November 13, 2018
Motortrivia Team (10203 articles)

Chevrolet Trailblazer Phoenix Edition LTZ 4×2 เที่ยวกาญฯ กับรุ่นแต่งพิเศษ

เรื่อง – ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ

 

●   เชฟโรเลต ประเทศไทย กระตุ้นตลาดเอสยูวีด้วยเทรลเบลเซอร์รุ่นตกแต่งพิเศษ Phoenix Edition ด้านหน้าเพิ่มสติกเกอร์ TRAILBLAZER ที่ฝากระโปรง และตราสัญลักษณ์เชฟโรเลตสีดำ ด้านข้างเพิ่มชุดแต่งซุ้มล้อสีดำด้าน ทั้ง 4 ล้อ และสติกเกอร์ข้างหลังคาสีดำด้าน ที่ขอบล่างของตัวรถเพิ่มสติกเกอร์สีเทาลายสปอร์ต ด้านหลังเพิ่มตราสัญลักษณ์เชฟโรเลตสีดำ พร้อมคิ้วตกแต่งฝาท้าย TRAILBLAZER สีดำด้าน และชุดกันรอยกันชนท้าย เพิ่มความสปอร์ตด้วยสปอยเลอร์หลังสีดำด้าน ภายในเน้นความสดใสด้วยการตกแต่งโทนสีแดงบริเวณช่องแอร์ คอนโซลเกียร์ และแผงข้างประตู รุ่นเริ่มต้น 2.5 VGT LT 2WD AT ราคาเร้าใจ 999,000 บาท จากปกติ 1,244,000 บาท

●   ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว เทอร์โบแปรผัน พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ ความจุ 2,499 ซีซี กำลังสูงสุด 180 แรงม้า ที่ 3,600 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 440 นิวตัน-เมตร หรือ 44.8 กก.-ม. ที่ 2,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พร้อม Manual Mode

●   สำหรับกิจกรรมทดลองขับ เริ่มต้นที่โรงแรม วี ราชเทวี โดยได้รับเกียรติจากคุณปิยะนุช จตุรภัทร์ ผู้อำนวยการทั่วไป ฝ่ายขายและการตลาด เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย กล่าวต้อนรับสื่อมวลชน และคุณชัชวาล จันทเขต ผู้อำนวยการทั่วไป ฝ่ายวิศวกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อธิบายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ จากนั้นจึงออกเดินทางด้วยเทรลเบลเซอร์ ฟินิกซ์ อิดิชั่น รุ่น LTZ 4×2 นั่งสามคนรวมผู้ขับ จุดหมายแรก ปั๊ม ปตท. ดอนกลาง จังหวัดสุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร ขับด้วยความเร็วเดินทางได้อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยประมาณ 11-12 กิโลเมตรต่อลิตร

●   แวะพักดื่มกาแฟแล้วเดินทางต่อไปร้านอาหารกลางวันครัวผักหวานบ้าน จังหวัดกาญจนบุรี ระยะทางประมาณ 110 กิโลเมตร ส่วนใหญ่จะขับเป็นขบวนเพื่อบันทึกภาพนิ่งและวีดิโอ มีโอกาสได้ลองความเร็วต่างๆ พบว่าใช้รอบเครื่องยนต์ค่อนข้างต่ำ ที่ความเร็ว 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้รอบ 2,200 รอบต่อนาที ในเกียร์ 6 ถ้าใช้รอบ 1,500-1,600 รอบต่อนาที ก็จะได้ความเร็ว 100-110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เสียงเครื่องยนต์ค่อนข้างเงียบ การเปลี่ยนเกียร์ขึ้นและลงทั้งด้วยการคิ๊กดาวน์และใช้ Manual Mode ก็เปลี่ยนได้รวดเร็วทันใจและยังคงความนุ่มนวล ระบบกันสะเทือนหนักแน่นและดูดซับแรงสะเทือนได้ดี พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าเบาแรงที่ความเร็วต่ำ แต่ยังรู้สึกว่าเบาไปนิดที่ความเร็วสูง เบรกจับตัวได้ดี แต่ต้องใช้แรงเหยียบมากหน่อย ขับไม่นานก็ปรับตัวได้

●   จากร้านอาหารไปถึงโรงแรมที่พักโฮมพุเตย ริเวอร์แคว ระยะทางแค่ประมาณ 40 กิโลเมตร แต่ทีมงานเชฟโรเลตพาไปย่อยอาหารด้วยการขับบนทางฝุ่นแบบเบาะๆ มีฝนผสมลงมาเป็นบางช่วง แต่สภาพเส้นทางก็ไม่ได้โหดมากนัก รุ่น 4×2 ก็ขับผ่านไปได้สบายๆ จากนั้นจึงวนกลับที่พักรวมระยะช่วงสุดท้ายอีกประมาณ 100 กิโลเมตร ช่วงนี้ใช้ความเร็วประมาณ 80-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะมีรถในขบวนที่มีบ้านเคลื่อนที่พ่วงท้าย จึงใช้ความเร็วได้ไม่สูงนัก เซต 0 อัตราสิ้นเปลืองก่อนออกจากร้านอาหาร ได้อัตราสิ้นเปลืองดีสุด 15 กิโลเมตรต่อลิตร

●   ในช่วงขับทางออฟโรด ได้ลองใช้ Manual Mode ของเกียร์อีกครั้ง ช่วยหน่วงความเร็วลดภาระของระบบเบรก และบางช่วงที่เป็นทางลาดชันยาวๆ ก็ได้ลองระบบช่วยลงเนินหรือ Hill Descent Control เมื่อเปิดใช้ ระบบจะช่วยเบรกชลอความเร็วให้ เพื่อให้ผู้ขับมีสมาธิเต็มที่ในการควบคุมพวงมาลัย ส่วนในช่วงทางเรียบลงเนิน ใช้ตำแหน่งเกียร์ D เมื่อแตะเบรก เกียร์จะเปลี่ยนลงต่ำให้ ลองกดคันเร่งรถก็เพิ่มความเร็วให้ แต่ไม่ยอมเปลี่ยนเกียร์สูงขึ้น จนกระทั่งลงสู่ทางราบได้ระดับ เกียร์จึงเปลี่ยนขึ้นสูงให้

●   ระบบความปลอดภัยที่ได้ลองใช้คือ ระบบเตือนจุดบอดด้านข้าง Side Blind Zone Alert มีไฟสัญญาณเตือนที่กระจกมองข้างเมื่อมีรถอยู่ด้านข้างเยื้องไปด้านหลัง ระบบเตือนเมื่อออกนอกเลน Lane Departure Warning ส่งสัญญาณเสียงเตือนเมื่อออกนอกเลนโดยไม่เปิดไฟเลี้ยว และระบบเตือนการชนด้านหน้า Forward Collision Alert เมื่อเข้าใกล้รถคันหน้ามากเกินไปและใช้ความเร็วมากกว่ารถคันหน้า เมื่อผู้ขับไม่เหยียบเบรก ระบบจะประเมินว่าอาจเกิดการชน จะเตือนด้วยสัญญาณเสียงและไฟสีแดงสะท้อนขึ้นบนกระจกหน้าฝั่งผู้ขับ

เคล็ดลับการขับออฟโรดจากเชฟโรเลต

●   เตรียมตัวสำหรับการขับเคลื่อนสี่ล้อ: โดยปกติทั่วไปแล้วรถอเนกประสงค์และรถกระบะ มักจะใช้งานระบบขับเคลื่อน 2 ล้อเป็นหลัก แต่สามารถขับเคลื่อน 4 ล้อได้เมื่อต้องขับแบบออฟโรด หรือเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าทาย เช่น ฝนตกหนัก ถนนที่เต็มไปด้วยดินโคลนหรือพื้นผิวถนนที่ลื่น เมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ดังกล่าว การขับโดยใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อจะมีประโยชน์มาก ระบบการขับเคลื่อน 4 ล้อของรถอเนกประสงค์เทรลเบลเซอร์และรถกระบะโคโลราโด สามารถช่วยเพิ่มแรงฉุดลากได้ ด้วยการถ่ายกำลังของเครื่องยนต์ไปยังล้อทั้ง 4

–   ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อด้วยความเร็วสูงหรือโหมดทูไฮ (2H – Two-Wheel Drive High) มักใช้สำหรับการขับขี่บนถนนทั่วไปและไฮเวย์
–   ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อด้วยความเร็วสูง หรือโหมดโฟร์ไฮ (4H – Four-Wheel Drive High) ใช้เมื่อต้องการเพิ่มแรงฉุดลาก
–   ตำแหน่งเกียร์ว่าง หรือโหมด N (Neutral) ใช้เมื่อต้องลากจูง
–   โหมดโฟร์โลว์ (4L- Four-Wheel Drive Low) ใช้เมื่อขับบนทรายหรือดินโคลน หรือเมื่อต้องขึ้น/ลงเนินลาดชัน

●   นั่งในตำแหน่งที่เหมาะสม: สิ่งแรกที่ผู้ขับขี่ควรทำคือ การปรับตำแหน่งเบาะที่นั่งให้เหมาะสมกับรูปร่างของตนเอง และคาดเข็มขัดนิรภัย เพราะจะช่วยให้ผู้ขับรักษาตำแหน่งที่นั่งได้เมื่อต้องขับขึ้น/ลงเนินเขาที่สูงชัน


●   จับพวงมาลัยให้ถูกต้อง: วางมือบนพวงมาลัยที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา และ 9 นาฬิกา จับพวงมาลัยให้กระชับโดยให้นิ้วโป้งทั้ง 2 ข้างชี้ขึ้น ไม่ควรสอดนิ้วโป้งเข้าไปในพวงมาลัยเมื่อต้องขับแบบออฟโรด เพราะเมื่อรถยนต์ชนกับหินหรืออุปสรรคอื่นๆ พวงมาลัยจะหมุนอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้นิ้วโป้งหรือข้อมือของคุณได้รับบาดเจ็บ

●   เพิ่มแรงฉุดลาก เมื่อต้องขับบนพื้นผิวถนนที่ไม่แน่น ลาดชัน หรือเปียกลื่น: อย่าเหยียบคันเร่งมากเกินไป เพราะอาจทำให้รถเสียการทรงตัวบนถนนที่พื้นผิวไม่แน่น ทำให้ควบคุมรถได้ยาก

–   ใช้เกียร์ต่ำ และขับช้าๆ หากเป็นไปได้ ทั้งในขณะขึ้นและลงเขา
–   ชะลอความเร็วเมื่อใกล้ถึงยอดเขา
–   ห้ามลงเขาด้วยเกียร์ว่างในตำแหน่ง N (Neutral)
–   เมื่อต้องขับรถลงเขา บังคับพวงมาลัยให้ตรง และใช้เกียร์ต่ำ เพราะกำลังเครื่องจะส่งไปยังเบรก เพื่อชะลอความเร็วและช่วยให้สามารถควบคุมรถยนต์ได้

●   ออกตัวอีกครั้ง เมื่อเครื่องยนต์ดับ:

–  เหยียบเบรกเพื่อหยุดรถ เปลี่ยนเกียร์ให้อยู่ที่ตำแหน่ง P (Park) จากนั้นสตาร์ทเครื่องยนต์อีกครั้ง
–   หากรถดับเมื่อกำลังขับขึ้นเขา ให้เปลี่ยนเกียร์ไปที่ R (Reverse) ปล่อยเบรก และถอยตรงลงมา อย่าพยายามกลับรถ ถ้าเนินลาดชันมากจนทำให้เครื่องยนต์ดับได้ ก็สามารถทำให้รถคว่ำได้เช่นกัน
–   หากรถดับเมื่อกำลังขับลงเขา ให้เปลี่ยนมาใช้เกียร์ต่ำ ปล่อยเบรก และขับตรงลงเขา
–  หากไม่สามารถสตาร์ทเครื่องยนต์อีกครั้งได้ ให้ดึงเบรกมือ เปลี่ยนเป็นเกียร์ P (Park) และดับเครื่อง ลงจากรถและขอความช่วยเหลือ

ขับผ่านน้ำลึก

–   ถ้าน้ำไม่เชี่ยวและระดับน้ำไม่ลึก ให้ขับผ่านอย่างช้าๆ ถ้าขับด้วยความเร็วสูงเกินไป จะทำให้น้ำเข้าเครื่องยนต์ และสามารถทำให้เครื่องยนต์ดับได้
–   ก่อนที่จะขับลงไปในน้ำ ให้ปิดแอร์และเปิดกระจกทั้ง 4 บาน
–   ค่อยๆ ขับลงน้ำด้วยความเร็วไม่เกิน 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเพิ่มความเร็วเป็น 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่ออยู่ในน้ำ
–   เมื่อขับรถพ้นจากน้ำ ให้เหยียบเบรกหลายๆ ครั้ง เพื่อรีดน้ำออกจากผ้าเบรค

เคล็ดลับสำหรับการลากจูงเทรลเลอร์

–   ก่อนที่จะซื้อรถยนต์หรือใช้รถยนต์เพื่อการลากจูง ควรศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการใช้รถเพื่อการลากจูงในคู่มือสำหรับรถยนต์ของคุณ
–   ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการลากจูงในประเทศนั้นๆ น้ำหนักที่รถยนต์ของคุณสามารถลากจูงได้ รวมถึงน้ำหนักของเทรลเลอร์และสัมภาระ
–   ติดตั้งตะขอลากและชุดลากหัวบอล (Ball Mount) ที่เหมาะสมกับการใช้งานตามที่ต้องการโดยผู้เชี่ยวชาญ
–   ติดตั้งโซ่เซฟตี้ระหว่างรถยนต์และเทรลเลอร์ของคุณเสมอ โซ่เซฟตี้จะต้องพาดผ่านใต้ตัวยึดของเทรลเลอร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยึดตกลงมา เมื่อเทรลเลอร์หลุดออกจากตะขอลาก
–   ก่อนบรรทุกสัมภาระในเทรลเลอร์ ควรคำนวณน้ำหนักรวมทั้งหมดของรถยนต์และเทรลเลอร์ ซึ่งรวมถึงน้ำมัน ผู้โดยสาร สัมภาระ อุปกรณ์ และอุปกรณ์ตกแต่ง โดยน้ำหนักรวมทั้งหมดไม่ควรเกินอัตราการรับน้ำหนักสุทธิของรถ (Gross combined weight rating – GCWR) ซึ่งสามารถดูได้จากคู่มือสำหรับรถยนต์ของคุณ

●   การตรวจสอบว่าน้ำหนักของรถยนต์และเทรลเลอร์อยู่ในอัตราการรับน้ำหนักสุทธิของรถหรือไม่ ให้ปฏิบัติ ดังนี้

–   เริ่มต้นจากน้ำหนักรถเปล่า (Curb weight)
–   บวกน้ำหนักของเทรลเลอร์ซึ่งบรรทุกสัมภาระและพร้อมสำหรับการเดินทาง
–   บวกน้ำหนักของผู้โดยสารทุกคนบนรถ
–   บวกน้ำหนักของสัมภาระทั้งหมดภายในรถยนต์
–   บวกน้ำหนักของชุดลากจูง เช่น เหล็กต่อพ่วงรถ (Drawbar) ชุดลากหัวบอล (Ball mount)บาร์คู่สำหรับรับน้ำหนัก (Load equalizer bars) หรือบาร์ค้ำลากจูง (Sway bar)
–   บวกน้ำหนักของอุปกรณ์ตกแต่งหรืออุปกรณ์ต่างๆจากตลาดหลังการขาย (Aftermarket) ที่ติดตั้งเพิ่มเติมในรถยนต์

●   เมื่อบรรทุกสัมภาระในเทรลเลอร์ ควรให้น้ำหนัก 60 เปอร์เซ็นต์ของสัมภาระอยู่ค่อนไปทางด้านหน้าของเทรลเลอร์ และกระจายน้ำหนักด้านข้างให้เท่าๆ กัน การบรรทุกสัมภาระโดยให้น้ำหนักค่อนไปด้านหน้าหรือหลังมากเกินไป อาจทำให้เทรลเลอร์แกว่งได้

●   เมื่อต้องถอยเทรลเลอร์ ให้วางมือข้างหนึ่งอยู่ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกาของพวงมาลัย เมื่อต้องการเคลื่อนย้ายเทรลเลอร์ไปทางซ้ายให้หมุนพวงมาลัยไปด้านซ้าย และหากต้องการให้เทรลเลอร์ไปด้านขวาให้หมุนพวงมาลัยของคุณไปด้านขวา ถอยเทรลเลอร์ทีละนิดอย่างช้าๆ เพื่อรักษาการควบคุม

●   ควรเผื่อระยะในการเบรกเมื่อรถของคุณลากจูงเทรลเลอร์อยู่ ระยะห่างที่ปลอดภัยคือ การเว้นช่องว่างขนาดเท่ารถยนต์ที่ลากจูงเทรลเลอร์ 1 คัน ระหว่างรถของคุณและรถคันข้างหน้า สำหรับความเร็วทุกๆ 10 ไมล์ต่อชั่วโมง (16 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)

●   ไม่บรรทุกสัมภาระเกินน้ำหนักที่รถยนต์ของคุณสามารถรับไหว โดยสัมภาระดังกล่าวรวมถึงน้ำหนักของตัวยึด (Tongue Weight) ซึ่งคือ แรงกดจากตัวครอบหัวบอลบนหัวลากจูงของรถเทรลเลอร์ โดยปกติจะหนักประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักเทรลเลอร์ที่บรรทุกสัมภาระ สำหรับหัวลากจูงปกติ

●   อย่าพยายามหลีกเลี่ยงการแกว่งของเทรลเลอร์ เพราะจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม เมื่อเทรลเลอร์แกว่ง ให้พยายามบังคับพวงมาลัยให้นิ่งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมปล่อยคันเร่ง (โดยไม่แตะเบรก) และดึงเบรกมือไฟฟ้าของเทรลเลอร์ (ถ้ามี)

●   สำหรับการขับรถยนต์ขึ้นเขาหรือทางลาดชัน การใช้เกียร์ต่ำจะทำให้รถยนต์มีกำลังหรือแรงบิดมากขึ้น ควรขับรถยนต์ขึ้นเขาหรือทางลาดชันด้วยความเร็วที่ไม่มากไปกว่าความเร็วที่คุณใช้เพื่อขับลงเขา และเปลี่ยนมาใช้เกียร์ต่ำเพื่อใช้แรงจากเครื่องยนต์ช่วยในการเบรก ขณะที่ขับลงจากเขาหรือทางลาดชัน

ขอบคุณ: บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง


2018 Chevrolet Trailblazer Phoenix Edition : motortrivia


2018 Chevrolet Trailblazer Phoenix Edition : official