October 9, 2016
Motortrivia Team (10167 articles)

ส่องข้อมูล Formula E 2016-17 การแข่งขันรถไฟฟ้าล้อเปิดแห่งอนาคต


Posted by : Fascinator 

 

  ฟอร์มูล่าอี เป็นรายการแข่งขันรถล้อเปิดซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าล้วนเป็นตัวขับเคลื่อน รายการนี้พึ่งก่อตั้งมาได้ปีนี้เป็นปีที่ 3 เท่านั้น โดย อเลฮานโดร อากาจ์ (Alejandro Agag) ซีอีโอของซีรีย์ได้นำไอเดียของ ฌอง ทอดต์ (Jean Todt) ประธานเอฟไอเอมาสร้างจนเกิดเป็นความจริงขึ้น การแข่งขันจะเป็นรูปแบบสตรีทเซอร์กิตซึ่งถูกจัดขึ้นตามเมืองสำคัญต่างๆ อีเวนท์การแข่งขันจะถูกจัดและจบภายในวันเดียว โดยมีกฎกติกาการแข่งขันคร่าวๆ ดังข้างล่าง


การฝึกซ้อม

  ในทุกๆ อีเวนท์จะมีการซ้อม 2 รอบ รอบแรกจะใช้เวลา 45 นาที รอบที่ 2 จะใช้เวลา 30 นาที นักแข่งแต่ละคนจะมีรถ 2 คัน ไว้ซ้อม ซึ่งแต่ละคันจะมีกำลังสูงสุด 200 กิโลวัตต์ ให้ใช้ได้


การควอลิฟาย

  ในรอบควอลิฟายจะมีเวลาให้ทั้งหมด 1 ชั่วโมง เต็ม นักแข่งทั้งหมดจะถูกแบ่งออกเป็นกลุ่ม กลุ่มหนึ่งๆ จะมีเวลา 6 นาที ในการทำเวลาให้เร็วที่สุด นักแข่งที่ทำเวลาเร็วที่สุด 5 อันดับแรก จะได้สิทธิเข้ารอบซุปเปอร์โพล

  ในรอบซุปเปอร์โพล นักแข่งที่ทำเวลาเป็นอันดับ 5 จะได้สิทธิออกวิ่งก่อน เมื่อนักแข่งคนนั้นวิ่งผ่านเส้นจับเวลาและเริ่มทำฟลายอิ้งแล็ป พิทเลนจะเปิดไฟเขียวและให้นักแข่งที่ทำเวลาเป็นอันดับ 4 ออกไปวิ่งต่อ และจะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคนสุดท้ายได้ออกวิ่ง ใน 5 คนนี้ คนที่ทำเวลาเร็วที่สุดจะได้ตำแหน่งโพลโพสิชั่นไป พร้อมกับคว้าคะแนนทำโพลเป็นจำนวน 3 แต้ม

  ตลอดการควอลิฟายนักแข่งจะสามารถเรียกกำลังรถได้เต็มที่ 200 กิโลวัตต์

 

อีปรีซ์

  การแข่งขัน หรือ อีปรีซ์ (ePrix) จะเริ่มโดยการสตาร์ทตามกริด จะไม่มีการวิ่งฟอร์เมชั่นแล็ปเหมือนฟอร์มูล่าวัน แต่รถแข่งเริ่มแรกจะจอดอยู่บนกริดดัมมี่ ก่อนที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่กริดตัวเองเพื่อทำการสตาร์ท

  การแข่งขันจะใช้เวลาราวๆ 50 นาที โดยนักแข่งจะต้องทำการเข้าพิท 1 ครั้ง เพื่อทำการเปลี่ยนรถ

  ในโหมดการแข่งขันรถแข่งจะให้กำลังสูงสุด 170 กิโลวัตต์ แต่จะมีนักแข่ง 3 คน ซึ่งชนะการโหวตจากแฟนๆ ได้รับบูสต์พิเศษชั่วขณะ ซึ่งช่วงเวลานั้นรถแข่งจะให้กำลังสูงสุด 200 กิโลวัตต์

แฟนบูสต์

  แฟนๆ สามารถ “เพิ่มพลัง” หรือ FanBoost ให้กับนักแข่งที่พวกเขาชื่นชอบโดยการโหวต การโหวตจะเปิด 12 วัน ก่อนทำการแข่งขัน แฟนๆ สามารถโหวตได้ที่หน้าเว็บไซต์หลักของฟอร์มูล่าอี ผู้ที่ชนะการโหวต 3 อันดับแรก จะได้รับบูสต์พิเศษเพิ่มกำลังเครื่องยนต์เป็น 200 กิโลวัตต์ ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่จะใช้ได้เฉพาะกับรถแข่งคันที่ 2 เท่านั้น


การชิงแชมป์

  เช่นเดียวกับรายการรถแข่งล้อเปิดอื่นๆ ฟอร์มูล่าอีจะมีการชิงแชมป์โลกทั้งฝั่ง นักแข่ง และ ทีม โดยคะแนนสะสมจะเป็นไปตามระบบมาตรฐานของเอฟไอเอ ดังนี้

อันดับ 1 – 25 คะแนน
อันดับ 2 – 18 คะแนน
อันดับ 3 – 15 คะแนน
อันดับ 4 – 12 คะแนน
อันดับ 5 – 10 คะแนน
อันดับ 6 – 8 คะแนน
อันดับ 7 – 6 คะแนน
อันดับ 8 – 4 คะแนน
อันดับ 9 – 2 คะแนน
อันดับ 10 – 1 คะแนน

  นอกจากนั้นนักแข่งที่ทำโพลได้จะได้รับคะแนนพิเศษ 3 คะแนน และนักแข่งที่ทำเวลาต่อรอบเร็วที่สุดจะได้รับคะแนนพิเศษ 2 คะแนน

  คะแนนสะสมประเภททีมจะนับคะแนนสะสมของนักแข่งประจำทีมรวมกัน

  นักแข่งและทีมที่ทำคะแนนได้มากที่สุดเมื่อจบการแข่งขันสนามสุดท้ายจะเป็นผู้คว้าแชมป์โลกไป

พิทสต็อป/เปลี่ยนรถ

  ในระหว่างการแข่งขันนักแข่งจะต้องทำการพิทเพื่อเปลี่ยนรถ 1 ครั้ง การเปลี่ยนรถจะทำในการาจภายใต้การควบคุมความปลอดภัยของสจ๊วต มีการจำกัดเวลาขั้นต่ำในการทำพิท และการเปลี่ยนยางไม่สามารถทำได้ในระหว่างการเข้าพิท ยกเว้นว่ายางนั้นแตกหรือเสียหายจนมีผลต่อความปลอดภัยของตัวนักแข่ง


การจัดสรรยาง

  ผู้สนับสนุนหลักของฟอร์มูล่าอีคือ มิชลิน ในแต่ละอีเวนท์มิชลินจะทำการจัดสรรยางหน้าใหม่ 4 เส้น และยางหลังใหม่ 4 เส้น ให้กับนักแข่ง และจะมีจัดสรรยางพิเศษเป็นยางหน้า 1 เส้น และยางหลัง 1 เส้น จากอีเวนท์ก่อนหน้านี้ให้ด้วย


ใบอนุญาตแข่ง

  การจะเข้าร่วมการแข่งขันฟอร์มูล่าอีนักแข่งจำเป็นจะต้องผ่านการอนุมัติและได้รับใบอนุญาตจากเอฟไอเอตามหัวข้อเหล่านี้เสียก่อน

  1.)  นักแข่งจะต้องเข้ารับการเทรนนิ่งเฉพาะจากเอฟไอเอ ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติตัวเพื่อให้เกิดความปลอดภัยภายใต้การทำงานกับระบบไฟฟ้า

   2.)  ใน 3 ปี ล่าสุด นักแข่งจะต้องมีแต้มไม่น้อยกว่า 20 แต้ม ในใบอนุญาตแข่งขัน หรือถือใบอนุญาตแข่งขันฟอร์มูล่าวันมาก่อน หรือเคยเข้าร่วมการแข่งขันฟอร์มูล่าอีมาก่อนหน้านี้อย่างน้อย 3 เรซ

   3.)  นักแข่งที่ได้รับการคัดเลือกจากเอฟไอเอว่ามีศักยภาพที่โดดเด่นในการแข่งรถฟอร์มูล่าที่นั่งเดี่ยว แต่ไม่อาจเข้ากับคุณสมบัติ 2 ข้อ ก่อนหน้านี้


การชาร์จไฟรถ

  การชาร์จไฟรถนั้นถูกห้ามในระหว่างการควอลิฟายและการแข่งขัน รวมถึงกระทั่งในขณะที่รถอยู่ในพาร์คเฟอร์เม แต่การชาร์จไฟรถสามารถทำได้ในระหว่างรอบฝึกซ้อม

นักแข่งและทีม

  สำหรับในฤดูกาลที่ 3 จะมีนักแข่งและทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน ดังนี้

แอ็บต์ แชฟเฟอร์ ออดี้ สปอร์ต  •  ABT Schaeffler Audi Sport
–   ลูคัส ดิ กราสซี – นักแข่งดับบลิวอีซี และ อดีตนักแข่งเอฟวัน
–   แดเนียล แอ็บต์ – นักแข่งเอแด็ค จีที มาสเตอร์

เอ็มเอส แอมลิน แอนเดรตติ  •  MS Amlin Andretti
–   โรบิน แฟรงส์ – นักแข่งบลองค์ปัง จีที ซีรีย์
–   แอนโตนิโอ เฟลิกส์ ดา คอสต้า – นักแข่งดีทีเอ็ม

ดีเอส เวอร์จิน เรซซิ่ง  •  DS Virgin Racing
–   แซม เบิร์ด – นักแข่งดับบลิวอีซี
–   โฮเซ่ มาเรีย โลเปซ – นักแข่งดับบลิวทีซี (รูกี้)

ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ ดราก้อน เรซซิ่ง  •  Faraday Future Dragon Racing
–   เจโรม แดมโบรสิโอ – อดีตนักแข่งเอฟวัน
–   โลอิค ดูวอล – นักแข่งดับบลิวอีซี

พานาโซนิค จากัวร์ เรซซิ่ง  •  Panasonic Jaguar Racing
–   อดัม แครอล – นักแข่งดับบลิวอีซี
–   มิตช์ อีแวนส์ – นักแข่งจีพีทู

มหินทรา เรซซิ่ง  •  Mahindra Racing Formula E Team
–   นิค ไฮด์เฟลด์ – นักแข่งดับบลิวอีซี และ อดีตนักแข่งเอฟวัน
–   เฟลิกส์ โรเซนควิสต์ – นักแข่งบลองค์ปัง จีที ซีรีย์

เน็กส์อีวี ทีซีอาร์  • NextEV Team China Racing
–   เนลสัน ปิเกต์ จูเนียร์ – นักแข่งดับบลิวอีซี และ อดีตนักแข่งเอฟวัน
–   โอลิเวอร์ เทอร์วีย์ – นักแข่งซุปเปอร์จีที

เรโนลต์ อี แดมส์  •  Renault e.Dams
–   นิโคลาส์ พรอสต์ – นักแข่งดับบลิวอีซี
–   เซบาสเตียน บูเอมี่ – นักแข่งดับบลิวอีซี และ อดีตนักแข่งเอฟวัน

เทคชีตาห์  •  Techeetah
–   ฌอง เอริค เวิจ์น – อดีตนักแข่งเอฟวัน
–   หม่า ขิง หัว – อดีตนักแข่งดับบลิวทีซี

เวนทูรี  •  Venturi Formula E Team
–   สเตฟาน ซาราซิน – นักแข่งดับบลิวอีซี
–   มาโร เองเฮล – อดีตนักแข่ง วี8 ซุปเปอร์คาร์


ที่มา :
•  www.fiaformulae.com.