December 16, 2022
Motortrivia Team (10167 articles)

NielsenIQ ถอดรหัสความสำเร็จ 4 บริษัทยานยนต์ในประเทศไทย

ประชาสัมพันธ์

●   “คุณภาพ” คือหนึ่งในหัวใจสำคัญของหนทางสู่ความสำเร็จของเจ้าของสินค้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เช่นยานพาหนะ ซึ่งคุณภาพเกี่ยวข้องอย่างยิ่งยวดกับความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และความเป็นอยู่ของผู้ใช้งาน

●   ทีมวิจัยฝ่ายยานยนต์ของ นีลเส็นไอคิว (NielsenIQ) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาประสบการณ์ลูกค้าและการวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้ถอดรหัสความสำเร็จผ่านมุมมองที่น่าสนใจของผู้บริหารค่ายยานยนต์อันดับต้นๆ ของประเทศไทย อย่าง อีซูซุ มาสด้า มิตซูบิชิ และ โตโยต้า ว่าพวกเขามีมุมมองต่อคำว่าคุณภาพเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในอุตสาหกรรมนี้ต้องมีอะไรบ้าง ที่สำคัญกว่านั้นคือ พวกเขามองอนาคตของวงการผู้ผลิตยานยนต์ต่อจากนี้อย่างไร

คุณสมคิด ประดิษฐ์กำจรชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

ความต้องการด้านคุณภาพรถยนต์ของผู้บริโภคชาวไทยมีการเคลื่อนตัวตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

●   สามองค์ประกอบหลักของสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพคือ มีการดำเนินการที่ได้ประสิทธิภาพตามที่ต้องการ สามารถสร้างความพึงพอใจ และ คุ้มค่าราคาจ่าย จึงไม่แปลกที่ความต้องการด้านคุณภาพของยานยนต์จะมีวิวัฒนาการตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป โดยปัจจัยที่ส่งผลการเปลี่ยนแปลงในมุมมองของผู้บริหารทั้งสี่ท่านคือ

●   เทคโนโลยีและการเชื่อมต่อ (Technology & Connectivity): คุณสมคิด ประดิษฐ์กำจรชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มองว่า “ความต้องการด้านคุณภาพรถยนต์ของผู้บริโภคในอดีตจนถึงปัจจุบันปรับเปลี่ยนตามพัฒนาการของ เทคโนโลยีและการเชื่อมต่อ (Technology & Connectivity) ” เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ผู้ผลิตก็ต้องนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อพัฒนาสมรรถนะยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นระบบการขับขี่, ชุดควบคุมอิเลกทรอนิกส์ , ระบบขับเคลื่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ผลิตจะสามารถละเลยความต้องการพื้นฐาน เช่น การขับขี่นุ่มนวล ที่นั่งสบาย คุณภาพเครื่องยนต์ ความทนทาน ไม่มีเสียงรบกวน และ ชิ้นส่วนที่ดีได้ ผู้ผลิตต้องคงคุณภาพของความต้องการเดิม ในขณะที่ผู้บริโภคจะคำนึงถึงปัจจัยด้านเทคโนโลยีในการตัดสินใจซื้อมากขึ้น

คุณเคนอิจิโร ซารุวาตาริ ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด

●   ด้านคุณเคนอิจิโร ซารุวาตาริ ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่าเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่มีการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่อย่างต่อเนื่องก็มีผลต่อความต้องการด้านคุณภาพ และผู้ผลิตสามารถเสริมเทคโนโลยีใหม่เข้าไปเพื่อให้รถยนต์กลายเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมต่อได้

●   เทรนด์, กฎระเบียบของรัฐบาล (Government Regulations) และ ประเด็นสังคม (Social Issues) : คุณซารุวาตาริมองว่า ในยุคที่พลเมืองโลกหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ทำให้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในเทรนด์และโจทย์ที่ผู้ผลิตรถยนต์ได้รับ และกฎระเบียบของรัฐบาลเองที่มีความแตกต่างในแต่ละประเทศ อย่างเช่นเป้าหมาย Carbon neutrality และ Net Zero Emission ก็เป็นตัวกำหนดรูปแบบของผลิตภัณฑ์ด้วยเช่นกัน คุณซารุวาตาริยังได้ยกตัวอย่างที่ประเด็นทางสังคมส่งผลต่อความต้องการด้านคุณภาพว่า ในประเทศญี่ปุ่น ผู้สูงอายุมักประสบอุบัติเหตุจากการใช้รถยนต์บ่อยครั้งเมื่อเทียบกับวัยอื่นๆ จึงต้องมีการออกแบบระบบการขับขี่ที่สามารถเข้ามาช่วยเหลือตรงนี้ได้

●   ความต้องการทางด้านจิตใจ: ทุกวันนี้ผู้บริโภคมีความต้องการและความคาดหวังที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองทั้งด้านการใช้งาน และ ทางด้านจิตใจหรืออารมณ์ความรู้สึก (Emotional Benefit) ด้วย เช่น การออกแบบให้รถมีความสวยงาม หรูหรา ภูมิฐาน บ่งบอกถึงสถานะทางสังคม รวมไปถึงการสร้างความภาคภูมิใจในการเป็นเจ้าของ เป็นต้น คุณวิชัย สินอนันต์พัฒน์ กรรมการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าว

คุณวิชัย สินอนันต์พัฒน์ กรรมการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด

●   เมื่อความต้องการมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ‘เสียงของลูกค้า’ จึงเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตต้องหมั่นคอยฟัง ดังที่คุณเออิอิชิ โคอิโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวว่า ไม่ใช่แค่กาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงความต้องการของลูกค้า ตลาดของรถที่ต่างกันในแต่ละประเทศและเซกเมนต์รถยนต์ที่ต่างกัน ก็ทำให้ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มแตกต่างกันออกไป ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องฟังเสียงของลูกค้าเสมอว่าลูกค้าใช้รถอย่างไร พวกเขาต้องการอะไร และมีผลตอบรับอย่างไร ข้อมูลเหล่านั้นมีค่าและเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตต้องการ ความเร็วในการได้ข้อมูลและการนำข้อมูลไปใช้ต่อก็สำคัญ มิตซูบิชิจึงได้ปลูกฝังแนวคิดที่พนักงานต้องคิดถึงความพึงพอใจของลูกค้าเป็นหลักไว้ในวัฒนธรรมขององค์กร

ความท้าทายของผู้ผลิตในการตอบสนองความต้องการด้านคุณภาพ

●   ผู้บริหารทุกท่านเห็นพ้องต้องกันว่า ‘การรักษาคุณภาพ’ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่มีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีใหม่เข้ามา ผู้ผลิตต้องทำความเข้าใจในลักษณะการทำงานของมันอย่างถ่องแท้เพื่อที่จะไม่ให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการ ชิ้นส่วน ซับพลายเออร์ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ มีผลกระทบต่อคุณภาพของรถและความพึงพอใจของผู้ใช้งานในปัจจุบัน

คุณเออิอิชิ โคอิโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด

●   เช่น อีซูซุ มีการคุมเรื่องของการรักษาระดับมาตรฐานในทุกกระบวนการตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การผลิต การส่งมอบรถ และการบริการหลังการขาย เพื่อทำให้ลูกค้ามั่นใจในคุณภาพของรถตลอดการใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้งานยาวนานกว่า 10 ปี มาสด้า เชื่อในการทำงานร่วมกันในทุกขั้นตอนการทำงานของ ทีมดีไซน์ ทีมวิศวกร และทีมที่คุมกระบวนการผลิตเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ความเร็วที่ทีมงานพบปัญหาและสามารถแก้ปัญหาได้ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก มิตซูบิชิ เชื่อว่าความแตกต่างและความหลากหลายของความต้องการของลูกค้าเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย ดังนั้นการเรียงลำดับความสำคัญ และโฟกัสว่าจุดไหนสำคัญสำหรับลูกค้าและองค์กรมากสุดเป็นสิ่งสำคัญ เพราะรถยนต์แต่ละโมเดล ก็มีจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์ที่ต่างกัน และ โตโยต้า มีมาตรการและกระบวนการที่สามารถการันตีเรื่องของ ‘ความปลอดภัยและคุณภาพ’ เริ่มจากการปลูกฝังให้ทุกคนในองค์กรยึดมั่นในแนวคิดนี้ นอกจากนี้ยังใช้ การบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) โดยมุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) เพื่อไม่ให้ปัญหาไปถึงลูกค้าได้ ซึ่งต้องอาศัยผู้บริหาร เข้าไปดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิดด้วย

ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมยานยนต์

●   ถึงแม้ว่าแต่ละค่ายจะมีนโยบายหรือแนวคิดบางอย่างที่แตกต่างกันออกไป เห็นได้ชัดว่าสิ่งที่เหมือนกันคือการ ‘ฟังเสียงของผู้บริโภค’ และออกแบบรถยนต์ที่สามารถตอบสนองความต้องการ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้งานได้ โดยมุมมองของผู้บริหารจากทั้ง 4 ค่ายต่อปัจจัยสู่ความสำเร็จในอุตสาหกรรมยานยนต์มีดังต่อไปนี้

●   ผู้บริหารทุกท่านมองว่าสภาพของตลาดยานยนต์กำลังอยู่ในช่วงของการ rebound ตลาดเริ่มที่จะขยายตัวหลังจากที่สถานการณ์ โควิด-19 เริ่มดีขึ้น ผู้คนเริ่มออกมาใช้ชีวิต ไม่ว่าจะกลับมาทำงาน ท่องเที่ยว หรือแม้แต่การ camping อย่างไรก็ตาม ดังที่คุณสมคิดและคุณวิชัยให้ความเห็นว่าปัจจัยที่ท้าทายยังคงมีอยู่ เช่น ราคาวัตถุดิบ อย่างราคาเหล็กที่สูงขึ้น และการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่ยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลต่อความเสี่ยงทางด้าน Supply ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาดูต่อไป ขณะที่ภาคเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น จะส่งผลกระทบด้าน Demand หรือกำลังซื้อของลูกค้า ทำให้การคาดการณ์ตลาดปีนี้ทำได้ค่อนข้างยาก

●   ถึงแม้จะยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนแต่ก็ดูเหมือนว่าตลาดรถยนต์กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งสำหรับผู้ผลิตแล้วการให้ความสำคัญกับ เสียงผู้บริโภค ทีมเวิร์ค กระบวนการผลิต และความปลอดภัย ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการคงคุณภาพ ไม่ใช่แค่ในอุตสาหกรรมรถยนต์แต่ดูเหมือนว่าปัจจัยเหล่านี้ก็มีส่วนสำคัญต่อคุณภาพสินค้าในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่นเดียวกัน

●   สุดท้ายนี้การที่ทั้งสี่ค่ายยานยนต์เคยได้รับรางวัลคุณภาพรถใหม่ในประเทศไทยถือเป็นความภาคภูมิใจต่อผลตอบรับจากเสียงของผู้บริโภคที่ผู้บริหารทุกคนในที่นี้ ให้ความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และเป็นรางวัลแด่ความทุ่มเทเพื่อคุณภาพของพวกเขาอย่างแท้จริง      ●

เกี่ยวกับ นีลเส็นไอคิว

●   นีลเส็นไอคิว เป็นผู้นำในการส่งมอบข้อมูลที่เป็นกลางและครอบคลุมที่สุดเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลก นีลเส็นไอคิวขับเคลื่อนด้วยแพลตฟอร์มข้อมูลผู้บริโภคที่ล้ำหน้า พร้อมความสามารถในการวิเคราะห์ที่หลากหลาย เพื่อผลักดันให้บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคและผู้ค้าปลีกชั้นนำของโลกสามารถตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างกล้าหาญและมั่นใจ

●   ด้วยการใช้ชุดข้อมูลที่ครอบคลุมและการวัดผลการดำเนินการทั้งหมดอย่างเท่าเทียมกัน นีลเส็นไอคิวช่วยให้ลูกค้าสามารถคาดการณ์พฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการในแพลตฟอร์มค้าปลีกทั้งหมด ปรัชญาของเราในการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดด้วยกันทำให้เรามีชุดข้อมูลผู้บริโภคที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลก นีลเส็นไอคิว ส่งมอบความจริงที่สมบูรณ์

●   นีลเส็นไอคิว เป็นบริษัทในเครือ แอดเวนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีการดำเนินงานในเกือบ 100 ตลาด ครอบคลุมมากกว่า 90% ของประชากรโลก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเยี่ยมชม NielsenIQ.com         ●