July 18, 2018
Motortrivia Team (10019 articles)

Mitsubishi Xpander GT เด่นที่รูปลักษณ์และความกว้างขวาง

เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ  •  ภาพ : มิตซูบิชิ ประเทศไทย

 

●   มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ เผยโฉมครั้งแรกในฐานะรถต้นแบบรุ่น XM Crossover MPV ที่งาน Gaikindo Indonesia International Auto Show หรือ GIAS ปี 2016 หลังจากนั้น 1 ปี ก็เปิดตัวคันจริงอย่างเป็นทางการในงานเดียวกัน แนวคิดในการออกแบบเน้นความสะดวกสบาย ตัวถังผ่านมาตรฐานการชน ASEAN NCAP ระดับ 4 ดาว ทำตลาดในเมืองไทยด้วยการ นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย แบ่งเป็น 2 รุ่นหลัก แบ่งตามการตกแต่งและอุปกรณ์มาตรฐาน รุ่นพื้นฐาน GLS-LTD และรุ่นที่ได้ทดลองขับคือรุ่นสูงสุด GT ราคายังไม่เปิดเผย แต่คาดว่าอยู่ในช่วง 7 แสน-8.5 แสนบาท ส่วนราคาอย่างเป็นทางการจะประกาศวันเปิดตัว 17 สิงหาคม 2561 นี้

●   รถรุ่นนี้ผลิตที่โรงงานในประเทศอินโดนีเซีย โดยมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้ส่งเจ้าหน้าที่กว่า 100 คน เพื่อไปควบคุมคุณภาพการผลิตอีกครั้ง ทำให้การผลิตรถรุ่นนี้สำหรับตลาดเมืองไทยเป็นไปตามมาตรฐานของมิตซูบิชิ ประเทศญี่ปุ่น จึงมั่นได้ในเรื่องคุณภาพของตัวรถ ซึ่งมีการตอบรับที่ดีในประเทศอินโดนีเซีย หลังเปิดตัวประมาณ 1 ปี มียอดจำหน่ายกว่า 5 หมื่นคัน


●   ทั้ง 2 รุ่นย่อยใช้เครื่องยนต์บล็อกเดียวกัน รหัส 4A91 แบบเบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว พร้อมระบบแปรผันวาล์ว MIVEC-Mitsubishi Innovative Valve Timing Electronic Control ขับวาล์วด้วยโซ่ที่มีความทนทาน พร้อมอ่างน้ำมันเครื่องอะลูมิเนียมลดความสั่นสะเทือน ความจุ 1,499 ซีซี กำลังสูงสุด 105 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 14.4 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบต่อนาที รองรับแก๊สโซฮอล์ E20 เกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ มีระบบ Idle Neutral Control หรือ INC เมื่อจอดบนทางราบ อยู่ในเกียร์ D และเหยียบเบรกจนรถจอดสนิท ระบบจะตัดกำลังที่เกียร์ เพื่อลดภาระของเครื่องยนต์ ถังน้ำมันจุ 45 ลิตร

●   ระบบกันสะเทือนหน้าอิสระ แม็กเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลงและเหล็กค้ำหัวช็อคฯ หรือ Build-in Tower Bar ด้านหลังทอร์ชั่นบีม มีระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว Active Stability Control หรือ ASB ระบบป้องกันการลื่นไถล Traction Control System หรือ TCL ช็อคฯ หน้าและหลังติดตั้งวาล์วสมรรถนะสูงจาก Lancer Evolution X ให้การยึดเกาะถนนที่ดี พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 5.2 เมตร ระบบเบรกหน้าดิสก์พร้อมครีบระบายความร้อน ด้านหลังดรัมเบรกพร้อม ABS, EBD, BA และระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน Hill Start Assist System หรือ HAS มีระบบไฟฉุกเฉินทำงานอัตโนมัติเมื่อเบรกกะทันหัน ESS หรือ Emergency Stop Signal System รุ่น GLS-LTD ใช้ยาง 185/65 R15 ส่วนรุ่น GT ใช้ยาง 205/55 R16

รูปลักษณ์เด่นสะดุดตา

●   โครงสร้างตัวถัง RISE Body เพิ่มจุดยึดเพื่อลดการบิดตัว และจุดยึดโครงสร้างในช่วงล่างด้านหลัง รูปลักษณ์ภายนอกดูล้ำสมัย ด้านหน้าเน้นเส้นสายที่เฉียบคม โคมด้านบนเป็นไฟหรี่ Crystal Like LED ไม่ใช่ไฟ Daytime ต้องเปิดสวิตช์ไฟหรี่ถึงจะสว่าง กระจังหน้าค่อนข้างปิดทึบ แต่ไม่มีผลต่อการระบายอากาศ เพราะส่วนที่รับลมจริงๆ คือช่องด้านใต้กระจังซึ่งมีขนาดใหญ่ ประกบข้างด้วยโคมไฟหน้าแบบมัลติรีเฟล็กเตอร์ ถัดลงมาเป็นไฟเลี้ยว ส่วนไฟตัดหมอกเป็นโคมทรงกลมอยู่ด้านล่างสุดของกันชนหน้า ตัวถังด้านข้างมีความหนาจากแนวหลังคาที่สูง ทำให้ล้อและยางขนาด 16 นิ้วดูเล็กไปหน่อย ระยะต่ำสุด 205 มิลลิเมตร ไม่ได้ทำให้ตัวรถดูโย่งนัก ชุดไฟท้าย LED L-Illumination Tube พร้อมไฟเบรกแบบแยกส่วน เหนือกระจกบานท้ายติดตั้งสปอยเลอร์พร้อมไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED

●   มิติตัวรถมีความยาว 4,475 มิลลิเมตร กว้าง 1,750 มิลลิเมตร สูง 1,700 มิลลิเมตร (รุ่น GLS-LTD สูง 1,695 มิลลิเมตร จากขนาดของยางที่ต่างกัน) ฐานล้อ 2,775 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1,240 กิโลกรัม (รุ่น GLS-LTD หนัก 1,230 กิโลกรัม) ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,520/1,510 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 205 มิลลิเมตร (รุ่น GLS-LTD 200 มิลลิเมตร)

มีดีที่ความกว้างโปร่งสบาย

●   ภายในเรียบง่ายไม่แพรวพราว อุปกรณ์อำนวยความสะดวกมีให้ครบ เน้นประโยชน์ใช้สอยตามประเภทรถด้วยช่องเก็บของตามจุดต่างๆ ที่มีขนาดใหญ่และใช้งานได้จริง มาตรวัดของรุ่น GT เป็นแบบ High Contrast ขนาด 4.2 นิ้ว พร้อมจอสี LCD แบบ 3D Animation มาพร้อมระบบ Keyless และปุ่ม Start เบาะนั่ง 3 แถว 7 ที่นั่ง ปรับพับได้หลายรูปแบบและดูแน่นหนาแข็งแรง เบาะผู้ขับปรับสูง-ต่ำได้ พวงมาลัยปรับ 4 ทิศทาง เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบตายตัว ปรับระดับไม่ได้ เบาะแถว 2 แยกพับ 60:40 มีที่เท้าแขนตรงกลาง เบาะรองนั่งเลื่อนได้ พนักพิงปรับระดับได้ สามารถพับพนักพิงราบลงกับเบาะนั่ง แล้วกระดกไปแนบกับด้านหลังของพนักพิงเบาะหน้าได้ เพื่อเปิดทางให้ผู้โดยสารเบาะแถว 3 เข้า-ออก

●   เบาะแถว 3 แยกพับแบบ 50:50 พื้นที่วางขาสำหรับเบาะแถว 3 ค่อนข้างจำกัด เหมาะสำหรับเด็กเล็กมากกว่า ถ้าผู้ใหญ่จะนั่งต้องให้ผู้โดยสารเบาะแถว 2 เลื่อนเบาะช่วย บนเพดานเหนือที่นั่งแถว 2 มีช่องแอร์และปุ่มปรับความแรงลม ช่วยกระจายแรงลมอย่างทั่วถึง ช่องจ่ายไฟฟ้า 12 โวลต์ มีแค่ 2 จุด คือ ด้านหน้าตรงคอนโซลกลาง และบริเวณผนังด้านหลังเบาะแถว 2 ฝั่งผู้ขับ ทำให้ผู้โดยสารแถว 2 ชาร์จไฟไม่สะดวกนัก ถ้าเพิ่มช่องจ่ายไฟฟ้า 12 โวลต์ แถวด้านหลังของที่เก็บของระหว่างเบาะคู่หน้าก็จะดีมาก ชุดเครื่องเสียงของรุ่น GT เป็นหน้าจอสัมผัสขนาด 6.2 นิ้ว ทำงานร่วมกับกล้องมองหลังพร้อมเส้นกะระยะ

●   จุดเด่นของรถรุ่นนี้คือ พื้นที่ใช้สอยภายในที่โปร่งกว้าง จากตัวถังที่สูงกว่าคู่แข่งในระดับเดียวกัน ทำให้นั่งสบายไม่อึดอัดและเข้า-ออกสะดวก รวมทั้งระยะฐานล้อที่ยาว ช่วยเพิ่มพื้นที่วางขา โดยตัวรถยังคงความกะทัดรัด ที่เก็บสัมภาระด้านท้ายหลังเบาะแถว 3 เป็นแบบ 2 ชั้น แยกเก็บของกระจุกกระจิกได้อีกพอสมควร ส่วนยางอะไหล่ย้ายไปติดตั้งไว้ใต้รถ ซึ่งดูแล้วใช้งานไม่สะดวกนัก แต่คงไม่ได้ใช้บ่อยๆ

●   มิตซูบิชิเพิ่มความเงียบในห้องโดยสารให้เอ็กซ์แพนเดอร์ ด้วยการติดตั้งวัสดุดูดซับเสียงและลดการสั่นสะเทือนรอบห้องโดยสาร กระจกหน้าเพิ่มวัสดุดูดซับเสียง และเพิ่มความหนาของกระจกข้างด้านหน้าเป็น 4.0 มิลลิเมตร และด้านหลัง 3.5 มิลลิเมตร เท่าที่ทดลองขับเสียงรบกวนจะเริ่มดังเมื่อความเร็วเกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป หลักๆ เป็นเสียงจากพื้นถนน ส่วนเสียงเครื่องยนต์เวลาลากรอบสูงอยู่ในระดับที่รับได้

สเปคในกระดาษต่างจากการใช้งานจริง

●   ก่อนขับก็เดาจากสเปคในกระดาษและหน้าตาของรถ ว่าคงจะออกแนวรถพ่อบ้านแม่บ้าน แต่หลังจากได้ลองทั้งขับและนั่งระยะทางกว่า 250 กิโลเมตร กับสภาพเส้นทางที่หลากหลาย ก็ต้องยอมรับว่ามองรถคันนี้ผิดไปหลายจุด ทั้งสมรรถนะของเครื่องยนต์ 1,500 ซีซี 105 แรงม้า กับเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ที่ดูจะเป็นจุดที่ถูกตั้งข้อสงสัยมากที่สุดของรถรุ่นนี้ แต่ในการขับจริงกลับทำผลงานได้เกินคาด ทั้งเรื่องความยืดหยุ่นของเครื่องยนต์ และอัตราสิ้นเปลือง

●   เครื่องยนต์บล็อกเล็ก ตัวถังใหญ่ และเป็นรถแบบ 7 ที่นั่ง เครื่องยนต์จึงต้องใช้รอบค่อนข้างสูง เพราะต้องให้มีแรงฉุดลากเผื่อไว้สำหรับการนั่งเต็มพิกัด ที่เกียร์ 4 ซึ่งเป็นเกียร์โอเวอร์ไดรฟ์ อัตราทดต่ำกว่า 1.000 ความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้รอบ 2,500 รอบต่อนาที, 110@2,800, 120@3,000, 130@3,250 และ 140@3,500 รอบต่อนาที ตลอดการเดินทางช่วงแรกประมาณ 180 กิโลเมตร ใช้ความเร็วค่อนข้างสูง เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 8.2 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร หรือประมาณ 12.2 กิโลเมตรต่อลิตร ส่วนตัวเลขจากโรงงานเฉลี่ยที่ 14.5 กิโลเมตรต่อลิตร ทดสอบด้วยน้ำมันเบนซิน 91 E10 ถ้าขับแบบใช้งานทั่วไปไม่ลากรอบสูงมากและไม่ปั้นตัวเลข ก็น่าจะได้แถวๆ 13 กิโลเมตรต่อลิตร

●   การขับบนทางเรียบ มีผู้ขับและผู้โดยสารรวม 3 คน กับสัมภาระเล็กน้อย เมื่อต้องการเร่งแซงอย่างรวดเร็วต้องคิ๊กดาวน์ใช้รอบสูงช่วยเพิ่มแรงบิด เป็นเรื่องปกติของเครื่องยนต์บล็อกเล็ก เดินทางที่ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วคิ๊กดาวน์เร่งแซง เครื่องยนต์ยังมีกำลังสำรองอยู่พอสมควร การขึ้นเนินชันต่อเนื่องต้องเติมคันเร่งช่วยบ้าง แต่ยังไปไหวแบบสบายๆ เมื่อรู้จังหวะของรถก็สามารถเร่งแซงได้อย่างปลอดภัย เพียงแต่ต้องเผื่อระยะมากหน่อย สมรรถนะของเครื่องยนต์โดยรวมและความประหยัดถือว่ารับได้สำหรับรถประเภทนี้

ช่วงล่างดีทั้งทางเรียบและทางฝุ่น

●   ระบบกันสะเทือนหน้าตาธรรมดา เน้นดูแลรักษาง่ายและใช้พื้นที่ติดตั้งน้อย แต่ผลงานโดยรวมถือว่าดีเกินคาด บนทางเรียบและโค้งกว้างๆ ใช้ความเร็วค่อนข้างสูงได้อย่างมั่นใจ แม้ตัวรถจะสูงกว่าเก๋งพอสมควร แต่ไม่ค่อยโคลงหรือโยนตัวจนน่ากลัวเมื่อเข้าโค้งเร็วๆ การยืดและยุบตัวมีความหนืด พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าไม่เบาหวิว ทำให้เข้าโค้งได้นิ่งไม่วูบวาบ แต่เบาพอจะสร้างความคล่องตัวที่ความเร็วต่ำ ระบบเบรกหน้าดิสก์หลังดรัมพร้อมตัวช่วยอิเล็กทรอนิกส์ครบครัน เบรกไม่จับตัวเร็วเกินไปจนขาดความนุ่มนวลเมื่อแตะเบรก ขับแรกๆ อาจดูเหมือนเบรกไม่ค่อยอยู่ แต่เมื่อชินแล้วก็จะเบรกอยู่ปกติ

●   หลังจากพักเติมพลังมื้อกลางวันก็สลับไปนั่งเบาะแถว 2 จังหวะพอดีกับการทดสอบช่วงต่อไปที่เป็นการขับบนทางลุยเล็กๆ ที่รถเก๋งก็พอไปได้ แต่ต้องบรรจงหยอดและเลื้อยหลบกันพอสมควร เพราะเส้นทางบางช่วงเป็นหลุมบ่อขนาดใหญ่ ด้วยระยะต่ำสุดของรถรุ่นนี้ที่มากถึง 205 มิลลิเมตร ทำให้ขับผ่านอุปสรรคไปได้โดยไม่ต้องระวังมากนัก และใต้ท้องรถไม่ครูดพื้น ได้พบอีกข้อดีของช่วงล่างชุดนี้คือ เมื่อลุยทางวิบาก ก็มีความหนืดหนักแน่น สามารถดูดซับแรงกระแทกได้ดี ไม่นิ่มจนโยกเยกหรือกระด้างสะเทือนจนหัวสั่นหัวคลอน ปิดท้ายด้วยการขับผ่านทางคดเคี้ยวขึ้นลงเขา ก็ยังนั่งหลับได้สบายไม่เหวี่ยงหรือเวียนหัว

●   หลังจากทดลองขับและนั่งกว่า 250 กิโลเมตร ก็พอจะสรุปได้ว่า มิตซูบิชิ เอ็กซ์แพนเดอร์ ครอสโอเวอร์ทรงเอ็มพีวี มีจุดเด่นตามที่ตั้งใจไว้คือ ห้องโดยสารที่กว้างขวางโปร่งสบาย รองรับการใช้งานแบบ 7 ที่นั่งได้จริง เบาะนั่งแถว 2 และ 3 ปรับได้หลายรูปแบบสำหรับการนั่งและเคลื่อนย้ายสัมภาระ Ground Clearance 205 มิลลิเมตร เพิ่มขอบเขตการใช้งาน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ทางเรียบ และไม่ได้ทำให้การขึ้น-ลงรถลำบาก ที่สำคัญคือ มีการยึดเกาะถนนที่ดีทั้งทางเรียบและทางออฟโรดเบาๆ รูปร่างหน้าตาสดใหม่ล้ำสมัย เครื่องยนต์ 1,500 ซีซี และเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ เมื่ออยู่ในแคตตาล็อกอาจดูเป็นจุดด้อย แต่เมื่อได้ลองขับจริงก็ไม่แย่อย่างที่คิด รองรับการใช้งานตามประเภทรถได้อย่างเหลือเฟือ มาพร้อมการรับประกันคุณภาพ 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร ฟรีค่าแรงเช็คระยะ 5 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร ตัวรถโดยรวมถือว่าผ่าน เหลือแค่ตัวแปรสำคัญคือ ราคา ว่าจะช่วยส่งเสริมให้รถรุ่นนี้ประสบความสำเร็จได้แค่ไหน   ●


Specification: Mitsubishi Xpander GT

•  แบบตัวถัง ครอสโอเวอร์ MPV 5 ประตู 7 ที่นั่ง
•  ยาว x กว้าง x สูง 4,475 x 1,750 x 1,700 มิลลิเมตร
•  ความกว้างล้อหน้า/หลัง 1,520/1,510 มิลลิเมตร
•  ฐานล้อ 2,775 มิลลิเมตร
•  ระยะต่ำสุด 205 มิลลิเมตร
•  น้ำหนัก 1,240 กิโลกรัม
•  แบบเครื่องยนต์ เบนซิน 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว MIVEC
•  ความจุ 1,499 ซีซี
•  กระบอกสูบ x ช่วงชัก 75 x 84.8 มิลลิเมตร
•  อัตราส่วนการอัด 10.0:1
•  กำลังสูงสุด 105 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที
•  แรงบิดสูงสุด 14.4 กก.-ม. ที่ 4,000 รอบต่อนาที
•  ระบบส่งกำลัง อัตโนมัติ 4 จังหวะ
•  ระบบขับเคลื่อน ล้อหน้า
•  ระบบบังคับเลี้ยว แร็กแอนด์พิเนียนพร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้า
•  ระบบกันสะเทือนหน้า อิสระ แม็กเฟอร์สันสตรัต พร้อมเหล็กกันโคลง
•  ระบบกันสะเทือนหลัง ทอร์ชั่นบีม
•  ระบบเบรกหน้า/หลัง ดิสก์พร้อมครีบระบายความร้อน/ดรัม พร้อม ABS, EBD และ BA
•  ผู้จำหน่าย บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
•  โทรศัพท์ Call Center 02-079-9500
•  เวบไซต์ www.mitsubishi-motors.co.th.


2018 Mitsubishi Xpander GT : Group Test