท่าใด?

เรื่อง : AREA 54

●   ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างไม่รู้จบว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบไฮโดรเจน ฟิว เซลล์ หรือ Fuel Cell Electric Vehicle (FCEV) ยังมีโอกาสเกิดในเชิงพาณิชย์หรือไม่? เมื่อยกมือขึ้นมานับนิ้วเพื่อดูการแข่งขันของรุ่นรถในตลาด เราจะพบว่ามีรถ FCEV อยู่เพียงไม่กี่รุ่นที่อยู่บนสายพานการผลิต และผู้ขับในต่างประเทศน่าจะยิ่งรู้สึกปวดหัวขึ้นไปอีกเมื่อต้องคิดว่าเมื่อซื้อรถแล้วจะวางแผนไปเติมไฮโดรเจนที่ไหน?

●   แม้ว่าไฮโดรเจนจะอยู่ในกลุ่มเชื้อเพลิงสำหรับการเดินทางหรือขนส่งคาร์บอนต่ำ ทว่า ณ ปัจจุบันรถ FCEV มีส่วนแบ่งทางการตลาดทั่วโลกเพียง 0.01% ในขณะที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่มีแนวโน้มในการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเกือบทุกภูมิภาค

●   ปัจจุบันรถ FCEV ส่วนบุคคลรุ่นหลักๆ ที่ทำตลาดโลก และมีการผลิตในเชิงปริมาณ ไม่นับรวมรถ FCEV ในกลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์หรืออื่นๆ มีเพียง 3 รุ่นเท่านั้น ประกอบด้วย (1) Honda Clarity (2) Hyundai Nexo และ (3) Toyota Mirai

Hyundai Nexo

การตั้งสถานีไฮโดรเจนไม่ใช่งานการกุศล

●   อันที่จริง เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานนั้น ทั่วโลกมีการวางแผนงานระยะสั้นและระยะยาวมาอย่างต่อเนื่อง บ้างก็สำเร็จ บ้างก็ล่าช้าตามแต่ละสถานการณ์นั้นๆ (เช่น ชะงักงันจากการระบาดของ COVID-19) ยกตัวอย่าง ในปี 2016 สหรัฐฯ เคยอนุมัติงบประมาณถึง 46.6 ล้านดอลลาร์โดยคณะกรรมาธิการพลังงานแห่งรัฐ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างสถานีไฮโดรเจน 100 แห่งภายใน 10 ปี… งบฯ ดังกล่าวนั้นเป็นงบฯ เบื้องต้นสำหรับการสร้างสถานีไฮโดรเจนเพียง 28 แห่งเท่านั้น และล่าสุถดในปี 2022 นี้ สหรัฐฯ เพิ่งมีสถานีไฮโดรเจนที่เปิดให้บริการบุคคลทั่วไปเพียง 45 สถานี

●   ในปีเดียวกันที่ประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดโครงการสังคมไฮโดรเจน หรือ Hydrogen Society ประกาศเพิ่มจำนวนสถานีไฮโดรเจนจาก 80 สถานีเป็น 160 สถานี ภายในช่วงปี 2020 ทว่าล่าสุดในปี 2022 นี้ ญี่ปุ่นมีสถานีไฮโดรเจนทั้งหมด 159 สถานี แม้จะไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่ต้องให้เครดิทกับญี่ปุ่น เพราะตัวเลขนี้ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีจำนวนสถานีไฮโดรเจนมากที่สุดในโลก

●   เหตุผลสำคัญอีกประการ… การตั้งสถานีไฮโดรเจนไม่ใช่งานการกุศล และไม่ใช่เรื่องง่าย อันดับแรกต้องคำนึงถึงสถานที่, งบประมาณในการก่อสร้าง, ต้องมีโรงผลิตก๊าซไฮโดรเจนรองรับ, ระบบขนส่งก๊าซในรูปแบบต่างๆ, ระบบความปลอดภัยที่เข้มงวดอย่างมาก* และท้ายที่สุดแล้ว สถานีนั้นๆ จะต้องมีรถ FCEV เข้ามาใช้บริการด้วย (อย่างน้อยก็ขอให้ถึงจุดคุ้มทุน ซึ่งตรงนี้ความร่วมมือระหว่างรัฐฯ และเอกชนจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวด)

หมายเหตุ : *ฮอนด้าตั้งสถานีไฮโดรเจนในแคลิฟอร์เนียโดยมีการวางแผนงานร่วมกับหน่วยงานรัฐอย่างน้อย 2 แห่ง ครอบคลุมงานออกแบบ, การก่อสร้าง และการวางแผนงานด้านความปลอดภัย พวกเขาใช้กล้องอินฟราเรดตรวจจับการทำงานของระบบทุกจุดตลอดเวลา และจะทำการหยุดทุกระบบการทำงานโดยอัตโนมัติ ทันทีที่เกิดเพลิงไหม้ หรือแผ่นดินไหว

Honda Clarity Fuel Cell

มีข้อดีย่อมมีข้อเสีย

●   รถ FCEV มีมลพิษเป็นศูนย์ และปล่อยของเหลือเพียงแค่น้ำจริงไหม? จริงครับ… รถฟิวเซลล์เป็นรถไฟฟ้ารูปแบบหนึ่ง หลักการทำงานคร่าวๆ คือ ระบบจะใช้ไฮโดรเจนจากถังบรรจุเป็นสารตั้งต้นร่วมกับออกซิเจนในอากาศ จากนั้นป้อนส่วนผสมดังกล่าวเข้าไปในเซลล์เชื้อเพลิง หรือ Cell stack แล้วผ่านกระบวนการทางเคมีเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้า โดยมีสิ่งที่คงเหลือเป็นน้ำ (H2O)

●   ทว่ากระบวนการผลิตไฮโดรเจนในเชิงพาณิชย์ไม่ได้สะอาดขนาดนั้น โดยพื้นฐานการผลิตไฮโดรเจนจะมีการนำก๊าซธรรมชาติมาทำปฏิกิริยากับไอน้ำอุณหภูมิสูงเพื่อเปลี่ยนสภาพของสารตั้งต้นให้เป็นก๊าซไฮโดรเจน กระบวนการนี้เรียกว่า SMR หรือ Steam Methane Reformation ซึ่งระหว่างกระบวนนี้จะมีการก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย นอกจากนี้ขั้นตอนการขนส่งไฮโดนเจนไปยังสถานีด้วยรถบรรทุก ก็ยังคงเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ก่อให้เกิดมลพิษด้วยเช่นกัน ที่สำคัญไฮโดรเจนนั้นเป็นเชื้อเพลิงที่มีความไวไฟสูง และมีโอกาสที่จะรั่วไหลจากถังกักเก็บได้

●   สถานีไฮโดรเจนแยกเป็น 2 แบบหลักๆ ประกอบด้วย (1) Home hydrogen fueling station สถานีไฮโดรเจนสำหรับให้บริการบุคคลทั่วไป และ (2) Hydrogen highway สถานีไฮโดรเจนแบบเครือข่ายซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างเอกชน หรือระหว่างรัฐฯ เช่น การให้บริการเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางในยุโรปตะวันตก เป็นต้น

●   โดยรวมแล้ว อย่างที่กล่าวมาข้างต้น การเติบโตของรถ FCEV ส่วนบุคคลนั้น ปัญหาไม่ได้ซับซ้อนอะไร และไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีฟิวเซลล์ด้วย…. ปัญหาหลักอยู่ที่การแข่งขันในตลาดของผู้ผลิตรถยนต์มีน้อยเกินไป ยังผลให้จำนวนสถานีไฮโดรเจนมีอัตราการขยายตัวที่เชื่องช้าตามไปด้วยนั่นเอง (ยกเว้นการใช้งานในกลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์) ●

Toyota Mirai

จำนวนสถานีไฮโดรเจนในปี 2022 โดยประมาณ

ประเทศจำนวนสถานี
ญี่ปุ่น159
เกาหลีใต้112
จีน105
เยอรมนี101
สหรัฐอเมริกา45
ฝรั่งเศส41
สหราชอาณาจักร19
สวิทเซอร์แลนด์12
เนเธอร์แลนด์11
แคนาดา9
เดนมาร์ค6
นอร์เวย์5
ออสเตรีย5
ออสเตรเลีย4
สวีเดน4
ไอซ์แลนด์3
เบลเยียม3
อินเดีย3
สเปน3
บราซิล1
อิตาลี1
สาธารณนัฐเชค1
ฮังการี1
มาเลเซีย1
ตุรกี1
ซาอุดิ อารเบีย1
สโลวีเนีย1
ไต้หวัน1
สหรัฐอาหรับเอมิเรทส์1
คอสตา ริกา1

หมายเหตุ : ข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 รวมกับส่วนหนึ่งจากเว็บไซท์ www.statista.com