
Honda City VTEC TURBO RS ขับประหยัด 31.4 กิโลเมตรต่อลิตร
เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ
● เว้นช่วงจากการเปิดตัวรุ่นปรับโฉมได้ไม่นาน ฮอนด้าก็จัดให้สื่อมวลชนได้ทดลองขับ ฮอนด้า ซิตี้ ใหม่ทั้งรุ่นย่อย VTEC TURBO และ e:HEV ในรูปแบบของการขับประหยัด ระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตร ซึ่งก็นับว่าเหมาะสมดี เพราะการปรับโฉมครั้งนี้เน้นไปที่รูปลักษณ์ภายนอกภายใน และเพิ่มอุปกรณ์มาตรฐานต่างๆ ส่วนเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังยังคงเดิม งานนี้รวมสื่อมวลชนเท้าปุยนุ่นมากหน้าหลายตา ปั้นตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองกันได้ระดับ 40 กิโลเมตรต่อลิตร

กติกาง่ายๆ ให้เวลาเยอะ
● เพื่อไม่ให้การขับยืดเยื้อ จึงให้เวลาขับ 2 ชั่วโมงครึ่ง นับตั้งแต่ออกจากจุดสตาร์ท ขับคันละ 2 คน และกำหนดว่าต้องสลับผู้ขับที่จุด Check Point เมื่อหารกับระยะทาง 130 กิโลเมตรแล้ว จะได้ความเร็วเฉลี่ยตลอดเส้นทางประมาณ 52 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทีมงานมอเตอร์ทริเวียได้รุ่น VTEC TURBO RS เครื่องยนต์เทอร์โบ 3 สูบ 1.0 ลิตร VTEC TURBO 122 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที 173 นิวตัน-เมตร ที่ 2,000-4,500 รอบต่อนาที กินน้ำมันเฉลี่ย 23.8 กิโลเมตรต่อลิตร ราคา 749,000 บาท
● รับหน้าที่ขับช่วงแรกจากบริษัทฮอนด้าในนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ไปถึงจุดลงเวลาในปั๊มน้ำมัน ระยะทางช่วงแรก 77 กิโลเมตร ตัดสินโดยดูจากอัตราสิ้นเปลืองบนชุดมาตรวัด ที่กรรมการจะกดแยก Trip A และ B สำหรับผู้ขับแต่ละคน และหารกันโดยกดดูที่อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยเมื่อถึงปลายทาง ส่วนเวลาก็ดูจากสมาร์ทโฟน ซึ่งตรงกันทุกคนอยู่แล้ว

ระยะทาง 77 กม. กินน้ำมัน 28.7 กม./ลิตร
● ออกเดินทางเวลา 9.45 น. ต้องถึงปลายทาง 12.30 น. รวมเวลาสลับผู้ขับ ออกจากนิคมบางชันก็เป็นไปตามคาดคือ การจราจรค่อนข้างติดขัด เนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่เช้ามืด แต่ก็ไม่รู้สึกกังวลอะไร เพราะคุยกับเพื่อนสื่อมวลชนที่ขับด้วยกันแล้วว่าจะขับกันแบบสบายๆ ไม่เคร่งเครียดมากนัก ได้ตัวเลขที่ไม่น่าเกลียดก็พอใจแล้ว ตลอดเส้นทางมีรถหนาแน่น หลายจังหวะจึงต้องใช้ความเร็วที่เหมาะสมกับสภาพการจราจร ไม่ช้าเกินไป ขับเลนซ้ายสุดที่ส่วนใหญ่มีแต่รถบรรทุก ก็ยังใช้ความเร็วป้วนเปี้ยนแถว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช้ามากไปก็จะโดนพี่ใหญ่ดันท้าย และไม่มีการขับช้าแช่เลนขวาเพื่อทำความเร็วคงที่ และเปิดแอร์เย็นฉ่ำตลอดการขับ
● ออกเดินทางเป็นคันที่ 2 ของกลุ่ม แต่ขับไปไม่นานก็แซงคันที่ออกไปก่อนไม่นาน เพราะทนขับช้ามากๆ ไม่ไหว เนื่องจากโดนกดดันจากรถคันหลังแม้จะอยู่ในเลนซ้ายสุดแล้วก็ตาม การแซงก็พยายามกดคันเร่งอย่างละมุนละม่อม มองจังหวะที่ไม่มีรถมาด้านหลังในระยะใกล้ รถใช้รอบค่อนข้างต่ำ ขับ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รอบเครื่องยนต์ประมาณ 1,200 รอบต่อนาที ความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็ยังไม่เกิน 1,500 รอบต่อนาที ถ้าเห็นทางข้างหน้าโล่งและเรียบไม่มีขึ้นเนินหรือสะพาน ก็จะแอบอู้ด้วยการกดใช้ครูสคอนโทรลบ้าง แต่ถ้าเน้นขับประหยัดจริงๆ ต้องเลี้ยงคันเร่งด้วยตัวเองจะดีกว่า เพราะการเปิดใช้ครูสคอนโทรลในบางจังหวะ เช่นการขึ้นสะพาน ระบบจะเร่งค่อนข้างเร็ว ไม่นุ่มนวลเหมือนขับเอง

● ยิ่งออกนอกเมือง ปริมาณรถก็เริ่มเบาบาง ทำความเร็วคงที่ได้ต่อเนื่องขึ้น และลดความเร็วลงได้อีกเล็กน้อยเพราะไม่มีรถหลังไล่กดดัน เวลาก็ยังเหลือเฟือ คันที่ขับมี Apple CarPlay แบบไร้สาย สแกน QR Code ที่ทีมงานฮอนด้าจัดเตรียมไว้ให้ ช่วยให้คำนวณเวลาได้ง่ายและแม่นยำขึ้น รวมทั้งบอกสภาพการจราจรด้านหน้าแบบคร่าวๆ ได้ด้วย ช่วงหลังๆ อัตราสิ้นเปลืองในชุดมาตรวัดดีขึ้นอย่างรวดเร็วแม้จะเกิน 25 กิโลเมตรต่อลิตรไปแล้วก็ตาม
● ถึงจุดสลับผู้ขับเวลา 11.06 น. รวมใช้เวลาเดินทางช่วงแรก 1 ชั่วโมง 21 นาที ความเร็วเฉลี่ยประมาณ 57 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่เร็วจนเหมือนไม่ให้ความร่วมมือ แต่ก็ไม่ช้าจนรู้สึกอึดอัดหรือทรมานตัวเอง ได้อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยจากชุดมาตรวัด 28.7 กิโลเมตรต่อลิตร สลับผู้ขับแล้วเดินทางต่อ

ช่วงสุดท้าย 52 กม. 34.1 กม./ลิตร
● ปรับเป็น Trip B และเซต 0 ก่อนออกเดินทาง สแกน QR Code ปลายทางแล้วดู Google Map บนหน้าจอ คราวนี้ง่ายขึ้นเพราะจะรู้เวลาถึงปลายทางกี่โมง ซึ่งเวลาค่อนข้างเหลือเฟือเพราะช่วงแรกใช้เวลาไม่เยอะ เส้นทางก็ตรงๆ และโล่งรถน้อย เหมาะกับการปั้นตัวเลขอย่างยิ่ง ขับไปไม่ไกลตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สังเกตว่าดีขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าการขับช่วงแรก น่าจะเพราะทางค่อนข้างโล่ง ทำความเร็วคงที่ได้ต่อเนื่อง ไม่ต้องขับเร็วมากเพราะไม่มีคันอื่นกดดัน รถก็น่าจะเรียนรู้พฤติกรรมการขับแล้วว่าจะขับแบบนุ่มนวล และที่สำคัญคือ ผู้ขับมีความชำนาญและใจเย็น แต่ยังคงคอนเซ็ปต์เดิมคือ ไม่กีดขวางใครและไม่ปิดแอร์
● ระหว่างทางมีติดไฟแดงบ้าง เมื่อไฟเขียวก็ขับออกตัวด้วยความเร็วปกติ ไม่โดนคันหลังบีบแตรไล่ อาจทำให้อัตราสิ้นเปลืองหดหายไปบ้าง แต่ก็ตีคืนได้ไม่ยากเมื่อใช้ความเร็วคงที่ จากจุดนี้มีเวลาเหลือเฟือบางช่วงจึงลดความเร็วลงเหลือประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้ใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่า และไม่ถึงปลายทางเร็วเกินไปจนน่าเกลียด อัตราสิ้นเปลืองดีขึ้นแบบพรวดพราดก้าวกระโดด ยังไม่ผ่านพ้นครึ่งทางตัวเลขก็ทะลุ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงไปแล้ว
● ถึงจุดลงเวลาด้วยตัวเลข 34.1 กิโลเมตรต่อลิตร หารกันแล้วได้ 31.4 กิโลเมตรต่อลิตร ยังเหลือเวลาประมาณ 10 นาที ยังใช้เวลาไม่คุ้มค่านัก น่าจะเพราะช่วงแรกขับเร็วไปหน่อย แต่ก็ถือว่าขับใกล้เคียงกับการใช้งานจริง ไม่ช้าเกินไปและเปิดแอร์ตลอดการเดินทาง เสร็จภารกิจแล้วเติมพลังมื้อกลางวัน ขากลับสลับรถเป็นรุ่นย่อย e:HEV RS ที่ขับยังไงก็ประหยัด กดคันเร่งหนักๆ บ้างหลังจากที่อัดอั้นมานานในช่วงขาไป ก็ยังเห็นตัวเลข 24 กิโลเมตรต่อลิตร อัตราเร่งไหลลื่นดีเพราะได้แรงบิดจากมอเตอร์ไฟฟ้ามาช่วย
● โดยรุ่น e:HEV ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร 98 แรงม้า ที่ 5,600-6,400 รอบต่อนาที แรงบิด127 นิวตัน-เมตร ที่ 4,500-5,000 รอบต่อนาที ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า 109 แรงม้า ที่ 3,500-8,000 รอบต่อนาที แรงบิด 253 นิวตัน-เมตร ที่ 0-3,000 รอบต่อนาที มีแรงบิดรวมทั้งระบบ 253 นิวตัน-เมตร กินน้ำมันเฉลี่ย 27.8 กิโลเมตรต่อลิตร แต่จากการขับประหยัดครั้งนี้ทำได้สูงถึงกว่า 40 กิโลเมตรต่อลิตร

ปรับโฉมเพิ่มความสด เติมความคุ้มค่า
● สำหรับรายละเอียดของการปรับโฉม สามารถอ่านได้จาก motortrivia.com/2023/07/honda-city-2023 ภายนอกรุ่น RS เปลี่ยนกระจังหน้า กันชนหน้า-หลัง สเกิร์ตข้าง เปลี่ยนล้อแม็กเป็น 16 นิ้ว สีรมดำ ยาง 185/60 R16 ตัวรถมีความยาว 4,580-4,589 มิลลิเมตร กว้าง 1,748 มิลลิเมตร สูง 1,467-1,480 มิลลิเมตร (รุ่นก่อนปรับโฉมยาว 4,553 และสูง 1,467 มิลลิเมตร) ความกว้างล้อหน้าหลัง 1,497/1,483-1,485 มิลลิเมตร ฐานล้อ 2,589 มิลลิเมตร
● ภายในปรับการตกแต่งเล็กน้อย ที่คอนโซลฝั่งผู้โดยสาร จากเดิม Ivory เป็น Dark Red เปลี่ยนเบาะหน้า-หลัง ดูสปอร์ตยิ่งขึ้นเข้าชุดกับแผงประตูที่ปรับใหม่เช่นกัน เปลี่ยนการตกแต่งขอบช่องแอร์และคอนโซลเกียร์จากเดิมสีเงินเป็นดำเงา เพิ่มอุปกรณ์มาตรฐานหลายรายการ ที่สำคัญคือ เพิ่ม HondaSENSING ตั้งแต่รุ่นเริ่มต้น จอสัมผัส 8 นิ้ว ใหม่ชัดกว่าเดิม ทำให้กล้องมองหลังชัดขึ้น และเชื่อมต่อไร้สายได้ทั้งสองระบบ
● รุ่นเทอร์โบเพิ่มระบบ Walk Away Auto Door Lock และ Remote Engine Start ในทุกรุ่นย่อย ส่วนรุ่น e:HEV เพิ่มช่อง USB-C ด้านหลัง และช่องแอร์หลัง เพิ่มที่เก็บของด้านหลังฝั่งผู้ขับพร้อมกระเป๋าช่องเล็ก เพิ่มเซ็นเซอร์ที่ปัดน้ำฝน เพิ่ม Adaptive Cruise Control พร้อมระบบ Low-Speed Follow ACC และ LSF เป็นครั้งแรกใน e:HEV รวมทั้งระบบเตือนเมื่อคันหน้าเคลื่อนที่ Lead Car Departure Notification System LCDN
● ฮอนด้า ซิตี้ รุ่นปรับโฉม เพิ่มรุ่นย่อย e:HEV SV เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วยราคา 769,000 บาท และรุ่น e:HEV RS ราคา 839,000 บาท ส่วนรุ่นเทอร์โบ มี 3 รุ่นย่อย V ราคา 629,000 บาท, SV ราคา 679,000 บาท และ RS ราคา 749,000 บาท ●