July 16, 2023
Motortrivia Team (10242 articles)

Ford Ranger Raptor 3.0L V6 ลองสมรรถนะบนทางออฟโรด

เรื่อง : MotorTrivia Team

●   ฟอร์ด ประเทศไทย จัดกิจกรรมทดสอบและพิสูจน์สมรรถนะบนทางออฟโรดของ ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ ทั้งรุ่นเบนซิน V6 3.0 ทวินเทอร์โบ 397 แรงม้า และรุ่นดีเซล 4 สูบ 2.0 ลิตร ไบ-เทอร์โบ 210 แรงม้า ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘Ford Ranger Raptor Unbeatable Experience’ ณ Ford Ranger Off-road Track อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โดยแบ่งเป็น 9 สถานีย่อย เพื่อทดลองใช้ฟีเจอร์ต่างๆ ของรถที่จะช่วยให้การขับบนทางออฟโรดมีความสนุกและปลอดภัย รวมทั้งทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องยนต์และระบบกันสะเทือนซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของรถรุ่นนี้

●   ทีมงานมอเตอร์ทริเวีย ได้ทดลองขับรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน EcoBoost แบบ วี6 24 วาล์ว ทวินเทอร์โบ 2,956 ซีซี 397 แรงม้า ที่ 5,650 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 583 นิวตัน-เมตร ที่ 3,500 รอบต่อนาที ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ E-Shifter พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้ออัตโนมัติ 4A-4WD เลือกได้ 7 โหมดการขับ ประกอบด้วย โหมดปกติ, โหมดสปอร์ต, โหมดถนนลื่นสำหรับขับทางเรียบ, โหมดหิน, โหมดทราย, โหมดโคลน และโหมดบาฮาสำหรับขับทางออฟโรด แสดงผลบนหน้าปัดดิจิตอลขนาด 12.4 นิ้ว

●   ช่วงล่างด้านหน้าอิสระ ปีกนก 2 ชั้น วัสดุอะลูมิเนียม พร้อมเหล็กกันโคลง ด้านหลังคอยล์โอเวอร์ช๊อก วัตต์ลิงก์ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังติดตั้งช๊อกแอ็บซอร์เบอร์ประสิทธิภาพสูงจาก FOXTM แบบ Live Valve ขนาด 2.5 นิ้ว ปรับค่าความหนืดอัตโนมัติได้ 500 ครั้งต่อวินาที (Live Valve มีเฉพาะในรุ่น 3.0L V6) มีระบบบายพาสภายใน ระบบเบรกดิสก์พร้อมครีบระบายความร้อนทั้ง 4 ล้อ ล้อ 17 นิ้ว ยาง All Terrain BF Goodrich ® K02 ขนาด 285/70 R17

●   มิติตัวรถยาว 5,381 มิลลิเมตร กว้าง 1,922 มิลลิเมตร สูง 2,028 มิลลิเมตร ฐานล้อ 3,270 มิลลิเมตร ระยะต่ำสุด 272 มิลลิเมตร ลุยน้ำได้สูงสุด 850 มิลลิเมตร

คุณกมลชนก ประเสริฐสม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ฟอร์ด ประเทศไทย และตลาดอาเซียน

●   คุณกมลชนก ประเสริฐสม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ฟอร์ด ประเทศไทย และตลาดอาเซียน กล่าวต้อนรับสื่อมวลชน ความสำเร็จของฟอร์ด 6 เดือนแรกของปี 2023 เรนเจอร์ และเอเวอเรสต์ มียอดจำหน่ายอันดับ 3 และฟอร์ดครองตำแหน่งแบรนด์รถยนต์ขายดีที่สุดอันดับ 4 ของไทย โดยเรนเจอร์มียอดจำหน่าย 13,783 คัน เติบโต 9 เปอร์เซ็นต์ สูงที่สุดในตลาดรถกระบะ มีส่วนแบ่งการตลาด 9 เปอร์เซ็นต์ และเอเวอเราส์ มียอดจำหน่าย 6,334 คัน เติบโต 182 เปอร์เซ็นต์ สูงที่สุดในตลาด PPV มีส่วนแบ่งตลาด 19 เปอร์เซ็นต์ และมียอดจำหน่ายรวม 20,128 คัน เติบโต 35 เปอร์เซ็นต์ สูงที่สุดในตลาดเช่นกัน

●   จากนั้นอธิบายรูปแบบการทดสอบโดย คุณวุฒิกร ไสยวรรณ วิศวกรยานยนต์อาวุโส ฟอร์ด ประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็น 9 สถานีย่อย เพื่อทดลองใช้ระบบช่วยขับบนทางออฟโรด เช่น กล้อง 360 องศา ระบบควบคุมความเร็ว Trail Control ระบบล็อกเพลาล้อหน้าและหลัง สั่งงานผ่านหน้าจอสัมผัสขนาด 12 นิ้ว และการปรับโหมดการขับและระบบขับเคลื่อนให้เหมาะสมกับสภาพถนนแต่ละประเภท

คุณวุฒิกร ไสยวรรณ วิศวกรยานยนต์อาวุโส ฟอร์ด ประเทศไทย

●   สถานีที่ 1 : ผู้ขับจะได้ทำความคุ้นเคยกับรถด้วยการขับขึ้น-ลงเนินชันประมาณ 21 องศา ด้วยเกียร์ต่ำขับเคลื่อน 4ล้อ (4L) ใช้กล้องรอบคัน 360 องศา รวมถึงหน้าจอสถานะออฟโรด ที่จะช่วยให้มองเห็นสถานะของรถและอุปสรรครอบคันได้อย่างชัดเจน ปกติสถานีเนินชัน จะมีการปักธงไว้ที่ยอดเนิน หรือขึงเชือกที่ขอบเนินทั้งซ้ายและขวา เพื่อให้ผู้ขับกะทิศทางได้ถูกต้อง เพราะเมื่อรถเชิดหน้าแหงนขึ้นฟ้า จะมองไม่เห็นพื้นเนิน แต่ในการทดลองขับครั้งนี้ไม่มีธงที่ยอดเนิน เพราะใช้กล้อง 360 องศาเพื่อมองทางด้านหน้าแทน ภาพจากกล้องมีความคมชัด และใหญ่เต็มตาด้วยขนาดจอ 12 นิ้ว มีเส้นบอกด้วยว่าพวงมาลัยหมุนไปทิศทางไหน ทำให้การขับไต่ขึ้น-ลงเนินชัน ทำได้ง่ายและปลอดภัยยิ่งขึ้น

●   สถานีที่ 2 : ยังคงไต่เนินชันด้วยโหมด 4L แต่เพิ่มความท้าทายด้วยความชันระดับ 25 องศา เนินชันขนาดนี้นอกจากการมองทิศทางด้านหน้าผ่านกล้อง 360 องศา การควบคุมคันเร่งก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้ากดคันเร่งน้อยไป รถก็จะไม่มีแรงไต่ ถ้ากดคันเร่งหนักเกินไป ล้ออาจหมุนฟรีสูญเสียการควบคุมได้ สำหรับเซียนออฟโรดที่มีความชำนาญคงไม่มีปัญหาเรื่องควบคุมคันเร่ง แต่สำหรับมือใหม่ดูจะเป็นเรื่องยากพอตัว เพราะต้องใช้เทคนิคและสมาธิสูง ยิ่งถ้าตื่นเต้นด้วยแล้วจะควบคุมเท้าตัวเองได้ยาก

●   สถานีนี้ทางฟอร์ดจึงจัดให้ลองระบบ Trail Control ซึ่งเป็นฟีเจอร์ที่มีในฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ เพียงรุ่นเดียวในตลาดรถกระบะ โดยระบบจะควบคุมความเร็วขณะขับบนเส้นทางออฟโรด ผู้ขับเพียงตั้งความเร็วที่เหมาะสมไว้ล่วงหน้า จากนั้นก็แค่ควบคุมพวงมาลัยเท่านั้น รถจะทำความเร็วให้แม้ไต่ขึ้นเนินชัน ส่วนในช่วงทางลง ระบบก็จะทำหน้าที่เป็นระบบช่วยลงเนินหรือ Hill Desent Control ให้ด้วย ผู้ขับจึงไม่ต้องแตะเบรก และสามารถกดปุ่มเพิ่มหรือลดความเร็วได้ด้วยถ้าคิดว่ารถลงเนินช้าหรือเร็วเกินไป ในช่วงขาลงการใช้ระบบนี้ก็มีประโยชน์และช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้ไม่น้อย เพราะถ้าผู้ขับเหยียบเบรกเอง แล้วเบรกเบาเกินไป รถก็จะไหลลงเร็ว หรือถ้าเบรกหนักเกินไป น้ำหนักรถที่กำลังเทไปด้านหน้าเพราะอยู่ในช่วงทางลงเนิน ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้

●   สถานีที่ 3 : ขับเคลื่อนแบบ 4L กับโหมดขับเคลื่อนปกติ เป็นการขับผ่านสะพานแคบ พอดีๆ กับความกว้างช่วงล้อซึ่งเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่พบเจอได้บ่อยในการขับออฟโรด การกล้องรอบคัน 360 องศา กับหน้าจอออฟโรดที่มองเห็นเส้นแนวล้อ ก็จะช่วยให้กะระยะได้อย่างแม่นยำโดยที่ไม่ต้องลงไปดูรถ

●   สถานีที่ 4 : เป็นสถานีสุดท้ายที่ขับเคลื่อนแบบ 4L ไต่เนินหินและร่องลึกแบบสลับ โดยปรับโหมดการขับไปที่โหมดหิน และเปิดดิฟล็อกแบบไฟฟ้าทั้งล้อหน้าและล้อหลัง (รุ่นดีเซลมีเฉพาะล้อหลัง)

●   ระบบนี้เหมาะสำหรับการลุยทางออฟโรดแบบโหดๆ ที่บางจังหวะจะมีล้อใดล้อหนึ่งไม่สัมผัสพื้นหรือแทบไม่มีการยึดเกาะเช่นการลุยหลุมโคลนลึก ถ้าไม่มีดิฟล็อก กำลังจากเครื่องยนต์จะส่งไปยังล้อที่ไม่สัมผัสพื้น หมุนได้ง่ายหรือมีแรงยึดเกาะน้อย ทำให้ขับผ่านอุปสรรคได้ยาก ถ้ามีดิฟล็อกในแกนเพลาหน้าหรือหลัง ระบบจะส่งกำลังไปยังล้อทั้ง 2 ฝั่งเท่าๆ กัน ทำให้เคลื่อนออกจากอุปสรรคได้ ช่วยลุยหลุมลึกแบบสลับจะเห็นได้ชัดว่า แม้จะมีล้อใดล้อหนึ่งหรือ 2 ล้อลอยพ้นพื้น รถก็ยังขับเคลื่อนต่อไปได้ เพียงแค่ค่อยๆ กดคันเร่งอย่างต่อเนื่อง

●   สถานีที่ 5 : ปรับมาใช้ระบบขับเคลื่อน 4H หรือระบบขับเคลื่อน 4 ล้อความเร็วสูง ซึ่งจะใช้ไปจนจบการทดลองขับ ส่วนโหมดการขับเลือกแบบบาฮา เพื่อเตรียมโดดเนินเตี้ยๆ แต่ต่อเนื่องถึง 3 เนิน เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของช๊อกฯ FOXTM ทั้งการดูดซับแรงกระแทกและการรั้งการดีดของสปริง หลังจากการยุบตัวสุดเมื่อรถลงเนิน ซึ่งแรพเตอร์ 3.0L V6 ก็ทำได้ดีตามคาด ทั้งในช่วงที่รถลงสู่พื้นหลังจากโดดเนินลอย 4 ล้อ ไม่รู้สึกถึงการกระแทกแบบรุนแรง รถวางลงพื้นได้อย่างนุ่มนวล พวงมาลัยไม่สะบัด ควบคุมรถง่าย หลังจากรถยุบตัวสุดแล้วยืดขึ้น ก็ยืดขึ้นอย่างนุ่มนวลไม่ดีดเด้งแรง และยืดเพียงจังหวะเดียวรถก็นิ่งสนิท พร้อมให้โดดเนินต่อไปได้อย่างมั่นคง

●   สถานีที่ 6 : ต่อด้วยการขับแบบสลาลม ปลดดิฟล็อกทั้งหน้าและหลังออก เพราะต้องหมุนพวงมาลัยด้วยองศาที่ค่อนข้างสูง บนผิวถนนที่เป็นหินลอยมีความลื่น แม้กดคันเร่งหนักๆ พร้อมหมุนพวงมาลัย ก็ยังควบคุมรถได้ง่าย ด้วยทั้งเครื่องยนต์ที่มีแรงบิดสูง 583 นิวตัน-เมตร และล้อทั้ง 4 ที่ช่วยกันขับเคลื่อนรถออกจากโค้งได้อย่างกระฉับกระเฉง พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าช่วยให้การบังคับทิศทางทำได้อย่างรวดเร็วแม่นยำและเบาแรง

●   สถานีที่ 7 : ปรับโหมดการขับเป็นโหมดทรายและโคลน ระบบจะจัดการให้หมดทั้งอัตราการส่งกำลัง อัตราการทดเกียร์ และการทรงตัว เพื่อรักษาสมดุลการเคลื่อนที่ของตัวรถได้มากขึ้น ผู้ขับไม่ต้องมีทักษะมากก็ขับผ่านอุปสรรคนี้ไปได้อย่างง่ายดายและปลอดภัย

●   สถานีที่ 8 และ 9 : เปิดโอกาสให้ลองใช้ความเร็วได้มากขึ้น แม้สภาพผิวถนนจะค่อนข้างขรุขระ แต่ระบบกันสะเทือนสามารถดูดซับแรงกระแทกได้ดี ใช้ความเร็วค่อนข้างสูงบนทางออฟโรดได้อย่างนุ่มนวล และรถยังมีการยึดเกาะถนนที่ดี ดิสก์เบรกพร้อมครีบระบายความร้อนทั้ง 4 ล้อ สร้างแรงเบรกได้มั่นคง ไม่มีอาการปัดเป๋แม้เบรกหนักๆ บนทางฝุ่น

●   หลังการทดลองขับครบ 9 สถานี พอจะสรุปได้ว่า ฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ ออกแบบมาสำหรับการขับลุยทางออฟโรดแบบโหดๆ โดยเฉพาะ ด้วยลักษณะทางกายภาพ ทั้งระยะต่ำสุด มุมปะทะ มุมคร่อม มุมจาก ที่เอื้ออำนวยกับการบุกตะลุยในทางวิบาก เครื่องยนต์เบนซิน 397 แรงม้า ที่ 5,650 รอบต่อนาที แรงบิด 583 นิวตัน-เมตร ที่ 3,500 รอบต่อนาที ให้แรงบิดที่เหลือเฟือกับการปีนไต่ ระบบส่งกำลังแบบเกียร์อัตโนมัติ 10 จังหวะ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ และโหมดการขับออฟโรดแบบต่างๆ ที่ใช้งานง่ายผ่านปุ่มหมุนและการแตะสัมผัสหน้าจอ ทำให้การขับออฟโรดมีความสนุกและปลอดภัยมากขึ้น         ●

ขอบคุณ บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด อำนวยความสะดวกตลอดการทดสอบ

Report : Ford Ranger Raptor 3.0L V6