July 20, 2018
Motortrivia Team (10185 articles)

รวมกฎของ Formula One ที่เปลี่ยนไปในปี 2019

Posted by : FascinatorFJ.

 

FIA แก้กฎแอโรหวังเพิ่มการแซง

●   จากสถิติการแซงตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ในปีนี้การแซงนั้นลดน้อยลงไปจากปีก่อนๆ อีกพอสมควร และเพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้ คณะกรรมาธิการเอฟวันจึงได้เห็นชอบที่จะแก้ กฎทางด้านอากาศพลศาสตร์ ใหม่ โดยหวังว่ามันจะช่วยเพิ่มการแซงและอรรถรสในการแข่งขันมากขึ้น แม้จะมีเสียงคัดค้านจากทีมแข่งทั้งหลายก็ตาม

●   ข้อเสนอที่คณะกรรมาธิการนำมาเสนอนั้นมี 2 ส่วน ด้วยกัน อย่างแรกคือการปรับเปลี่ยนเอนเพลทปีกหน้า เพื่อให้รถแข่งสามารถไล่ตามกันได้ง่ายขึ้น และอีกอย่างหนึ่งคือการปรับปีกหลังให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ DRS เห็นผลมากขึ้น

●   ในเบื้องต้นนั้นมีเพียงวิลเลียมส์ทีมเดียวที่ให้การสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง ส่วนฝ่ายที่ไม่สนับสนุนนั้น แหล่งข่าวเชื่อว่ามีตั้งแต่ เฟอร์รารี, แม็คลาเรน, เรดบูลล์, โทโรรอสโซ, เรโนลต์ และ ฮาส ซึ่งหลักๆ แล้ว ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเพราะว่าพวกเขาได้ลงทุนวิจัยในปีหน้าไปแล้วนั่นเอง

●   แพดดี้ โลว์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของวิลเลียมส์ : “ผมคิดว่ามันเข้าท่านะ เรายังคงมีอีก 3 ปี กับฟอร์มูล่ารุ่นนี้ และถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลง ณ จุดนี้ มันก็จะไม่มีผลอีกต่อไป เพราะว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่รอเราอยู่อีกในปี 2021 ดังนั้นนี่จึงเป็นเวลาที่เอฟวันควรจะดำเนินการเพื่อโชว์ที่ดี”

●   ซีริล อะบิทบูล กรรมการผู้จัดการ เรโนลต์ สปอร์ต เอฟวัน “ในความเห็นของผม เอฟวันนั้นดีพอสำหรับอีก 2 ปี ถัดไป มันสามารถที่จะปรับปรุงและแก้ไขกฎด้านการกีฬาเล็กน้อยได้ และเราจะทำข้อเสนอเพื่อให้ได้โชว์ที่ดีขึ้น แต่เราต้องไม่ลืมเป้าหมายหลักของเราซึ่งก็คือปี 2021 เราควรจะทำให้เหมาะสมในทีเดียว ตัวรถทั้งหมด เซตอัพทั้งหมด การจำกัดค่าใช้จ่าย และอีกหลายๆ อย่างในปี 2021 จนกว่าจะถึงตอนนั้นผมคิดว่าเรานั้นมีผลิตภัณฑ์ที่ดีอยู่แล้ว”

●   ในส่วนของผลกระทบนั้น คาดว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะทำให้รถแข่งช้าลงไปราวๆ รอบละ 1.5 วินาที อย่างไรก็ตาม FIA เชื่อว่า หากพวกเขาไม่ดำเนินการสักอย่างในตอนนี้ รถแข่งจะตามกันยากขึ้นไปอีกในปีถัดๆ ไป

●   นิโคลาส์ ทอมบาซิส หัวหน้าฝ่ายเทคนิคของ FIA “ผมคิดว่าเป้าหมายหลักของเหล่านักออกแบบทางอากาศพลศาสตร์คือการขยับกระแสลมปั่นป่วนให้ออกห่างจากตัวรถ ยิ่งออกห่างเท่าไหร่ ดิฟฟิวเซอร์และปีกหลังรถของพวกเขาก็ยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่ดีกับรถที่ตามมา ผมคาดว่าถ้าเราไม่แก้กฎอะไรสักอย่าง ในปี 19 และ 20 การแซงกันจะยิ่งแย่ลงไปมาก”


FIA เพิ่มปริมาณเชื้อเพลิงเพื่อการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้น

●   กลุ่มกลยุทธ์เอฟวันและคณะกรรมาธิการเอฟวันได้เห็นพ้องต้องกันในการเพิ่มปริมาณเชื้อเพลิงขึ้นในปี 2019 จาก 105 กิโลกรัม เป็น 110 กิโลกรัม เพื่อหวังผลให้นักแข่งอัดรถแข่งขันกันได้มากขึ้น

●   เนื่องจากรถแข่งที่มีดาวน์ฟอร์ซมากขึ้นและหนักขึ้นจากกฎใหม่ในปี 2017 นั่นส่งผลให้รถแข่งมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น และนั่นทำให้นักแข่งต้องคอยประคองรถในระหว่างการแข่งขันอยู่บ่อยครั้ง เพื่อให้นักแข่งสามารถใช้เครื่องยนต์เต็มกำลังได้มากขึ้น FIA จึงได้อนุมัติในการเพิ่มปริมาณเชื้อเพลิงขึ้น จากปี 2016 ที่สามารถใช้ได้ 100 กิโลกรัม เป็น 105 กิโลกรัม แต่นั่นก็ดูจะยังไม่เพียงพอด้วยการเข้ามาสมทบเพิ่มของเฮโลในปีนี้ที่ทำให้รถแข่งหนักขึ้นไปอีก ดังนั้น FIA จึงได้ตัดสินใจเพิ่มปริมาณเชื้อเพลิงขึ้นอีกครั้งในปี 2019 เป็น 110 กิโลกรัม/สนาม

●   นอกจากนั้นในปีหน้านักแข่งจะถูกแยกน้ำหนักต่างหากออกมาจากรถ โดยนักแข่งและเบาะนั่งของพวกเขาจะต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 80 กิโลกรัม ในส่วนของเหตุผลที่น้ำหนักของนักแข่งถูกแยกออกมาจากตัวรถก็เพื่อป้องกันไม่ให้ทีมแข่งลดน้ำหนักตัวรถโดยการไปบีบน้ำหนักนักแข่งนั่นเอง

FIA เผยข้อบังคับมาตรฐานหมวกนิรภัยเอฟวันใหม่

●   ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นไป หมวกนิรภัยของบรรดานักแข่งเอฟวันจะต้องเข้ากับข้อบังคับใหม่ที่ FIA ได้กำหนดมาให้ เพื่อเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยให้สูงยิ่งขึ้น

●   FIA นั้นได้ทำงานร่วมกับเหล่าบรรดาผู้ผลิตหมวกนิรภัย อาทิ สติโล, อาราอิ, ชูเบิร์ธ และ เบล เรซซิ่ง ในการผลักดันมาตรฐานความปลอดภัยของหมวกนิรภัยให้สูงขึ้น โดยหมวกนิรภัยใหม่นี้มีเป้าหมายเพื่อที่จะเพิ่มการป้องกันจากเศษชิ้นส่วนปลิวเข้าใส่และเพิ่มการดูดซับพลังงาน

●   ด้านบนของไวเซอร์จะถูกลดต่ำลงมา 10 มิลลิเมตร เพื่อเพิ่มการป้องกันจากการปลิวกระแทกของเศษชิ้นส่วนต่างๆ นอกจากนั้นตัวหมวกยังได้ใช้วัสดุผสมขั้นประยุกต์ เพื่อเพิ่มความต้านทานการบดและการแทงทะลุ

●   ในส่วนของมาตรฐานการทดสอบนั้น หมวกนิรภัยจะต้องผ่านการทดสอบอย่างเข้มข้น ดังนี้:

  • การกระแทกมาตรฐาน : ตัวหมวกจะถูกกระแทกที่ความเร็ว 9.5 เมตร/วินาที หัวของนักขับจะต้องไม่รับความหน่วงเกินกว่า 275g
  • การกระแทกที่ความเร็วต่ำ : หมวกถูกกระแทกที่ความเร็ว 6 เมตร/วินาที ค่าความหน่วงที่เกิดขึ้นจะต้องไม่เกิน 200g สูงสุด และค่าความหน่วงเฉลี่ยจะต้องไม่เกิน 180g
  • การกระแทกด้านข้าง : หมวกถูกกระแทกที่ความเร็ว 8.5 เมตร/วินาที ค่าความหน่วยสูงสุดจะต้องไม่เกิน 275g
  • การป้องกันการปลิวกระแทก : โลหะน้ำหนัก 225 กรัม ถูกยิงเข้าใส่หมวกแบบโปรเจคไทล์ที่ความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ค่าความหน่วยที่เกิดขึ้นจะต้องไม่เกิน 275g
  • การบดขยี้ : น้ำหนัก 10 กิโลกรัม หล่นจากความสูง 5.1 เมตร ลงบนตัวหมวก ตัวหมวกจะต้องส่งถ่ายแรงไม่เกิน 10 กิโลนิวตัน
  • การแทงทะลุตัวหมวก : ตัวกระแทกขนาด 4 กิโลกรัม จะถูกปล่อยลงกระแทกหมวกที่ความเร็ว 7.7 เมตร/วินาที
  • การแทงทะลุไวเซอร์ : กระสุนน้ำหนัก 1.2 กรัม จะถูกยิงจากปืนไรเฟิล กระสุนจะต้องไม่ทะลุเข้าไปยังส่วนด้านในของหมวก
  • การเคลือบไวเซอร์ : สีและการมองเห็นจะต้องไม่เปลี่ยนแปลงหรือบิดเบี้ยว
  • ระบบสายรัด : ทดสอบทางไดนามิกส์เพื่อให้แน่ใจว่าสายรัดคางแข็งแรงและยังคงยึดแน่นติดอยู่
  • การกระแทกตัวป้องกันคาง : กระแทกที่ความเร็ว 5.5 เมตร/วินาที ความหน่วงจะต้องไม่เกิน 275g
  • การบดขยี้ตัวป้องกันคาง : ค้อนทุบตัวป้องกันคาง มันจะต้องส่งการกระแทกออกห่างจากศีรษะ
  • การทดสอบทางเครื่องกล : ทดสอบเพื่อให้แน่ใจในความแข็งแกรงของจุดยึดสำหรับ เฮด รีสเตรนท์
  • ความเสียดทานพื้นผิว : ทดสอบเพื่อให้แน่ใจว่าพื้นผิวหมวกนั้นเป็นหนึ่งเดียวกันและมีความเสียดทานน้อยที่สุด
  • การทดสอบความไวไฟ : ใช้ไฟที่ความร้อน 790 องศาเซลเซียส หมวกจะต้องดับไฟได้เองเมื่อไฟถูกดับไปแล้ว

ที่มา :
•  www.motorsport.com.