August 22, 2024
Motortrivia Team (10952 articles)

เจาะลึก Team Mitsubishi Ralliart หลังศึก AXCR 2024

motortrivia

●   จบลงไปแล้ว สำหรับการแข่งขันแรลลี่รายการใหญ่ Asia Cross Country Rally 2024 (AXCR) ซึ่ง มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ได้ส่งทีมแข่ง Team Mitsubishi Ralliart ภายใต้การสนับสนุนด้านเทคนิคจาก มิตซูบิชิ มอเตอร์ส พร้อมส่งตัวแข่ง All-New Mitsubishi Triton รุ่นล่าสุด เจนเนอเรชั่น 6 ทั้งหมด 4 คันลงสู้ศึกในปีนี้ การแข่งขันมีขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 17 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา บนเส้นทางเขตภาคใต้และภาคกลางของประเทศไทย

●   วันนี้มอเตอร์ทริเวียมีโอกาสได้ร่วมงานสัมภาษณ์ Team Mitsubishi Ralliart หลังการแข่งขัน AXCR 2024 เพื่อเจาะลึกรายละเอียดการแข่งขันในปีนี้ ปัญหาที่พบเจอ รวมถึงการเตรียมตัวในปีหน้าเพื่อลงชิงชัยในรายการนี้อีกครั้ง

รู้จัก Team Mitsubishi Ralliart

●   ปีนี้นับเป็นปีที่ 3 ที่ Team Mitsubishi Ralliart เข้าร่วมการแข่งขัน AXCR โดยในปีแรก (2022) ทีมสามารถคว้าแชมป์ประเภทบุคคลมาครองได้สำเร็จ ในขณะที่การแข่งขันในปีที่ 2 สามารถคว้าอันดับ 3 ประเภทบุคคลมาครอง (2023) ทว่าปีนี้ ทีมจบการแข่งในอันที่ 5 แบบโอเวอร์ออล

●   ในปีนี้ Team Mitsubishi Ralliart มี ทันท์ สปอร์ต (ประเทศไทย) เป็นเจ้าของทีมแข่ง ภายใต้การควบคุมของ มร. ฮิโรชิ มาซูโอกะ อดีตแชมป์ดาการ์ แรลลี่ 2 สมัย ในฐานะผู้อำนวยการทีม ร่วมด้วยทีมวิศวกรของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ซึ่งทำการพัฒนารถแข่งแรลลี่และร่วมเดินทางไปกับทีมเพื่อสนับสนุนด้านเทคนิคระหว่างการแข่งขัน

มร. ฮิโรชิ มาซูโอกะ อดีตแชมป์ดาการ์ แรลลี่ 2 สมัย ผู้อำนวยการทีม Team Mitsubishi Ralliart

●   ปัจจุบัน Team Mitsubishi Ralliart ประกอบด้วย มร. ฮิโรชิ มาซูโอกะ ผู้อำนวยการทีม, คุณชยุส ยังพิชิต (ทันท์ สปอร์ต) เจ้าของทีม, คุณก่อพงษ์ อมาตยกุล ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค, คุณโนริโยชิ ไอบะ ฝ่ายสนับสนุนด้านเทคนิค ตัวถัง และแชสซีส์ จากมิตซูบิชิ มอเตอร์ส) และ คุณเท็ตสึยะ มาคิตะ / คุณมาซาทากะ ซุยกิ 2 ผู้สนับสนุนด้านเทคนิคเครื่องยนต์จาก มิตซูบิชิ มอเตอร์ส

คุณชยพล โยธา และ คุณพีรพงษ์ สมบัติวงศ์

●   นักแข่งและผู้นำทาง ตัวแทนจากประเทศไทย ประกอบด้วย คุณชยพล โยธา ผู้คร่ำหวอดในการแข่งขันแรลลี่และมอเตอร์สปอร์ตหลายรายการในประเทศไทย และเป็นผู้นำทีมมิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ต คว้าแชมป์จากการแข่งขัน AXCR ครั้งแรกในปี 2022 ตามมาด้วยการคว้าอันดับที่ 3 ในการแข่งขัน AXCR 2023 ส่วนผู้นำทางได้แก่ คุณพีรพงษ์ สมบัติวงศ์

คุณคัตสึฮิโกะ ทากูชิ และ คุณทาคาฮิโระ ยาสุอิ

●   ต่อด้วยตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย คุณคัตสึฮิโกะ ทากูชิ นักแข่งสัญชาติญี่ปุ่นผู้คว้าแชมป์ประเภทกรุ๊ป N ในการแข่งขันแรลลี่ เจแปน ปี 2550 ทั้งยังคว้าแชมป์ 2 สมัย จากการแข่งขันระดับนานาชาติในรายการ FIA Asia Pacific Rally Championship (APRC) ส่วนผู้นำทางคือ คุณทาคาฮิโระ ยาสุอิ

คุณศักดิ์ชัย ห่านตระกูล และ คุณจุมพล ดวงทิพย์

●   อีกหนึ่งตัวแทนจากประเทศไทย คุณศักดิ์ชัย ห่านตระกูล นักแข่งซึ่งสั่งสมประสบการณ์การแข่งขันแรลลี่มานานกว่า 30 ปี ทั้งยังคุ้นเคยและเชี่ยวชาญการขับรถยนต์มิตซูบิชิ เป็นอย่างดี โดยได้เข้าร่วมการแข่งขันมากมาย รวมถึงรายการ ดาการ์ แรลลี่ 1996 ด้วยมิตซูบิชิ ปาเจโร ส่วนผู้นำทางคือ คุณจุมพล ดวงทิพย์

คุณคาสุโตะ โคอิเดะ และ คุณเออิจิ ชิบะ

●   ปิดท้ายด้วยตัวแทนจากประเทศญี่ปุ่น คุณคาสุโตะ โคอิเดะ ซึ่งเข้าทำงานกับมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ในเดือนเมษายน 2541 ในฐานะนักทดสอบรถยนต์ จึงมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญการขับรถยนต์มากมาย อาทิ ปาเจโร และแลนเซอร์ อีโวลูชั่น ปัจจุบันเขายังเป็นผู้ฝึกสอนทักษะการขับให้แก่พนักงานของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส รวมทั้งยังเป็นผู้สาธิตการขับขี่ในงานกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่น ส่วนผู้นำทางคือ คุณเออิจิ ชิบะ

2024 Mitsubishi Triton Rally Car

●   ตัวแข่งปีนี้ได้รับการพัฒนาสมรรถนะให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่ต่อสู้ที่มีเครื่องยนต์ความจุสูงกว่าได้ โดยเฉพาะในสเตจที่ใช้ความเร็วสูงมากๆ โดยมีการติดตั้งระบบส่งกำลังสำหรับรถแข่ง ซึ่งสามารถรองรับแรงบิดสูงเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทนทาน นอกจากนี้ความกว้างช่วงล้อยังได้รับการปรับขยายให้กว้างขึ้น ขณะที่ระบบกันสะเทือนหลังก็ได้รับการปรับปรุงใหม่ เปลี่ยนจากแหนบเป็นคอยล์สปริงแบบ 4 link ทำให้ตัวรถสามารถรองรับแรงสะเทือนบนสภาพถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อได้ดีขึ้น

●   ตัวรถได้รับการทดสอบในช่วงวันที่ 21 – 27 มิถุนายน 2567 ด้วยการจำลองสภาพเส้นทางการแข่งขันบนถนนและเส้นทางออฟ-โรด ใกล้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ผลการทดสอบพบว่าตัวถังและแชสซีส์มีความแข็งแรงทนทาน ขณะที่เครื่องยนต์ได้รับการปรับปรุงสมรรถนะและอัตราเร่งให้ดีขึ้น ซึ่งสามารถผ่านการทดสอบสุดทรหดเป็นระยะทางกว่า 800 กิโลเมตร ในระยะเวลา 7 วัน

มิติตัวถัง ยาว x กว้าง5,320 มม. x 1,955 มม.
ระยะฐานล้อ3,130 มม.
ความกว้างช่วงล้อ (หน้า/หลัง)          1,730 มม.
เครื่องยนต์4N16 ดีเซล เทอร์โบอินเตอร์คูลเลอร์
ระบบหัวฉีดหัวฉีดแรงดันสูง คอมมอนเรล ไดเรคอินเจคชั่น
ความจุกระบอกสูบ2,439 ซีซี
เทอร์โบชาร์จมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสตรี่ส์ เอนจิ้น แอนด์ เทอร์โบชาร์จเจอร์
กำลังสูงสุด150 กิโลวัตต์ หรือมากกว่า
แรงบิดสูงสุด470 นิวตันเมตร หรือมากกว่า
ระบบท่อไอเสียHKS AXCR 2024 สำหรับการแข่งขัน
ระบบส่งกำลังเกียร์ซีเควนเชียลแบบ 6 สปีด น้ำมันเกียร์ Moty’s
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบฟูลไทม์
เฟืองท้ายCUSCO LSD หน้าและหลัง
ระบบกันสะเทือนหน้าอิสระ ดับเบิลวิชโบน พร้อมคอยล์สปริง
ระบบกันสะเทือนหลังคอยล์สปริงแบบ 4 link
โช้คอัพCUSCO โช้คอัพปรับระดับได้ทั้งหน้าและหลัง
ชุดกันกระแทก ไฮโดรลิก
ระบบบังคับเลี้ยวแร็กแอนด์พีเนียน พร้อมระบบช่วยผ่อนแรง
ระบบเบรกดิสก์เบรกแบบมีช่องระบายความร้อนจาก ENDLESS
พร้อมผ้าเบรก และคาลิปเปอร์เบรกแบบชิ้นเดียว
น้ำมันเบรกสำหรับการแข่งขันจาก FORTEC
ล้อล้ออลูมินั่มอัลลอยจาก WORK (ขนาด 17 นิ้ว x 7J)
ยางYokohama GEOLANDAR M/T G003 (ขนาด 245/75R17)
ฟีเจอร์อื่น ๆซุ้มล้อหน้าคาร์บอนไฟเบอร์ แผงข้างประตูหน้าและหลังคาร์บอนไฟเบอร์
กระบะท้ายคาร์บอนไฟเบอร์

รถสนับสนุน

●   สำหรับการแข่งขัน Asia Cross Country Rally ในปี 2024 Team Mitsubishi Ralliart มีรถสนับสนุนทั้งหมด 6 คัน ประกอบด้วย Mitsubishi Delica D:5 จำนวน 4 คัน Mitsubishi Outlander PHEV จำนวน 1 คัน และ Mitsubishi Delica Mini อีก 1 คัน

●   Mitsubishi Delica D:5 เป็นรถมินิแวนอเนกประสงค์ที่มาพร้อมตัวถังอันแข็งแกร่งด้วยโครงสร้างนิรภัยรอบคันแบบ Rib-Bone และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ซึ่งควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ขับคล่องตัว ปราดเปรียว มีสมรรถนะการควบคุมรถที่ดีในสภาพอากาศและสภาพถนนหลากหลายรูปแบบ

●   มร. ฮิโรชิ มาซูโอกะ ผู้อำนวยการ ทีมมิตซูบิชิ แรลลี่อาร์ต จะรับหน้าที่ขับ Mitsubishi Delica D:5 เพื่อสำรวจเส้นทางการแข่งขัน โดยตัวรถได้รับการติดตั้งแผงอลูมิเนียมป้องกันเครื่องยนต์ ทั้งยังยกช่วงล่างสูงขึ้นจากเดิม 20 มิลลิเมตรโดยประมาณ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมรถบนเส้นทางสมบุกสมบัน

●   Mitsubishi Delica Mini รถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดเล็กหลังคาสูงแบบ เค คาร์ (Kei-car) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Delica Minivan ซึ่งผสานห้องโดยสารที่กว้างขวางเข้ากับสมรรถนะการขับที่สะดวกสบาย ปลอดภัย มั่นใจได้แม้ขณะขับขี่บนถนนทางกรวดและถนนลูกรัง

●   ปิดท้ายด้วย Mitsubishi Outlander PHEV รถยนต์รุ่นแฟล็กชิพพลังปลั๊ก-อิน ไฮบริด ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ที่ได้ผสานความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrification Technology) และเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ AWC (All-wheel Control Technology) เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อตอบโจทย์การใช้งานและการขับขี่ที่ทรงพลังในสภาพอากาศและสภาพถนนที่หลากหลายตามแบบฉบับรถ SUV

●   Mitsubishi Outlander PHEV มีอัตราเร่งที่นุ่มนวล ทว่าเปี่ยมด้วยพละกำลังจากการผสานการทำงานของเครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เสริมด้วยเทคโนโลยีความปลอดภัยที่ทันยุคสมัยและไว้วางใจได้

●   ทั้งนี้ รถสนับสนุนทุกคันจะติดตั้งล้ออัลลอย CRAG T-Grabic II ของแบรนด์ Work (ยกเว้น Outlander PHEV ที่ติดตั้งล้อ Work Emotion M8R) และยางออฟโรด Yokohama Geolandar ซึ่งรองรับทั้งทางฝุ่น หรือทางโคลน เพื่อให้รถทุกคันสามารถตะลุยผ่านเส้นทางการแข่งขันแรลลี่ได้อย่างราบรื่น

●   ด้านการตกแต่ง รถสนับสนุนทั้ง 6 คัน ยังได้รับการตกแต่งภายนอกเช่นเดียวกับตัวแข่ง Mitsubishi Triton Rally Car ที่เด่นด้วยสีแดงซึ่งแสดงถึงพลังอันฮึกเหิม พร้อมด้วยกราฟิกลวดลายดินฝุ่นที่ฟุ้งกระจาย และสีเทาเมทัลลิค เพื่อสะท้อนถึงชั้นหินที่หนักแน่นและแข็งแกร่ง

Asia Cross Country Rally (AXCR)

●   เอเชีย ครอสคันทรี แรลลี่ เป็นการแข่งขันแรลลี่ข้ามประเทศรายการใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 29 การแข่งขันในปีนี้ มีรถเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 67 คัน แบ่งเป็นประเภทรถยนต์ 46 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์ 19 คัน และประเภทไซด์คาร์ 2 คัน

●   พิธีเปิดการแข่งขันมีขึ้นในวันที่ 11 สิงหาคม ณ หอนาฬิกา ใจกลางเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทางภาคใต้ของไทย จากนั้น การแข่งขัน Leg 1 อย่างเต็มรูปแบบ จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 12 สิงหาคม 2567 ตามด้วยการแข่งขัน Leg 2 ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยาวที่สุดของการแข่งขันทั้งหมด เริ่มต้นพิสูจน์ความแกร่งสุดท้าทายจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีไปยังอำเภอหัวหิน ตะลุยผ่านเส้นทางที่เป็นหลุมเป็นบ่อขนาดใหญ่ และเต็มไปด้วยก้อนหินตะปุ่มตะป่ำ

●   จากนั้นการแข่งขัน Leg 3 จะเป็นเส้นทางที่ต้องใช้ความเร็วสูงบนทางฝุ่นเรียบในอำเภอหัวหิน ตามด้วยการแข่งขัน Leg 4 ซึ่งจะฝ่าเส้นทางลาดชันขึ้นลงเขา มุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดกาญจนบุรี ก่อนเข้าสู่การแข่งขัน Leg 5 ซึ่งวิ่งผ่านพื้นที่การเกษตร ที่มีลักษณะเป็นพื้นราบแต่มีทัศนวิสัยจำกัด

●   ปิดท้ายด้วยการแข่งขัน Leg 6 ที่จะมุ่งเข้าสู่เส้นชัย ณ สกายวอร์ค กาญจนบุรี ซึ่งเป็นสะพานกระจกใส ที่เพิ่งเปิดตัวในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ เมื่อปี 2565 โดยตลอดการแข่งขัน มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ได้รายงานความเคลื่อนไหวของการแข่งขันเป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่วันแรกของการแข่งขัน จนถึงการแข่งขันช่วงสุดท้ายในวันที่ 17 สิงหาคม 2567 ผ่านทางเว็บไซต์ AXCR : mitsubishi-motors.com/en/brand/ralliart/axcr/axcr

●   ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซท์ AXCR ของมิตซูบิชิ : mitsubishi-motors.com/en/brand/ralliart/axcr/axcr2024 หรือ Facebook Fanpage Mitsubishi Motors Thailand : facebook.com/MitsubishiMotorsTH

Report : Team Mitsubishi Ralliart AXCR 2024