May 20, 2023
Motortrivia Team (10196 articles)

Macnica Cytech เผยโฉมรถระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ Level 3 ในไทย

ประชาสัมพันธ์

●   แม็คนิก้า ไซเทค เปิดตัวรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขับเคลื่อนอัตโนมัติ เลเวล3 (Autonomous Passenger Vehicle Level3) ที่พัฒนาต่อยอดจากรถยนต์ไฟฟ้า 100% โดยได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนในการดัดแปลงรถยนต์และติดตั้งซอฟต์แวร์ระบบนำทาง รวมถึงระบบอื่นๆ ที่ล้ำสมัยอย่างครบครัน ประกาศพร้อมเดินหน้าผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเชิงพาณิชย์ได้ทันที

●   นายฮิเดอาคิ มิอุระ (Mr. Hideaki Miura) กรรมการผู้จัดการ บริษัท แม็คนิก้า ไซเทค (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า “รถยนต์นั่งส่วนบุคคลขับเคลื่อนอัตโนมัติรุ่นนี้ดัดแปลงและพัฒนาต่อยอดมาจากรถยนต์ไฟฟ้า เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลคันแรกของประเทศไทยที่ผลิตจากรถยนต์ไฟฟ้า 100% ติดตั้งคันเร่งไฟฟ้าแบบ Drive By Wire รวมถึงกล้อง ระบบสร้างแผนที่ HD Map และเซนเซอร์อื่นๆ ใช้ซอฟแวร์ Autoware ทำให้รถสามารถวิ่งอัตโนมัติได้ พร้อมฟังก์ชั่นตรวจจับสิ่งกีดขวาง ชะลอความเร็ว เบรค หรือเปลี่ยนเลนส์ได้อัตโนมัติ”

จากซ้าย : นางสาววรีมน ปุรผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ็นเซิฟ (ประเทศไทย) จำกัด และนายฮิเดอาคิ มิอุระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แม็คนิก้า ไซเทค (ประเทศไทย) จำกัด

●   “กลุ่มเป้าหมายของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติรุ่นนี้ คือ ทุกคนที่มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมด้วย ระบบของเราสามารถนำไปใช้ได้กับยานพาหนะหลากหลาย ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนขนาดใหญ่ ที่ใช้ในพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงงาน นิคมอุตสาหกรรม โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว สนามบิน เหมืองแร่ เป็นต้น เป็นระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องเป็นยานพาหนะแบบไหนหรือใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ลูกค้าสามารถออกแบบตามความต้องการใช้งาน เส้นทางการวิ่ง และคุณสมบัติที่ต้องการ ซึ่งราคาขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย นับเป็นโมเดลการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ ที่ยืดหยุ่นที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน”

●   “ในประเทศญี่ปุ่น เรามีการขยายตลาดสำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติในหลายจังหวัด ทั้งในรูปแบบของรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถยนต์ขนาดเล็ก (compact car) รถกอล์ฟ รวมไปถึงรถบัส (shuttle bus) ที่ให้บริการในลักษณะของ Mobility as a Service (MaaS) ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริหารเมืองและคนในชุมชนที่ได้ใช้งาน เราหวังว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือและทำงานร่วมกันกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาครัฐเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์และมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้ประชาชนหรือภาคเอกชนมีความมั่นใจในการนำเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับนี้ได้สะดวกและขยายไปในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งสอดรับกับเมกะเทรนด์ทั่วโลกในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน”

คุณธนาพร อดิรักษ์สถิตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท แม็คนิก้า ไซเทค (ประเทศไทย) จำกัด

●   โครงการพัฒนายานยนต์อัตโนมัติเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนทุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐบาลไทย ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าวในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ภายใต้งบประมาณสนับสนุน 17 ล้านบาท

●   นอกจากนี้ยังได้จับมือเป็นพันธมิตรกับเจ็นเซิฟ บริษัทออกแบบพัฒนา ผลิต และจำหน่ายรถ AGV สัญชาติไทย ผู้นำด้านระบบเคลื่อนที่ไร้คนขับ สำหรับธรุกิจอุตสาหกรรม คลังสินค้า โดยเจ็นเซิฟรับหน้าที่เป็นผู้ทำการติดตั้งฮาร์ดแวร์และระบบออโตเมชั่นอื่นๆ ทั้งหมดภายในรถยนต์ไร้คนขับ ทำให้การสั่งการระบบอัตโนมัติจากซอฟต์แวร์ (ออโต้แวร์) สามารถเสร็จสมบูรณ์ได้อย่างราบรื่นตามข้อกำหนดในการส่งมอบ ผลการทดสอบ พบว่ารถยนต์สามารถขับเคลื่อนได้เองโดยสมบูรณ์ในระยะทางมากกว่า 100 กม. ด้วยความเร็วสูงสุด 40 กม./ชม.

●   นางสาววรีมน ปุรผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ็นเซิฟ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ความร่วมมือในการพัฒนายานยนต์อัตโนมัติเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่บริษัทฯ จะได้แสดงศักยภาพในฐานะผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อมสร้างสรรค์เทคโนโลยีล้ำสมัยตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ ทั้งบุคคลทั่วไปและองค์กรต่างๆ ขณะที่แม็คนิก้า ไซเทค ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติที่มีบทบาทและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในประเทศไทย เชื่อว่าการผนึกกำลังของทั้งสองบริษัทฯ จะช่วยส่งเสริมและผักดันการเติบโตของตลาดรถยนต์ไร้คนขับได้เป็นอย่างดี”

●   “ภาพรวมด้านความพร้อมของสินค้าที่จะออกสู่ตลาด การดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถยนต์อัตโนมัติ เป็นเรื่องที่เริ่มทำได้เลย เพราะในประเทศไทยปัจจุบัน มีรถยนต์ไฟฟ้าให้เลือกนำมาดัดแปลงได้ทันทีหลายรุ่น ประกอบกับมีแหล่งผลิตชิ้นส่วนและเทคโนโลยีที่พร้อมอยู่แล้ว โดยเฉพาะเซกเมนต์รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ถือว่าปัจจุบันยังไม่มีคู่แข่งในประเทศ หากมีความต้องการให้ผลิตเชิงพาณิชย์ก็พร้อมเดินหน้าได้ทันที ตัวเทคโนโลยีเองก็ยังเดินหน้าพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงขีดความสามารถของผู้ผลิตในประเทศ เชื่อว่าภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ให้พัฒนาไปอีกขั้น เพื่อให้เติบโตและเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” นางสาววรีมน กล่าว

●   อนึ่ง บริษัท แมคนิก้า ไซเทค (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมแสดงนวัตกรรมในงาน Future Mobility Asia Exhibition & Summit 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) กรุงเทพฯ ภายในงาน นอกจากจะได้พบกับบูธของบริษัท แม็คนิก้า ไซเทค (ประเทศไทย) จำกัด (MH34) แล้ว ยังมีบริษัทชั้นนำและองค์กรที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 100 ราย ร่วมแสดงสินค้าและจัดแสดงเทคโนโลยียานยนต์และผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมแห่งอนาคต ในส่วนจัดแสดงของแม็คนิก้าจะมีทั้งหมด 3 โซน ได้แก่ บูธ MH34 จะมีการฉายวีดีโอเกี่ยวกับรถอัตโนมัติที่บริษัทเคยพัฒนามา ซึ่งรวมถึงโครงการที่ญี่ปุ่นด้วย Mobility Hub จะจัดแสดงรถยนต์จริง และ Innovation Stage จะนำเสนอผลงานของวิศวกรซอฟต์แวร์ชาวฝรั่งเศสที่มาจากบริษัทแม่ (โยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น) ผู้ซึ่งจะมาให้รายละเอียดเกี่ยวกับ Autoware (ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ซที่ใช้ในรถอัตโนมัติ)

●   ผู้สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติได้ที่: บริษัท แม็คนิก้า ไซเทค (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 081-811-2631 หรือ E-mail: [email protected] หรือเยี่ยมชมเว็บไซต์ที่ www.macnica.co.jp/en/business/maas/products         ●