May 28, 2019
Motortrivia Team (10196 articles)

MINI Cooper S 5-Door Hatch Oxford Edition ขับได้ทั้งวันความมันส์คงเดิม

เรื่อง – ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ

● การทดสอบรถในสนามแข่ง มีข้อดีคือ ได้ลองใช้สมรรถนะของรถอย่างเต็มที่ ทั้งเครื่องยนต์ ช่วงล่าง และเบรก มีความปลอดภัยสูงและไม่เครียด เพราะไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นให้ต้องระวังมากนัก ทีมงานมอเตอร์ทริเวีย เคยลองขับมินิหลายรุ่น อย่างเต็มอิ่มในสนามแข่งไปแล้ว ครั้งนี้มีโอกาสได้ขับมินิอีกครั้ง ตอบข้อสงสัยที่ว่า รถที่ขับสนุกมั่นใจในสนามแข่ง เมื่อนำมาใช้งานในชีวิตประจำวัน จะให้ความรู้สึกแบบไหน กับ มินิ คูเปอร์ เอส แฮทช์แบ็ค รุ่นพิเศษ Oxford Edition ทำตลาดในไทยเพียง 60 คัน มีทั้งแบบ 3 ประตู ราคา 2,819,999 บาท และ 5 ประตู ซึ่งเป็นรุ่นที่ได้ทดลองขับในครั้งนี้ ราคา 2,859,999 บาท

รูปลักษณ์แฮทช์ 5 ประตูที่ลงตัว

● เมื่อพูดถึงรถมินิ ส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคยกับรถขนาดเล็กจิ๋วสมชื่อ กับตัวถังแบบ 3 ประตูทรงน่ารัก แต่เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มินิรุ่นใหม่ๆ จึงมีขนาดตัวถังที่ใหญ่ขึ้น และแตกไลน์เพิ่มรุ่นย่อยของตัวถังมากขึ้น มินิรุ่นใหม่ที่ดูแล้วลงตัวสมส่วนคือ แฮทช์แบ็ก 5 ประตู ที่มิติและองศาต่างๆ ใกล้เคียงรุ่น 3 ประตู โดยมีระยะฐานล้อยาวกว่า 72 มิลลิเมตร มุมเอนเสาหน้ายังคงเอกลักษณ์เดิม ส่วนเสาหลังของรุ่น 5 ประตูจะเอนลาดกว่า 3 ประตูเล็กน้อย

คลิ๊กเพื่อดูภาพขนาดใหญ่

● สำหรับรุ่นพิเศษ Oxford Edition ในเมืองไทยมี 60 คัน เป็น คูเปอร์ เอส ทั้งหมด พิเศษตั้งแต่สีภายนอก Pure Burgundy ตัดกับ Melting Silver ที่กระจกมองข้าง หลังคา และสปอยเลอร์หลัง ไฟเลี้ยวด้านข้างมีโลโก้ OXFORD ฝากระโปรงหน้าคาดสติ๊กเกอร์สีดำ แม้จะย้ายอินเตอร์คูลเลอร์ไปไว้หลังกันชนหน้าแล้ว แต่ช่องดักลมบนฝนกระโปรงหน้ายังคงต้องมีไว้ เพราะเสมือนเป็นแลนด์มาร์คของรุ่น S เช่นเดียวกับท่อไอเสียที่ออกตรงกลางกันชนหลัง รอบตัวรถแซมด้วยสีดำเงา Piano Black ที่กระจังและกันชนหน้า กรอบไฟหน้าไฟท้าย ที่เปิดประตู ฝาปิดที่เติมน้ำมันเชื้อเพลิง และล้อแม็ก Cosmos Spoke ที่ยังดูคล้ายแม็กกล้วยแบบรุ่นดั้งเดิม พร้อมยาง 205/45/17

ภายในล้ำสมัยลูกเล่นเพียบ

● ห้องโดยสารของมินิ นับเป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์จากความพยายามผสมผสานระหว่างความคลาสสิคกับความไฮเทค ที่ทำได้อย่างลงตัว แม้ตัวรถจะอัดแน่นด้วยลูกเล่นต่างๆ มากมาย แต่ก็ไม่ขัดขวางบรรยากาศดั้งเดิมที่คนรักมินิหลงไหล คงเอกลักษณ์ด้วยหน้าปัดทรงกลมที่คอนโซลกลาง เป็นศูนย์รวมการควบคุมระบบต่างๆ ของรถ ใช้งานได้ทั้งแบบสัมผัสและชุดสวิตช์ที่หลังคันเกียร์

● ชุดมาตรวัดด้านหน้าผู้ขับเป็นวงกลมซ้อนกัน วงหลักตรงกลางบอกความเร็วและข้อมูลหลัก มาตรวัดที่ซ้อนอยู่ฝั่งซ้ายเป็นรอบเครื่องยนต์ ฝั่งขวามีมาตรวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง อีกหนึ่งลูกเล่นประจำตัวของมินิ คือ ชุดสวิตช์แบบโยกขึ้น-ลง มีโลหะทรงตัว U แบ่งกั้นไว้ ที่คอนโซลกลางเป็นปุ่มสตาร์ท และเปิด-ปิดระบบต่างๆ ส่วนบนเพดานใช้สำหรับเปิด-ปิด และเปลี่ยนสีไฟในรถ สวิตช์ควบคุมระบบปรับอากาศเป็นหน้าจอแสดงสถานะในตัว เช่นเดียวกับหัวเกียร์ที่รวมไฟบอกตำแหน่งเกียร์เข้าไว้ด้วยกัน ซ่อนการตกแต่งจุดเล็กจุดน้อยไว้ทั่วคัน เช่น การติดตั้งธงชาติอังกฤษที่พวงมาลัย คอนโซลตรงผู้โดยสารด้านหน้ามีไฟเป็นรูปธง เปลี่ยนสีตามโหมดการขับได้ และด้านหลังของหมอนรองศีรษะเบาะหน้าก็ตกแต่งเป็นลายธงชาติอังกฤษเช่นกัน

● ฐานล้อที่ยาวขึ้นเล็กน้อย ไม่ได้ส่งผลต่อความสะดวกสบายเท่าการเพิ่มประตูคู่หลัง ที่ช่วยให้ผู้โดยสารด้านหลังเข้า-ออกได้ง่ายและอิสระมากขึ้น เบาะคู่หน้ามีที่รองต้นขาแบบปรับได้พร้อมที่ดันหลัง และยังคงเป็นแบบปรับมือเต็มระบบ พนักพิงเบาะคู่หน้าออกแบบให้โอบกระชับด้วยปีกข้างขนาดใหญ่ ซึ่งจะติดข้อศอกบ้างเมื่อหมุนพวงมาลัย

● พนักพิงเบาะหลังพับได้ มีเข็มขัดนิรภัยมาให้ 3 ชุด แต่ดูจากทรงของเบาะแล้วเหมาะจะนั่งแค่ 2 คน เสาหลังที่ไม่ลาดเอนมากนัก ทำให้มีพื้นที่เหนือศีรษะเหลือเฟือสำหรับความสูง 170 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่วางขาก็ขึ้นอยู่กับว่าคนนั่งหน้าเลื่อนเบาะถอยหลังมาแค่ไหน ถ้าปรับเบาะหน้าให้เหมาะกับส่วนสูง 170 เซนติเมตร ด้านหลังก็จะนั่งสบายหน่อย ที่เก็บของด้านหลังไม่เล็กไม่ใหญ่ มีลูกเล่นฝาปิด 2 ชั้น ที่ออกแบบให้ใช้งานง่ายมากๆ แค่ยกขึ้นก็จะล็อกเข้ากับตัวล็อกด้านข้างอย่างแน่นหนา และปลดลงได้ด้วยมือเดียว มีห่วง 4 มุมสำหรับยึดตรึงสัมภาระ และแผ่นปิดบังสายตาด้านบน มีความจุ 278-941 ลิตร

ไม่ผิดหวังเรื่องความแรง

● คูเปอร์ เอส ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ พร้อมระบบอัดอากาศแบบ TwinPower Turbo ฝาสูบแบบ DOHC 16 วาล์ว ความจุ 1,998 ซีซี กำลังสูงสุด 192 แรงม้า (PS) ที่ 4,700 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 28.6 กก.-ม. ที่ 1,250-4,000 รอบต่อนาที ส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้าด้วยเกียร์ดับเบิลคลัตช์ 7 จังหวะ พร้อม Paddle Shift ถังน้ำมันจุ 44 ลิตร เคลมอัตราสิ้นเปลืองไว้ราว 16-17 กิโลเมตรต่อลิตร ตัวเลขโรงงาน 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 6.8 วินาที ท๊อปสปีด 235 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

● สมรรถนะขนาดนี้ แทบไม่ต้องถามเรื่องความสนุกในการขับ เร่งความเร็วได้ทันใจโดยไม่ต้องเค้นรอบ แต่สำหรับการใช้งานในเมืองด้วยความเร็วต่ำ ต้องปรับตัวกันเล็กน้อยจึงจะขับได้นุ่มนวล ส่วนเกียร์ดับเบิลคลัตช์ 7 จังหวะนั้นฉลาดพอที่จะปรับตัวให้เข้ากับลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี ขับในเมืองไม่มีอาการยึกยัก เปลี่ยนเกียร์นุ่มนวล และตอบสนองได้ฉับไวต่อเนื่องเมื่อขับแบบสปอร์ต

● รถรุ่นนี้ไม่ต้องเลือกระหว่างความนุ่มนวลนั่งสบายกับความหนึบหนักแน่น เพราะมี 3 โหมดการขับให้เลือก สตาร์ทเครื่องยนต์จะเริ่มต้นด้วยโหมด MID เซตทุกอย่างไว้กลางๆ ถ้าอยากประหยัดก็เลือกโหมด GREEN และโหมดสำหรับคนเท้าหนักคือ SPORT ที่จะเปลี่ยนบุคลิกของรถไปอย่างชัดเจน โดยระบบจะปรับทั้งเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง พวงมาลัย และระบบกันสะเทือน ให้รองรับการขับแบบสปอร์ตได้อย่างมั่นใจ จากเดิมในโหมด MID ก็ขับได้ทันใจอยู่แล้ว เมื่อเปลี่ยนเป็นโหมด SPORT รอบจะขยับขึ้นสูงอีกนิด รอการกระแทกคันเร่งจากผู้ขับ พวงมาลัยหนักหนืดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับช่วงล่างที่กระชับตึงขึ้นทั้งจังหวะยุบและยืด ถ่ายทอดพื้นผิวถนนขึ้นมาสู่ผู้ขับเต็มๆ

● ลองใช้โหมด SPORT ช่วงออกตัวจากจุดหยุดนิ่ง ใช้เกียร์ตำแหน่ง D ไม่ได้โยกไป M +/- เปิดใช้งานระบบป้องกันการลื่นไถลตามปกติ กดคันเร่งสุดให้เกียร์เปลี่ยนเอง ช่วงสุดปลายเกียร์ 1 และ 2 ยังได้ยินเสียงล้อหน้าฟรีทิ้งดังเอี๊ยดสั้นๆ อาการ Torque Steer หรือพวงมาลัยดึงไปข้างในข้างหนึ่ง แทบไม่มีให้สัมผัส รถกระโจนออกไปเป็นแนวตรง พรวดเดียวก็ต้องยกคันเร่งเพราะความเร็วทะลุ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงไปแล้ว

● ตลอดการทดลองขับ มีเร่งเกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 2-3 ครั้ง นอกนั้นขับด้วยความเร็วเดินทาง 90-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วงถ่ายรูปมีการดับและสตาร์ทเครื่องยนต์บ่อยครั้ง รวมทั้งติดเครื่องทิ้งไว้บ้าง ก่อนส่งรถคืนเช็คอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยได้ 13.7 กิโลเมตรต่อลิตร ถือว่ารับได้เพราะไม่ได้ขับแบบปั้นตัวเลข

ช่วงล่างแน่นคมว่องไว

● ระบบกันสะเทือนอิสระ 4 ล้อ ด้านหน้าแม็กเฟอร์สัน ด้านหลังมัลติลิงก์ ในโหมด MID กับ GREEN ไม่ค่อยรู้สึกแตกต่างกันมากนัก แต่เมื่อเลือกโหมด SPORT แม้ไม่ได้เป็นผู้ขับก็จะรู้สึกได้ทันทีว่าช่วงล่างแข็งขึ้น รวมทั้งพวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้าก็จะหนักขึ้นด้วย นอกจากนี้ในโหมด SPORT ยังสามารถปรับตั้งความสปอร์ตแยกเฉพาะส่วนได้ ผ่านหน้าจอที่คอนโซลกลาง ชอบช่วงล่างหนึบ แต่อยากขับสบายๆ ก็เลือกให้ปรับสปอร์ตเฉพาะช่วงล่างได้

● มินิ สามารถทำความเร็วสูงได้ก็จริง แต่ก็เหมาะกับพื้นผิวถนนที่เรียบจริงๆ โดยเฉพาะโหมด SPORT ถ้าใช้ความเร็วสูงบนถนนที่เป็นคลื่นลอน รถจะกระเด้งกระดอนมากไปนิด ปรับช่วงล่างเป็นโหมด MID จะนุ่มนวลกว่า ใช้ความเร็วผ่านคลื่นลอนได้ดีกว่า มินิดูจะถูกโฉลกกับทางเรียบมากกว่า โดยเฉพาะโค้งแคบๆ จะขับรถคันนี้ได้สนุกและมั่นใจ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความเร็วสูง แม้คันนี้เป็นรุ่น 5 ประตู แต่เมื่อเลี้ยวมุมแคบจะรู้สึกเบาแรงและแม่นยำ รถทั้งคันไปตามทิศทางที่ต้องการ ไม่มีบิดพริ้ว ไม่ขาดไม่เกิน

มินิ คูเปอร์ เอส Oxford Edition ตกแต่งพิเศษ โดดเด่นไม่ซ้ำใคร กับตัวถังแบบ 5 ประตู เพิ่มโอกาสในการขับใช้งานได้มากขึ้น เบาะหลังนั่งได้จริง ขับทางไกลได้โดยไม่ล้า มีโหมดการขับปรับเปลี่ยนบุคลิกของรถได้ Go-Kart Feeling ยังอยู่ครบ เครื่องยนต์ 2.0 ลิตรเทอร์โบ แรงเหลือเฟือสำหรับสนุกกับอัตราเร่ง ถ้าชอบมินิและมีความพร้อมก็ไม่ต้องลังเล เพราะในงบประมาณเท่ากันแม้จะมีทางเลือกมากมาย แต่ก็ไม่ใช่มินิ ●


2019 MINI Cooper S 5-Door Hatch Oxford Edition