July 14, 2017
Motortrivia Team (11363 articles)

Faraday Future ยังไม่ยอมแพ้ เตรียมย้ายฐานการผลิตใหม่

เรื่อง : AREA 54

●   ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2017 ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ในแวดวงสมาร์ทโฟนที่เรียกได้ว่าสะเทือนวงการเป็นอย่างมาก นั่นคือคำสั่งอายัดทรัพย์สินรวมมูลค่า 182 ดอลลาร์สหรัฐฯ ของ CEO ชื่อดัง Jia Yueting หนึ่งในเจ้าของธุรกิจออนไลน์คอนเทนท์ ของประเทศจีนผู้ก่อตั้งแบรนด์ LeTV และสมาร์ทโฟนแบรนด์ LeEco ซึ่งคำสั่งศาลในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบมาถึงแวดวงอุตสหกรรมยานยนต์ด้วย… เรากำลังพูดถึงสตาร์ทอัพหัวอย่างหน้าอย่าง Faraday Future และการผลิตรถไฮเทครุ่นแรก Faraday Future FF 91.

●   ปัญหาของ Jia Yueting เกิดขึ้นจากการระดมทุนครั้งใหญ่ในช่วงปี 2016 ทว่าไม่สามารถต่อยอดไปสร้างกำไรใดๆ ให้กับผู้ร่วมลงทุนได้ ส่งผลให้เขาต้องหาทางสะสางหนี้สินที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ซึ่งคำสั่งอายัดทรัพย์สินของศาลเซี่ยงไฮ้ครั้งล่าสุดนี้ คาดว่าจะทำให้ทุกภาคส่วนธุรกิจของเขาไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ในนาม LeTV, ออนไลน์คอนเทนท์ภายใต้การดูแลของ le.com (ธุรกิจประมาณ Netflix), สมาร์ทโฟนแบรนด์ LeEco, กิจการรถเช่าในจีน, โรงงานผลิตรถในมณฑลเจ้อเจียง รวมถึงการสนับสนุนแผนงานการผลิตรถยนต์ของฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

●   ทั้งนี้ แอสตัน มาร์ติน ยังไม่ได้ออกมาให้ความเห็นใดๆ ในกรณีนี้ เกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนา Aston Martin RapidE.

●   สำหรับฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ ปัญหาใหญ่ของพวกเขาคือไม่สามารถจบโครงการสร้างโรงงานผลิตในเนวาด้าได้… ไม่มีโรงงานผลิตก็คือไม่มีรถลงสู่โชว์รูม แม้ตัวแทนของฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ จะให้ความมั่นใจกับสื่อฯ ในต่างประเทศว่า คำสั่งศาลในจีนไม่มีผลกระทบอะไรกับแผนงานของบริษัท เนื่องจากฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ และ LeEco เป็น 2 บริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกัน ทว่าความเป็นจริงเราต่างก็รู้ว่ามันไม่เป็นเช่นนั้น การยุติการก่อสร้างโรงงานในเนวาด้าแสดงให้เห็นว่าฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ กำลังประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างรุนแรง

โรงงานขนาดใหญ่ของฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ ในเนวาด้า

●   นอกจากนี้ หลายสำนักข่าวยังมีความเห็นคล้ายๆ กันว่า ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้แผนงานนี้ไม่ประสบผลสำเร็จก็คือ “มันใหญ่โตเกินไป” สำหรับแผนงานของบริษัทสตาร์ทอัพหน้าใหม่ โดยก่อนหน้านี้ แผนงานดั้งเดิมในการสร้างโรงงานผลิตในเนวาด้าต้องใช้เงินลงทุนอย่างต่ำๆ ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ ตัวโรงงานเฟสแรกกินพื้นที่ราว 1 ล้านตารางฟุท คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2018 และยังจะมีเฟส 2 ที่ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก หากแผนงานนี้สำเร็จ ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ คาดว่าจะสามารถรองรับพนักงานเต็มเวลาได้กะละ 4.5 พันคนเลยทีเดียว

●   แม้จะได้ส่วนลดด้านภาษีจากรัฐฯ คิดเป็นเงินมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์ มันก็ยังเป็นจำนวนเงินที่มากเกินไปอยู่ดี และที่สำคัญไม่มีอะไรการันตีได้ว่า FF 91 จะขายได้ในปริมาณที่มากพอจะถึงจุดคุ้มทุน… น่าสนใจว่า หาก FF 91 จะเริ่มด้วยการผลิตตามสั่ง หรือเริ่มต้นด้วยการเป็นรถจำกัดจำนวน สถานการณ์จะแตกต่างออกไปจากนี้มากน้อยเพียงใด?

●   อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2017 ที่ผ่านมา โฆษกของฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ ได้ออกแถลงการณ์ว่า บริษัทตัดสินใจยุติแผนงานสร้างโรงงานผลิตในเนวาด้าแล้ว หลังจากที่ใช้เวลาตลอด 5 เดือนในการหาทางออกเพื่อผลักดันโครงการนี้ให้อยู่รอด (หนึ่งในนั้นคือการ ต้องเปิดตัวรถให้สำเร็จ ทันงาน Consumer Electronics Show ที่ลาส เวกัส) และหลังจากนี้ ฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ ก็ยังจะสู้ต่อไป โดยมองหาทำเลในการตั้งโรงงานแห่งใหม่ซึ่งยังไม่ระบุสถานที่ ลดสเกลความใหญ่โตลงมา และที่สำคัญกำหนดการจำหน่ายรถคันจริงยังคงเดิมคือภายในช่วงปี 2018

●   ถึงอย่างนั้น 2 สำนักข่าว Business Insider และ The Verge ก็ยังมีแหล่งข่าวภายในที่อ้างอิงข้อมูลตรงกันว่า ปัจจุบันสถานการณ์ภายในองค์กรของฟาราเดย์ ฟิวเจอร์ นั้นอยู่ในสภาพที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่รวมถึงวิศวกรทุกลำดับชั้นแทบไม่มีใครได้รับเงินเดือน นั่นทำให้ผู้ปฏิบัติงานหลักในระดับมันสมองจำเป็นจะต้องมองหางานอื่นเพื่อเลี้ยงชีพ

●   “พวกเขาผลาญเงินไปกับสิ่งที่ไร้สาระมากเกินไป”  อดีตผู้บริหารคนหนึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนใน Formula E ร่วมกับทีมแข่งสัญชาติอเมริกัน Dragon Racing ของ Jay Penske หรือส่งรถไปวิ่งทำเวลาในรายการ Pikes Peak จนละเลยผลิตภัณฑ์หลักอย่าง FF 91 การแยกเงินทุนเป็น 3 ส่วนเพื่อการนี้ รวมทั้งการเค้นให้ทีมวิศวกรทุ่มเทพลังงานลงไปพร้อมๆ กันในเวลาเดียวกัน เป็นสิ่งที่ทำให้ฟาเรเดย์ ฟิวเจอร์ สูญเสียโอกาสในการดำเนินงานตามแผนงานหลัก (การผลิตรถ) ที่เคยวางเอาไว้ ในขณะที่ยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ   ●

2017 Faraday Future FF 91 Prototype