February 24, 2023
Motortrivia Team (10167 articles)

สภาวิศวกร แนะนำการติดตั้งแท่นชาร์จแบตเตอรี่รถ EV ไม่ควรประมาท

ประชาสัมพันธ์

●   ปี 2565 ที่ผ่านมา เป็นปีที่เศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัว ผู้คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตตามปกติกันมากขึ้นหลังจากผ่านช่วงวิกฤติ COVID-19 ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการเดินทางและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ยังผลให้การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยของปี 2565 มีจำนวนมากขึ้นจากปี 2564 ถึง 14.7% หรือคิดเป็น 150 ล้านลิตรต่อวัน แม้จะเป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกถึงการฟื้นตัวของประเทศ แต่ในทางกลับกัน การใช้นำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นพลังงานใช้แล้วหมดไปจำนวนมาก ย่อมส่งผลต่อการเกิดก๊าซเรือนกระจก และส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศของโลกไม่น้อย

●   ดังนั้น ทางเลือกใหม่ในการเดินทางที่กำลังมาแรงและเป็นที่นิยมมากขึ้น คือการเลือกใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เนื่องจากตัวรถมีระบบขับเคลื่อนที่ไม่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน หรือค่าซ่อมบำรุง และมีอะไหล่สิ้นเปลืองที่น้อยกว่า และผู้ใช้งานสามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้ทั้งจากบ้านของตนเอง หรือจากสถานีชาร์จ แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละบุคคล

●   อย่างไรก็ตาม มาตรฐานความปลอดภัยในการติดตั้งแท่นชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการเลือกรถไฟฟ้าให้ถูกใจตามการใช้งาน

●   นายกิตติพงษ์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ อุปนายกสภาวิศวกร คนที่ 1 และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้า กล่าวว่า “ภาครัฐมีนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ทำให้ปัจจุบันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพยายามจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยการออกมาตรการสนับสนุนต่างๆ อย่างเช่นคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่ได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 หรือการตั้งเป้าที่จะส่งเสริมให้ไทยผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำได้ในอนาคต”

นายกิตติพงษ์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ อุปนายกสภาวิศวกร คนที่ 1 และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้า

รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เลือกแบบไหนดี

●   แบบแรก รถยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าแบบไฮบริด หรือ HEV (Hybrid electric vehicle) ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในและใช้น้ำมันเชื้อเพลิงตามปกติ เสริมความประหยัดด้วยการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าช่วยขับเคลื่อนในบางจังหวะ โดยมีแบตเตอรี่แพคขนาดเล็กช่วยสำรองพลังงาน ทว่ารถไฮบริดจะไม่สามารถชาร์จไฟจากแท่นชาร์จไฟได้ แต่จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้าช่วยชาร์จไฟกลับในขณะเบรคหรือถอนคันเร่ง

●   แบบที่สอง รถยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าแบบปลั๊ก-อิน ไฮบริด หรือ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) พูดง่ายๆ ก็คือเป็นรถไฮบริดแบบเสียบปลั๊กชาร์จได้นั่นเอง รถประเภทนี้จะมีแบตเตอรี่แพคที่มีความจุมากขึ้น สามารถเสียบปลั๊กชาร์จจากไฟบ้านโดยตรง หรือจากสถานีชาร์จไฟก็ได้ สามารถใช้งานในโหมดไฟฟ้าล้วนได้ในระยะทางที่จำกัด ทว่าตัวรถยังคงมีการปล่อยมลพิษในระดับต่ำ เนื่องจากยังต้องพึ่งพาการทำงานของเครื่องยนต์สันดาปภายในร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า

●   แบบสุดท้ายคือ รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ หรือ BEV (Battery Emissions Vehicle) หรือ ZEV (Zero-Emission Vehicle) ตัวรถใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว ใช้แบตเตอรี่แพคขนาดใหญ่ และจำเป็นจะต้องชาร์จไฟจากแท่นชาร์จภายในบ้าน หรือจากสภานีชาร์จสาธารณะเท่านั้น

แท่นชาร์จรถแบบใดที่เหมาะกับรถของเรา

●   การชาร์จไฟเข้าไปยังแบตเตอรี่ในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แยกเป็น 4 แบบ ซึ่งต้องเลือกตามความเหมาะสมของรถยนต์ เพื่อความปลอดภัย และได้ประสิทธิภาพสูงที่สุด

●   แบบที่ 1 เป็นการเชื่อมต่อรถยนต์เข้ากับระบบไฟฟ้าผ่านเต้ารับมาตรฐานซึ่งเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ โดยไม่มีการใช้อุปกรณ์ควบคุมการอัดประจุไฟฟ้าใดๆ และมีพิกัดกระแสไฟฟ้าไม่เกิน 16 แอมป์

●   แบบที่ 2 เป็นการเชื่อมต่อรถยนต์เข้ากับระบบไฟฟ้าผ่านเต้ารับมาตรฐาน โดยมีการใช้อุปกรณ์ควบคุมและป้องกันในสาย หรือ In-cable control and protection device: IC-CPD และมีพิกัดกระแสไฟฟ้าไม่เกิน 32 แอมป์ สามารถเสียบชาร์จรถยนต์ภายในบ้านได้โดยใช้เวลาประมาณ 1 คืน

●   แบบที่ 3 เป็นการเชื่อมต่อรถยนต์เข้ากับระบบไฟฟ้าผ่านเครื่องอัดประจุไฟฟ้าชนิดกระแสสลับ ที่ใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ โดยการชาร์จในโหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง

●   แบบที่ 4 การเชื่อมต่อรถยนต์เข้ากับระบบไฟฟ้าผ่านเครื่องอัดประจุไฟฟ้าชนิดกระแสตรง ซึ่งได้รับการออกแบบให้จ่ายพลังงานไฟฟ้ากับยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ การชาร์จแบบนี้จะใช้เวลาชาร์จน้อยที่สุด สามารถใช้บริการได้จากสถานีชาร์จสาธารณะนั่นเอง

ติดตั้งแท่นชาร์จ ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

●   สิ่งที่ต้องตระหนักเป็นอย่างแรก คือ รถยนต์ไฟฟ้าไม่ควรเสียบชาร์จกับเต้ารับแบบปกติภายในบ้าน เนื่องจากมีความเสี่ยงในการเกิดเพลิงไหม้ เพราะระบบไฟฟ้าในบ้านไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า สิ่งที่ควรทำคือ หาแท่นชาร์จแยกที่เหมาะสมกับประเภทของรถยนต์ รวมถึงมีการจดแจ้งมิเตอร์ควรแยกจากระบบไฟฟ้าที่จ่ายให้กับตัวบ้านต่างหาก เนื่องจากกระแสไฟที่ใช้และราคาค่ากระแสไฟฟ้า อาจมีความแตกต่างกับไฟบ้าน และอุปกรณ์ไฟฟ้าจำพวกนี้เป็นอุปกรณ์ที่มีพิกัดกระแสไฟฟ้าสูง

●   ถัดมาคือ อย่าลืมติดตั้งเครื่องป้องกันไฟดูด ที่ป้องกันได้ทั้งไฟฟ้ากระแสตรงและไฟฟ้ากระแสสลับ (RCD Type B) เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ดังนั้น การติดตั้งแท่นชาร์จ และเดินวงจรสายไฟฟ้า ต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งส่วนนี้สามารถติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง

●   และสุดท้าย ผู้ใช้งานต้องหมั่นตรวจเช็ค บำรุงรักษาสภาพอุปกรณ์ให้สมบูรณ์ และพร้อมใช้งานตลอดเวลา อีกทั้งควรให้ช่างผู้ที่มีความชำนาญการเข้าทำการตรวจสอบสภาพ และบำรุงรักษาตามมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยในทุกๆ ปี

●   สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเชิญได้ที่ coe.or.th หรือ facebook.com/coethailand หรือสายด่วน 1303 หรือ LINE : @coethai ●