October 27, 2023
Motortrivia Team (10210 articles)

Honda เผยไฮไลท์ยุคอนาคตในงาน Japan Mobility Show 2023

motortrivia

●   ฮอนด้า ประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมงาน Tokyo Motor Show ซึ่งครั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนชื่องานเป็น “Japan Mobility Show 2023” เป็นครั้งแรกเพื่อปรับตัวเข้าสู่การนำเสนอนวัตกรรมด้านการขับเคลื่อนในยุคสมัยใหม่ โดยฮอนด้าเองมีการนำเสนอมุมมองเทคโนโลยีการขับเคลื่อนสำหรับอนาคต ผ่านกลุ่มผลิตภัณฑ์, บริการ รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่ฮอนด้าตั้งใจจะพัฒนาให้ใช้งานได้จริง ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตอันใกล้

●   บูธของฮอนด้าในงาน Japan Mobility Show จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Honda Dream Loop : วงแหวนแห่งความฝัน” เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมงานได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์การขับเคลื่อนในยุคอนาคต เพื่อตอบโจทย์การ “ก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ เช่น เวลาและสถานที่” (transcend various constraints such as time and place) และ “เพิ่มศักยภาพและโอกาสให้ทุกคน” (augment their abilities and possibilities)

●   ใครสนใจรายละเอียดต่างๆ งานนี้ฮอนด้าได้จัดทำเว็บไซท์พิเศษผ่านเทคโนโลยี Generative AI ให้แฟนๆ ฮอนด้าได้เข้าชมรายละเอียดทั้งหมดแบบออนไลน์ที่ URL : honda/en/japan-mobility-show/2023 ส่วนไฮไลท์ในงานมีอะไรบ้าง มอเตอร์ทริเวียจะสรุปโดยย่อให้ครับ

วงแหวนแห่งความฝัน : Honda Dream Loop

●   นายโทชิฮิโระ มิเบะ ผู้อำนวยการ ประธานกรรมการบริหาร และตัวแทนเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า “The Power of Dreams : How we move you คือ Global Brand Slogan ของฮอนด้าที่ต้องการถ่ายทอดข้อความที่ว่า ความฝันของพนักงานฮอนด้าทุกคนเป็นพลังขับเคลื่อนให้แก่ฮอนด้ามาโดยตลอด ในขณะที่หลากหลายผลิตภัณฑ์ด้านการขับเคลื่อนและบริการที่ฮอนด้าสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยพลังแห่งความฝันเหล่านี้ สามารถนำพาผู้คนไปยังที่ต่างๆ ขับเคลื่อนหัวใจของผู้คน และช่วยให้ผู้คนตระหนักถึงความฝันของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่ความฝันอันยิ่งใหญ่อีกมากมายในอนาคต”

●   “แนวคิดหลักของบูทฮอนด้าในปีนี้ คือ Honda Dream Loop ที่สะท้อนให้เห็นถึงอนาคตที่เปี่ยมไปด้วยความฝันอันหลากหลายของผู้คน และจะยังคงแผ่ขยายออกไปอย่างต่อเนื่อง ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการ ด้านการขับเคลื่อนที่รวบรวมความฝันของฮอนด้าเอาไว้ ที่ช่วยให้ผู้คนก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ เช่น เวลาและสถานที่ และเพิ่มศักยภาพและโอกาสให้ทุกคน ซึ่งถือเป็นคุณค่าที่สำคัญของผลิตภัณฑ์และบริการด้านการขับเคลื่อนทุกประเภทที่ฮอนด้านำเสนอมาตลอด 75 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท และจะยังคงเป็นคุณค่าอันเป็นเอกลักษณ์ที่ฮอนด้ามุ่งมั่นนำเสนอ เพื่อให้ผู้คนได้รับความสุข และอิสระในการเดินทางต่อไปในอนาคต”

●   “นอกจากนี้ ภายในงาน Japan Mobility Show 2023 ฮอนด้ายังจัดแสดงหลากหลายการขับเคลื่อนแห่งอนาคตที่ฮอนด้าใฝ่ฝันถึงอีกมากมาย ขอเชิญทุกท่านเยี่ยมชมและสัมผัสกับความฝันในอนาคตของฮอนด้า และหวังว่าจะมาร่วมแชร์ความฝันและความปรารถนาในการสร้างสรรค์การขับเคลื่อนที่ดีขึ้น และร่วมต่อยอดความฝันของเราร่วมกันในอนาคต”

Cruise Origin

ผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยให้ผู้คนก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ

●   Cruise Origin : เริ่มกันที่ Cruise Origin ยานพาหนะไร้คนขับที่ใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ ซึ่งฮอนด้าตั้งใจพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดของเวลา พื้นที่ภายในห้องโดยสารของ Cruise Origin ถูกออกแบบให้มีความเป็นส่วนตัวสูงสุด กลุ่มผู้ใช้งานสามารถเดินทางและทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการประชุมระหว่างการเดินทาง หรือใช้เวลากับครอบครัวได้โดยไม่ต้องกังวลกับคนอื่นๆ รอบข้าง

ห้องโดยสารของ Cruise Origin ออกแบบพื้นที่ให้สามารถใช้งานได้อย่างเอนกประสงค์

●   แนวคิดของฮอนด้าคือ การใช้ Cruise Origin เป็นตัวช่วยให้ผู้คนก้าวข้ามข้อจำกัดของเวลา เนื่องจากเวลาคือข้อจำกัดสำหรับผู้คนส่วนใหญ่ ดังนั้น Cruise Origin จึงเป็นผลิตภัณฑ์และบริการด้านการขับเคลื่อนที่ช่วยให้ผู้คนใช้เวลาที่มีจำกัดอย่างเท่าเทียมกัน ตลอด 24 ชั่วโมงในหนึ่งวัน และตลอด 365 วันในหนึ่งปีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น

●   ทั้งนี้ ฮอนด้าได้ร่วมมือกับ GM และ Cruise วางแผนจะใช้ Cruise Origin เปิดให้บริการเรียกรถไร้คนขับในประเทศญี่ปุ่น (Driverless ridehail service) โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการจริงได้ภายในช่วงต้นปี 2026 เป็นต้นไป 

Honda Prelude Concept

●   Honda Prelude Concept : หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของฮอนด้าในปีนี้คือ การเผยโฉมรถต้นแบบ Honda Prelude Concept ซึ่งนับเป็นการกลับมาอีกครั้งของชื่อ “Prelude” หลังจากที่ฮอนด้าเริ่มทำตลาดรถสปอร์ตคูเป้ขนาดคอมแพคท์รุ่นนี้ในช่วงปี 1978 จนถึงปี 2001 รวม 5 เจนเนอเรชั่น

●   Prelude Concept คือการแสดงความเป็นไปได้ในการผลิต Prelude ใหม่เวอร์ชั่นระบบขับเคลื่อนไฮบริด ตัวรถยังคงอยู่ในรูปโฉมของสปอร์ตคอมแพคท์ ตัวถังแบบ 2 ประตูคูเป้ ขนาดตัวใหญ่กว่า Prelude รุ่นเดิมในอดีต ทว่าจะยังคงเน้นความสนุกในการขับ เบื้องต้นหากมีการผลิตจริง มีความเป็นไปได้ว่าฮอนด้าจะนำรถรุ่นนี้ไปทำตลาดใหญ่หลักๆ อย่างอเมริกาเหนือด้วย

Honda Prologue Prototype

●   Honda Prologue Prototype : ตัวโปรโตไทป์ของครอสโอเวอร์ SUV ขนาดกลาง ซึ่งเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ฮอนด้าพัฒนาขึ้นมาเพื่อทำตลาดอเมริกาเหนือโดยเฉพาะ และยังนับเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่รุ่นแรกของ ฮอนด้า สหรัฐฯ ที่จะผลิตในเชิงปริมาณเพื่อจำหน่ายในอเมริกาเหนือด้วย

●   Prologue เป็นผลงานการพัฒนาร่วมกันระหว่างฮอนด้า และเจเนอรัล มอเตอร์ส ตัวรถพัฒนาขึ้นบนแพลทฟอร์ม GM BEV3 ปัจจุบันใช้งานอยู่ใน SUV ขนาดกลาง Chevrolet Blazer EV และ Chevrolet Equinox EV และรถไฟฟ้ารุ่นแรกของแบรนด์แคดิลแลคอย่าง Cadillac Lyriq ระบบขับเคลื่อนใช้เลย์เอาท์มอเตอร์ไฟฟ้าคู่ หมุนล้อแบบ All-wheel drive ใช้แบตเตอรี่แพคชุดใหม่ที่ GM ใช้ชื่อว่าทางการค้าว่า Ultium ซึ่ง GM พัฒนาร่วมกับ LG Chem

Honda eVTOL

●   Honda eVTOL และ HondaJet : ฮอนด้าเป็นหนึ่งในบริษัทที่หลงใหลเทคโนโลยีอากาศยาน และมีการพัฒนาเทคโนโลยีการบิน รวมถึงมีการจำหน่ายเครื่องมาอย่างต่อเนื่องผ่านบริษัทลูก Honda Aircraft Company มาตั้งแต่ช่วงปี 2006 ซึ่งรุ่นที่เราคุ้นเคยกันจากข่าวสารมากว่า 20 ปีก็คือ Hondajet หรือโมเดล Honda HA-420 HondaJet นั่นเอง

●   สำหรับงานในปีนี้ ฮอนด้าได้ต่อยอดการขับเคลื่อนในรูปแบบ 3 มิติสู่ท้องฟ้า และช่วยให้ผู้คนก้าวข้ามข้อจำกัดของสถานที่และระยะทางได้ เช่น การผนวกการเดินทางด้วยเครื่องบินเข้ากับระบบการขับเคลื่อนภาคพื้นดิน เพื่อช่วยให้การเดินทางเป็นไปได้อย่างอิสระ และไร้รอยต่อ ทั้งภาคพื้นดิน, มหาสมุทร และบนท้องฟ้า ซึ่งทำให้อุปสรรคด้านการเดินทางระยะไกลลดลง

Honda Jet Elite II

●   ดังนั้นแนวคิดในการก้าวข้ามข้อจำกัดของสถานที่และระยะทาง จะช่วยให้ผู้คนสามารถย้ายไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ชานเมืองที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติอันสมบูรณ์ และสามารถเดินทางไปทำงานในเมืองได้สะดวกมากขึ้น และนั่นทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีและมีความสุขยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถปรับสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานได้ดีขึ้นด้วย

●   ในเบื้องต้น Honda eVTOL (เทคโนโลยีในกลุ่ม VTOL หมายถึง Vertical take-off and landing หรืออากาศยานที่บินขึ้น/ลงในแนวดิ่ง) และ HondaJet คือตัวแทนของ “การขับเคลื่อนแบบสามมิติ” เพิ่มเติมจากยานพาหนะที่ขับเคลื่อนบนพื้นดิน โดย Honda eVTOL ที่จัดแสดงในงานจะเป็นโมเดลจำลองขนาด 1:5 ที่ใช้กังหันก๊าซไฮบริด หรือ Gas Turbine Hybrid System ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเพื่อใช้เป็นระบบส่งกำลังของ Honda eVTOL ในขณะที่ HondaJet Elite II ซึ่งเป็นเครื่องบินเจ็ทธุรกิจขนาดเล็ก จะมีการจัดแสดงแบบจำลองห้องโดยสารในงานนี้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถทดลองใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆ ขณะเดินทาง

Honda SUSTINA-C Concept

●   Honda SUSTINA-C Concept และ Honda Pocket Concept : สำหรับรถต้นแบบ Honda SUSTINA-C Concept และ Honda Pocket Concept แนวคิดในการพัฒนารถทั้ง 2 รุ่นคือช่วยให้ผู้คน (รวมถึงผู้ผลิต) สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดของทรัพยากรในการผลิตที่ร่อยหรอลง และมีอยู่อย่างจำกัดในยุคปัจจุบัน

Honda Pocket Concept

●   Honda SUSTINA-C และ Honda Pocket Concept เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และมอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้าขนาดกะทัดรัด ตัวรถใช้เรซินอะคริลิคที่ผ่านการรีไซเคิลเป็นวัสดุหลักในการผลิต และยังสามารถนำชิ้นส่วนต่างๆ กลับมารีไซเคิลเพื่อใช้ใหม่ได้

●   ฮอนด้าคาดว่า การหมุนเวียนทรัพยากรการผลิตในลักษณะนี้ จะช่วยให้เราสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้ รวมทั้งสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งในด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และสามารถสร้างความสุขและอิสระในการขับเคลื่อนสู่อนาคตด้วย

Honda Avatar Robot

ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มศักยภาพและความเป็นไปได้ของผู้คน

●   Honda Avatar Robot และ UNI-ONE : คือ 2 ผลิตภัณฑ์ที่ฮอนด้าออกแบบมาเพื่อเพิ่มศักยภาพและความเป็นไปได้ของผู้คน โดย Honda Avatar Robot คือหุ่นยนต์อวาตาร์ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานก้าวข้ามข้อจำกัดของเวลาและสถานที่ ทำให้เราสามารถปฏิบัติงานหรือสัมผัสประสบการณ์ต่างๆ ได้ราวกับอยู่ที่นั่นด้วยตนเอง

●   หุ่นยนต์ Honda Avatar Robot มีจุดเด่นอยู่ที่มือหุ่นยนต์แบบหลายนิ้ว ซึ่งพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีที่ฮอนด้าสั่งสมมาจากการวิจัยด้านหุ่นยนต์ รวมถึง ASIMO มีเทคโนโลยีการควบคุมระยะไกลที่รองรับระบบ AI และสามารถทำงานที่ซับซ้อนหรือละเอียดอ่อนได้ดีกว่าแขนกลแบบปกติที่ใช้ทั่วไปในโรงงาน

Honda UNI-ONE

●   ทั้งนี้ การใช้งาน Honda Avatar Robot จะเพิ่มความเป็นไปได้ให้กับผู้คน รวมถึงผู้ที่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนที่อันเนื่องมาจากหลากหลายสาเหตุ ให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้จากสถานที่ห่างไกลอย่างมีประสิทธิภาพ

●   ส่วน UNI-ONE เป็นอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่ออกแบบมาให้ผู้ใช้งานสามารถควบคุมบังคับทิศทางได้ง่ายๆ โดยการเปลี่ยนถ่ายน้ำหนักตัวขณะนั่งโดยไม่ต้องใช้มือ ดังนั้นผู้ที่ใช้งาน UNI-ONE จึงสามารถปฏิบัติงานต่างๆ ขณะเคลื่อนที่ได้ และช่วยเพิ่มโอกาสให้กับผู้ใช้ที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหว สามารถขยับและเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวกขึ้น

●   จุดเด่นคือเทคโนโลยีควบคุมการทรงตัวที่ฮอนด้าพัฒนาขึ้นมาจากการวิจัยหุ่นยนต์ และระบบล้อขับเคลื่อนแบบ Omni Traction Drive ซึ่งเป็นกลไกของฮอนด้าที่ช่วยให้สามารถเคลื่อนที่ได้รอบทิศทางอย่างเป็นธรรมชาติ

Honda CI-MEV Concept

●   Honda CI-MEV Concept : รถยนต์พลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก ห้องโดยสาร 2 ที่นั่ง ใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ออกแบบมาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มีปัญหาในการเดินทาง หรือการขับรถด้วยตัวเอง เช่น ผู้สูงอายุ, ผู้ที่ปัญหาทางร่างกายบางส่วน รวมถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีรถสาธารณะให้บริการ โดยรหัส CI นั้นหมายถึง Cooperative Intelligence ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของฮอนด้า

●   ฮอนด้าระบุว่า คนกลุ่มนี้มักจะมีขอบเขตการดำรงชีวิตที่จำกัด ซึ่งหากมีผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอการขับเคลื่อนที่เข้าถึงได้ง่าย ผู้คนก็สามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ได้สะดวกขึ้น, ไกลขึ้น, เร็วขึ้น และคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และหากทุกคนสามารถเดินทางได้อย่างอิสระ หรือขยายขอบเขตการดำเนินชีวิตได้มากขึ้น พวกเขาก็จะมีโอกาสพบปะผู้คน หรือได้รับโอกาสใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

Honda Autonomous Work Vehicle

●   Honda Autonomous Work Vehicle : รถขนย้ายสินค้าระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ เปิดตัวครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น ตัวรถนับเป็นหนึ่งในโมเดลสาธิตของยานพาหนะไร้คนขับที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้หลากหลายผ่านอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ รวมถึงสามารถควบคุมการทำงานได้จากระยะไกล

●   Honda Autonomous Work Vehicle ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ จุดเด่นคือการทำงานต่างๆ แทนมนุษย์ในสภาพแวดล้อมที่มนุษย์อาจประสบปัญหาในการปฏิบัติงานได้

Honda N-VAN e: Prototype และ Power Exporter e: 6000

●   Honda N-VAN e: Prototype และ Power Exporter e: 6000 : รถต้นแบบพลังงานไฟฟ้า N-VAN e: Prototype คือรถโปรโตไทป์ที่ฮอนด้าออกแบบมาเพื่อการใช้งานในเชิงพาณิชย์ โดยคำนึงถึงประโยชน์รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกสบายในห้องโดยสาร, พื้นที่ในการใช้งาน, ระบบความปลอดภัย รวมถึงต้นทุนในการผลิตที่เหมาะสมด้วย เบื้องต้นฮอนด้าตั้งเป้าให้ตัวรถมีระยะทางวิ่งมากกว่า 210 กม. และรองรับงานขนส่งในเมืองที่ต้องการความคล่องตัว

●   ส่วนเครื่องจ่ายพลังงาน Power Exporter e: 6000 ฮอนด้าออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานร่วมกับ N-VAN e: Prototype ตัวแบตเตอรี่รองรับการจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ไฟ AC100V หรือ 200V สามารถใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในกรณีฉุกเฉิน หรือใช้ในการจ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ต่างๆ ในการทำธุรกิจเคลื่อนที่ขนาดเล็ก

Honda Mobile Power Pack e:

●   Honda Mobile Power Pack e: – สำหรับแบตเตอรี่ Honda Mobile Power Pack e: นั้น ฮอนด้าออกแบบมาเพื่อให้ใช้งานร่วมกับผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าที่ใช้พ่วงกับแบตเตอรี่แบบพกพา ซึ่งสามารถเพิ่มอิสระในการใช้งานตามสถานที่ต่าง หรือในชีวิตประจำวันได้สะดวกยิ่งขึ้น

●   จุดเด่นของ Honda Mobile Power Pack e: คือประสิทธิภาพในการจัดเก็บพลังงาน และขนาดที่เหมาะสมกับการพกพา ตัวแบตเตอรี่ถอดเปลี่ยนได้ สามารถนำไปใช้จ่ายพลังงานให้กับอุปกรณ์ต่างๆ ในสถานที่ หรือสถานการณ์ต่างๆ ได้สะดวก ตอบโจทย์ในด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในงานนี้ ฮอนด้าได้จัดแสดงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารถใช้พลังงานจาก Honda Mobile Power Pack e: รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานอื่นๆ ด้วย

Honda SC e: Concept

●   Honda SC e: Concept : ต้นแบบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่เปิดตัวแบบเวิลด์พรีเมียร์ในงานนี้ ตัวรถออกแบบให้สามารถติดตั้งแบตเตอรี่ Honda Mobile Power Pack e: ได้ 2 ยูนิท ซึ่งรองรับการใช้งานแบบสลับแบตเตอรี่ (Battery swapping system) ไม่ต้องเสียเวลาในการรอชาร์จแบตเตอรี่

●   ฮอนด้าคาดว่า Honda SC e: Concept จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยส่งเสริมและขยายการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยรถจักรยานยนต์รุ่นนี้จะเน้นการพัฒนาไปที่ความสามารถในการใช้งานได้จริง, ความสะดวกในการสลับแบตเตอรี่, มีพละกำลังที่เพียงพอกับการขี่ในสไตล์รถไฟฟ้า, ให้ความนุ่มนวลในระหว่างการเดินทาง และเหมาะสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน

Honda Motocompacto

●   Honda Motocompacto : ต้นแบบพาหนะส่วนบุคคลที่เน้นความปลอดภัยและความคล่องตัว จุดเด่นคือระบบที่ช่วยให้ผู้ขี่สามารถคาดการณ์การใช้ปริมาณแบตเตอรี่จากจุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดหมายปลายทางได้ ลดความกังวลเรื่องแบตเตอรี่หมดขณะเดินทาง

●   Motocompacto เป็นรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าสำหรับเจนเนอเรชั่น Z ที่มีน้ำหนักเบา ขนาดตัวกะทัดรัด สามารถพับเก็บได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตัวรถใช้แบตเตอรี่แพคความจุไม่มากนัก ชาร์จ 1 ครั้งสามารถวิ่งทำระยะทางได้ประมาณ 19 กม. และทำความเร็วสูงสุดได้ประมาณ 24 กม./ชม. เหมาะกับการใช้งานในเมืองระยะสั้น จากจุด A ไปยังจุด B ที่ไม่เน้นพละกำลังของพาหนะเป็นหลัก

Honda e-MTB Concept

●   Honda e-MTB Concept : ต้นแบบจักรยานในกลุ่มเมาเทนไบค์ที่ผสมผสานการใช้งานระหว่างมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และเมาเทนไบค์เอาไว้ด้วยกัน เหมาะสำหรับการเดินทางในระยะสั้น และสามารถลุยเส้นทางธรรมชาติที่ต้องการความคล่องตัวตามแบบฉบับจักรยานเมาเทนไบค์

●   ฮอนด้าออกแบบเฟรมและสวิงอาร์มของ e-MTB Concept ใหม่แบบเฉพาะตัว และมีความแข็งแรง โดยใช้อลูมิเนียมแบบผนังบาง (thin-wall aluminum) ที่ขึ้นรูปด้วยกระบวนการหล่อแบบแรงดันสูง ตัวรถมีน้ำหนักเบา ขนาดกะทัดรัด สามารถนำเข้าไปจัดเก็บในห้องบรรทุกสัมภาระท้ายรถ ซึ่งฮอนด้าระบุว่าเหมาะกับการใช้งานแบบไลฟ์สไตล์ประเภท 6 ล้อ (รถ + จักรยาน) ในวันหยุดกับครอบครัว

Honda RAIL ACTIVE-e bicycle – SmaChari

●   RAIL ACTIVE-e bicycle : รถจักรยานไฟฟ้าที่ติดตั้งระบบ SmaChari ซึ่งจะเชื่อมต่อและช่วยเหลือผ่านระบบไฟฟ้า โดย SmaChari จะเป็นเทคโนโลยีแรกที่มาจากหน่วยงาน IGNITION หรือหน่วยงานสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ที่ฮอนด้าจะทำการค้าภายใต้แบรนด์ฮอนด้า ทั้งนี้ IGNITION นับเป็นหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่หลักๆ คือออกแบบเทคโนโลยีตั้งต้น, พัฒนาแนวคิด และออกแบบองค์กร เพื่อการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคม และสร้างสรรค์คุณค่าใหม่ให้กับลูกค้าและสังคม

●   หน่วยงาน IGNITION ของฮอนด้าก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2017 โดยในปี 2020 ได้มีการเพิ่มตัวเลือกในการเริ่มต้นธุรกิจร่วมทุนใหม่ในหน่วยงาน เพื่อให้สามารถนำแนวคิดต่างๆ ไปต่อยอดให้เป็นจริงได้โดยเร็วที่สุด จากนั้นในปี 2021 บริษัท Ashirase, Inc. และ Striemo, Inc. จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา โดยทั้ง 2 บริษัทนับเป็นการร่วมทุนทางธุรกิจกับ IGNITION เป็นบริษัทแรก และบริษัทที่สองตามลำดับ

“การขับเคลื่อนในฝัน” ผ่าน Generative AI

●   สำหรับบูธฮอนด้าในปีนี้ ฮอนด้าไม่เพียงแต่นำยานยนต์ต้นแบบในฝันสำหรับยุคอนาคตมาจัดแสดงเท่านั้น แต่ฮอนด้ายังเชิญชวนให้ผู้เยี่ยมชมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวนแห่งฝัน หรือ Dream Loop ของฮอนด้าด้วย โดยการนำ “Generative AI” มาช่วยในงานด้านออกแบบของทีมดีไซน์เนอร์

●   Generative AI คือปัญญาประดิษฐ์ในกลุ่มสร้างสรรค์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้มีความสามารถในด้านการออกแบบโดยเฉพาะ และสามารถสร้างคอนเทนท์ใหม่ๆ ในลักษณะเดียวกับที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยเทรนระบบจากชุดข้อมูลจำนวนมหาศาล ทั้งข้อความ, ภาพ, เสียง รวมถึงโค๊ดดิ้ง ซึ่งฮอนด้าได้ใช้ความสามารถของ Generative AI มาช่วยจำลองภาพการขับเคลื่อนในอนาคต และแสดงภาพเหล่านั้นบนจอ Loop Screen ภายในบูธของฮอนด้า

Japan Mobility Show 2023

●   งาน Japan Mobility Show 2023 หรือชื่อเดิม Tokyo Motor Show จัดขึ้นระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2023 ที่ Tokyo Big Sight เขตโคโต กรุงโตเกียว โดยวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2023 จะเป็นรอบพิเศษสำหรับสื่อมวลชนทั่วโลก วันที่ 26 – 27 ตุลาคม 2023 เป็นรอบพิเศษสำหรับแขก VIP และวันที่ 28 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน 2023 จะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชม

●   สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเชิญได้ที่เว็บไซต์พิเศษของฮอนด้าสำหรับงาน Japan Mobility Show 2023 : global.honda/en/japan-mobility-show/2023

●   ส่วนข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับรถรุ่นต่างๆ ของฮอนด้าในประเทศไทย เชิญได้ที่เว็บไซท์ : www.honda.co.th หรือเฟซบุ๊ค แฟนเพจ : facebook.com/hondathailand หรือยูทิวบ์ : www.youtube.com/hondathailand หรือแอด LINE Official : Honda Thailand หรืออี-เมล : [email protected] หรือติดต่อศูนย์บริการข้อมูลฮอนด้า 24 ชั่วโมง : โทร. 02-341-7777 ●

Honda Dream Loop : Japan Mobility Show 2023