March 17, 2023
Motortrivia Team (10069 articles)

Toyota Tsusho / ม.เกษตร จัดแข่งพัฒนาซอฟต์แวร์รถไร้คนขับ

ประชาสัมพันธ์

●   บริษัท โตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด (Toyota Tsusho Nexty Electronics (Thailand) Co.,Ltd หรือ NETH) และ บริษัท โตโยต้า ทูโช เด็นโซ่ อิเล็คทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (Toyota Tsusho Denso Electronics หรือ TDET) ผู้พัฒนาและจัดจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดตั้งในรถยนต์ ตลอดจนพัฒนาซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวในรถยนต์ เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ของประเทศไทย จึงได้จัดการแข่งขันพัฒนาซอฟต์แวร์จำลองการขับเคลื่อนรถยนต์ไร้คนขับ ผ่าน Virtual Simulation ภายใต้ชื่องาน CARLA Contest 2023 : New Generation Developer for Next Generation Automotive Technology โดยร่วมมือกับสมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การจัดแข่งขันในครั้งนี้นับเป็นการจัดแข่งขันสำหรับกลุ่มมหาวิทยาลัยเป็นครั้งที่ 3 และนับเป็นครั้งแรกสำหรับการจัดแข่งขันด้าน Virtual Simulation

●   นายยาซูชิ ทาคาบายาชิ ประธานและซีอีโอ บริษัท โตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัทโตโยต้า ทูโช เด็นโซ่ อิเล็คทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก กำลังตื่นตัวกับการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ หรือ Autonomous Driving และกำลังเป็นแนวโน้มที่มีการเติบโตอย่างมาก โดยมีรายงานจาก marketsandmarkets.com ระบุว่า มูลค่าตลาดพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านรถยนต์ไร้คนขับจะมีการเติบโตเฉลี่ยปีละราว 13% นับจากปี 2022-2027 ซึ่งในปี 2022 มีมูลค่า 21.7 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 7.5 แสนล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2027 จะมูลค่าสูงถึง 40.1 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 1.4 ล้านล้านบาท

●   “ประเด็นสำคัญคือ ทุกฝ่ายต่างตระหนักถึงความปลอดภัย ซึ่งการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับจะต้องมีระบบการควบคุมที่ดียิ่ง ทั้งเรื่องการเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ การขับเคลื่อนให้อยู่ในเลน การหลบหลีกสิ่งกีดขวาง เป็นต้น ซึ่ง CARLA Contest 2023 มีการให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว”

●   การแข่งขัน CARLA Contest 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 มีนาคม 2566 นี้ โดยทาง NETH-TDET ได้ให้การสนับสนุนด้านการฝึกอบรม และการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านยานยนต์ไร้คนขับ โดยใช้ซอฟต์แวร์ CARLA ซึ่งประมวลผลบนระบบคลาวด์ ตลอดจนเงินรางวัลสำหรับทีมที่ชนะการแข่งขันจำนวน 4 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 รองชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัลพิเศษสำหรับทีมที่มีคะแนนควบคุมการขับขี่ได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด

●   “บริษัทหวังว่ากิจกรรมดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรซอฟต์แวร์ไทยด้านยานยนต์ไร้คนขับให้ก้าวไปสู่เวทีระดับสากลต่อไปในอนาคต ซึ่งแนวโน้มเทคโนโลยีด้านยานยนต์ที่สำคัญ เช่น เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับหรือ Autonomous Driving เป็นแนวโน้มที่มาแรงและจะยังคงต้องการการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” นายทาคาบายาชิ กล่าว

●   เทคโนโลยีที่สำคัญถัดมา คือ Digital Twin หรือ แบบจำลองเสมือนในโลกดิจิทัล หรือเปรียบเป็นคู่แฝดดิจิทัล คือ การจำลองวัตถุที่อยู่ในโลกให้ออกมาในรูปแบบเสมือน (Virtual) ทำให้เห็นกระบวนการทำงานหรือระบบต่างๆ ของวัตถุในโลกจริง ได้หลายมิติมากยิ่งขึ้น สามารถแสดงข้อมูลเชิงลึกในส่วนของพฤติกรรมทางกายภาพของรถยนต์ อีกทั้งยังสามารถแจ้งเตือนประสิทธิภาพของชิ้นส่วนต่างๆ ได้ด้วย เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ และเทคโนโลยีด้าน Virtual Simulation ซอฟต์แวร์จำลองการขับเคลื่อนยานยนต์อัตโนมัติ ที่ตอบโจทย์แนวโน้มยานยนต์ไร้คนขับได้เป็นอย่างดี

●   การแข่งขันในครั้งนี้ ทาง NETH-TDET ได้จัดฝึกอบรมเทคโนโลยีทั้งสามด้านให้กับนักศึกษาที่เข้าร่วมแข่งขัน โดย Virtual Simulation ที่นำมาให้ทางนักศึกษาเรียนรู้ในครั้งนี้ คือ CARLA ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไร้คนขับต้องการองค์ความรู้ในเทคโนโลยีทั้งสามด้านที่กล่าวมา รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ

●   ผศ.ดร. ศุภชัย วรพจน์พิศุทธิ์ อุปนายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA: Thai Embedded Systems Association) กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดงานครั้งนี้ นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยจำนวนมาก มีนักศึกษาสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน 24 ทีม รวมทั้งสิ้น 77 คน โดยนักศึกษาต่างมีพื้นฐานด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเวทีนี้เป็นการสร้างความท้าทายของ New Generation Developer ที่จะก้าวตามแนวโน้มซอฟต์แวร์ด้าน Autonomous Driving และแนวโน้มเทคโนโลยีอุบัตใหม่ (Emerging Technology) แขนงที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนยานยนต์ไร้คนขับ

●   TESA เชื่อว่า แนวโน้มด้าน Autonomous Driving จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยนับจากนี้ แม้ปัจจุบันจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะของประเทศไทย ที่มีมูลค่ากว่า 3.8 แสนล้านบาทในปี 2564 มีอัตราการเติบโตสูงถึงราว 20% (ข้อมูลจาก depa: https://shorturl.asia/a9Ofb) โดยในส่วนของอุปกรณ์อัจฉริยะหรือ IoT มีสมองกลฝังตัวเป็นองค์ประกอบสำคัญอยู่ในนั้น จึงเชื่อมั่นว่า Autonomous Driving จะเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของอุตสาหกรรมฯ ต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ และจะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นไป

●   ผศ. ดร. วีรวุฒิ กนกบรรณกร รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัย มีความภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการแข่งขัน CARLA Contest 2023 เป็นการจุดประกายด้านการสร้างนวัตกรรมและดึงศักยภาพของนักศึกษาออกมาให้ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การผลักดันและต่อยอดความรู้ อันจะเป็นผลลัพธ์ในการผลิตบุคลากรให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์

●   ความร่วมมือในครั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไอทีความเร็วสูงสำหรับการแข่งขันซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะต้องรองรับการประมวลผลจากทีมที่เข้าแข่งขันทั้งหมด 24 ทีม ตลอดจนสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ

●   สำหรับผลการแข่งขัน ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ ทีม UP Autonomous 01 จากมหาวิทยาลัยพะเยา ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ทีม The Triangle จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเงินรางวัล 25,000 บาท และทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ทีม Tearsky จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาทและทีมที่ได้รับรางวัลพิเศษ คือ ทีม UP Autonomous 01 อีกเช่นกันได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท

●   ทั้งนี้ รูปแบบการแข่งขันใช้คะแนนเป็นเกณฑ์การตัดสิน ซึ่งซอฟต์แวร์ของ CARLA มีรายงานผลการจำลองการขับเคลื่อนรถยนต์ไร้คนขับ ในด้านต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ด้านเวลา การออกนอกเส้นทาง การหลบหลีก การชนสิ่งกีดขวาง เป็นต้น และสามารถคำนวณคะแนนออกมาได้อัตโนมัติ โดยทีมที่ทำเวลาได้ดีที่สุดและขับขี่ได้อย่างปลอดภัยที่สุดจะเป็นทีมที่ชนะ

●   สุดท้ายนี้ NETH-TDET-TESA-KU จะยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรไทยต่อไป โดยหวังว่าจะเติมเต็มศักยภาพให้อุตสาหกรรมการขับเคลื่อนยานยนต์ไร้คนขับมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และพร้อมที่จะก้าวสู่เวทีสากลในอนาคต

เกี่ยวกับโตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์)

●   บริษัท โตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด (NETH) ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ควบคุมรถยนต์ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นฐานพัฒนาและส่งออกซอฟต์แวร์ควบคุมรถยนต์ไปยังประเทศญี่ปุ่น จัดจำหน่ายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ติดตั้งในรถยนต์ และให้การสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี

●   ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ www.th.nexty-ele.com

เกี่ยวกับโตโยต้า ทูโช เด็นโซ่ อิเล็คทรอนิกส์ (ไทยแลนด์)

●   บริษัท โตโยต้า ทูโช เด็นโซ่ อิเล็คทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด (TDET) บริษัทร่วมทุนกับ บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย พีทีอี จำกัด ในประเทศสิงคโปร์ จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการพัฒนาและออกแบบซอฟต์แวร์ สำหรับนำไปติดตั้งในหน่วยควบคุมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับเครื่องยนต์ที่ใช้ในยานยนต์ประเภทต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ใช้ควบคุมระบบส่งกำลังในรถยนต์

●   ข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่ www.denso.com/th         ●