October 21, 2019
Motortrivia Team (10203 articles)

Mercedes-Benz ชวนขับ GLC ไปเข้าคอร์ส MBDE 2019

เรื่อง – ภาพ : นาธัส แสงสุริยะ

●   บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดกิจกรรมฝึกอบรมเทคนิคการขับขี่ปลอดภัยขั้นสูง หรือ Mercedes-Benz Driving Events 2019 ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ อำนวยความสะดวกในการเดินทางของสื่อมวลชน ด้วยการให้ไปรับรถล่วงหน้าก่อนเดินทาง 1 วัน ทีมงานมอเตอร์ทริเวีย ได้รถ Mercedes-Benz GLC 220 d AMG Dynamic รุ่นปรับโฉมใหม่

●   จุดนัดหมายแรกคือ ร้านอาหาร มิดวินเทอร์กรีน เขาใหญ่ เดินทางออกจากบ้านตั้งแต่เช้ามืดเพื่อเลี่ยงรถติด ไปถึงก่อนเวลาหลายชั่วโมง จึงถือโอกาสนำรถขึ้นไปถ่ายรูปบนเขาใหญ่ที่อากาศกำลังดี ประมาณ 23 องศาเซลเซียส มีลมเย็นพัดอ่อนๆ ถ่ายรูปเพลินๆ

GLC 220 d AMG Dynamic ขับทางไกล จิบ 16 กม./ลิตร

●   ทีมงานมอเตอร์ทริเวียเคยขับรถรุ่นนี้ในรุ่นก่อนปรับโฉม สำหรับรุ่นใหม่ GLC 220 d AMG Dynamic มีการปรับปรุงใหม่หลายจุด ภายนอกปรับด้านหน้าและด้านหลังให้ดูทันสมัยและลงตัวยิ่งขึ้น ไฮไลต์ของการปรับโฉมน่าจะอยู่ที่ภายในห้องโดยสาร ที่เปลี่ยนแบบพลิกโฉมด้วยชุดมาตรวัดดิจิตอล เปลี่ยนการแสดงผลได้หลายรูปแบบ ควบคุมผ่านปุ่มและ Touch Control บนพวงมาลัย เปลี่ยนจอที่คอนโซลกลางใหม่เป็นแบบสัมผัสเช่นกัน ควบคุมด้วย Touch Pad ลูกเล่นต่างๆ มากมายบรรยายไม่หมด ดีว่าไม่ต้องขับเองเลยได้นั่งเล่นเพลินๆ ตั้งแต่กรุงเทพฯ เขาใหญ่ จนถึงบุรีรัมย์

●   เครื่องยนต์ดีเซล 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว 1,950 ซีซี เทอร์โบ พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ ให้กำลังสูงสุด 194 แรงม้า ที่ 3,800 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 400 นิวตัน-เมตร ที่รอบต่ำเพียง 1,600-2,800 รอบต่อนาที ตัวเลขโรงงานระบุไว้ว่า เร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 7.7 วินาที กับท๊อปสปีด 217 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งไม่ได้ลองเองทั้ง 2 อย่าง เพราะใช้ความเร็วแค่ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเกียร์ 9 ใช้รอบต่ำเพียง 1,300 รอบต่อนาที อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยตามชุดมาตรวัด 16.5 กิโลเมตรต่อลิตร น่าจะถูกใจเศรษฐีที่รักความประหยัด

●   มิติตัวรถมีความยาว 4,655 มิลลิเมตร กว้าง 1,890 มิลลิเมตร สูง 1,644 มิลลิเมตร คันที่ขับเป็นรุ่นตกแต่งพิเศษ AMG Dynamic ให้ล้อ 19 นิ้ว พร้อมยาง 235/55/19 (รุ่นมาตรฐาน 235/60/18) เจอทางขรุขระก็รู้สึกถึงความสะเทือนบ้าง ต้องลดความเร็วลงเล็กน้อย เอสยูวีเหมาะกับการเดินทางไกล เพราะนั่งสบายทัศนวิสัยดี

●   เดินทางถึงบุรีรัมย์แล้วเข้าสนามช้างไปทำกิจกรรมเบาๆ Drag Race ที่ไม่ได้แข่งกันที่เวลาเพียงอย่างเดียว แต่ที่ปลายทางต้องเบรกให้รถหยุดในกรอบที่กำหนดด้วย

MBDE 2019 Level 2 เพิ่มความเร็ว เพิ่มความยาก

●   วันที่ 2 ต้องลุยกันหนักถึง 5 สเตชั่น เริ่มต้นด้วยการสอนปรับท่านั่งโดยเริ่มจากล่างขึ้นบน ปรับความสูงของเบาะนั่งให้ต่ำที่สุดเพื่อบังคับให้ผู้ขับมองไปไกลๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญสำหรับการขับในสนามแข่ง ปรับเลื่อนเบาะนั่งให้เมื่อเหยียบเบรกสุดแล้ว หัวเข่ามีมุมงออยู่บ้าง เพื่อให้มีแรงเหยียบเบรกได้สูงสุด และสามารถปรับแรงเบรกได้ละเอียด เมื่อต้องเบรกแบบ Trail รวมทั้งการค่อยๆ คลายแป้นเบรกเพื่อควบคุมการถ่ายน้ำหนักของรถขณะเข้าโค้ง

●   ถ้าเหยียดขาตึงเพื่อเหยียบเบรก จะไม่มีแรงเบรก ควบคุมแรงเบรกได้ยาก รวมทั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุชนด้านหน้าขณะเหยียบเบรก แรงกระแทกที่ส่งผ่านขาซึ่งเป็นแนวตรง อาจทำให้กระดูกหักได้ ถ้าขางออยู่นิดๆ จะช่วยซับแรงกระแทกได้

●   จากนั้นปรับพนักพิง หลายคนเช็คระยะห่างจากพวงมาลัยด้วยการเหยียดแขนไปแล้วให้ข้อมือวางบนวงพวงมาลัย ซึ่งก็ไม่ใช่วิธีที่ผิด แต่บางคนเผลอยกแผ่นหลังออกจากพนักพิง ทำให้แขนเหยียดตึงเกินไป ที่ถูกต้องคือ เมื่อนั่งพิงพนักพิงแบบเต็มแผ่นหลังแล้ว จับพวงมาลัยที่ตำแหน่ง 3 และ 9 นาฬิกา ข้อศอกต้องงอเป็นมุมเกือบ 90 องศา เพื่อให้มีแรงหมุนพวงมาลัยได้อย่างรวดเร็วนุ่มนวล ไม่กระชากพวงมาลัย และการจับพวงมาลัยต้องจับในตำแหน่ง 3 และ 9 นาฬิกาเท่านั้น เพื่อให้แขนและมือไม่ไปกีดขวางการทำงานหากแอร์แบ็กทำงาน

●   การจับพวงมาลัยผิดตำแหน่ง ขวางทางการดีดตัวของแอร์แบ็กที่มีความเร็ว 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ก่อนจะพองตัวเต็มที่) อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ และสุดท้ายคือ ทุกคนที่นั่งในรถต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

ขับ A-Class ใหม่ในสถานี Gymkhana

●   อุ่นเครื่องด้วยการขับแบบจิมคาน่า ใช้รถรุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว คือ Mercedes-Benz A-Class ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 1,332 ซีซี เทอร์โบชาร์จ กำลังสูงสุด 163 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 25.4 กก.-ม. ที่ 1,620 รอบต่อนาที อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 19.2 กิโลเมตรต่อลิตร เห็นใช้เครื่องยนต์เล็กๆ แต่จี๊ดจ๊าดเกินตัว และมีการยึดเกาะถนนที่ดีไม่เสียชื่อเบนซ์

●   การขับแบบ Gymkhana การใช้ความเร็วที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ บางจุดที่ต้องช้าก็ต้องลดความเร็วลง เช่น การยูเทิร์นหรือเลี้ยววงแคบ เพื่อให้รถมีการยึดเกาะถนน จะได้เร่งออกจากยูเทิร์นได้อย่างรวดเร็ว ถ้าขาเข้าใช้ความเร็วสูงเกินไป เกินความสามารถในการยึดเกาะถนนของยาง ระบบช่วยเหลือต่างๆ จะทำงานโดยลดความเร็วของรถลง จนกว่ายางจะกลับมายึดเกาะถนนได้ ซึ่งตรงนี้ทำให้เสียเวลามากขึ้น

●   และเมื่อขับเร็วแล้วก็ต้องกะระยะเบรกให้แม่นยำด้วยการเบรกรถให้หยุดสนิทในกรอบที่กำหนด ซึ่งส่วนใหญ่จะหยุดเลยกรอบ เพราะเบรกช้าเกินไปเนื่องจากต้องการทำเวลาให้ดีที่สุด คนที่ขับอย่างใจเย็น นุ่มนวล ใช้ความเร็วเหมาะสมกับแต่ละจุด กลับทำเวลาได้เร็ว

เบรกพร้อมหักหลบ สายตามองทางที่จะไป

●   ต่อเนื่องด้วยการฝึกเบรกพร้อมหลบหลีกสิ่งกีดขวาง ครูฝึกเน้นย้ำถึงการเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าอย่างปลอดภัย เพราะที่ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเวลาเพียง 1 วินาที รถจะเคลื่อนที่ไปได้ถึง 33.33 เมตร ถ้าด้านหน้าเกิดเหตุฉุกเฉิน กว่าผู้ขับจะรับรู้ถึงเหตุการณ์ ตัดสินใจเบรก และยกเท้าจากคันเร่งมาเหยียบเบรก ก็ใช้เวลาไปแล้วหลายวินาที ดังนั้นการเว้นระยะห่างจากคันหน้าจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อความปลอดภัย

●   ความเร็วและระยะเบรกก็เป็นอีกเรื่องที่ครูฝึกเน้นย้ำ ที่ความเร็วต่ำ 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะใช้ระยะเบรกแค่ 10-15 เมตร แต่ถ้าเพิ่มความเร็วเป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะเบรกจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ดังนั้นการกะระยะเบรกจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อใช้ความเร็วสูง สถานีนี้จึงเริ่มด้วยการขับทางตรงความเร็ว 90-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อถึงจุดที่กำหนดก็กระทืบเบรกเต็มที่จนกระทั่งรถหยุดสนิท

●   ยืนดูนอกรถก็รู้สึกว่าระยะเบรกสั้นดีและหยุดได้ง่ายๆ แต่เมื่อถึงรอบที่ต้องขับเอง บอกได้เลยว่าด้วยความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กับพื้นสนามแข่งระดับโลกที่เรียบกริบและอยู่ในสภาพสมบูรณ์ กับรถเบนซ์ราคาหลายล้านบาท กระทืบเบรกเต็มที่แล้วยังรู้สึกว่ารถไหลไปไกลกว่าที่คิด

●   ในบางสถานการณ์ที่ระยะเบรกไม่พอ ก็ต้องใช้วิธีกระทืบเบรกเต็มที่พร้อมกับหมุนพวงมาลัยเพื่อหลบหลีกสิ่งกีดขวางไปพร้อมกัน ครูฝึกเตือนว่าอย่ามองที่อุปสรรค ให้มองหาช่องว่างที่จะไป เพราะถ้าสายตาไปจับจ้องที่จุดไหนมือก็จะพารถไปที่จุดนั้น อย่าไปมองที่ไพลอนตัวเล็กๆ ที่วางขวางอยู่ แต่ให้มองช่องว่างที่กว้างพอสำหรับพารถเข้าไป ใช้ความเร็ว 80-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

●   รถที่ใช้ในการฝึกอบรมมีหลายรุ่น จึงไม่ได้วางจุดสตาร์ตให้กดคันเร่งสุดแล้วจะมาถึงจุดเบรกด้วยความเร็วที่พอดี รถแรงอย่างตระกูล AMG กดคันเร่งพรวดเดียวก็แตะ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว ความยากที่เพิ่มขึ้นคือ ต้องเลี้ยงความเร็วไม่ให้เกินกำหนด มองหน้าปัดสลับกับมองจุดเบรก กระทืบเบรกเต็มที่พร้อมคงแรงเบรกนั้นไว้ และหมุนพวงมาลัยหลบไปทางขวา (สำหรับรถพวงมาลัยขวา ขับชิดซ้าย) จนกระทั่งรถหยุดสนิท เมื่อขับจบขั้นตอนแล้ว ครูฝึกที่ยืนจ้องอยู่จะแจ้งข้อผิดพลาดผ่านวิทยุสื่อสาร เพื่อแก้ไขในการขับรอบถัดไป

●   รถเบนซ์แต่ละรุ่นก็มีบุคลิกแตกต่างกันออกไป รถเก๋งรถสปอตก็จะเบรกและหักหลบได้อย่างเบาแรง ส่วนเอสยูวีสูงๆ แม้ดูภายนอกจะเอียงเยอะเมื่อหักหลบเปลี่ยนเลนกะทันหันที่ความเร็วสูง แต่พอได้ขับก็ไม่ได้รู้สึกน่ากลัว กระทืบเบรกเต็มแรง ก็ไม่ค่อยมีอาการหน้าทิ่มท้ายยก เปลี่ยนเลนกะทันหันตัวรถก็ไม่เอียงวูบวาบให้หวาดเสียว ทั้งระบบช่วงล่างและตัวช่วยต่างๆ ทำให้ควบคุมรถได้ง่าย ผ่านพ้นสถานการณ์ยากๆ ได้อย่างปลอดภัย

เปลี่ยนเลนฉุกเฉิน ระบบช่วยเหลือมีบทบาท

●   พักเติมพลังมื้อกลางวันแล้วลุยต่อกับสถานการณ์จำลองที่ยากขึ้น คือ ไม่มีเวลาให้เบรก ต้องหักหลบเพียงอย่างเดียวโดยไม่เบรก ใช้ความเร็ว 80-90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สเตชั่นนี้โชคดี ได้ขับรถที่ชอบคือ Mercedes-AMG E 63 S 4MATIC+ เครื่องยนต์ V8 ไบเทอร์โบ 4.0 ลิตร กับสุ้มเสียงที่คำรามเร้าใจ และอัตราเร่งที่พุ่งกระชาก เร่งเข้าหาสถานีแล้วเลี้ยงความเร็วไว้ ไม่แตะเบรก หักหลบไปทางซ้ายและขวาต่อเนื่อง ทำตามที่ครูฝึกบอกคือ ไม่ใช้ความเร็วเกินกำหนด เพราะถ้าเกินจากนี้ จะไม่ได้อะไรจากการฝึกขับในสถานีนี้ และขู่สำทับด้วยการชี้ให้ดูรอยยางบนหญ้าด้านข้าง ที่มีคนลงไปเพราะใช้ความเร็วเกิน

●   ระบบช่วยเหลือที่เป็นพระเอกของสถานนี้คือ โปรแกรมควบคุมการทรงตัวอัตโนมัติ ESP หรือ (Electronic Stability Program) เบรกในล้อที่ระบบประมวลผลแล้วว่ามีการลื่นไถล เพื่อให้รถอยู่ในการควบคุม ผู้ขับมีหน้าที่ใช้ความเร็วตามที่กำหนด มองหาช่องว่างล่วงหน้า เพื่อที่จะพารถหลบหลีกสิ่งกีดขวาง (ไม่มองสิ่งกีดขวาง) หมุนพวงมาลัยอย่างรวดเร็วและนุ่มนวลไม่กระชาก ฟังดูเหมือนยาก แต่ถ้าสายตามองล่วงหน้าไกลๆ ก็จะทำได้เอง

●   ระบบ ESP เป็นระบบช่วยเหลือซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กฎฟิสิกส์ การขับด้วยความระมัดระวัง มองให้ไกล และใช้ความเร็วให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับรถได้ดีที่สุด ในสถานีนี้ รถที่หลุดลงไปในหญ้าเนื่องจากใช้ความเร็วสูงเกินไป ระบบ ESP ทำงาน เมื่อล้อหยุดลื่นไถลและกลับมามีการยึดเกาะถนน ในขณะที่พวงมาลัยยังหักเลี้ยวทำมุมอยู่ ทำให้รถแว่บไปตามทิศทางของพวงมาลัยได้ ครูฝึกจึงย้ำแล้วย้ำอีกว่าคุณจะไม่ได้ความรู้อะไรจากสถานีนี้่ ถ้าใช้ความเร็วสูงเกินกำหนด

Drag ทางตรง และเรียนการเข้าโค้ง

●   อีก 2 สถานีของวันนี้ คือ การขับแบบ Drag มีการแบ่งจับคู่ในรถที่ใช้เครื่องยนต์เดียวกัน แต่อาจจะต่างตัวถังกันบ้าง โดยยังคงต้องเบรกให้รถหยุดในกรอบที่กำหนด และอีกสถานีคือ การฝึกเข้าโค้งในแบบ Racing Line ซึ่งมีหลักการกว้างๆ คือ พยายามให้รถวิ่งเป็นเส้นตรงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้รถมีความมั่นคง โดยใช้ความกว้างของสนามให้เต็มพื้นที่ ซึ่งต่างจากการขับรถบนถนนสาธารณะที่จะต้องอยู่ในเลนตัวเองเท่านั้น

●   การฝึกใช้โค้ง 7-11 ของสนามช้าง บางโค้งมีความยาก เพราะเป็นโค้งต่อเนื่อง ต้องอยู่ในไลน์ที่ไปต่อในโค้งต่อไปได้ง่ายที่สุด การฝึกใช้วิธีขับทับไลน์รถนำ เริ่มจากช้าๆ และค่อยเพิ่มความเร็วขึ้น ในสนามมีวางไพลอนเป็นจุดเบรกและจุด Apex เพื่อให้ขับได้ง่ายขึ้น สังเกตว่าถ้าขับในไลน์ที่ถูกต้อง ตัวรถจะมีความมั่นคง ไปได้เร็วและขับได้ลื่นไหล แม้ช่วงแรกจะฝืนความรู้สึกอยู่บ้างก็ตาม

●   วันที่ 3 เป็นการรวบรวมความรู้ทั้งหมดที่ได้มาจากเมื่อวาน มาใช้ในการขับแบบเต็มสนาม ใช้วิธีเดิมคือ มีรถนำ แล้วคันที่ขับตามมาก็ขับทับไลน์กันมาเรื่อยๆ รถทุกคันก็จะขับในไลน์ที่ถูกต้องเอง วันนี้โชคดีอีกครั้งได้ลอง A-Class ใหม่แบบเต็มอิ่มหลายรอบสนาม เห็นเครื่องยนต์เล็กๆ แค่ 1,332 ซีซี เทอร์โบ แต่ก็ไล่ติดคันหน้าได้สบาย เพราะทุกคันในขบวนเป็น A-Class ใหม่เหมือนกันหมด

ขับ A-Class ใหม่ในสนามช้าง

●   A-Class ทำตลาดในไทยด้วยรุ่น A 200 AMG Dynamic ราคา 2.49 ล้านบาท ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 16 วาล์ว 1,332 ซีซี เทอร์โบ พร้อมอินเตอร์คูลเลอร์ มีกำลังสูงสุด 163 แรงม้า ที่ 5,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 250 นิวตัน-เมตร ที่ 1,620-4,000 รอบต่อนาที เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ 7G-DCT พร้อม Paddle Shift ขับเคลื่อนล้อหน้า เร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใน 8.1 วินาที ความเร็วสูงสุด 230 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มิติตัวรถมีความยาว 4,556 มิลลิเมตร กว้าง 1,796 มิลลิเมตร สูง 1,425 มิลลิเมตร ยาง 225/45/18

●   ตัวรถขนาดกำลังกระชับ นั่งคู่หน้า 2 คนสบายๆ ไม่มีจังหวะได้ลองนั่งเบาะหลัง ได้ลองขับรถรุ่นนี้รอบสนามช้าง 7-8 รอบ รู้สึกว่าพละกำลังเหลือเฟือ ขับในสนามยังสนุกไม่น่าเบื่อ ช่วงทางตรง กดคันเร่งแบบไม่เค้นมาก ความเร็วก่อนเบรกเกิน 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่วงล่างหนึบแน่นและค่อนข้างเป็นกลาง จิกโค้งสนามช้างได้อย่างมั่นคงไม่หวาดเสียว ระบบเบรกไว้ใจได้ ทนการเบรกหนักๆ ต่อเนื่องได้ดี ไม่รู้ว่าเป็นผ้าเบรกมาตรฐานติดรถหรือไม่ นอกเหนือจากการเป็นรถที่ไปได้เร็วและมั่นคงแล้ว ที่ชอบใจมากที่สุดคือ ขับในสนามแข่งได้ติดๆ กันหลายรอบโดยไม่เหนื่อย ทางตรงความเร็วสูงก็นิ่ง เข้าโค้งได้เร็วและมั่นคง เร่งออกจากโค้งได้อย่างทันใจ เพิ่มความเร็วได้ดีแต่จะต้องใช้รอบเครื่องยนต์ช่วยบ้าง

●   หมดรอบแล้วย้ายกลุ่มไปขับขบวนรถ AMG ที่ไม่ต้องบรรยายกันมา แค่เสียงออกตัวก็กินขาดแล้ว ทั้งความแน่นและโทนเสียงที่บ่งบอกถึงพละกำลัง ถ้าใช้โหมด Sport รถจะพร้อมกระโจนเพียงแค่กดคันเร่งเบาๆ ทางตรงทำความเร็วได้สูง เบรกได้ลึก เข้าโค้งได้เฉียบคม และพุ่งออกจากโค้งได้อย่างฉับไว

●   ขับได้แค่ครึ่งรอบแอบเปลี่ยนเป็นโหมด Comfort เพราะเริ่มรู้สึกวิงเวียนตามวัย แม้เป็นรถแรงระดับ 400 แรงม้า แต่ก็เป็นม้าที่ว่านอนสอนง่ายด้วยระบบช่วยเหลือต่างๆ ที่ทำให้นักขับมือทั่วไปอย่างผม ขับรถแรงๆ ในสนามแข่งได้อย่างสนุกและปลอดภัย ไม่ต้องเครียดหรือกังวลกับการควบคุมรถมากนัก  ●

ขอบคุณ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด อำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง

Mercedes-Benz Driving Events 2019