March 13, 2023
Motortrivia Team (10170 articles)

Hyundai Motor พาเยือนเกาหลีใต้ สัมผัสเทคโนโลยีสุดล้ำ

เรื่อง-ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ

●   ระหว่างวันที่ 8-11 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ทีมงานมอเตอร์ทริเวีย ได้รับเกียรติจาก Hyundai Motor Company ร่วมเดินทางพร้อมสื่อมวลชนไทยกลุ่มเล็ก เยือนเกาหลีใต้ประเทศต้นกำเนิดฮุนได สัมผัสเครือข่ายอุตสาหกรรมของฮุนไดที่ครอบคลุมครบวงจร ชมศูนย์วิจัยและพัฒนา ฮุนได มอเตอร์ Namyang R&D Center ซึ่งมีเนื้อที่มากกว่า 3.3 ล้านตารางเมตร และโชว์รูม แบรนด์หรูในเครือฮุนไดอย่าง Genesis ซึ่งเป็นโชว์รูมแห่งแรกที่แยกอิสระจากฮุนได พร้อมชมรถไฟฟ้าจากแบรนด์ Genesis และสถานีชาร์จไฟฟ้า ผลงานของดีไซน์สตูดิโอชื่อดัง

●   อีกหนึ่งไฮไลต์ของทริปนี้คือ การไปเยือน Hyundai Motor Studio Goyang ซึ่งไม่ได้เป็นแค่โชว์รูม แต่เป็นศูนย์แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับโลกยานยนต์ของฮุนได เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีทั้งเพื่อสิ่งแวดล้อมและในวงการมอเตอร์สปอร์ต จำลองการผลิตรถตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกวัตถุดิบไปจนถึงการประกอบและพ่นสี ได้ชมการนำเสนอ รถรหัสแรงของฮุนได N ผ่านมัลติมีเดียล้ำสมัยแบบ 3 มิติ

●   ปิดท้ายด้วยการเยือนสำนักงานใหญ่ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป รับฟังทิศทางการพัฒนาธุรกิจในอนาคตของฮุนได พร้อมสัมภาษณ์ผู้บริการเกี่ยวกับแผนการทำตลาดของฮุนไดในเมืองไทยภายใต้บริษัทใหม่ ฮุนได โมบิลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด

เยี่ยมชมศูนย์ R&D แบบไร้การบันทึก

●   ก่อนเริ่มงานแรก เดินทางลงใต้เพื่อแวะเติมพลังมื้อกลางวันก่อนที่ Rolling Hill Hotel ที่พักสวยๆ ท่ามกลางหุบเขา มีสิ่งปลูกสร้างไม่หนาแน่น ซึ่งเป็นพื้นที่ของฮุนไดสร้างไว้เพื่อให้พนักงานฮุนไดจากทั่วโลกได้พักผ่อนและทานอาหารเมื่อต้องเดินทางมาประชุมที่เกาหลีใต้ จากนั้นจึงเดินทางต่อไปที่ศูนย์วิจัยและพัฒนา Hyundai Namyang R&D Center ซึ่งอยู่ห่างไปทางใต้ราว 30 นาที

●   ภายในอาณาจักรอันกว้างขวางประกอบด้วยส่วนหลัก เช่น เป็นจุดศูนย์กลางของงานวิศวกรรมและการออกแบบ เริ่มจากศึกษาการออกแบบเบื้องต้น รถต้นแบบ และการทดสอบอย่างเข้มข้นในสนามทดสอบ มีอุโมงค์ลมแบบ Full-Scale สำหรับรถคันจริง เพื่อทดสอบด้านอากาศพลศาสตร์ และการทดสอบการชน มีนักวิจัย 10,000 คนที่มีส่วนร่วมในการพัฒนารถยนต์ใหม่และดำเนินการทดสอบสมรรถนะ

●   Namyang Design Center เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการออกแบบที่ทันสมัย ​​เช่น ศูนย์เสมือนจริง การสร้างแบบจำลองดิจิตอลด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อพัฒนารูปแบบของการออกแบบภายนอกและภายในรถยนต์ โดร่วมมือกับนักออกแบบที่มีความสามารถสูง 400 คน

●   Namyang R&D Center สร้างเสร็จในปี 1995 เป็นสนามทดสอบระดับโลก ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 1,650,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยสนามทดสอบขับระยะทาง 70 กิโลเมตร แบ่งเป็น 34 ประเภทถนนที่แตกต่างกัน รวมถึงถนน Belgian Road ถนนยุคเก่าที่ปูผิวด้วยอิฐ และสนามทดสอบความเร็วสูง ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร

●   เนื่องจากเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาที่มีข้อมูลความลับมากมาย จึงห้ามบันทึกภาพนิ่งและวีดิโอ โดยก่อนลงจากรถบัสมีเจ้าหน้าที่ขึ้นมาบนรถเพื่อใช้สติ๊กเกอร์ปิดกล้องบนสมาร์ทโฟน และขอความร่วมมือไม่นำกล้องภาพนิ่งและวีดิโอลงจากรถ ต้องใช้การจดและจำเท่านั้น กิจกรรมของสื่อมวลชนไทยภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาของฮุนได ประกอบด้วย การฟังบรรยายเกี่ยวกับทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ของฮุนไดในอนาคต จากนั้นจึงชมรถบัสที่ใช้พลังงานไฟฟ้า และไฮโดรเจน รวมถึงทดลองนั่งรถบัสที่ใช้ระบบขับอัตโนมัติด้วย

●   สำหรับรถยนต์ของฮุนไดปัจจุบันมี 3 กลุ่มหลักคือ ฮุนได ที่มีรถยนต์หลากหลายประเภทครอบคลุมทุกเซกเมนต์, Genesis แบรนด์หรูที่เทียบชั้นได้กับรถยุโรปชั้นดี และซับ-แบรนด์ N Performance เน้นสมรรถนะการขับสไตล์สปอร์ต ซึ่งได้พิสูจน์ความแรงในเวทีระดับโลกอย่างการแข่งขันแรลลี่ และรถที่คาดว่าน่าจะเปิดตัวในไทยหลังปรับองค์กรใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2566 นี้ก็คือ รถไฟฟ้าอย่าง IONIQ 5 และ IONIQ 6

IONIQ 5 รถครอสโอเวอร์ SUV ในกลุ่มคอมแพคท์ ตัวถังแบบ 5 ประตู 5 ที่นั่ง ซึ่งนับเป็นรถไฟฟ้ารุ่นแรกภายใต้ซับ-แบรนด์ไอออนิค

IONIQ 6 ซีดานขนาดกลางพลังงานไฟฟ้า ซึ่งนับเป็นรถไฟฟ้าล้วนแบบแบตเตอรี่รุ่นที่ 2 ภายใต้ซับ-แบรนด์ไอออนิค

●   ส่วนรถอีกรุ่นที่อาจยังเร็วไปนิดที่จะลุ้นให้เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยคือ Genesis GV60 ซึ่งทีมงานมอเตอร์ทริเวียมีโอกาสได้ทดลองนั่งระยะทางสั้นๆ และสัมผัสอย่างใกล้ชิดที่โชว์รูม Genesis เป็นรถที่ดีทั้งรูปลักษณ์การออกแบบ คุณภาพวัสดุ และสมรรถนะการขับ ถ้านำเข้าโดยใช้เงื่อนไขทางภาษีเพื่อให้ราคาแข่งขันได้ ก็น่าจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

Genesis GV60 รถครอสโอเวอร์ SUV ขนาดซับคอมแพคท์พลังงานไฟฟ้า

Hyundai E-GMP แพล็ตฟอร์มสำหรับรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ

●   E-GMP หรือ Electric Global Modular Platform ถูกคิดค้นเพื่อเป็นแพล็ตฟอร์มสำหรับรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ ประกอบด้วยแชสซีส์ของรถ รวมถึงแบตเตอรี่ มอเตอร์ และระบบไฟฟ้า สามารถปรับเปลี่ยนความยาวฐานล้อได้ เพื่อรองรับการผลิตรถไฟฟ้าหลายประเภท เพื่อให้ได้สมรรถนะการขับที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของผู้ขับ

●   แบตเตอรี่มีความจุสูง สามารถขับได้ไกล 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง รองรับการชาร์จด้วยกำลังไฟฟ้า 800 โวลต์ จึงใช้เวลาเพียง 18 นาที เพื่อชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็มความจุ หรือใช้เวลาชาร์จเพียง 5 นาที ก็สามารถขับได้ถึง 100 กิโลเมตร และสามารถปรับการชาร์จเป็น 400 โวลต์ได้ และมีฟังก์ชั่น Vehicle To Load (V2L) ติดตั้งใน IONIQ 5 ตัวรถสามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ภายนอกได้ด้วย

●   เนื่องจาก E-GMP ออกแบบเพื่อเป็นแพล็ตฟอร์มของรถไฟฟ้าตั้งแต่เริ่มแรก จึงสามารถออกแบบเรื่องความปลอดภัยได้อย่างอิสระ ด้วยโครงสร้างเหล็กที่มีความแข็งแรงสูงเป็นพิเศษ เพิ่มความปลอดภัยสูงสุดให้กับทุกคนที่อยู่ภายใน และมีจุดศูนย์ถ่วงที่ต่ำส่งผลให้มีการทรงตัวที่ดี และออกแบบโครงสร้างในส่วนของห้องโดยสารให้แข็งแรงเป็นพิเศษ เพื่อปกป้องทั้งผู้โดยสารและแบตเตอรี่ซึ่งอยู่ด้านล่าง ยึดเข้ากับโครงสร้างรถ 8 จุด และออกแบบให้ดูดซับแรงกระแทกได้ โครงสร้างที่ไม่มีเครื่องยนต์และเพลาขับ ทำให้ห้องโดยสารมีพื้นที่กว้างขวางและแบนราบกว่า จึงสามารถปรับแต่งได้ตรงกับการใช้งานมากขึ้น

กว่า 20 ปี ของการพัฒนาระบบเซลส์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน

●   ฮุนได มอเตอร์ เริ่มพัฒนาเทคโนโลยี Fuel Cell Electric Vehicle (FCEV) เมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยมีการจัดตั้งทีมวิจัยโดยเฉพาะในปี 1998 โดยร่วมมือกับ United Technologies Corporation (UTC) ปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบส่งกำลังและระยะการใช้งานที่ไกลขึ้น มีรถต้นแบบรุ่น MercuryⅡ ใช้แพลตฟอร์มของฮุนได ทูซอน (Tucson) ติดตั้งระบบเซลล์เชื้อเพลิงขนาด 80 กิโลวัตต์ ขับได้ 337 กิโลเมตร สามารถในการสตาร์ทที่อุณหภูมิต่ำถึง -20 องศาเซลเซียส

●   จากนั้นในปี 2000 ฮุนไดร่วมกับโครงการ G7 ของรัฐบาลเกาหลี พัฒนาระบบเซลล์เชื้อเพลิงซึ่งนำไปสู่หลากหลายโครงการรถยนต์ เช่น PolarisⅡ มีกำลังไฟฟ้า 80 กิโลวัตต์ ขับใช้งานได้ 370 กิโลเมตร ในช่วงเวลาเดียวกันฮุนไดก็ผลิตรถบัสเซลล์เชื้อเพลิงคันแรกในปี 2005 โดยมีระบบเซลล์เชื้อเพลิงขนกำลัง 160 กิโลวัตต์ และระยะการใช้งาน 380 กิโลเมตร

●   ในช่วงเดียวกับการพัฒนาไฮโดรเจน ช่วงต้นปี 1990 ฮุนไดเริ่มการวิจัยรถยนต์ไฟฟ้าภายในองค์กร และเทคโนโลยีพลังงานทั้ง 2 รูปแบบ ได้ถูกใช้ร่วมกันเป็นครั้งแรกในฮุนได ทูซอน FCEV ปี 2007 ซึ่งมีเซลล์เชื้อเพลิงและระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าแบตเตอรี่ ที่มีกำลัง 100 กิโลวัตต์ ใช้งานได้ 370 กิโลเมตร ส่วนการพัฒนารถบัสเซลล์เชื้อเพลิงยังคงดำเนินต่อไปควบคู่กับรถยนต์นั่ง โดยรถบัสเซลล์เชื้อเพลิงรุ่นที่ 2 ปี 2009 มีกำลัง 200 กิโลวัตต์ ใช้งานได้ 380 กิโลเมตร

●   ปี 2010 มี 2 เหตุการณ์สำคัญ ในการพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงของฮุนได ประกอบด้วยรถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงของฮุนไดทุกคัน มีระยะทางการใช้งานรวมกันถึง 2 ล้านกิโลเมตร และการเปิดตัวต้นแบบ ix35 FCEV รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงรุ่นแรกที่ใช้ถังเก็บเชื้อเพลิงแรงดันสูง 700 บาร์ เพิ่มระยะใช้งานเป็น 635 กิโลเมตร จากระบบขับเคลื่อน 100 กิโลวัตต์ และในปี 2013 ได้รับการรับรองจาก NEDC หรือ New European Driving Cycle เป็นหน่วยงานตรวจสอบอัตราการปล่อยไอเสียและการใช้พลังงานของรถทุกคันที่ทำตลาดในยุโรป โดยฮุนไดเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกที่ได้รับการรับรองจาก NEDC ปี 2015 ฮุนได ix35 ทำตลาดทั่วโลก รวมทั้ง 13 ประเทศในยุโรป ประเมินว่า ix35 ถูกขับใช้งานบนถนนมากกว่า 1.2 ล้านกิโลเมตร

●   ปี 2017 ฮุนไดยังคงมุ่งมั่นพัฒนาระบบเซลส์เชื้อเพลิงด้วยแนวคิด FE (Future Eco) โดยใช้พื้นฐานจากรถรุ่น ix35 ซึ่งจัดเป็นรถอเนกประสงค์แห่งอนาคตหรือ FUV ของฮุนได นำเสนอเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนใหม่ ซึ่งรวมถึงชุดเซลล์เชื้อเพลิงที่เบากว่าเดิม 20 เปอร์เซ็นต์ แต่มีกำลังเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ และขับได้ไกลถึง 800 กิโลเมตร

●   ปี 2018 เป็นอีกปีสำคัญสำหรับเรื่องราวเซลล์เชื้อเพลิงของฮุนได ด้วยการเปิดตัว NEXO ซึ่งเป็นรถเอนกประสงค์ SUV เซลล์เชื้อเพลิงหนึ่งเดียวในโลก ต่อยอดมาจากแนวคิด FE Fuel Cell มีเทคโนโลยีใหม่มากมาย เช่น Lane Following Assist, Highway Driving Assist, Blind Spot View Monitor และ Remote Smart Park Assist โดยเมื่อเทียบกับเซลล์เชื้อเพลิง ix35 แล้ว NEXO มีอัตราเร่งที่เร็วขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ แรงบิดที่เพิ่มขึ้น และขับได้ไกลขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ มีกำลัง 135 กิโลวัตต์ ไฮโดรเจนบรรจุในถังที่ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์และพลาสติกเสริมแรง 3 ถังช่วยให้ NEXO ขับได้ไกลถึง 665 กิโลเมตร

●   จากนั้นกลุ่มฮุนไดมอเตอร์ประกาศแผนงานระยะยาว ‘Fuel Cell Vision 2030’ เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นในการพัฒนาสังคมไฮโดรเจน ตามแผนงาน ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตระบบเซลล์เชื้อเพลิงต่อปีเป็น 700,000 หน่วยภายในปี 2573 และสำรวจโอกาสทางธุรกิจใหม่ในการจัดหาระบบเซลล์เชื้อเพลิงให้กับผู้ผลิตการขนส่งยานพาหนะ โดรน เรือบรรทุกสินค้า และรถโฟล์คลิฟต์

●   อีกก้าวสำคัญของฮุนไดในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2019 เมื่อ Hyundai Motor Group ประกาศลงทุน 80 ล้านยูโร ร่วมกับ Rimac Automobili บริษัทผลิตรถสปอร์ตพลังงานไฟฟ้าสัญชาติโครเอเชีย ทั้ง 2 บริษัทมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนารถสปอร์ตต้นแบบของฮุนได และรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงสมรรถนะสูง รวมทั้งต้นแบบรถรหัสแรง N Performance ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

●   กันยายน 2019 Hyundai Hydrogen Mobility ก่อตั้งขึ้นโดยร่วมทุนระหว่าง Hyundai Motor Company และ H2 Energy และมีความร่วมมือเพิ่มเติมกับ Hydrospider ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ H2Energy, Alpiq และ Linde เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในสวิตเซอร์แลนด์และประเทศอื่นในยุโรป โดย Hyundai Hydrogen Mobility วางแผนนำ รถบรรทุกเซลล์เชื้อเพลิงไฟฟ้า Hyundai H2 Xcient จำนวน 1,600 คัน สู่ภาคส่วนยานยนต์เพื่อการพาณิชย์พลังสะอาดในยุโรป ใช้ระบบเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนขนาด 190 กิโลวัตต์ โดยมีเซลล์เชื้อเพลิงขนาด 95 กิโลวัตต์ 2 ชุด ไฮโดรเจนมีความจุ 35 กิโลกรัม ขับได้ไกลกว่า 400 กิโลเมตร

●   ฮุนได มอเตอร์ กรุ๊ป สร้างความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเซลล์เชื้อเพลิง ด้วยการร่วมมือกับ Hyundai Mobis บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งกลายเป็นเป็นบริษัทแรกในโลกที่สร้างระบบการผลิตแบบบูรณาการสำหรับส่วนประกอบหลักของรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง มีโรงงานอยู่ในเมืองชุงจู มีกำลังการผลิตโมดูลเซลล์เชื้อเพลิง (PFC) 3,000 โมดูลต่อปี และมีความสามารถในการผลิต PFC หลายหมื่นโมดูล เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่คาดการณ์ไว้  ระยะทางใช้งานที่ไกลขึ้น และเวลาการเติมเชื้อเพลิงที่สั้นลง ทำให้ไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงานในอนาคตที่น่าสนใจสำหรับการเคลื่อนที่ด้วยไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านน้ำหนักของรถ

●   หลังจากคิดค้นและพัฒนามากว่า 20 ปี ช่วงต้นธันวาคม 2020 ฮุนไดก็เปิดตัวบริษัทใหม่ในเครือเดียวกันอย่าง HTWO เพื่อสนับสนุนระบบเซลส์เชื้อเพลิงโดยเฉพาะ การเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนาของฮุนไดในครั้งนี้ ได้เห็นรถบัสขนาดใหญ่ ติดตั้งระบบเซลส์เชื้อเพลิงหลายหลายรุ่น มีทั้งจำหน่ายจริง ขับใช้งานบนถนนทั่วโลกโดยเฉพาะในแถบยุโรป และหลายรุ่นอยู่ในขั้นตอนท้ายๆ ของการทดสอบก่อนทำตลาดจริง รถบัสขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนด้วยเซลส์เชื้อเพลิงได้รับการประยุกต์ให้รองรับการใช้งานได้หลากหลาย โดยติดตั้งถังไฮโดรเจนไว้บนหลังคา เพื่อให้ด้านล่างมีพื้นที่เก็บของเหมือนรถบัสที่ใช้เครื่องยนต์

●   ถ้าเป็นรถบัสเชิงพาณิชย์ จะติดตั้งถังขนาดใหญ่ 6 ถัง ความจุ 34.3 กิโลกรัม ขับใช้งานได้ไกลถึง 890 กิโลเมตร ขับได้ต่อเนื่อง 1 วันครึ่ง มีกำลัง 335 แรงม้า แรงบิด 1,200 นิวตันเมตร มีเกียร์ 4 จังหวะ ทำความเร็วได้ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้าเป็นรถที่ใช้ในราชการตำรวจ ต้องขับตรวจการณ์ทั้งวัน จุคนได้ 45 คน ถังไฮโดรเจนจุ 41.2 กิโลกรัม ขับได้ 1,070 กิโลเมตร รถบัสไฮโดรเจนอีกรุ่นในเครืองฮุนไดที่มียอดจำหน่ายดีในยุโรปคือ Solaris Urbino มีกำลัง 180 แรงม้า ขับได้ 800 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนสถานีเติมไฮโดรเจนในเกาหลีใต้ รัฐบาลตั้งเป้าไว้จากปี 2018-2040 ว่าจะต้องมีประมาณ 1,200 แห่ง โดยสถานีแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ On-site ติดตั้งอุปกรณ์ผลิตไฮโดรเจนด้วย สามารถผลิตและเติมได้ ส่วนอีกแบบคือ Off-site ต้องรับไฮโดรเจนมาจากแหล่งอื่น ทั้ง 2 แบบต่างกันแค่แหล่งที่มาของไฮโดรเจน ส่วนการเติมนั้นมีขั้นตอนเหมือนกัน

Hyundai Autonomous ระบบขับอัตโนมัติที่ใกล้เป็นจริง

●   อีกหนึ่งความมุ่งมั่นของฮุนได คือ การพัฒนาระบบขับอัตโนมัติ เลเวล 5 โดยร่วมมือกับบริษัท Motional หนึ่งในผู้นำด้านการพัฒนาระบบขับอัตโนมัติหรือ AVs ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา โดยมีรถ IONIQ 5 Robotaxis เป็นต้นแบบและเตรียมใช้จริงในปี 2023 นี้ การทดสอบระบบใช้รถ 4 ประเภท ใช้งานในหลายเมืองและหลายทวีป ในสภาพแวดล้อมและสถานการณ์การที่หลากหลาย ตลอดการทดสอบไม่มีเหตุการณ์ความผิดพลาดเลย Motional มีขั้นตอนการทดสอบที่เข้มงวด รถทุกคันผ่านการทดสอบในสถานการณ์ที่ท้าทายและคาดเดาไม่ได้นับพันครั้ง ทั้งบนสนามปิดและถนนสาธารณะ มีการนำรถรุ่นนี้ไปใช้รับผู้โดยสารในลาสเวกัสกว่า 1 แสนครั้ง และได้รับความพึงพอใจอย่างท่วมท้น และได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้งานได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องมีคนขับ

●   IONIQ 5 Robotaxis ประกอบด้วย 3 อุปกรณ์หลักที่ทำให้การเดินทางแบบไร้คนขับมีความปลอดภัยและเชื่อถือได้ คือ เซ็นเซอร์ ระบบสำรองข้อมูล และ Remote Vehicle Assistance (RVA) รถติดตั้งเซ็นเซอร์กว่า 30 ตัว (การรวมกันของ LiDAR, เรดาร์ และกล้อง) เพื่อให้มองเห็นได้รอบคัน 360 องศา รวมถึงครอบคลุมสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย การใช้ LiDAR, เรดาร์ และเซ็นเซอร์กล้องร่วมกัน เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเดินทางแบบไร้คนขับอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ การรวบรวมข้อมูลทำให้เซ็นเซอร์ทั้งหมดสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ และมีการทำงานที่ทดแทนกันได้ เช่น เรดาร์ไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ LiDAR ให้ข้อมูลระยะทาง และกล้องสามารถระบุรูปแบบวัตถุต่างๆ ได้เป็นต้น

●   สำหรับการทดลองในรถบัสที่ใช้ระบบขับอัตโนมัติ เจ้าหน้าที่แจ้งข้อมูลว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาให้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับจากกล้อง 360 องศา ระยะทำการด้านหน้า 200 เมตร บนจอมีข้อมูลต่างๆ ทั้งเส้นทาง รถที่อยู่ในระยะ รวมถึงคนที่มีการเคลื่อนไหว ในศูนย์วิจัยและพัฒนาจำกัดความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ทำความเร็วได้สูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เมื่อเซ็นเซอร์ตรวจพบคนกำลังข้ามถนนบนทางม้าลาย ก็จะลดความเร็วลงทันที รถรุ่นนี้เริ่มทดลองบนถนนสาธารณะแล้วช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2021 ใช้ขับรับนักท่องเที่ยวในจังหวัดหนึ่งของเกาหลีใต้ เท่าที่ทดลองนั่งรู้สึกว่าระบบมีความแม่นยำ เสถียร และปลอดภัย คาดว่าไม่นานจะมีการใช้จริงอย่างแพร่หลาย

Hyundai Robotics

●   ฮุนไดผลิตหุ่นยนต์ไม่ใช่เพียงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้น แต่ยังคิดค้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันในอนาคตอีกด้วย หุ่นยนต์ของฮุนไดแบ่งเป็น 4 หมวดหลัก ประกอบด้วย

1. Wearable Robots หุ่นยนต์ที่สวมใส่ได้

●   CEX: Chairless EXoskeleton หุ่นยนต์ที่รองรับร่างกายส่วนล่าง มีนำหนักเพียง 1.6 กิโลกรัม รองรับน้ำหนักผู้สวมใส่ได้สูงสุด 150 กิโลกรัม ปรับได้ 3 มุมนั่ง คือ 55 70 และ 85 องศา ลดความเมื่อยล้าหรือความตึงเครียดช่วงเอวและต้นขาเมื่อต้องทำงานในท่านั่งต่ำ ลดการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนล่างได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์

●   VEX: Vest EXoskeleton สำหรับผู้ที่ต้องทำงานที่อยู่เหนือศีรษะ ออกแบบเลียนแบบการเคลื่อนไหวของข้อต่อ และเพิ่มการรองรับน้ำหนัก ส่วนที่รองรับหลังสามารถปรับความยาวได้ 18 เซนติเมตร เพื่อให้เข้ากับทุกสรีระหุ่นยนต์มีน้ำหนัก 2.5 กิโลกรัม เบากว่าคู่แข่ง 42 เปอร์เซ็นต์​ ลดการทำงานของกล้ามเนื้อช่วงบนได้กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ และสามารถปรับมุมรองรับร่างกายได้ 6 ระดับ 3 มุมที่แตกต่างกัน เมื่อสวมใส่ VEX แล้วยกแขนขึ้น หุ่นยนต์จะเพิ่มแรงการรับน้ำหนักให้อีก 6 กิโลกรัม ป้องกันความผิดปกติของกล้ามเนื้อและกระดูก และมีการรองรับต้นคอที่ดี จำหน่ายจริงผ่าน Hyundai Rotem ตั้งแต่ปี 2019

●   MEX: Medical EXoskeleton เครื่องพยุงช่วยเดินสำหรับผู้ป่วยอัมพาตขา รองรับทั้งการนั่ง ยืน เดิน และการขึ้นลงบันได ช่วยให้ผู้ป่วยที่บาดเจ็บไขสันหลังส่วนล่างสามารถใช้ชีวิตสะดวกขึ้น ด้วยระบบการควบคุมในตัว หุ่นยนต์นี้นับเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่ใช่เครื่องมืออุตสาหกรรม ก่อนจำหน่ายจึงต้องขออนุญาตกระทรวงความปลอดภัยด้านอาหารและยาของเกาหลีใต้

2. Service Robots หุ่นยนต์ด้านการบริการ

●   H2D2: Hyundai Hotel Delivery Droid ทำหน้าที่เป็นรูมเซอร์วิส เมื่อได้รับคำขอจากผู้เข้าพัก สามารถจดจำวัตถุรอบตัวได้เพื่อหลีกเลี่ยงการชน และสามารถส่งของไปยังห้องพักได้ ขึ้น-ลงลิฟต์ได้ด้วยการซิงค์ข้อมูลเชื่อมต่อกับลิฟต์ สามารถออกแบบหุ่นให้เหมาะกับสไตล์ของโรงแรมได้ และสามารถติดตามการทำงานได้ง่ายผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์

●   DAL-e: ย่อมาจาก Drive you, Assist you, Link with you หุ่นยนต์ผู้จัดการส่วนตัว สามารถอธิบายรายละเอียกของรถยนต์ หรือเรียกตัวพนักงานในโชว์รูมได้ มีระบบเลี้ยว 4 ล้อ เคลื่อนที่ได้แบบรอบทิศทาง Holonomi

●   ACR: Automatic Charging Robot หุ่นยนต์ที่รวมการจอดและการชาร์จไฟฟ้าอัตโนมัติเข้าไว้ด้วยกัน สามารถระบุตำแหน่งช่องชาร์จของรถได้ผ่านเทคโนโลยีการเรียนรู้เชิงลึก มีเซ็นเซอร์ที่มองเห็นทั้งรถยนต์และหุ่นยนต์ จึงมีการทำงานที่แม่นยำ

3. Robotic Mobility หุ่นยนต์สำหรับการเดินทาง

●   E-Board น้ำหนักเพียง 8 กิโลกรัม ใช้แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน10.5Ah ชาร์จ 1 ครั้ง ใช้งานได้ 20 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขับเคลื่อนล้อหลัง

●   TarGo หุ่นยนต์ส่งสินค้า มีขนาด 695.5 ✕ 940.2 ✕ 1,244 มิลลิเมตร ทำความเร็วสูงสุดได้ 1.2 เมตรต่อวินาที รับน้ำหนักได้ 100 กิโลกรัม ใช้งานได้ 8 ชั่วโมงต่อการชาร์จ 1 ครั้ง สามารถใช้วิธีสลับแบตเตอรี่ลูกใหม่หรือชาร์จไฟฟ้าก็ได้

4. Acquisition of Boston Dynamics หุ่นยนต์ดูแลความปลอดภัยในโรงงาน

●   Factory Safety Service Robot เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระแม้ในพื้นที่แคบหรือบนบันได สามารถมองเห็นในจุดบอดหรือจุดที่สายตามนุษย์ยากจะมองเห็น ควบคุมการทำงานผ่านรีโมทคอนโทรลได้

SPACES – Autoway Tower

●   สเปซรูปทรงล้ำสมัยใจกลางกรุงโซล เป็นศูนย์กลางการค้า ธุรกิจ และวัฒนธรรม มีพื้นที่รวมกว่า 47,000 ตารางเมตร เป็นที่ตั้งของสำนักงานฮุนได ชั้นล่างมีรถฮุนไดจอดโชว์หลายรุ่น ซึ่งรุ่นที่ลุ้นอยากให้ทำตลาดในเมืองไทยก็มี Hyundai KONA (เจนเนอเรชั่นที่ 2) และ IONIQ 5

Mr. Seon Seob Kim รองประธานกรรมการบริหาร และหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ ฮุนได มอเตอร์ ภูมิภาคเอเชีย

●   ชมรถเสร็จแล้วเข้าห้องประชุมเพื่อเข้าสู่ช่วงพิธีการ โดยคณะสื่อมวลชนไทยได้เกียรติจาก Mr. Seon Seob Kim รองประธานกรรมการบริหาร และหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ ฮุนได มอเตอร์ ภูมิภาคเอเชีย กล่าวต้อนรับ จากนั้นเป็นการอธิบายโครงสร้างธุรกิจโดยรวมของฮุนได และทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต ที่ฮุนไดมองไปถึงการสร้าง Smart City เมืองแห่งอนาคตที่มีพื้นที่ว่างและเวลาสำหรับทุกคน ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทำงานสัมพันธ์กันทั้งระบบ

●   ในส่วนของธุรกิจยานยนต์ก็มีการตอกย้ำถึง HTWO แบรนด์ระบบเซลส์เชื้อเพลิงของฮุนได ที่เน้นการใช้ไฮโดรเจรเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมไปถึงธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ด้วย เช่น เรือ รถไฟ และ AAM หรือ Advanced Air Mobility และเครื่องปั่นไฟฟ้าฉุกเฉิน ธุรกิจ Robotics รวมถึง Smart Mobility อย่างรถที่สามารถขับได้เองโดยอัตโนมัติ อีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ การเปิดไลน์-อัพ ยานยนต์ไฟฟ้า ที่จะมีมากกว่า 17 รุ่น ภายในปี 2030 มีทั้งเก๋งซีดาน เอสยูวี และกระบะ โดยแบ่งเป็นแบรนด์ฮุนไดประมาณ 11 รุ่น และ Genesis อีก 6 รุ่นทั้งเก๋งและเอสยูวี ขาดไม่ได้สำหรับรหัสแรงอย่าง N Brand ที่เน้นขับสนุก ยึดเกาะถนนดี เป็นรถสปอร์ตที่ขับใช้งายได้ทุกวัน และรองรับการขับในสนามแข่งได้ สรุปรถของฮุนไดมีทั้งซีดาน เอสยูวี แฮทช์แบ็ก รถเพื่อการพาณิชย์ รถไฟฟ้า และรถไฮโดรเจน FCEV

●   ในส่วนของงานออกแบบ ฮุนไดมีศูนย์วิจัยและพัฒนาทั่วโลกกว่า 10 แห่ง มีวิศวกรและนักออกแบบรวม 13,000 คน เน้นไปในทิศทาง Hyundai Look เน้นความสปอร์ต ได้รับรางวัลด้านการออกแบบจากหลายสำนักทั่วโลก ส่งผลให้ฮุนไดมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ทั้งในเกาหลี, อเมริกาเหนือ, อเมริกากลางและใต้ รวมถึงยุโรป, อินเดีย, จีน และเอเซียแปซิฟิก โดยในปี 2022 มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.6 เปอร์เซ็นต์ สอดคล้องกับกำลังการผลิตจากโรงงานฮุนไดทั่วโลก 10 แห่ง ที่สามารถผลิตรถได้รวมกันเกือบ 5 ล้านคันต่อปี รายได้ประจำปี 2022 ประมาณ 110 พันล้านเหรียญสหรัฐ

●   บริษัท ฮุนได มอเตอร์ มีพนักงานทั่วโลกกว่า 120,000 คน ดำเนินการผลิตรถยนต์ใน 9 ประเทศ ทำตลาดผ่าน 6,200 เครือข่าย ใน 184 ประเทศ ในปี 2022 จำหน่ายรถได้รวม 3,943,000 คัน

SPACE GENESIS GANGNAM

●   โชว์รูมแยกอิสระหรือ Stand Alone แห่งแรกของ Genesis นอกจากตัวรถยนต์แล้ว ยังนำเสนอเบื้องหลังและแนวคิดในการออกแบบรถทั้งภายนอกและภายใน มีผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลรถแต่ละรุ่น และสามารถทดลองขับได้ ภายนอกดูเป็นโชว์รูมที่โดดเด่นจากความเรียบง่ายของรูปทรงและการตกแต่งที่เน้นพื้นที่กระจก ภายในตกแต่งสไตล์มินิมอลเรียบหรู มีรถหลายหลายรุ่นให้ชมและทดลองขับ

GENESIS ELECTRIC VEHICLE CHARGING STATIONS

●   ออกแบบโดยสตูดิโอสถาปนิก Morphosis ก่อตั้งโดย Thom Mayne ใช้สัญลักษณ์จากโลโก้อันโดดเด่นของ Genesis ซึ่งเป็นรูปปีกที่มีโล่อยู่ตรงกลาง รูปทรงของหลังคาคล้ายปีก ทำจากเหล็กและอลูมิเนียม ขอบหลังคาติดตั้งแถบเส้นไฟ LED ทำให้สามารถมองเห็นสถานีได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ส่วนแผงไฟ LED ใต้หลังคาเปลี่ยนสีได้ เพื่อระบุระดับการชาร์จไฟฟ้า

Hyundai Motor Studio Goyang

●   ศูนย์รวมทุกอย่างที่เกี่ยวกับรถยนต์ฮุนได ตื่นตาตื่นใจตั้งแต่มาถึงด้วยการออกแบบภายนอกที่ล้ำสมัยโดดเด่น ส่วนภายในก็เน้นพื้นที่ว่าง แม้จะมีรถจอดหลายคันแต่ก็ดูโปร่งโล่งสบายตา ภายในมีนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตรถตั้งแต่วัตถุดิบจนเป็นรถยนต์ 1 คัน สัมผัส N-Brand แบบ 3 มิติ เรียนรู้ระบบความปลอดภัยต่างๆ แนวคิดในการพัฒนาระบบเซลส์เชื้อเพลิง ผ่านระบบมัลติมีเดียที่เข้าใจง่ายและตื่นตาตื่นใจตลอดการบรรยาย 1 ชั่วโมง

●   การผลิตรถของฮุนได เริ่มจากการพัฒนาวัตถุดิบหลักอย่างโลหะ ให้มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการในแต่ละชิ้นส่วน เช่น ชิ้นส่วนที่ต้องการความแข็งแรง หรือชิ้นส่วนที่ต้องการความยืดหยุ่น จากนั้นจำลองการใช้หุ่นยนต์ในการเชื่อมตัวถัง ต่อด้วยการพ่นสี การประกอบ สาธิตการใช้หุ่นยนต์ ยกเบาะที่มีน้ำหนัก 20 กิโลกรัม เข้าไปติดตั้งในรถ ต่อเนื่องด้วยการชมการสาธิตการทำงานของระบบความปลอดภัยต่างๆ เช่น แอร์แบ็ก การทดสอบชน และการจำลองส่วนประกอบของระบบเซลส์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ส่วนในคลิปด้านล่างเป็นการร่วมลองระบบหลบหลีกอัตโนมัติ และชมการจำลองการออกแบบที่มีรูปแบบอิสระ

●   นอกจากมีรถให้ชมแล้ว ภายในสตูดิโอแห่งนี้ยังมีรถให้ทดลองขับหลายรุ่น เช่น G90, ​​GV80, GV70, GV60, GRANDEUR, SONATA, AVANTE, AVANTE HYBRID, PALISADE, SANTA FE, TUCSON, KONA, VENUE, CASPER, IONIQ 6 , IONIQ 5, NEXO และ STARIA เลาจน์ลีมูซีน โดยจะได้ขับประมาณ 30 นาที ระยะทาง 19.8 กิโลเมตร บนถนนในเมือง Jayu-ro

Hyundai Motor Group

●   ปิดทริปด้วยการเยือนสำนักงานใหญ่ ฟังวิสัยทัศน์ของผู้บริหารฮุนได เกี่ยวกับ Smart City ที่รวมเอาเทคโนโลยีต่างๆ ของฮุนไดมาไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างสังคมที่มีคุณภาพ สะดวกสบาย และปลอดภัย ฟังแล้วแม้จะรู้สึกว่ายังอีกไกล แต่ก็ไม่เกินความจริง เพราะทุกส่วนมีเหตุและผลรองรับ

●   ช่วงท้ายกิจกรรมเป็นการพูดคุยกับผู้บริหาร เกี่ยวกับทิศทางของฮุนไดในประเทศไทย ได้รับคำตอบกว้างๆ ว่าฮุนไดจะทำให้คนไทยรับรู้ถึงแบรนด์ฮุนไดก่อน และเน้นการช่วยเหลือสังคม ส่วนแผนการแบบเฉพาะเจาะจงว่าจะทำตลาดด้วยรถรุ่นไหนบ้างในปีนี้และปีต่อไป ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนฟันธง เพราะต้องดูความเหมาะสมและสถานการณ์ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถ้าจะให้เดาก็น่าจะเป็นรถไฟฟ้า นำเข้าจากโรงงานในประเทศอินโดนิเซีย ใช้มาตรการทางภาษี และมีราคาที่แข่งขันได้         ●

ขอบคุณ บริษัท ฮุนได โมบิลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง

Report : Take a journey with Hyundai Motor Korea