October 24, 2014
Motortrivia Team (10271 articles)

2014 Lamborghini Asterion LPI910-4 Concept ต้นแบบสาธิตระบบ plug-in hybrid

เรื่อง : AREA 54

●   แม้จะช้ากว่าเพื่อน แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แลมบอร์กินี จำเป็นต้องไล่ตามซูเปอร์คาร์จากแบรนด์อื่นๆ ที่เรียกกำลังเพิ่มจากมอเตอร์ไฟฟ้า ด้วยการเปิดตัวซูเปอร์คาร์ต้นแบบ Asterion LPI910-4 Concept สาธิตระบบขับเคลื่อนไฮบริดแบบเสียบปลั๊กชาร์จ (PHEV) ที่งาน 2014 ปารีส มอเตอร์โชว์ ระหว่างวันที่ 4 – 19 ตุลาคม 2014 ที่ผ่านมา โดยนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของแลมบอร์กินี นับจากความพยายามในการเพิ่มความกรีนด้วยการติดตั้งระบบ CDS และใช้งาน supercaps ในปี 2012

●   แลมบอร์กินีเลือกใช้ระบบไฮบริดแบบคู่ขนาน หรือ parallel hybrid เครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้าหมุนล้อไปพร้อมกัน ตัวระบบประกอบไปด้วยเครื่องยนต์ V10 ความจุ 5.2 ลิตร 610 แรงม้า HP ของ Huracan จับคู่กับมอเตอร์ไฟฟ้า 3 ตัว ตัวแรกวางอยู่บนชุดเพลาส่งกำลัง ออกแบบให้ควบรวมอยู่กับมอเตอร์สตาร์ท และเจนเนอเรเตอร์ ซึ่งแลมบอร์กินีเรียกว่าระบบ ISG – integrated starter motor and generator ส่วนอีก 2 ตัวที่เหลือติดตั้งเอาไว้ที่เพลาหน้า รับกระแสไฟฟ้าจากระบบ ISG ช่วยให้ได้กำลังเสริมอีก 220 กิโลวัตต์ หรือประมาณ 300 แรงม้า HP ขณะที่ล้อคู่หลังส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ ดูอัลคลัทช์

●   กำลังรวมทั้งระบบในบางจังหวะ ผลิตออกมาได้ 669 กิโลวัตต์ หรือเทียบเท่า 910 แรงม้า HP ตามรหัสของชื่อรุ่น ส่วนตัวอื่นๆ นั้นยังคงเดิมครับ LP หมายถึง Longitudinale Posteriore (rear) หรือ เลย์เอาท์เครื่องยนต์ แบบวางกลางลำ แน่นอนว่าตัวเลข 4 หมายถึงระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ permanent ซึ่งการหมุนล้อคู่หน้าด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า และการหมุนล้อคู่หลังด้วยเครื่องยนต์ จะยังคงถูกควบคุมด้วยระบบ torque vectoring สำหรับกระจายแรงบิดระหว่างล้อคู่หน้า/หลัง ทว่าจะไม่มีกลไกเชื่อมต่อระหว่างล้อคู่หน้า/หลังเลย โดยระบบ torque vectoring ในรถต้นแบบ Asterion Concept จะถูกผนวกการทำงานเอาไว้กับระบบ ISG

●   ส่วนรหัส I ที่เติมเข้ามาด้านหลัง LP นั้น หมายถึง Ibrido หรือ hybrid ในภาษาอังกฤษนั่นเอง

●   ชุดระบบไฮบริดของ ลัมเบอร์กินี มีน้ำหนักรวมประมาณ 250 กก. หมายความว่า หากระบบขับเคลื่อนชุดนี้ถูกนำไปติดตั้งกับซูเปอร์คาร์รุ่นอื่นๆ ในสายการผลิต (ในกรณีที่อาจจะต้องการเพิ่มรุ่นย่อย) น้ำหนักตัวจะถูกบวกเพิ่มอย่างน้อยๆ 250 กก. ต่อรุ่น ซึ่งการลดน้ำหนักในส่วนอื่นๆ จะต้องถูกคิดคำนวณใหม่ทั้งหมดอย่างแน่นอนก่อนการผลิตจริง

●   สำหรับสมรรถนะ Asterion สามารถสร้างอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ภายใน 3 วินาที ความเร็วสูงสุด 320 กม./ชม. ตัวเลขเหล่านี้ไม่ต่างจากเจ้าของเครื่องยนต์บล็อคนี้อย่าง Huracan นัก (3.2 วินาที 325 กม./ชม.) ดังนั้นในเบื้องต้น เราคงต้องมองผ่านในเรื่องสมรรถนะไปก่อน แล้วไปดูที่ผลพลอยได้อย่างอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและการคายมลพิษ ซึ่งจากการทดสอบตามมาตรฐาน NEDC นั้น Asterion สามารถวิ่งด้วยโหมดไฟฟ้าล้วนได้ระยะทางประมาณ 50 กม. อัตราการคายคาร์บอนไดออกไซด์ในไอเสียโหมดไฮบริด 98 กรัม/กม. (ซึ่งนับว่ายอดเยี่ยมมาก) อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 24.2 กม./ลิตร

●   เราลองมาดูตัวเลขสมรรถนะคร่าวๆ ระหว่าง Asterion และซูเปอร์คาร์ไฮบริดจากแบรนด์อื่นๆ กันครับ:

  • Ferrari LaFerrari เครื่องยนต์ V12 ความจุ 6.2 ลิตร มอเตอร์ไฟฟ้า 1 ตัว กำลังรวม 963 แรงม้า คาย CO2 – 330 กรัม/กม.
  • McLaren P1 เครื่องยนต์ V8 ความจุ 3.8 ลิตร มอเตอร์ไฟฟ้า 1 ตัว กำลังรวม 916 แรงม้า คาย CO2 – 200 กรัม/กม.
  • Porsche 918 Spyder เครื่องยนต์ V8 ความจุ 4.6 ลิตร มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว กำลังรวม 887 แรงม้า คาย CO2 – 79 กรัม/กม.

●   งานออกแบบภายนอกเป็นผลงานของ Lamborghini Centro Stile ผสมผสานรูปแบบของ Sesto Elemento หรือ Veneno ตัวรถมากับความยาว 4.7 เมตร สีภายนอกเป็นสีฟ้าพิเศษ Blue Elektra ล้อคาร์บอนน้ำหนักเบาขนาด 20 และ 21 นิ้ว สวมยางไฮเพอร์ฟอร์มานซ์ของ Pirelli ภายในค่อนข้างแปลกตา เนื่องจากตกแต่งแบบทูโทนโดยใช้ความหรูนำหน้าความสปอร์ต โหมดในการขับมี 3 รูปแบบ ปรับเปลี่ยนด้วยปุ่มบนพวงมาลัย แบ่งเป็นโหมด Zero ไฟฟ้าล้วน, โหมด I หรือ Ibrido (hybrid) และโหมด T หรือ Termico (thermal) ใช้พละกำลังจากเครื่องยนต์ V10

●   แลมบอร์กินียังไม่เผยกรอบเวลาในการผลิตคันจริงของ Asterion หรือว่าจะมีการนำเอาเฉพาะชุดไฮบริดไปติดตั้งเพิ่มเติมในรถรุ่นอื่นๆ หรือไม่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะช้ากว่าเพื่อนๆ 1 ก้าว แต่ก็นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่งของแลมบอร์กินี เพราะต้นแบบสาธิตอย่าง Asterion คือตัวแทนของการก้าวสู่ยุคใหม่ในการขับเคลื่อน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแบรนด์ซูเปอร์คาร์รายอื่นๆ… หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การจับคู่เครื่องยนต์และมอเตอร์ไฟฟ้า คือคำตอบที่ดีที่สุดของซูเปอร์คาร์ ณ วันปัจจุบัน         ●