May 2, 2011
Motortrivia Team (10972 articles)

Wireless Charging Systems : Toyota จับมือ WiTricity พัฒนาเทคโนโลยีรีชาร์จรถไฟฟ้าแบบไร้สาย

เรื่อง : AREA 54

●   ต้องบอกว่าไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่ความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota ทำให้ชาร์จพอยท์แบบไวร์เลสของ WiTricity Corporation นั้นไม่ธรรมดาขึ้นมาทันที เพราะนั่นหมายถึงหากเทคโนโลยีนี้ใช้งานได้สะดวกในชีวิตจริง เราอาจได้เห็นเทคโนโลยีแบบไร้สาย ในรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือรถไฮบริดรุ่นต่อไปของค่าย โตโยต้า

●   ที่ว่าไม่ใหม่ เพราะมีหลายบริษัทพัฒนาเทคโนโลยีลักษณะนี้ ซึ่ง WiTricity ก็เป็นหนึ่งในนั้น การที่ Toyota Motor Corporation ตัดสินใจลงทุนร่วมในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในหลายๆ วิสัยทัศน์ของ โตโยต้า เพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำในด้านการอำนวยความสะดวก ให้กับผู้ใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และในปี 2010 Delphi เป็นเจ้าแรกที่แสดงความสนใจ พร้อมทั้งให้การสนับสนุนเทคโนโลยีของ WiTricity

●   ย้อนกลับไปในปี 2007 ชื่อ WiTricity (wireless + electricity) คือชื่อโปรเจคท์ของ Massachusetts Institute of Technology (หรือ MIT นั่นเอง) ที่ใช้ในการพัฒนาวิธีรีชาร์จแบตเตอรี่สำหรับแลปท๊อป หรือโทรศัพท์มือถือ โดยส่งคลื่นพลังงานผ่านอากาศ หลักการทำงานคร่าวๆ ก็คือ การส่งความถี่ของคลื่นพลังงานจากจุดกำเนิด ไปยังวัตถุที่เป็นตัวรับ หากวัตถุที่เป็นตัวรับ-ส่ง มีคลื่นความถี่ตรงกัน (Resonance) ก็จะสามารถถ่ายเทพลังงานให้กันได้ ซึ่งน่าจะมีประโยชน์มาก หากเทคโนโลยีนี้สามารถทำงานได้ดี และมีประสิทธิภาพเพียงพอกับการใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน (คือต้องมากพอสำหรับแบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่กว่าโน๊ตบุ๊คมาก)

●   อย่างน้อยๆ ก็ลดความยุ่งยากของการใช้เคเบิลแบบเดิมไปได้หนึ่งล่ะ ไม่ก็นึกภาพโต๊ะทำงานสะอาดๆ ที่มีเพียงแค่มอนิเตอร์ คีย์บอร์ด และเมาส์ ไม่มีสายไฟอะไรให้ขัดหูขัดตาอีกต่อไป แม้แต่สายพาวเวอร์

●   WiTricity เผยว่า การใช้หลักการทำงานแบบ Magnetic Resonance นี้ มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากกว่าการใช้เทคโนโลยีไร้สายแบบ Electromagnetic Induction หรือการเหนี่ยวนำไฟฟ้าสถิตของผู้พัฒนารายอื่นๆ

หลักการทำงานของ WiTricity ผู้เขียนขอให้ฝ่ายศิลป์มอเตอร์ทริเวียลองเอาภาพ Prius แปะเข้าไปเฉยๆ ไม่ได้หมายความว่า เทคโนโลยีนี้จะถูกติดตั้งลงใน Prius เป็นคันแรกนะครับ คือยังไม่มีข้อมูลว่า โตโยต้า จะใช้โมเดลใดในการทดสอบ

●   แต่ก็ยังมีจุดที่หลายๆ ความคิดเห็นแสดงความกังขาออกมาว่า เมื่อเทียบกับการเสียบปลั๊กชาร์จ การใช้ไวร์เลสอย่างไรก็ต้องมีพลังงานบางส่วนสูญเสียไป เพราะโดยปกติการส่งพลังงานผ่านอากาศ ระยะทางระหว่างตัวรับ-ส่ง ยังคงมีการสูญเสียพลังงานไปบางส่วนระหว่างทาง แต่ WiTricity ก็เคลมว่า ณ เวลานี้ เทคโนโลยีของ WiTricity สามารถใช้งานได้เต็มที่ถึง 95% หรือมีพลังงานสูญเสียระหว่างทางเพียง 5% เท่านั้น

●   สรุป… ตอนนี้เรารับรู้กันไปก่อนว่า ‘อาจจะ’ ได้เห็นเทคโนโลยีนี้ใช้งานอย่างจริงจังในรถไฟฟ้า มอเตอร์ทริเวีย ก็นำเสนอให้อ่านกันเพลินๆ พอสังเขป ในอนาคตอันใกล้ ถ้ามีผลทดสอบในต่างประเทศให้เห็นกันชัดๆ ระหว่างการใช้ เคเบิล กับ ไวร์เลส ค่อยว่ากันอีกที ว่าแต่ละอย่างมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

●   เพราะยังมีอีกหลายตัวแปรที่เรายังไม่มีข้อมูลชัดๆ ในข่าวนี้ เช่น ต้นทุนการผลิต (ซึ่งมีผลต่อราคารถ) ระยะเวลาในการชาร์จ (ซึ่งมีผลต่อการใช้งานจริง) ค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกันต่อการรีชาร์จ 1 ครั้ง (ซึ่งมีผลต่อเงินในกระเป๋า) ไปจนถึงราคาในการติดตั้งจุดชาร์จพอยท์ (ซึ่งมีผลต่อการลงทุนของผู้ให้บริการ เช่น ปั๊ม, ที่จอดรถ, ซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ) ไปจนถึงค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแบบส่วนบุคคล เช่น ในโรงรถที่บ้าน

●   อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีนี้น่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ ในอนาคต เช่น ตัวต้นแบบของ Rolls-Royce อย่าง 102EX Concept ก็เพิ่งนำเสนอเทคโนโลยีการรีชาร์จแบบไวร์เลสไปเหมือนกัน เพียงแต่ว่าของ Rolls-Royce คือเทคโนโลยีแบบ Electromagnetic Induction ซึ่งย้อนกลับไปถึงสิ่งที่ WiTricity เคลมไว้ว่า เทคโนโลยีแบบ Resonance ของตนทำงานได้ดีกว่า

●   จริงหรือไม่ต้องติดตามกันต่อไปครับ… ไม่แน่ อาจจะมีเทคโนโลยีที่ใหม่กว่านี้ก็ได้         ●