December 14, 2017
Motortrivia Team (10199 articles)

2017 REDS ต้นแบบซิตี้คาร์ไฟฟ้าผลงานของ Chris Bangle


Posted by : AREA 54

 

●   ชื่อของ Christopher Edward Bangle หรือ “Chris Bangle” ที่แฟนๆ บีเอ็มดับเบิลยูรู้จักกันดี ห่างหายไปจากแวดวงการออกแบบรถยนต์มาพักใหญ่ แม้ว่าการเข้ามาแทนที่โดย Adrian van Hooydonk จะทำให้บีเอ็มดับเบิลยูไม่รู้สึกว่าสูญเสียอะไรไป แต่ชื่อของ Chris Bangle ผู้อยู่เบื้องหลังงานออกแบบ BMW 1 – 7 Series หลังยุคปี 2000 ก็ยังเป็นที่จดจำอยู่เสมอ

●   หลังจากที่เขาลาออกจากบีเอ็มดับเบิลยูในช่วงต้นปี 2009 รวมทั้งเลิกยุ่งเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์โดยสิ้นเชิง Bangle ได้ออกมาก่อตั้งบริษัทออกแบบใหม่เป็นของตัวเอง โดยเปิดสำนักงานใหญ่ที่ดินแดนแห่งงานออกแบบอย่างอิตาลี… ในปีนี้ที่งาน 2017 LA Auto Show Bangle กลับมาอีกครั้งกับงานออกแบบรถซิตี้คาร์ต้นแบบ REDS ในนามบริษัทออกแบบ CBA หรือ Chris Bangle Associates ที่ได้รับการว่าจ้างโดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสัญชาติจีน CHTC

●   CHTC หรือ China Hi-Tech New Energy Automobile Co., Ltd เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในเครือของ China Hi-Tech Group Corporation รับหน้าที่พัฒนาและผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ในจีน ปัจจุบันไลน์อัพผลิตภัณฑ์หลักๆ มีตั้งแต่รถบัส, รถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่ ไล่ไปจนถึงรถอุตสาหกรรมขนาดยักษ์สำหรับการทำเหมือง แน่นอนว่าปัญหาส่วนใหญ่ของผู้ผลิตจากจีนคืองานออกแบบ การที่ CHTC คิดจะลงแข่งขันในตลาดรถยนต์นั่งพลังงานไฟฟ้า จึงต้องมีการใช้ภาพลักษณ์ใหม่ๆ เข้ามาช่วยส่งเสริม และ Chris Bangle ก็คือผู้ที่เข้ามาเติมเต็มในส่วนนั้น

●   REDS นับเป็นงานออกแบบรถยนต์รุ่นแรกนับจากที่ Bangle หันหลังให้กับวงการในปี 2009 ตัวรถเห็นได้ชัดว่าฉีกแนวกฏการออกแบบเดิมๆ ไปอย่างสิ้นเชิง แนวคิดหลักๆ ในการออกแบบคือ การทำให้ “SPACE” หรือพื้นที่ใช้สอยสามารถเคลื่อนที่ได้ ไม่ใช่การทำให้รถยนต์มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น เนื่องจากตัวรถไม่ได้เคลื่อนที่ตลอดเวลา ดังนั้นการทำให้พื้นที่ในการใช้ชีวิตสามารถเคลื่อนที่ได้ในบางจังหวะ จึงเป็นแนวคิดหลักของงานออกแบบ REDS

●   มองจากด้านข้าง เสา A, B และ C ยังคงอยู่ในแนวที่มันควรจะเป็น ทว่าส่วนของกระจกบังลมหน้า-หลังกลับยื่นออกไปทั้ง 2 ฝั่ง โดยด้านบนของชิ้นส่วนที่ยื่นออกมาจะเป็นหลังคามูนรูฟแบบครึ่งท่อน Bangle ให้ข้อมูลว่าการออกแบบเช่นนี้จะเป็นการลดการรับแสงของดวงอาทิตย์ที่เข้ามายังห้องโดยสาร ยังผลให้การลดอุณภูมิข้างในห้องโดยสารไม่ต้องใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศมากจนเกินไป

●   มิติห้องโดยสารเป็นแบบหลังคาสูง โปร่งโล่ง ตำแหน่งการจัดวางเบาะเอื้อให้สามารถปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นการใช้งานได้หลายรูปแบบในพื้นที่ที่จำกัด ชุดพวงมาลัยสามารถพับเก็บขึ้นไปด้านบนได้เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย จอกลางแบบสไลด์เก็บได้แบ่งเป็นการเรียกใช้งาน 2 จังหวะ แบบแรกสไลด์ขึ้นมาเพียงครึ่งเดียว ใช้งานเป็นจอทัชสกรีนทรงไวด์สกรีนสำหรับให้ข้อมูลผู้ขับ ทว่าในขณะใช้งานระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ตัวจอจะสไลด์ขึ้นมาเต็มจอเพื่อแสดงผลเป็นจอขนาดใหญ่สำหรับใช้งานแบบเอนเตอร์เทน

●   อีกหนึ่งจุดเด่นที่น่าสนใจคือ การจัดวางตำแหน่งเบาะผู้ขับที่อยู่ในตำแหน่งเกือบวางกลาง เพื่อให้ตัวเบาะผู้ขับสามารถมีพื้นที่ในการหมุนกลับแบบ 180 องศาได้อย่างอิสระแบบเบาะประชุม เบาะผู้โดยสารด้านหน้าวางเยื้องลงไปทางด้านหลังนิดหน่อย จากภาพประกอบในแกลเลอรี่ด้านล่างจะเห็นว่า Bangle เน้นไปที่การใช้งานอย่างสะดวกสบายของผู้ใหญ่ 3 คน ทว่าจากตำแหน่งรูปทรงเลย์เอาท์ของตัวเบาะทั้งหมดในรูปด้านล่างของย่อหน้านี้ ห้องโดยสารของ REDS สามารถรองรับผู้ขับและผู้โดยสารได้ทั้งหมด 5 คน แบ่งเป็นด้านหน้า 2 และด้านหลังแบบ 2 + 1 เพียงแต่ว่าความสะดวกสบายก็อาจจะต้องลดลงไปตามข้อจำกัดของคลาสรถ ซึ่งมีความยาวรวมแล้วเพียง 2.97 เมตร

●   ด้านชุดระบบขับเคลื่อน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ CHTC ในเบื้องต้นมันจะเป็นชุดระบบไฟฟ้าล้วนแบบแบตเตอรี่ ใช้ความเร็วสูงสุดได้ประมาณ 120 กม./ชม. วิ่งทำระยะทางได้ประมาณ 300 กม. ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ตัวรถผลิตขึ้นบนแชสซีส์อลูมิเนียมเพื่อลดภาระแบตเตอรี่ในการแบกน้ำหนัก และมีหลังคาโซลาร์เพื่อช่วยจ่ายไฟเพิ่มเติมให้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าบางส่วน

●   รถยนต์คันนี้จะได้รับการผลิตเป็นคันจริงไหม? มีสิทธิ์มากๆ ครับ แผนงานนี้เริ่มขึ้นในปี 2014 โดยความร่วมมือระหว่าง CBA และ CHTC ซึ่งในปี 2016 CHTC ได้เปิดบริษัทลูกใหม่ในชื่อ “REDSPACE” เพื่อรองรับการพัฒนาระบบขับเคลื่อนและเตรียมงานผลิต REDS โดยเฉพาะในประเทศจีน คันจริงจะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าคลาสซิตี้คาร์สำหรับใช้งานในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรติดขัด… ทว่าเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติตามแนวคิดของ Bangle คงต้องว่ากันทีหลังในอนาคต   ●


2017 REDS by Chris Bangle