December 18, 2023
Motortrivia Team (10224 articles)

NIA เปิดโชว์รูมนวัตกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า เมด อิน ไทยแลนด์

ประชาสัมพันธ์

●   สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ National Innovation Agency (NIA) เผยหนึ่งในเทคโนโลยีที่เป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ปี 2566 นี้ต้องยกให้กับ “รถยนต์พลังงานไฟฟ้า” หรือ EV ซึ่งจะเห็นได้จากยอดจองยานยนต์ไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นจากปีก่อนๆ โดยมีผลพวงจากไลฟ์สไตล์ของคนทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และยังเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนถ่ายพลังงานฟอสซิลมาสู่พลังงานทางเลือกใหม่ๆ

●   เมกะเทรนด์นี้มีบทพิสูจน์ทั้งจากยอดขายรถ EV ทั่วโลกที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่องจาก 3.1 ล้านคันในปี 2563 เป็น 6.5 ล้านคันในปี 2564 10.2 ล้านคันในปี 2565 และกว่า 14 ล้านคันในปี 2023 รวมถึงการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์ยานยนต์ที่มูลค่าสูงสุดในโลกจากผู้พัฒนาเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง Tesla ส่วนประเทศไทยเองก็ไม่น้อยหน้า ซึ่งล่าสุดพบว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจาก 570 คันในปี 2562 เป็นกว่า 66,000 คันในปี 2566 และล่าสุดในงานมหกรรมยานยนต์ 2023 มียอดจองรถกว่า 53,248 คัน เป็นรถ EV มากกว่า 20,400 คันเลยทีเดียว

ศูนย์กลางการผลิต EV โอกาสใหม่ที่ไทยต้องรีบคว้า

●   วันนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จะพาไปส่องโอกาสการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก รัฐบาลจึงวางเป้าหมายในการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย และได้ตั้งเป้าการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ว่า ภายในปี 2573 จะต้องมีรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์คิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด รวมถึงมีการวางแผนระยะยาวผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งไม่ใช่แค่การส่งเสริมการผลิตและการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเตรียมความพร้อมระบบนิเวศสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า

●   จากโอกาสและศักยภาพการเติบโตของอุตสาหรรมกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง NIA จึงได้เลือกให้เป็นหนึ่งในสาขาของโครงการนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจเพื่อรับทุนสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ Mandatory Innovation Business Platform ที่สนับสนุนผ่าน “เงินทุนให้เปล่า” วงเงินสูงสุดไม่เกินโครงการละ 5 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งการทดสอบตลาด การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ การทดสอบมาตรฐานและการขยายผลนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจากการสนับสนุนและเปิดรับข้อเสนอโครงการในปีที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมให้ความสนใจขอรับการสนับสนุนกว่า 100 ราย โดย NIA ยังพร้อมช่วยสร้างโอกาสและเชื่อมโยงไปสู่ตลาดที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยว การคมนาคม อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า การระดมทุน ตลอดจนสะท้อนถึงความพร้อมและความก้าวหน้าอุตสาหกรรมดังกล่าวที่ครอบคลุมและไมได้จำกัดแค่กลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเท่านั้น

Winnonie วินรักษ์โลกยุคใหม่ ใส่ใจโลก

●   Winnonie หรือ วินโนหนี้ สตาร์ทอัพรายแรกของประเทศไทยที่บุกเบิกให้บริการแพลตฟอร์มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและเครือข่ายสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติที่จะมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ และตอบโจทย์การส่งเสริมพลังงานสะอาด ลดมลภาวะทางอากาศ

●   วินโนหนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาของกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่มีค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพสูง ซึ่งกว่าร้อยละ 60 เป็นค่าใช้จ่ายในการผ่อนรถและค่าน้ำมัน จึงคิดหาวิธีช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้ จึงได้ริเริ่มแพลตฟอร์มให้บริการเช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (E-Motorbike) ซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยีหลัก 3 ส่วน ได้แก่

●   (1). รถจักรยานยนต์ไฟฟ้านำเข้า ขนาดเครื่องยนต์เทียบเท่ารถน้ำมันขนาด 125 ซีซี ใช้แบตเตอรี่สองลูกใช้งานได้ 80 – 100 กิโลเมตรความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (2). แบตเตอรี่พร้อมใช้งานและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ และ (3). แอปพลิเคชัน โดยคิดอัตราค่าเช่าเป็นรายเดือน เริ่มต้นที่ 4,200 บาท หรือประมาณ 140 บาท/วัน ซึ่งรวมค่าบริการในการบำรุงรักษา พร้อมบริการสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติ (Automatic Battery Swapping Station) ที่ไม่ต้องเสียเวลารอชาร์จไฟฟ้า สามารถเข้ามาสับเปลี่ยนได้ทันทีใช้เวลาไม่เกิน 2 นาที ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าร้อยละ 50

●   นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบัน Winnonie มีผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและบริการสับเปลี่ยนแบตเตอร์รี่ ณ สิ้นปี 2566 กว่า 1,000 ราย มีสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้บริการแล้ว 120 สถานี ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยตั้งเป้าจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้ได้ร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ.2569 จากกลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างและกลุ่มไรเดอร์ซึ่งมีจำนวนมากถึง 500,000 คัน และจากตลาดผู้ใช้รถจักรยานยนต์จำนวน 4 ล้านคันในกรุงเทพฯ

●   หากโครงการประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดโลกร้อน และลดมลภาวะทางเสียง ตอบโจทย์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย Net Zero และ ด้านเศรษฐกิจ BCG ช่วยให้เกิดการเติบโตของ GDP เนื่องจากมีการจ้างงานและเพิ่มการพัฒนานวัตกรรมในประเทศ มีการผลิตทั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ และ Software ฯลฯ ซึ่งอาจต่อยอดไปถึงธุรกิจการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในอนาคต รวมถึงด้านสังคมและคุณภาพชีวิต ทำให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างมีรายจ่ายคงที่ มีรายได้เพิ่มขึ้น และได้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

●   สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเชิญได้ที่ facebook.com/Winnonie หรือ โทร. 02-365-6700 หรืออี-เมล : [email protected]

MuvMi ตุ๊กตุ๊ก ไทยแลนด์ ซอฟต์พาวเวอร์ แชร์สิ่งดีๆ ให้เพื่อนร่วมทาง

●   MuvMi (มูฟมี) ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าสัญชาติไทยที่อาสามาช่วยคลี่คลายปัญหารถติดด้วยนวัตกรรมสุดล้ำและระบบ Ride Sharing เพิ่มทางเลือกใหม่ในการเดินทางให้คนกรุงเทพฯ ที่ทั้งประหยัด ปลอดภัย ไม่ก่อมลพิษ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมส่งเสริมภาพลักษณ์ Soft Power ไทย ให้ประทับใจชาวต่างชาติ

●   มูฟมีเป็นบริการขนส่งสาธารณะในรูปแบบรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ซึ่งมีจุดเด่นที่ขนาดเล็กกะทัดรัด สามารถลัดเลาะเข้าตามตรอก ซอกซอยได้อย่างคล่องตัว และขนส่งผู้โดยสารได้หลายคนต่อเที่ยว จึงกลายมาเป็นนวัตกรรมรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า MuvMi ที่มาในรูปลักษณ์ใหม่ที่แตกต่างจากรถตุ๊กตุ๊กแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ที่ทันสมัย โปร่ง นั่งสบาย เงียบ โครงสร้างที่แข็งแรง จุดศูนย์ถ่วงต่ำ โอกาสพลิกคว่ำมีน้อย ปลอดภัย ใช้พลังงานไฟฟ้า หมดปัญหาเรื่องกลิ่นหรือเสียงดัง และไม่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

●   ยิ่งไปกว่านั้น MuvMi ยังมีจุดเด่นในด้านการให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน ‘MuvMi’ ที่เพิ่มความสะดวกสบายให้ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ทั้งบอกข้อมูลเส้นทางการเดินทาง ปริมาณแบตเตอรี่ และตำแหน่งสถานีชาร์จ พร้อมบริการเรียกรถ โดยคิดค่าโดยสารตามระยะทางจริง ช่วยลดปัญหาเรื่องราคาค่าโดยสารไม่แน่นอน การเรียกเก็บค่าโดยสารเกินจริง หรือแม้แต่การเจรจาต่อรองในกรณีที่ผู้โดยสารเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติพูดภาษาไทยไม่ได้

●   นอกจากนั้นยังมีระบบ Ride Sharing ที่ผู้โดยสารสามารถเลือกได้ว่าจะเดินทางเพียงคนเดียวในราคาเหมาจ่าย หรือเปิดให้แชร์ที่นั่งได้ โดยแชร์ได้สูงสุดถึง 6 คน มีค่าโดยสารเริ่มต้นเพียง 10 บาท ซึ่งตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2561 จนถึงปัจจุบัน MuvMi รองรับผู้โดยสารไปแล้วมากกว่า 3.7 ล้านเที่ยวมีรถตุ๊กตุ๊กให้บริการ 350 คัน มีจุดรับ 1,000 จุด กระจายอยู่ใน 12 พื้นที่ในกรุงเทพฯ และมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น1,000 คัน พร้อมทั้งขยายพื้นที่บริการ ไปสู่หัวเมืองหลักอื่นๆและเมืองท่องเที่ยว เช่น เชียงใหม่ และภูเก็ต ในอนาคต

●   สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเชิญได้ที่ www.muvmi.co หรือ facebook.com/muvmi

Golfdigg ใช้นวัตกรรมชูอิมเมจสนามกอล์ฟไทย ท็อป 5 โลก

●   กอล์ฟดิกก์ สตาร์ทอัพที่มองการณ์ไกล โดยใช้นวัตกรรมมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและยกระดับคุณภาพการบริการในสนามกอล์ฟ เพื่อใช้เป็นจุดขายดึงนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูงจากทั่วโลกพร้อมหวังจุดประกายให้สนามกอล์ฟในไทยเห็นความสำคัญของ Sustainable energy solution

●   จากการที่อยู่ในแวดวงธุรกิจสนามกอล์ฟมาก่อน ทำให้กอล์ฟดิกก์มองเห็นทั้ง “ศักยภาพ”และ “จุดอ่อน” ของธุรกิจสนามกอล์ฟไทย ซึ่งเป็นทั้งกีฬาและการท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูงทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ปีละกว่า 1,000,000 คน มีมูลค่าตลาดประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี โดยประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทาง TOP 5 ของนักกอล์ฟจากทั่วโลก และนักกอล์ฟมากกว่าร้อยละ 70 ใช้รถกอล์ฟ แต่กลับพบปัญหาว่ากว่าร้อยละ 90 ของรถกอล์ฟในสนามใช้แบตเตอรี่แบบตะกั่วกรด (Lead Acid Battery) ซึ่งมีอายุการใช้งานสั้นแค่ประมาณ 2 ปี และมีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนสูงเฉลี่ย 25,000 บาท/คัน/ครั้ง อีกทั้งยังไม่สะดวกในการใช้งาน เนื่องจากการชาร์จแบตเตอรี่แต่ละครั้งต้องจอดรถทิ้งไว้นานถึง 8 ชั่วโมง และมีโอกาสที่แบตจะหมดระหว่างใช้งานโดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

●   ยิ่งไปกว่านั้นหากชาร์จไฟทิ้งไว้ในเวลากลางคืนโดยไม่มีระบบป้องกันที่ดีพอก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟไหม้ นอกจากนี้ ยังมีความยุ่งยากในขั้นตอนการบำรุงรักษา

●   กอล์ฟดิกก์ เป็นระบบบริหารจัดการรถกอล์ฟให้มีประสิทธิภาพและการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืนที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาทั้งในเรื่องแบตเตอรี่และการบริหารจัดการโดยให้รถกอล์ฟเปลี่ยนมาใช้ Lithium Ion NMC ที่มีความสามารถในการกักเก็บพลังงานได้มากกว่าแบตตารี่แบบเดิมถึงร้อยละ 50 น้ำหนักเบากว่าถึง 5 เท่า ไม่ต้องเสียเวลาจอดชาร์จทิ้งไว้นานถึง 8 ชั่วโมง ควบคู่กับการพัฒนาระบบบริหารจัดการรถกอล์ฟในรูปแบบ Online fleet management system ที่ช่วยให้ทราบสถานะและติดตามการทำงานของรถกอล์ฟได้แบบ Real-time ทำให้สามารถวางแผนและบริหารจัดการการใช้งานรถกอล์ฟได้อย่างมีประสิทธิภาพมีรถกอล์ฟใช้งานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

●   นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาสถานีสำหรับการสลับแบตเตอรี่ ทำหน้าที่ในการชาร์จแบตเตอรี่ พร้อมระบบบริหารจัดการเลือกใช้พลังงานจากแหล่งที่เหมาะสมที่สุดในขณะนั้น และมีการเชื่อมต่อกับ GM – PowerWall ที่มีการนำแบตเตอรี่กลับมาใช้ใหม่สำหรับกักเก็บพลังงานที่เหลือใช้ (Second Life Battery)

●   ปัจจุบัน กอล์ฟดิกก์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นโครงการและให้บริการรถกอล์ฟภายในสนามกอล์ฟในประเทศไทยเท่านั้น แต่ก็ถือเป็นการจุดประกายให้หลายสนามกอล์ฟในไทยเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน และยอมลงทุนกับประเด็นดังกล่าวมากขึ้น และในอนาคตกอล์ฟดิกก์ได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนานวัตกรรมนี้ไปใช้กับรถกอล์ฟนอกสนามกอล์ฟกว่า 200,000 คันในประเทศไทย และมากกว่า 1,000,000 คัน ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งมีแผนที่จะต่อยอดไปยังรถอื่นๆ เช่น รถตัดหญ้า หรือรถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตรอีกด้วย

●   สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเชิญได้ที่ golfdigg.com หรือ facebook.com/golfdigg

●   ส่วนข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation Agency : NIA) เชิญได้ที่เว็บไซท์ : www.nia.or.th หรือเฟซบุ๊ค แฟนเพจ: facebook.com/NIAThailand หรือแอด LINE : @NIA NIA หรืออี-เมล : [email protected] หรือโทร. 02-017-5555 ●