March 19, 2023
Motortrivia Team (10162 articles)

CJPT ปักหมุดลุยเอเชีย สนับสนุนความเป็นกลางทางคาร์บอนในไทย

ภาพ : สุพรรณี ยังอยู่

●   โตโยต้า ประเทศไทย จัดอีเวนท์พิเศษนำเสนอความร่วมมือระหว่าง 4 บริษัทภาคีในนาม Commercial Japan Partnership Technologies Corporation หรือ CJPT ซึ่งประกอบด้วย (1) บริษัท อีซูชุมอเตอร์ส จำกัด (2) บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (3) บริษัท ชูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และ (4) บริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด ร่วมกับบริษัท ฮีโน่มอเตอร์ส จำกัด พร้อมจัดกิจกรรมทดสอบสมรรถนะรถพลังงานทางเลือกภายใต้ความร่วมมือของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด

●   ภายในงานมีการแนะนำรถเพื่อการพาณิชย์พลังงานทางเลือก ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานอันหลากหลายให้กับผู้ร่วมงาน ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ, สื่อมวลชน, กลุ่มลูกค้าฟลีทรายใหญ่ประเภทองค์กร และบริษัทคู่ค้า

●   CJPT ก่อตั้งขึ้นในเดือนเมษายน 2021 โดยวัตถุประสงค์หลักของกลุ่มภาคีคือ เร่งการใช้เทคโนโลยีภายใต้แนวคิด “CASE” หมายถึง Connected, Autonomous, Shared และ Electric ในวงกว้าง เพื่อลดปัญหาที่พบในระบบขนส่ง และบรรลุเป้าหมายในการสร้างสังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยหลังจากที่ได้มีการประกาศความร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เมื่อเดือนธันวาคมปี 2022 ที่ผ่านมา CJPT ได้กำหนดเป้าหมายในการขยายพันธมิตรภายในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งรวมไปถึงการจัดการด้านพลังงาน (Energy Solution) ทางเลือกด้านการขับเคลื่อน (Mobility Solution) เช่น การจัดสรรยานพาหนะตามเป้าหมายการใช้งานอย่างเหมาะสม และการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติคส์ รวมไปถึงการบริการจัดการด้านข้อมูล (Data Solution) โดยผสานจุดแข็งของแต่ละบริษัทเข้าไว้ด้วยกัน

●   โตโยต้าระบุว่า ในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้น ลูกค้าอาจมองหารถที่มีระบบส่งกำลังแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแหล่งพลังงาน และการใช้งานของลูกค้าในแต่ละประเทศหรือภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันนั้นภาคีมีตัวเลือกต่างๆ ที่หลากหลาย เช่น รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบไฮบริด (HEV), รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) หรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง หรือ ไฮโดรเจน ฟิวเซลล์ (FCEV) เป็นต้น ดังนั้น ภารกิจสำคัญของภาคี CJPT ก็คือการนำเสนอทางเลือกด้านการขับเคลื่อนที่เหมาะสมที่สุด โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมในภูมิภาค และความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า

มร.ฮิโรกิ นากาชิมา ประธาน Commercial Japan Partnership Technologies Corporation

●   มร. ฮิโรกิ นากาชิมา ประธาน Commercial Japan Partnership Technologies Corporation กล่าวว่า “เรามุ่งมั่นที่จะตอบแทนสังคมด้วยการร่วมเดินหน้าพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในเอเชีย ผ่านการนำเสนอรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงต่ำ และให้ประสิทธิภาพสูง ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด และ รถยนต์ไฟฟ้าเชลล์เซื้อเพลิง โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับฟังความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์ทดลองขับขี่รถยนต์เหล่านี้ และพิจารณาวิธีการที่เหมาะสมในการประสานความร่วมมือกันเพื่อมุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนต่อไป”

●   โครงการ CJPT ที่เริ่มปักหมุดก้าวแรกจากประเทศไทยนั้น มีแผนจะเร่งเดินหน้าขยายการใช้เทคโนโลยีในการลดคาร์บอนสู่ตลาดในภูมิภาคเอเชีย โดยบูรณาการองค์ความรู้และความร่วมมือกับบรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีวิสัยทัศน์เดียวกัน เพื่อนำไปสู่การยกระดับชีวิตผู้คนในภูมิภาคเอเชียในท้ายที่สุด

●   ปัจจุบัน CJPT มุ่งหวังให้อีเวนท์ทดลองสมรรถนะรถยนต์ จะเพิ่มโอกาสในการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของโครงการ CJPT ด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนในประเทศไทย

รถรุ่นหลักที่จัดแสดงภายในงาน

●   Toyota Sora : รถบัสพลังงานไฟฟ้าแบบ ไฮโดรเจน ฟิวเซลล์ ผลการการพัฒนาร่วมกันระหว่างโตโยต้า และ ฮีโน่ มอเตอร์ส ตัวรถใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ 2 ตัว ส่งกำลังด้วยเกียร์ซิงเกิลสปีด เก็บประจุไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่แพคชนิด นิคเกิล เมทัล ไฮไดรด์ ความจุ 235 กิโลวัทท์-ชม. กำลังสูงสุดอยู่ที่ 155 แรงม้า

●   ส่วนชุดระบบฟิวเซลล์นั้น ในช่วงแรกของการพัฒนาราวปี 2017 โตโยต้าใช้แพคเกจชุดระบบฟิวเซลล์แบบเดียวกับที่ใช้งานใน Toyota Mirai ก่อนจะมาเป็นชุดระบบขับเคลื่อนในปัจจุบัน โดย Sora เริ่มจำหน่ายในบ้านเกิดช่วงปี 2018 รวมถึงมีการให้บริการหลักๆ กับบุคคลทั่วไปในโตเกียว

●   Hino FCEV Heavy Duty Truck : รถบรรทุกในกลุ่ม เฮฟวี่-ดิวตี้ พลังฟิวเซลล์ ผลงานการออกแบบและพัฒนาร่วมกันระหว่างฮีโน่ มอเตอร์ส และโตโยต้า ซึ่งประกาศความร่วมมือในแผนงานนี้มาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2020 ตัวรถใช้ถังบรรจุไฮโดรเจนแรงดันสูง 70MPa ขนาดใหญ่เป็นพิเศษซึ่งมีการพัฒนาขึ้นมาใหม่สำหรับใช้งานในรถบรรทุกขนาดใหญ่โดยเฉพาะ เบื้องต้นเป้าหมายตัวเลขระยะทางในการขับเคลื่อนคือ 600 กม. โดยประมาณ

●   นอกจากนี้ยังมีการสาธิตรถฮีโน่ที่ถูกดัดแปลงเป็นสถานีเติมไฮโดรเจนเคลื่อนที่ด้วย (Mobile Hydrogen Station) ซึ่งเดิมทีนั้น Hino Mobile Hydrogen Station เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ช่วงปี 2016 โดยโตโยต้า และฮีโน่ ออสเตรเลีย จุดประสงค์คือใช้สาธิตการเติมไฮโดรเจนให้กับ Toyota Mirai ซึ่งกำลังโปรโมทนั่นเอง

●   Isuzu & Toyota FCEV Light Duty Truck : ผลงานการพัฒนาร่วมกันระหว่างอีซูซุ และโตโยต้า ตัวรถอยู่ในกลุ่มรถบรรทุกขนาดเล็ก (Light-duty vehicle) และใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าแบบฟิวเซลล์ กลุ่มเป้าหมายหลักคือผู้ประกอบการที่ต้องการรถบรรทุกขนาดเล็กมลพิษต่ำ สามารถใช้งานในเมืองได้ เช่น การขนส่งสินค้าไปเข้าไปยังร้านสะดวกซื้อ หรือซูเปอร์มาร์เก็ท

●   ทั้งนี้ รถบรรทุกขนาดเล็กมักจะถูกใช้งานเป็นระยะทางไกล หรือมีการวิ่งติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง เนื่องจากการจัดส่งสินค้าใน 1 วันนั้นไม่ได้จบเพียงแค่เที่ยวเดียว ดังนั้น CJPT จึงคิดว่า การใช้ระบบขับเคลื่อนแบบฟิวเซลล์ ซึ่งมีการปล่อยมลพิษเป็นสูนย์ จึงนับว่ามีประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้สภาวะการทำงานดังกล่าว

●   ในเบื้องต้น CJPT และอีซูซุวางแผนจะเปิดตัวรถบรรทุกขนาดเล็กรุ่นนี้ภายในช่วงปี 2023 และมีการใช้งานจริงโดยบริษัทคู่ค้าในจังหวัดฟุกุชิมะ

●   Toyota Hilux Revo BEV Concept : ต้นแบบปิคอัพ Hilux Revo พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ซึ่งจัดแสดงเป็นครั้งแรกในงานฉลอง 60 ปีโตโยต้าในประเทศไทย ตัวรถยังคงมีสัดส่วนโดยรวมไม่ฉีกไปจาก Revo ที่เราคุ้นเคยกัน เบื้องต้นคาดว่าคันจริงน่าจะใช้พื้นฐานของ Revo เจนเนเรชั่นต่อไปมากกว่าจะใช้พื้นฐานของรุ่นปัจจุบัน

●   การพัฒนารถรุ่นนี้นอกจากจะเป็นทางเลือกที่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยแล้ว ยังป็นการสานต่อความสำเร็จของโครงการ IMV หรือ Innovative International Multi-purpose Vehicles ที่มีบทบาทสำคัญในการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยไปยังตลาดโลกด้วย

●   Toyota LPG-HEV Taxi Concept : พื้นฐานเดียวกับ JPN Taxi concept ในญี่ปุ่นซึ่งตัวรถเผยโฉมเป็นครั้งแรกในงาน Tokyo Motor Show ระบบขับเคลื่อนไฮบริดเป็นแบบใหม่ทั้งหมด เรียกว่า LPG hybrid system ใช้เชื้อเพลิง LPG จับคู่มอเตอร์ไฟฟ้า เบื้องต้น JPN Taxi มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยประมาณ 19.4 กม./ลิตร ปล่อยมลพิษในระดับต่ำ และยังเติมความปลอดภัยอย่างทันยุคสมัยด้วยการติดตั้งชุดระบบ Toyota Safety Sense C มาให้จากโรงงานด้วย

●   รุ่นที่จัดแสดง สเปคคร่าวๆ ณ เวลานี้ ตัวรถใช้เครื่องยนต์ 1.5 ลิตร 2 ระบบ เบนซิน/LPG ส่งกำลังด้วยเกียร์ E-CVT เก็บประจุไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่แพคชนิด นิคเกิล เมทัล ไฮไดร์ด ความจุ 6.5 แอมป์-อาวร์ กำลังรวมทั้งระบบประมาณ 100 แรงม้า

●   โดยพื้นฐาน JPN Taxi ออกแบบมาให้เป็นมิตรกับผู้โดยสารทุกรูปแบบ ห้องโดยสารมีความกว้างขวาง มีพื้นที่บรรทุกสัมภาระมากพอสำหรับการเดินทาง มีประตูข้างแบบสไลด์ และยังมีพื้นลาดสำหรับใช้งานร่วมกับวีลแชร์ด้วย

●   บ้านเราต้องรอลุ้นกันต่อไปว่า จะสามารถใช้งานรถรุ่นนี้ได้อย่างถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ หรือจะมีความร่วมมือกับทางการอย่างไร… ถ้าไม่มีปัญหาอะไร นี่อาจจะเป็นการพลิกโฉมวงการรถโดยสารรับจ้างสาธารณะครั้งใหญ่เลยทีเดียว

●   Suzuki Every : รถแวนเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กในกลุ่ม Kei Car (Kei truck หรือมินิแวนในญี่ปุ่น) ตัวรถนับเป็นหนึ่งในรุ่นย่อยของ Suzuki Carry เจนเนอเรชั่นที่ 11 ที่ทำตลาดในญี่ปุ่นมาตั้งแต่ช่วงปี 2013 โดย Every รุ่นปัจจุบันใช้เครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบ ความจุ 658 ซีซี. ระบบส่งกำลังมี 4 ทางเลือก คือ ธรรมดา 5 จังหวะ, อัตโนมัติ 3 จังหวะ, อัตโนมัติ 4 จังหวะ และกึ่งอัตโนมัติ (AMT) 5 จังหวะ

●   Daihatsu Hijet : รถแวนเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็กคลาสเดียวกับ Suzuki Every รุ่นล่าสุดเจนเนอเรชั่นที่ 11 เริ่มทำตลาดในญี่ปุ่นเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ตัวรถใช้เครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบ ความจุ 658 ซีซี. เช่นกัน ส่วนระบบส่งกำลังเลือกได้ระหว่างเกียร์ธรรมดา 5 จังหวะ หรือ CVT จุดเด่นของทั้งคู่คือการใช้งานได้อย่างเอนกประสงค์ และสามารถใช้งานในเมืองที่จอแจได้อย่างคล่องตัว รวมถึงมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำนั่นเอง

●   Toyota e-Palette : รถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ชนิดไร้คนขับ ซึ่งโตโยต้าพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะสำหรับใช้งานร่วมกับแอพพลิเคชันบริการ Autono-MaaS ที่มาจากคำว่า Autonomous และ Mobility as a Service สื่อถึงบริการขับเคลื่อนอัตโนมัติไร้คนขับของโตโยต้า และสามารถประยุกต์นำเอา e-Palette ไปใช้เป็นร้านค้าเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการให้กับบรรดาลูกค้าได้อีกด้วย

●   มอเตอร์ทริเวียเคยชม e-palette คันจริงเป็นครั้งแรกในงาน Tokyo Motor Show 2019 ส่วนในบ้านเรานั้น โตโยต้าก็เคยนำ e-palette มาโชว์ตัวในงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2565 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน

●   Yamaha H2 ROV (Buggy) : แม้ว่ายามาฮ่าจะไม่ได้เป็นสมาชิกของ CJPT แต่งานนี้ยามาฮ่าได้ส่งรถพลังไฮโดรเจนมาเข้าร่วมจัดแสดงด้วย โดย Yamaha H2 ROV นั้นเป็นรถออฟ-โรดนันทนาการในกลุ่ม Side-by-side พลังไฮโดรเจนที่ใช้พื้นฐานของ Yamaha YXZ รุ่นปัจจุบัน

●   อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2021 เคยมีข่าวว่า ยามาฮ่านั้นเคยทำข้อตกลงร่วมมือกับแบรนด์หรูของโตโยต้าอย่างเลกซัส ในการพัฒนาเครื่องยนต์พลังไฮโดรเจน เพื่อใช้งานในรถ UTV ของเลกซัส (Utility Terrain Vehicle) โดยจะนำ Yamaha YXZ1000R SS มาออกแบบบอดี้ใหม่ ใช้เครื่องไฮโดรเจนบล็อคที่ว่านี้ และอาจจะจำหน่ายภายใต้แบรนด์เลกซัสด้วย

●   สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โตโยต้า ในประเทศไทย เชิญได้ที่เว็บไซท์ : www.toyota.co.th หรือเฟซบุ๊ค แฟนเพจ : facebook.com/toyotamotor.th หรือแอด LINE : Toyota Thailand หรือติดต่อไปที่ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าโตโยต้า โทร. 1486 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ●

Commercial Japan Partnership Technologies Corporation

ที่ตั้ง1-4-18 โคะระกู, บังเกียว-คุ โตเกียว
เงินทุน10 ล้านเยน (โครงสร้างแหล่งเงินทุน : โตโยต้า 70%, อีซูซุ 10%, ชูซูกิ 10% และได้ฮัทสุ 10%)
กรรมการผู้แทนฮิโวกิ นากาซิมา ดำรงตำแหน่งประธาน (กรรมการผู้จัดการของหน่วยธุรกิจรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ภายใต้ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น)
เริ่มต้นดำเนินการ1 เมษายน 2021
ธุรกิจหลักวางแผนเทคโนโลยีและการให้บริการเทคโนโลยี CASE สำหรับรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

Commercial Japan Partnership Technologies Corporation