July 9, 2019
Motortrivia Team (10203 articles)

AMG Driving Academy 2019 ครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เรื่อง : นาธัส แสงสุริยะ • ภาพ : เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย

●   บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ตอกย้ำภาพลักษณ์ผู้นำในกลุ่มรถยนต์สมรรถนะสูง จัดกิจกรรม AMG Driving Academy การฝึกอบรมขับรถยนต์สมรรถนะสูง ครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียนรู้เทคนิคการขับแบบเต็มสมรรถนะ โดยทีมผู้ฝึกสอนมืออาชีพจาก Mercedes-AMG ดีกรีแชมป์การแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตรายการระดับโลก และ มร. เบิร์น ชไนเดอร์ (Bernd Schneider) แบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Mercedes-AMG นักแข่งรถสัญชาติเยอรมัน เจ้าของตำแหน่งแชมป์ DTM 5 สมัย และแชมป์ 2 สมัยจากสนามนูร์เบอร์กริงสุดโหด ร่วมให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด พร้อมสัมผัสสมรรถนะรถสปอร์ตสายพันธุ์แรงภายใต้แบรนด์ Mercedes-AMG ครบทั้งพอร์ตโฟลิโอรวม 14 รุ่น

Mr. Bernd Schneider, Mercedes-AMG Brand Ambassador

●   AMG Driving Academy Skill Level แบ่งเป็น 2 ระดับหลัก คือ AMG Driving Academy และ AMG Customer Racing โดย AMG Driving Academy ขั้นต้นแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ

1. AMG Experience
2. AMG Performance Training ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ทีมงานมอเตอร์ทริเวีย มีโอกาสเข้าร่วม ถ้าผ่านคอร์สนี้จะได้ใบประกาศนียบัตร สามารถเข้าร่วมคอร์สต่อไปได้ทั่วโลก
3. AMG Advanced Training
4. AMG Pro/Pro Plus Training

●   จากนั้นจะเป็นการต่อยอดไปในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งหลังจากนี้จะเปลี่ยนไปใช้รถแข่งในการฝึกอบรม คือ

5. AMG Master AMG GT4 Racing Camp
6. AMG GT3 Racing Camp
7. Track Day

●   จากนั้นจึงก้าวเข้าสู่ AMG Customer Racing หรือโลกของการแข่งรถ AMG Motorsport นั่นเอง

มร. โรลันด์ โฟลเกอร์ (Roland Folger) ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด

●   AMG Driving Academy 2019 นับเป็นกิจกรรมแรกที่มีจำนวนรถมากที่สุดและหลายหลายที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยมีรถยนต์รุ่นไฮไลท์ Mercedes-AMG C 63 S Coupé โฉมใหม่ เครื่องยนต์ วี8 ไบเทอร์โบ 510 แรงม้า ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์

มร. ฟรังค์ ชไตน์อัคเคอร์ (Frank Steinacher) รองประธานบริหาร ฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด

●   รถยนต์รุ่นอื่นที่ใช้ในการอบรม AMG Driving Academy ครั้งนี้ ล้วนแล้วแต่ไม่ธรรมดา เช่น Mercedes-AMG GT 53 4MATIC+ 4-Door Coupé รถสปอร์ต 4 ประตูตระกูล AMG GT และ Mercedes-AMG E 53 4MATIC+ รถยนต์นั่ง 4 ประตูในสไตล์ AMG พร้อมด้วย Mercedes-AMG GT C Roadster, Mercedes-AMG E 63 S 4MATIC+, Mercedes-AMG E 53 4MATIC+ Coupé, Mercedes-AMG CLS 53 4MATIC+, Mercedes-AMG A 45 4MATIC, Mercedes-AMG GLA 45 4MATIC, Mercedes-AMG CLA 45 4MATIC, Mercedes-AMG GLE 43 4MATIC Coupé, Mercedes-AMG GLC 43 4MATIC Coupé, Mercedes-AMG C 43 4MATIC Coupé, Mercedes-AMG C 43 4MATIC และ Mercedes-AMG SLC 43

ทบทวนก่อนลงสนาม

●   การอบรมครั้งนี้ใช้เวลา 2 วัน แบ่งสื่อมวลชนเป็นกลุ่มย่อยเพื่อสลับหมุนเวียนไปตามสถานีต่างๆ ซึ่งใช้หลักสูตรเดียวกันกับการอบรม AMG ทั่วโลก ผู้เข้ารับการอบรมไม่ได้เรียนรู้แค่เทคนิคการขับ แต่ยังรวมไปถึงสมรรถนะของรถยนต์ด้วย ดังนั้นด้วยหลักสูตรที่ใช้ ทำให้วันนี้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้เข้าไปรวมอยู่กับ World’s Fastest Family

●   สิ่งแรกที่สื่อมวลชนทุกกลุ่มต้องเรียนรู้ คือ การปรับท่านั่งสำหรับการขับแบบสปอร์ตหรือขับในสนามแข่ง ที่ต้องปรับเบาะนั่งลงต่ำสุด เพื่อบังคับให้ผู้ขับมองไปข้างหน้าไกลๆ ซึ่งสำคัญมากสำหรับการขับด้วยความเร็วสูง เพราะที่ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 1 วินาที รถจะเคลื่อนที่ไป 33.3 เมตร ถ้าปรับเบาะสูง สายตาจะมองกดลงในระยะใกล้ ทำให้ไม่สามารถควบคุมรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อปรับเบาะลงต่ำแล้ว ก็ปรับระยะห่างของเบาะ โดยเมื่อเหยียบเบรกสุด เข่าขวาต้องงอเล็กน้อย ไม่เหยียดตึง เพื่อให้มีแรงเหยียบเบรกได้อย่างเต็มที่ และหากในกรณีเกิดอุบัติเหตุ ถ้าขาเหยียดตึง แรงกระแทกจะถูกส่งมาถึงร่างกายโดยตรง ปรับระยะห่างของแขนกับพวงมาลัย ด้วยการเหยียดแขนสุดแล้วข้อมือควรแตะขอบบนของพวงมาลัย (แผ่นหลังต้องแนบพนักพิง) จับพวงมาลัยที่ตำแหน่ง 9 และ 3 นาฬิกา ข้อศอกต้องมีมุมงอเล็กน้อย ถ้าแขนเหยียดตึงจะหมุนพวงมาลัยไม่คล่องและไม่มีแรงหมุนพวงมาลัย

●   ในเรื่องของการใช้สายตา รถจะไปตามองศาของพวงมาลัย แต่ผู้ขับจะต้องมองทิศทางที่จะพารถไป ในการฝึกจะบอกว่าต้องมองตรงไหนเพื่อให้ควบคุมรถได้ดีที่สุด ให้มองไปยังทิศทางที่จะไป อย่ามองไปที่อุปสรรค และให้แน่ใจว่ามองถนนกว้างๆ ไม่ใช่มองไปจุดใดจุดหนึ่ง รถ AMG มีทั้งจานเบรกโลหะและจานเบรกเซรามิค การขับบนถนนเมื่อต้องการหยุดรถ จะค่อยๆ เพิ่มแรงเบรก แต่การขับในสนามแข่ง เมื่อต้องการเบรก ต้องเหยียบเบรกเต็มที่ตั้งแต่ครั้งแรกแล้วรักษาแรงเบรกนั้นไว้จนกว่ารถจะหยุด นั่นเป็นสาเหตุให้ต้องปรับเบาะให้เหยียบเบรกสุดแล้วเข่าขวายังงออยู่ เพื่อให้มีแรงเบรกนั่นเอง

●   การฝึกที่ AMG รถย่อมมีการสไลด์บ้าง ซึ่งการสไลด์แบ่งเป็น 2 แบบ คือ Understeer หรือ หน้าดื้อโค้ง หมุนพวงมาลัยแล้วรถไม่เลี้ยว แสดงว่าความเร็วสูงเกินไป ต้องผ่อนคันเร่งหรือแตะเบรกเบาๆ เพื่อดึงรถกลับเข้ามา ส่วน Oversteer หรือ ท้ายปัด จะได้ทดสอบในสถานี Car Control ที่มีการปิดระบบ ESP ถ้าเกิดเหตุการณ์ขับรถไปข้างหน้า แต่รถหมุนเอาด้านท้ายนำ แสดงว่าควบคุมรถไม่ได้แล้ว ก็ให้เหยียบเบรกจนกระทั่งรถหยุด ในสถานี Lead & Follow ขับตามกันเป็นขบวน ให้มองไกลๆ อย่ามองแค่ท้ายรถคันหน้า เมื่อเห็นไฟเบรกของรถนำ รถคันที่ขับตามก็ต้องเบรกด้วย และถ้าไฟเบรกกะพริบนั่นคือระบบ Adaptive Brake Light หมายถึงเบรกฉุกเฉิน ต้องเหยียบเบรกให้เต็มที่ ในวันที่ฝึกอบรม มีโอกาสที่จะได้ขับท่ามกลางสายฝน จึงอยากให้เรียนรู้เรื่องประสิทธิภาพการรีดน้ำ กับความลึกของร่องยาง ถ้ายากสึก ร่องยางตื้น ก็มีโอกาสที่ยางจะรีดน้ำไม่ทัน เกิดอาการเหินน้ำหรือระยะเบรกยาวขึ้น มีโอกาสชนมากขึ้น ดังนั้นแม้รถจะมีสมรรถนะสูงแค่ได้ ก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องยางด้วย

●   การฝึกครั้งนี้ มีการสอนให้เข้าโค้งแบบ Racing Line และสำหรับหลักสูตรของ AMG Driving Academy และทั่วโลก เมื่อเห็นไพลอนสีน้ำเงิน นั่นหมายความว่าเป็นจุดเบรก ในสนามจะวางไพลอนไว้เพื่อแจ้งจุดเบรก, เลี้ยว, Apex, และบางครั้งก็มีไพลอนวางในจุด Exit หรือออกจากโค้งด้วย

●   กติกาการขับรถในสนามที่เหมือนกันทั่วโลกคือ ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ หรือกินยาที่ทำให้เกิดอาการง่วง ทุกคนที่นั่งในรถต้องคาดเข็มขัดนิรภัย และแม้ใน AMG Driving Academy จะพยายามผลักดันให้ผู้ขับทำได้มากกว่าที่เคย แต่ถ้าเกินจุดที่รับได้ ให้หยุดรถ ไม่ต้องฝืนขับ

Brake & Lane Change

●   วันแรกแบ่งเป็น 4 สถานี เริ่มจาก Brake & Lane Change เปรียบเทียบระยะเบรกที่ความเร็ว 90, 100 และ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมทดสอบการเบรกฉุกเฉิน หลบหลีกสิ่งกีดขวาง และทดสอบปฏิกิริยาการตอบสนองของผู้ขับ ด้วยการขับลอดซุ้มที่ติดตั้งสัญญาณไฟที่จะสว่างแบบสุ่มซ้าย-ขวา เพื่อให้ผู้ขับหลบไปในทิศทางนั้นโดยไม่รู้ล่วงหน้า ซึ่งตรงกับสถานการณ์ฉุกเฉินจริงๆ

●   ประเดิมความแรงด้วยรถ Mercedes-AMG GLC 43 4MATIC Coupé ราคา 4.73 ล้านบาท เครื่องยนต์ วี6 3.0 ลิตร ไบเทอร์โบ 367 แรงม้า แรงบิด 520 นิวตันเมตร 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 4.9 วินาที วอร์ม-อัพ ด้วยการเร่งความเร็วไปที่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อถึงจุดเบรกก็กระทืบเบรกเต็มที่ ยังไม่ทันถึงไพลอนที่วางขวางไว้ให้หักหลบ รถก็หยุดนิ่งซะก่อน จากนั้นเพิ่มความเร็วเป็น 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะเบรกเพิ่มขึ้นอีกนิด ต้องหลบไพลอนที่วางขวางไว้ แต่ก็หลบได้อย่างง่ายๆ จากนั้นเพิ่มความเร็วเป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เบรกเต็มแรงเมื่อถึงจุดที่กำหนด เหลือบมองสัญญาณไฟว่าจะให้หลบไปทางซ้ายหรือขวา ในขณะที่รถก็พุ่งเข้าหาไพลอนที่วางขวางไว้ เมื่อเห็นสัญญาณไฟก็หมุนพวงมาลัยหลบไพลอนไปตามทิศทางนั้น ในขณะที่เท้าก็ยังเหยียบเบรกเต็มที่อยู่ จนกระทั่งรถหยุดนิ่ง ครูฝึกแนะนำผ่านวิทยุสื่อสารว่า ขาขวาต้องกระทืบเบรกให้หนักเต็มที่ แต่มือทั้ง 2 ข้าง ต้องหมุนพวงมาลัยอย่างนุ่มนวล ไม่กระชาก ฟังดูเหมือนยาก แต่เมื่อมีโอกาสได้ทดลองขับหลายๆ ครั้ง ไล่จากความเร็วต่ำไปถึงความเร็วสูง ก็สามารถทำได้

●   แม้รถที่ขับจะสูงกว่าเก๋งพอประมาณ แต่ก็ไม่มีอาการเอียงวูบวาบให้หวาดเสียว ความเร็วที่ง่ายที่สุดคือ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะกดคันเร่งจมมิดได้เต็มที่ตั้งแต่ออกจากจุดสตาร์ทถึงจุดเบรก จะได้ความเร็วประมาณ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงพอดี ถึงจุดเบรกก็กระทืบเบรกให้แรงที่สุดแล้วเหยียบค้างไว้ แทบไม่รู้สึกว่า ABS ทำงานเพราะไม่มีอาการสะท้านที่แป้นเบรก จากนั้นก็ดูสัญญาณไฟบนซุ้มว่าให้ไปทางไหน ก็หมุนพวงมาลัยหลบไปทางนั้น การควบคุมรถทำได้ง่ายมากๆ เพราะมี ESP เป็นตัวช่วย ส่วนที่ความเร็ว 90 และ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต้องเหลือบตาดูมาตรวัดและผ่อนคันเร่งเพื่อเลี้ยงความเร็วให้ได้ตามที่ครูฝึกกำหนด เพราะถ้าขับช้าหรือเร็วกว่าความเร็วที่กำหนดครูฝึกที่ยืนดูอยู่ก็จะดูออกทันที

●   สถานีนี้ได้เรียนรู้ว่า รถที่มีระบบช่วยเหลือที่ดี จะช่วยให้หลบหลีกสถานการณ์คับขันได้ง่าย โดยที่ผู้ขับไม่จำเป็นต้องมีทักษะขั้นสูง และความเร็วที่เพิ่มขึ้นเพียง 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลต่อระยะเบรกที่เพิ่มขึ้นมาก จึงควรเลือกใช้ความเร็วให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์

ESP

●   สถานีที่ 2 Car Control เห็นสนามครั้งแรกค่อยเบาใจ เพราะวางไพลอนไว้สำหรับการขับแบบยิมคาน่า ดูคร่าวๆ แล้วเส้นทางไม่ซับซ้อน ไม่น่าจำยาก แต่พอเดินมาดูรถที่ใช้ขับ Mercedes-AMG C 43 4MATIC Coupé ราคา 4.22 ล้านบาท เครื่องยนต์ วี6 3.0 ลิตร เทอร์โบคู่ 390 แรงม้า แรงบิด 520 นิวตันเมตร สังเกตที่ยางคู่หลังหุ้มปลอกพลาสติกเพื่อลดการยึดเกาะถนน จำลองเหตุการณ์ถนนลื่น ทดลองความแตกต่างระหว่างการเปิดและปิด ESP ได้ขับคนละ 3 รอบ รอบแรก ใช้โหมด ESP Sport สเต็ปนี้ระบบจะยอมให้ล้อหมุนฟรีได้บ้าง แต่ระบบยังควบคุมอยู่ แม้ล้อหลังแทบจะไม่มีการยึดเกาะ แต่ก็ยังประคองรถไปได้อย่างต่อเนื่องในช่วงสลาลอม แอบใช้ความเร็วต่ำจนครูฝึกต้องวิทยุมาบอกให้เพิ่มความเร็วขึ้นหน่อย และในช่วงยูเทิร์นกลับรถ อาการท้ายกวาดก็มา แต่ด้วยระบบที่คอยช่วยเหลือ รวมทั้งใช้ความเร็วไม่สูงมาก รถจึงไม่เสียอาการมากนัก มาหมดท่าเอาช่วงสุดท้ายที่ต้องขับเป็นวงกลมรอบไพลอน ถ้าอยากจะดริฟสวยๆ เหมืนรอบสาธิตที่ขับโดยครูฝึก การควบคุมคันเร่งมีส่วนสำคัญมาก เพราะถ้าขับช้าเกินไป ท้ายก็จะไม่ปัด ถ้าเร่งแรงเกินไป ท้ายก็จะปัดเร็วจนแก้อาการไม่ทัน

●   รอบ 2 หายห่วง เพราะเป็นรอบที่ปิด ESP หมุนเป็นลูกข่างตั้งแต่ช่วงสลาลอม แต่ก็ไม่ได้น่ากลัวอะไร แค่ทำตามครูฝึก คือ เมื่อรถหมุนก็ให้ยกเท้าจากคันเร่งมาเหยียบเบรกให้สุดจนกระทั่งรถหยุดนิ่ง เพื่อเซฟปลอกพลาสติกที่หุ้มยางหลังไม่ให้สึกหรอเร็วเกินไป การหมุนของรถในรอบนี้ แตกต่างจากรอบที่แล้วอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการหมุนโดยปราศจากตัวช่วย จึงหมุนอย่างรวดเร็วและเหวี่ยงรุนแรง ไม่มีโอกาสแก้อาการของรถเลย ทำได้แค่เหยียบเบรกให้รถหยุดหมุนเท่านั้น มองออกไปนอกรถเห็นภาพโลกหมุนเร็วมาก ไม่อยากจินตนาการต่อไปว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้บนถนนสาธารณะจะเป็นอย่างไร

●   รอบสุดท้ายเปิด ESP ในโหมดปกติ รถจะขาดความต่อเนื่องในช่วงสลาลอม เพราะระบบจะขยันเบรกล้อที่หมุนฟรีหมุนเร็วกว่าล้ออื่น เหลือแรงขับเคลื่อนจาก 2 ล้อหน้าเท่านั้น ถ้ามองในด้านความปลอดภัยแล้วอุ่นใจได้ เพราะแม้จะมีการยึดเกาะแค่ 2 ล้อหน้า ถ้าใช้คันเร่งอย่างเหมาะสม ท้ายรถจะมีอาการปัดเพียงเล็กน้อย และเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้ผู้ขับมือทั่วไปอย่างผม สามารถแก้อาการรถได้ทันเวลา แต่ถ้ากดคันเร่งหนักๆ ท้ายรถก็ยังปัดเป๋อยู่ดี แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าระบบช่วยเหลือจะดีหรือฉลาดแค่ไหน ก็ยังมีข้อจำกัด ผู้ขับจึงควรขับด้วยความระมัดระวัง พึ่งตัวเองไว้ก่อนดีที่สุด ส่วนระบบช่วยเหลือนั้นเก็บไว้ใช้ในเหตุการณ์ฉุกเฉิน

Cornering Exercise

●   ฝึกเทคนิคการเข้าโค้งที่ถูกต้อง ทั้งการอ่านโค้งเพื่อควบคุมรถไปในไลน์การขับที่ถูกต้อง การใช้พื้นที่ของสนามให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ฝึกการมองล่วงหน้า การหมุนพวงมาลัย การเบรกเพื่อลดความเร็วและเพื่อควบคุมถ่ายน้ำหนัก สถานีนี้ใช้โค้งที่ 7-8-9-10-11 ซึ่งเป็นโค้งที่ยากและซับซ้อนของสนามช้าง และได้รับเกียรติจาก มร. เบิร์น ชไนเดอร์ มาช่วยติวเข้ม

●   เนื่องจากเวลามีจำกัด จึงใช้วิธีขับตามกันเป็นขบวนหรือ Lead & Follow มีครูฝึกขับรถนำ เว้นระยะห่างประมาณ 3-4 คันรถ รถคันที่ขับตามรถนำต้องพยายามขับทับไลน์ และคันต่อๆ มาก็ขับแบบเดียวกัน ถ่ายทอดไลน์การขับไปยังรถคันสุดท้ายของขบวน ถ้าขบวนขับเว้นระยะเท่าๆ กันได้ดี ก็จะเพิ่มความเร็วให้ แต่ถ้ามีคันใดคันหนึ่งช้า ก็จะลดความเร็วเพื่อรอ ดังนั้นความเร็วของขบวนจึงขึ้นอยู่กับรถคันที่ช้าที่สุด เพื่อให้ทุกคันไปพร้อมกัน สถานีนี้ได้ลองขับ Mercedes-AMG CLS 53 4MATIC+  ราคา 5.35 ล้านบาท เครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบ 3.0 ลิตร 435 แรงม้า แรงบิด 520 นิวตันเมตร 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 4.5 วินาที

Drag Race

ใช้ทางตรงหน้า Grand Stand และใช้ไฟปล่อยตัวรถแข่งของสนามช้าง เมื่อไฟดับลงก็ออกตัวได้ แต่ไม่ใช่แค่เหยียบคันเร่งมิดแล้วใครเข้าเส้นชัยก่อนจะชนะ เพราะรถแต่ละรุ่นก็มีความได้เปรียบเสียเปรียบกันอยู่บ้าง กติกาจึงกำหนดว่า เมื่อถึงปลายทางแล้ว ต้องเบรกให้อยู่ในโซนที่กำหนดด้วย สถานีนี้ได้ประสบการณ์ในการขับออกตัวอย่างไรให้รวดเร็วที่สุด  และประเมินระยะเบรกให้พอดี ได้ลองขับรุ่นไฮไลต์ Mercedes-AMG C 63 S Coupé, Mercedes-AMG GT C Roadster และ Mercedes-AMG E 63 S 4MATIC+ ขับแบบไม่หวังผลการแข่ง แค่อยากซึมซับบรรยากาศมากกว่า ช่วงกลับรถต้องขับผ่านหน้าพิต ก็จะเปิดกระจกเพื่อฟังเสียงเครื่องยนต์ที่สะท้อนกลับเข้ามาในรถ เป็นเสียงที่เสนาะเร้าใจจริงๆ

กว่าจะจบกิจกรรมวันแรก ก็หลังจากพระอาทิตย์ตกดินไปพอสมควร ได้ลองขับรถ AMG ตอนกลางคืนในสนามแข่งระดับโลก ก็เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่น่าจดจำ

วันที่ 2 รวมความรู้ทั้งหมดมาปรับใช้

วันรุ่งขึ้นเป็นการนำความรู้ทั้งหมดที่ได้รับเมื่อวาน มาปรับใช้กับการฝึกขับรอบสนามในแบบ Lead & Follow ขับเป็นขบวนตามรถนำ ถ่ายทอดไลน์การขับไปถึงคันสุดท้าย ยิ่งขับเกาะกลุ่มได้ดีเท่าไร ครูฝึกก็จะเพิ่มความเร็วขึ้นเรื่อยๆ เมื่อครบ 3-4 รอบ ก็จะจอดสลับผู้ขับและสลับรถ เพื่อได้ขับรถตระกูล AMG หลายรุ่นอย่างทั่วถึงที่สุดเท่าที่เวลาจะอำนวย

●   ปิดท้ายด้วยสถานี Auto-X Practice & Competition ขับแบบจิมคาน่า ซ้อม 2 รอบ จับเวลา 1 รอบ เส้นทางไม่ซับซ้อน ตัดปัญหาเรื่องการจำ มุ่งสมาธิไปที่การควบคุมรถเพียงอย่างเดียว ใช้รถคันเดียวกัน Mercedes-AMG A 45 4MATIC แต่ละรอบขับแค่ไม่เกิน 1 นาที แต่ต้องใช้ทุกอย่างที่เรียกมาตลอด 2 วัน  ทั้งการใช้สายตามองล่วงหน้า การใช้คันเร่งที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้รถเสียการทรงตัว การหมุนพวงมาลัยที่ได้รับการแนะนำว่า ให้ใช้มือที่อยู่ด้านนอกโค้งเป็นมือหลักในการควบคุมพวงมาลัย เพราะจะมีความละเอียดแม่นยำกว่า และการเบรกให้หนักเพื่อหยุดรถให้เร็วที่สุด

●   การฝึกอบรมครั้งนี้ แม้จะทำในสนามแข่งด้วยรถสมรรถนะสูง แต่หลายความรู้ก็สามารถนำไปปรับใช้กับรถส่วนตัว เพื่อให้ใช้งานบนถนนสาธารณะได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น ตั้งแต่การปรับท่านั่ง ที่แขนและขาจะต้องมีมุมงอเล็กน้อย ไม่เหยียดตึงสุด การใช้สายตามองให้ทั่วถนน ไม่มองไปจุดใดจุดหนึ่ง และการมองล่วงหน้าเพื่อควบคุมรถหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ทัน การประเมินสถานการณ์ เพื่อให้ใช้ความเร็วได้อย่างเหมาะสม

●   สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เมอร์เซเดส-เอเอ็มจี ประเทศไทย เชิญได้ที่ mercedes-benz.co.th/en/passengercars/the-brand/mercedes-amg

AMG Driving Academy 2019