October 11, 2019
Motortrivia Team (10223 articles)

MICHELIN ประเทศไทย พาชม MotoGP 2019 ดูเวิร์คช็อปยาง

เรื่อง-ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ

●   มิชลิน ผู้ผลิตยางชั้นนำจากประเทศฝรั่งเศส ให้การสนับสนุนยางสำหรับการแข่งขัน MotoGP ในช่วงปี 2009-2016 และเว้นช่วงไป 2 ปี จึงกลับมาให้การสนับสนุนอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว ฤดูกาล 2018 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน 2019 โดยสนับสนุนในรุ่น MotoGP และ moto e บริษัท สยามมิชลิน จำกัด จึงพาสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมเวิร์คช็อปของมิชลิน ที่สนับสนุนยางให้รุ่น MotoGP พร้อมพูดคุยกับ 2 ผู้บริหาร มร. ปิเอโร ทารามัสโซ่ ผู้จัดการฝ่ายมอเตอร์สปอร์ต กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ 2 ล้อ ของมิชลิน และ มร. รอสส์ ชีลส์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ 2 ล้อ ภูมิภาคเอเชีย

●   ยางที่ใช้ในการแข่งขัน MotoGP จะถูกส่งมาทางเรือในตู้คอนเทนเนอร์ติดแอร์เพื่อรักษาอุณหภูมิไว้ที่ 20 องศาเซลเซียส แต่ละสนามทางมิชลินจะเตรียมยางไว้ประมาณ 1,200-1,400 เส้น (ใช้จริงประมาณ 900 เส้น) เป็นยางที่อยู่ในกลุ่ม Power range ได้แก่ Power Cup Evo, Power Slick Evo และ Power Rain มาพร้อมช่างถอด-ใส่ยาง 11 คน และฝ่ายเทคนิค 7 คน เพื่อดูแลทีมแข่งต่างๆ รวมเจ้าหน้าที่ทั้งหมดประมาณ 20 คน ยางสำหรับการแข่งในไทยและออสเตรเลียที่มีอากาศร้อนจัด จะใช้โครงสร้างพิเศษเพื่อกระจายความร้อน โดยจะเติมลมยางล้อหน้า 1.9 บาร์ หรือ 28 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว และล้อหลัง 1.7 บาร์ หรือ 25 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว และเนื้อยางทั้ง 2 ฝั่งจะมีความแข็งไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าสนามนั้นมีโค้งซ้ายหรือขวามากกว่ากัน อย่างสนามช้าง มีโค้งซ้าย 5 โค้งขวา 7 เนื้อยางฝั่งขวาจะมีความแข็งมากกว่า

มร. ปิเอโร ทารามัสโซ่ ผู้จัดการฝ่ายมอเตอร์สปอร์ต กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ 2 ล้อ ของมิชลิน

●   ช่วงการสัมภาษณ์ มร. ปิเอโร ทารามัสโซ่ ผู้จัดการฝ่ายมอเตอร์สปอร์ต กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ 2 ล้อ ของมิชลิน มีเวลาแค่สั้นๆ เพราะติดภารกิจต้องไปดูแลเรื่องการเตรียมยางสำหรับแข่งขัน พอจะสรุปความได้ว่า มีการเก็บข้อมูลการแข่งปีที่แล้ว ซึ่งพบว่าเนื้อยางนุ่มไปนิด ทีมแข่งส่วนมากจึงเลือกใช้ยางฮาร์ด ยางสำหรับแข่งขันปีนี้จึงปรับเนื้อยางให้แข็งขึ้น ทีมแข่งส่วนใหญ่จึงเลือกใช้ยางซอฟต์ ซึ่งมีข้อดีคือ นักแข่งไม่ต้องถนอมยางเพื่อให้แข่งได้ครบ สามารถขับเต็มที่ได้ตั้งแต่รอบแรกถึงรอบสุดท้าย ทำให้การแข่งขันสนุกขึ้น

มร. รอสส์ ชีลส์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ 2 ล้อ ภูมิภาคเอเชีย

●   ช่วงเย็นมีโอกาสได้พูดคุยกับ มร. รอสส์ ชีลส์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ 2 ล้อ ภูมิภาคเอเชีย ซึ่งกล่าวว่า การพัฒนายางมอเตอร์ไซค์ของมิชลิน เป็นการนำเทคโนโลยีจากการผลิตยางสำหรับแข่งขันมาประยุกต์ใช้ เช่น Duo Compound การมาที่สนามแข่งก็จะได้ข้อมูลต่างๆ ทั้งเรื่องความร้อน การขี่บนถนนเปียกและทางโค้ง และนำข้อมูลไปพัฒนาต่อได้ นอกจากนี้รถแข่งเองก็มีการพัฒนาอยู่เสมอ ยางก็ต้องพัฒนาตามไปด้วย

●   สำหรับการแข่งขัน moto e ที่จะมีขึ้นในอนาคต และมิชลินเป็นผู้สนับสนุนยาง การออกแบบยางสำหรับ moto e จะเน้นไปที่การลดแรงต้านการหมุนหรือ Rolling Resistance เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ทำให้มีไฟฟ้าใช้เพียงพอตลอดการแข่งขัน และออกแบบโครงสร้างยางเพื่อรองรับน้ำหนักของแบตเตอรี่และชุดมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งตัวรถ moto e มีน้ำหนักประมาณ 200 กิโลกรัม ส่วนรถ MotoGP หนักประมาณ 160 กิโลกรัม

●   การเข้าร่วมการแข่งขัน MotoGP ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจยิ่งขึ้น เพราะถ้ามิชลินสามารถผลิตยางสำหรับรถแข่งความเร็วสูงได้ การผลิตยางมอเตอร์ไซค์สำหรับใช้งานทั่วไปก็ต้องทำได้ดี การกลับมาร่วมการแข่ง MotoGP นี้ ไม่ได้ส่งผลดีเฉพาะในเมืองไทย แต่ส่งผลถึงระดับภูมิภาค ในงานนี้มิชลินจึงเชิญดีลเลอร์ในภูมิภาคนี้ทั้งหมดมาชมการแข่งขันด้วย

●   ปัจจุบัน มิชลินมีโรงงานผลิตยางมอเตอร์ไซค์ 4 แห่ง ที่อินโดนีเซียและบราซิล เน้นการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศซึ่งมียอดจำหน่ายสูงอยู่แล้ว ส่วนอีก 2 แห่งคือ ที่สเปน และประเทศไทย ใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกด้วยควบคู่กับการทำตลาดในประเทศ ซึ่งภาพรวมการตลาดหลังจากผ่านไป 9 เดือน ตลาดยางมอเตอร์ไซค์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้คนยังต้องใช้มอเตอร์ไซค์ในการเดินทาง บริษัทผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์แบรนด์ต่างๆ ก็มีการเปิดตัวรถรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มจะขยับซีซีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

●   ก่อนหน้านี้มิชลินจะเน้นไปที่ยางบิ๊กไบค์จากยุโรป เช่น ฮาเลย์ เคทีเอ็ม บีเอ็มดับเบิลยู ปัจจุบันขยายตลาดมาสู่รถญี่ปุ่นมากขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มช่องทางการจำหน่ายเพื่อให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยคาดว่าปีนี้ตลาดจะมีการเติบโต 3-5 เปอร์เซ็นต์

ฟาบิโอ กวาร์ตาราโรสร้างสถิติใหม่ในรายการพีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์ด้วยยาง Michelin Power slick

●   ผ่านไปแล้วกับการแข่งขันในสนามที่ 15 สำหรับรายการพีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์โดยสนามนี้เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง มาร์ค มาร์เกซ ยอดนักบิดสแปนิช จากทีม เรปโซล ฮอนด้า ผู้ที่ลุ้นตำแหน่งแชมป์รายการโมโตจีพีกับ ฟาบิโอ กวาร์ตาราโร รุกกี้ชาวฝรั่งเศสจากทีม ปิโตรนาส ยามาฮ่า เอสอาร์ที ผู้ลุ้นแชมป์สนามที่คว้าตำแหน่ง Pole Position

●   สถิติสนามที่เคยทำไว้โดย มาร์ค มาร์เกซ ในปีที่แล้วด้วยเวลา 1’30.088 นาที ได้ถูกทำลายอย่างราบคาบโดย ฟาบิโอ กวาร์ตาราโร ทั้งสถิติสนาม 1’29.719 นาที และการแข่งขัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการพัฒนายางของมิชลินที่ใช้สนับสนุนในรายการนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากกับสนามที่ยังไม่ได้แข่งขันกับการเก็บข้อมูลในครั้งแรกที่เริ่มขึ้นเดือนมีนาคมปีที่แล้วกับช่วง Winter Test ซึ่งครั้งนั้นทางมิชลินได้เก็บข้อมูลไว้เพื่อใช้ในการพัฒนายางให้เหมาะกับสนามต่อไป

●   ทำให้การแข่งขันในปีแรกทางมิชลินก็ทำได้แค่เลือกยางที่คิดว่าเหมาะสมกับสนามมาใช้ แต่ในปีนี้ทางมิชลินได้พัฒนายางที่ใช้ในการแข่งขันสำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะซึ่งจะใช้คู่กันกับสนามออสเตรีย

●   เนื่องจากปีที่แล้วทางมิชลินยังไม่มีข้อมูลสนามแข่งในเมืองไทย อีกทั้งในช่วงที่จัดการแข่งขันมีอากาศร้อนจัด ทำให้เนื้อยางซอร์ฟคอมปาวด์ดูจะนิ่มเกินไป ซึ่งจะทำให้เนื้อยางหมดเร็วเมื่ออุณหภูมิสนามแข่งสูง ศักยภาพของยางในการยึดเกาะพื้นสนามแข่งก็จะอยู่ในระดับต่ำมากส่งผลให้การควบคุมรถทำได้ยากขึ้นจึงทำให้นักแข่งส่วนใหญ่เลือกใช้ยางฮาร์ดคอมปาวด์กัน ส่วนในปีนี้ทางมิชลินได้นำข้อมูลจากปีที่แล้วมาพัฒนาจึงได้สูตรเนื้อยางที่แข็งขึ้น เป็นยางที่มีเนื้อยางสองข้างต่างกันเพราะสนามช้างจะมีโค้งขวาอยู่ 7 โค้ง โค้งซ้าย 5 โค้ง

●   สิ่งที่เกิดขึ้นกับการแข่งขันในครั้งนี้คือนักแข่งสามารถใช้ความเร็วได้เต็มที่จากเนื้อยางที่แข็งขึ้น ทำให้นักแข่งเกือบทุกคนเลือกใช้อย่างหน้าเป็นยางฮาร์ดคอมปาวด์ ส่วนยางหลังจะเลือกใช้ยางซอร์ฟคอมปาวด์ จะมีเพียงนักแข่งเพียงแค่คนเดียวเลือกใช้อย่างหน้าเป็นมีเดียมนั่นก็คือ ฮอร์เก้ ลอเรนโซ

●   จากสูตรยางใหม่ทำให้นักแข่งสามารถทำความเร็วต่อรอบได้มากขึ้นสถิติสนามจึงถูกทำลายลงไปอย่างราบคาบจากฝีมือของ ฟาบิโอ กวาร์ตาราโร ทำให้เขาขึ้นครองตำแหน่ง Pole Position โดยมี มาเวอริค บีญาเลส ตามมาเป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 จะเป็น มาร์ค มาร์เกซ ส่วน วาเลนติโน รอสซี่ อยู่ในแถวที่สาม

●   จากการแข่งขันจำนวน 26 รอบสนามที่มีระยะทาง 4,554 เมตร สนุกตื่นเต้นกันตั้งแต่รอบแรกโดยมี ฟาบิโอ กวาร์ตาราโร ออกนำมาก่อนตามด้วย มาร์ค มาร์เกซ ซึ่งไล่ตามแบบไม่ให้ทิ้งห่าง แต่การขึ้นนำนั้นทำได้ยากเพราะนักแข่งแต่ละคนมีความมั่นใจในสมรรถนะของรถและยางมชลินที่ถูกออกแบบมาสำหรับขณะนี้โดยเฉพาะ ทำให้ มาร์ค มาร์เกซ ต้องไล่ตามไปจนถึงรอบสุดท้ายถึงจะแซงได้ แต่เมื่อโดน กวาร์ตาราโร แซงกลับในโค้งสุดท้ายมาร์คมาร์เกซก็ยังแซงคืนและเบียดเข้าเส้นชัยไปได้ ทำให้ มาร์ค มาร์เกซ ได้ฉลองแชมป์สนามไปพร้อมๆ กับการฉลองแชมป์ในรุ่นโมโตจีพีปีที่ 8 ด้วย

●   ในการแข่งขันแต่ละสนามทางมิชลินจะจัดเตรียมความพร้อมด้วยยางสำหรับใช้ในการแข่งขับจำนวน1,400เส้น แต่การใช้งานจริงจะอยู่ที่ 900 เส้น ซึ่งนักแข่งแต่ละคนจะได้ยางหน้า 10 เส้น ยางหลัง13เส้น ส่วนยางฝนด้านหน้า 5 เส้นด้านหลัง 6 เส้น โดยทางมิชลินจะมียางทุกแบบที่ใช้สำหรับการแข่งขันไว้รองรับ ซึ่งยางสลิคจะมีทั้งซอร์ฟ มีเดียมและฮาร์ดคอมปาวด์ รวมไปถึงยางสำหรับการแข่งขันในพื้นเปียกด้วย

●   ในการแข่งขันแต่ละครั้งยางที่ผ่านการใช้งานแล้วจะถูกเก็บข้อมูลเอาไว้โดยทางมิชลินจะมีทีมงานจำนวน 20 คน ซึ่งจะแบ่งออกเป็นช่างถอดล้อ 11 คน มีวิศวกรที่จะเข้าไปประจำในแต่ละทีมคอยให้ข้อมูลต่างๆสำหรับการเลือกใช้ยาง 7 คน อีก 2 คนจะเป็นผู้บริหารที่คอยดูแลประสานงาน ทำให้มิชลินมีข้อมูลการใช้ยางของนักแข่งแต่ละคนครบถ้วน

●   จากการประมวลผลของของทีมงานมิชลินสามารถบอกได้ว่านักแข่งแต่ละคนขับขี่กันอย่างไร สำหรับนักแข่งที่ใช้การขับขี่ที่รุนแรงมากๆ ก็จะเป็น มาร์ค มาเกซ และ คาร์ล ครัทโลว์ ส่วนที่ใช้ยางแบบนุ่มนวลรักษาสภาพยางได้ดีก็จะมี กวาร์ตาราโร กับ ลอเรนโซ่ โดยยางหลังที่ใช้สำหรับการแข่งขันจะต้องรองรับกับอุณหภูมิที่สูงถึง 150 องศาจากเครื่องยนต์และอุณหภิของสนาม

●   ดังนั้นเพื่อรักษาคุณภาพของยางให้คงที่ทางทีมงานมิชลินต้องเก็บยางไว้ในตู้คอนเทนเนอร์ที่มีเครื่องปรับอากาศรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในระดับ20องศา โดยแนะนำแรงดันลมยางมาตรฐานให้แต่ละทีมไว้เป็นข้อมูล ล้อหน้าที่ใช้จะอยู่ที่ 1.7 บาร์ ส่วนล้อหลังจะอยู่ที่ 1.09 บาร์ ซึ่งในแต่ละสนามทางทีมงานจะมีการปรับค่าแรงดันลมยางให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในช่วงเวลานั้นด้วย  ●


MICHELIN : MotoGP Thailand 2019 Workshop