October 24, 2016
Motortrivia Team (10223 articles)

Faraday Future อีกหนึ่งแบรนด์สตาร์ท-อัพในกลุ่ม BEV หัวก้าวหน้า


Posted by : AREA 54

 

●   ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ชื่อบริษัทสตาร์ท-อัพรุ่นใหม่อย่าง FF หรือ Faraday Future ที่เตรียมการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกเพื่อทำตลาดในสหรัฐฯ เป็นที่สนใจในแวดวงมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนจากกลุ่มทุนใหญ่ในจีนอย่างบริษัทอิเลคทรอนิค/มีเดียยักษ์ใหญ่ LeEco ที่ก้าวเข้าสู่วงการยานยนต์ ร่วมกับแบรนด์สปอร์ตอย่างแอสตัน มาร์ติน ไปจนถึงการไล่ทาบทามบุคลากรสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์หลายๆ คน ซึ่งล่าสุดก็คือ Joerg Sommer อดีตผู้ดูแลกลยุทธผลิตภัณฑ์และวางแผนงานการตลาดของโฟล์คสวาเกน

●   ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ เป็นบริษัทลูกครึ่งอเมริกัน-จีน ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 สำนักงานใหญ่อยู่ที่การ์เดน่า แคลิฟอร์เนีย ชื่อบริษัทชัดเจนว่าได้แรงบันดาลใจมาจากกฎของฟาราเดย์ (Faraday’s Law) รถต้นแบบรุ่นแรก Faraday Future FFZERO1 Concept จัดแสดงไปในงาน 2016 Consumer Electronics Show งานออกแบบอยู่ภายใต้การควบคุมของ Richard Kim ผู้ออกแบบภายนอกของ BMW i3 และ BMW i8.

●   ยังไม่มีคำยืนยันว่ารถรุ่นแรกของฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ จะมีหน้าตาเหมือน FFZERO1 Concept หรือไม่? เนื่องจากรูปทรงของตัวต้นแบบค่อนข้างจะล้ำยุคไปสักหน่อยเมื่อเทียบกับรถสปอร์ตในสายการผลิตทั่วไป เลย์เอาท์ห้องโดยสารเป็นแบบที่นั่งเดี่ยว ทำมุมเอียง 45 องศา พวงมาลัยมีซอคเกทสำหรับใส่สมาร์ทโฟน เพื่อใช้เป็นจอบอกข้อมูลสำหรับผู้ขับ ซึ่งก็คือสมาร์ทโฟนแบรนด์ LeEco นั่นเอง

●   FFZERO1 Concept ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าล้วนแบบแบตเตอรี่ (BEV – battery electric vehicle) ตามข้อมูลชุดระบบขับเคลื่อนสามารถผลิตกำลังได้มากกว่า 1,000 แรงม้า (hp) สร้างอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ได้ต่ำกว่า 3 วินาที ความเร็วสูงสุดประมาณ 321 กม./ชม. แน่นอนว่าข้อมูลทั้งหมดเป็นการคำนวณจากความเป็นไปได้ของชุดระบบ

●   ในชุดระบบสาธิตของ FFZERO1 Concept พละกำลังทั้งหมดมาจากมอเตอร์ไฟฟ้า 4 ตัว แยกติดตั้งในแต่ละล้อ มีระบบ Torque vectoring ช่วยกระจายแรงบิด แนวคิดไม่ต่างจากไฮเปอร์คาร์อย่าง Rimac Concept_One ของ Rimac Automobili อย่างไรก็ตาม รุ่นจำหน่ายจริงอาจจะไม่ได้ใช้เช็ตอัพนี้ในการผลิตเพื่อความเหมาะสม

●   ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ ระบุว่ามีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ในต้นแบบคันนี้ หากเราตัดรูปทรงล้ำๆ ที่เห็นออกไปให้หมด นั่นคือแพลทฟอร์มของรถที่เรียกว่า VPA หรือ Variable Platform Architecture ซึ่งฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ อธิบายว่ามันอยู่ในรูปแบบของ “skateboard-style” สามารถยืดความยาว หรือขยายความกว้างได้อย่างอิสระ และยังสามารถนำไปใช้กับรถคลาสใดๆ ก็ได้ของบริษัทในอนาคต

●   นอกจากนี้ ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ ยังเผยข้อมูลสำคัญออกมาอีกเล็กน้อยว่า แพลทฟอร์มนี้เอื้อต่อการติดตั้ง “มอเตอร์ไฟฟ้า 3 ตัว” ซึ่งต่างจากตัวต้นแบบที่ใช้ 4 ตัวในแต่ละล้อ หมายความว่าเลย์เอาท์ของคันจริงยังคงอยู่ในกรอบเดียวกับเลย์เอาท์ของแบรนด์อื่นๆ ในปัจจุบัน ทว่าโครงสร้างของแพลทฟอร์ม VPA ยังสามารถเลือกได้ว่าจะออกแบบให้เป็นรถขับเคลื่อนล้อหน้า, ขับเคลื่อนล้อหลัง หรือขับเคลื่อนแบบ 4 ล้อ all-wheel drive ส่วนแบตเตอรี่แพคนั้นอาจจะมีการวางเป็นแพคเล็กๆ หลายลูก โดยไม่รวมกันเป็นแพคใหญ่แพคเดียวแบบรถไฟฟ้าทั่วไปที่จำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน (หรือในตัวต้นแบบของ FF เอง)

●   สำหรับโรงงานผลิตนั้น ตามแผนงาน AECOM ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการก่อสร้างให้ข้อมูลว่า โรงงานของฟาราเดย์ ฟิวเจอร์จะตั้งอยู่บนพื้นที่ที่กว้างใหญ่ไพศาลถึงกว่า 700 เอเคอร์ หรือราวๆ 2.8 ล้านตารางเมตร ในทะเลทรายเนวาด้าทางตอนเหนือของลาส เวกัส มันมีมูลค่าราว 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จโรงงานแห่งนี้จะกลายเป็นโรงงานขนาดใหญ่ติด 1 ใน 10 ของอาคารก่อสร้างที่ใช้พื้นที่มากที่สุดในโลก

●   ตัวอาคารจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด มีหลังคาโซลาร์ ใช้วัสดุที่มีค่าบำรุงรักษาต่ำ ใช้ระบบหลังคาเย็นเพื่อลดการใช้พลังงาน มีหลังคาสกายไลท์แบบปริซึ่มเพื่อช่วยเพิ่มแสงสว่างในเวลากลางวัน นอกจากนี้ โรงงานแห่งนี้จะสร้างงานใหม่ได้ถึง 4,500 อัตราเมื่อดำเนินงานเต็มกำลัง

●   ปัจจุบัน ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ เตรียมโปรโมทชื่อบริษัทด้วยการเข้าร่วมการแข่งขัน Formula E ฤดูกาล 2016-2017 ในนามทีม Faraday Future Dragon Racing ร่วมกับทีมแข่งสัญชาติอเมริกัน Dragon Racing ของ Jay Penske (บุตรชายของ Roger Penske เจ้าของทีมแข่ง Team Penske) แห่งสื่อใหญ่ Penske Media Corporation ซึ่งมีสื่อชื่อดังในสังกัดมากมาย อาทิ Variety แมกกาซีน, Deadline, Movie Line หรือ Hollywood Life เป็นต้น

●   ในบรรดาบริษัทสตาร์ท-อัพที่เตรียมเปิดตัวรถรุ่นแรกนั้น ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ นับว่ามีความพร้อมในทุกๆ ด้านครับ   ●


2016 Faraday Future FFZERO1 Concept