November 16, 2018
Motortrivia Team (10203 articles)

ไทยบริดจสโตน เดินหน้าโครงการสานฝันนักประดิษฐ์ปีที่ 11 สิ่งประดิษฐ์เพื่อการกีฬาสำหรับคนพิการ

ภาพ : สุพรรณี ยังอยู่

 

●   บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด ผู้นำด้านการผลิตยางรถยนต์อันดับหนึ่งในประเทศไทย ร่วมสนับสนุนนโยบายภาครัฐไทยแลนด์ 4.0 โดยร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและมหาวิทยาลัยนเรศวร ส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่ให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อยอดความคิดสร้างสรรค์การออกแบบสิ่งประดิษฐ์ เดินหน้าโครงการ สะพานสานฝันเยาวชนนักประดิษฐ์ ปีที่ 11 (Bridge 2 Inventor challenge 2018) โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศส่งผลงานการออกแบบการประดิษฐ์เข้าร่วมแข่งขันกว่า 140 ทีม

●   ทั้งนี้ตามกฎกติกา แต่ละทีมต้องมีสมาชิก 3 คนพร้อมอาจารย์ที่ปรึกษา 1 ท่าน จากนั้นจะมีการแข่งขันพร้อมคัดเลือกทีมเข้ารอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ โดยจะมีการคัดเหลือเพียง 40 ทีม เพื่อชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 400,000 บาท พร้อมทุนการศึกษาต่อจนจบระดับอุดมศึกษาของรัฐบาลทั่วประเทศ ไม่จำกัดสาขา/คณะ

●   การแข่งขันมีขึ้นภายใต้หัวข้อ “สร้างสิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะเพื่อการกีฬาสำหรับคนพิการ” หรือ  “Smart Sport for Disabled” โดยทีมชนะเลิศในปีนี้ได้แก่ โรงเรียนสตรีชัยภูมิ ชื่อโครงการ Good Goalball อุปกรณ์ช่วยการฝึกซ้อมของนักกีฬาโกลบอล นักเรียนผู้แข่งขันได้แก่ นางสาวกชพร กางการ, นางสาวเปรมฤดี มั่งมี และ นางสาวลักษิกา บัวแย้ม อาจารย์ที่ปรึกษา นายเกรียงไกร จำนงชอบ


มร. ฮิเดยูกิ ทาเคดะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยบริดจสโตน และ บริดจสโตนเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด


●   มร. ฮิเดยูกิ ทาเคดะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด กล่าวว่า “บริดจสโตนเป็นผู้นำด้านการผลิตยางรถยนต์อันดับหนึ่งในประเทศไทย เรามุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับความปลอดภัยในทุกการเดินทาง ดังพันธกิจ “รับใช้สังคมด้วยคุณภาพที่เหนือกว่า” (Serving Society with Superior Quality) ทำให้บริษัทเดินหน้าขับเคลื่อนเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ ที่จะมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวทันระดับนานาชาติ เพื่อตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0″


นายมานิต อนรรฆมาศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์


●   “ด้วยเหตุนี้ ไทยบริดจสโตนจึงมุ่งมั่นเดินหน้าโครงการสะพานสานฝันนักประดิษฐ์ปีที่ 11 โดยเปิดรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศออกแบบสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยี ภายใต้หัวข้อ สิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะเพื่อการกีฬาสำหรับคนพิการ โดยในปีนี้มีเยาวชนจากทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมกิจกรรม 140 ทีม แต่มีเพียง 40 ทีมที่มีสิทธิ์นำเสนอผลงานเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ ชิงเงินรางวัลกว่า 400,000 บาท ทีมผู้ชนะจะได้รับทุนการศึกษาจนจบระดับชั้นอุดมศึกษาทั้งทีม”

●   “สิ่งสำคัญที่ทำให้บริดจสโตนยังคงมุ่งมั่นสานต่อ “โครงการสะพานสานฝันนักประดิษฐ์”( Bridge 2 Inventor) ต่อเนื่องตลอด 11 ปีที่ผ่านมา เพราะเราเห็นศักยภาพของเยาวชนรุ่นใหม่ ที่เข้ามาเก็บเกี่ยวประสบการณ์และพร้อมพัฒนาต่อยอดสู่การเป็นนักประดิษฐ์ ซึ่งจะเป็นกำลังหลักในการนำเทคโนโลยีพัฒนาประเทศต่อไป”


ดร. ประชา คำภักดี อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


●   ดร. ประชา คำภักดี อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะหัวหน้าโครงการสะพานสานฝันนักประดิษฐ์ปีที่ 11 กล่าวว่า “สิ่งประดิษฐ์ ภายใต้หัวข้อ สิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะเพื่อการกีฬาสำหรับคนพิการ เป็นโจทย์ที่ท้าทายที่สุดนับตั้งแต่จัดตั้งโครงการสะพานสานฝันเยาวชนนักประดิษฐ์ เพราะที่ผ่านมาโจทย์สำหรับสิ่งประดิษฐ์จะเจาะจงลงไปเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง เช่น สิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะเพื่อการกีฬา หรือ สิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะเพื่อผู้พิการ แต่ปีนี้เหมือนเอา 2 โจทย์มารวมกัน ซึ่งเยาวชนที่เข้าประกวดจะต้องตีโจทย์ให้แตกว่า จะสร้างสิ่งประดิษฐ์อัจฉริยะเพื่อการกีฬาสำหรับคนพิการรูปแบบใด”

●   “จากการเห็นแบบจำลองสิ่งประดิษฐ์ของทีมเยาวชนที่ผ่านเข้ารอบ 40 ทีมสุดท้าย เราพบว่ามีการออกแบบสิ่งประดิษฐ์เพื่อการกีฬาหลากชนิด ทั้งวีลแชร์ ธนู วิ่ง บาสเก็ตบอล แฮนด์บอล เป็นต้น ซึ่งแบบจำลองของหลายทีมก็ทำออกมาได้ดี และบางชิ้นก็สามารถใช้งานได้จริงด้วย ผมยอมรับว่าเยาวชนยุคใหม่เริ่มหันมาสนใจกิจกรรมเชิงนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์มากขึ้น เห็นได้จากเยาวชนที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดมีมากขึ้นทุกปี จนต้องออกระเบียบให้ 1 โรงเรียนมีทีมเข้าร่วมประกวดไม่เกิน 2 ทีม ทำให้แต่ละโรงเรียนต้องเลือกผลงานจากทีมที่ดีที่สุดเข้าร่วมการประกวด”

●   “ในครั้งนี้ ผู้ชนะทั้ง 3 คนในทีมจะได้รับทุนการศึกษาจนจบระดับอุดมศึกษา โดยสามารถเลือกเรียนคณะและมหาวิทยาลัยใดก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เยาวชนจะเลือกศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และแพทย์ศาสตร์ โดยใช้ความชอบในการสร้างสิ่งประดิษฐ์เป็นกิจกรรมเสริมที่ทำในระดับมหาวิทยาลัย”  ดร. ประชา คำภักดี กล่าวปิดท้าย

●   สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ บริดจสโตน ประเทศไทย เชิญได้ที่ www.bridgestone.co.th/th   ●


Bridge 2 Inventor challenge 2018